ประเทศไทยมีความต้องการถั่วเหลืองประมาณ 1-2 ล้านตันต่อปี แต่ปริมาณถั่วเหลืองที่ปลูกในประเทศ มีเพียง 2.4 แสนตัน จึงต้องนำเข้าประมาณ 1.4 ล้านตัน (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2548) นอกจากสภาพดินฟ้าอากาศ และปัญหาศัตรูพืชแล้ว การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลืองคุณภาพดี เป็นปัญหาหนึ่งสำหรับเกษตรกรทั่วไป
สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลืองราชมงคล 1 ที่เหมาะสมกับจังหวัดลำปาง และพื้นที่ใกล้เคียง โดยให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคใบจุดนูน และ ราน้ำค้าง ทนต่อการหักล้ม ฝักเหนียวไม่แตกง่าย และเมล็ดโต ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จึงร่วมกับสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง ดำเนิน โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองชุมชน ให้เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองใน ต.นิคมพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มหนึ่ง ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี
ผลการดำเนินงาน
นอกจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแล้ว ยังสร้างเครือข่ายกลุ่มเมล็ดพันธุ์ชุมชนให้กับเกษตรกร โดยการดำเนินงานส่งผลดังนี้
• เกิดเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ต.นิคมพัฒนา อ. เมือง จ. ลำปาง มีสมาชิก 65 คน ปัจจุบันมีเงินกองทุนหมุนเวียนภายในกลุ่ม 73,287 บาท
• เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีความงอกไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ความชื้นในเมล็ดไม่เกินร้อยละ 10 และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 98
• ผลผลิตถั่วเหลืองเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 220 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 330 กิโลกรัม/ไร่
• เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการจำหน่ายถั่วเหลือง จากเดิมประมาณ 2,800 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 5,900 บาท/ไร่ เนื่องจากเกษตรกรเปลี่ยนจากการจำหน่ายถั่วเหลืองเพื่อบริโภค ราคาเฉลี่ย 13 บาท/กิโลกรัม เป็นการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ราคาเฉลี่ย 17.60 บาท/กิโลกรัม
• แต่ละปีมีรายได้หมุนเวียนสู่ชุมชน ต.นิคมพัฒนา คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงเพาะปลูกฤดูฝน จำหน่ายผลผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ 89 ตัน ได้รับผลตอบแทนประมาณ 1.6 ล้านบาท ส่วนฤดูแล้งจำหน่ายผลผลิตถั่วเหลืองเพื่อการบริโภคได้ 65 ตัน ผลตอบแทนประมาณ 8.5 แสนบาท นอกจากนี้ยังส่งผลให้สมาชิกภายในกลุ่ม มีเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองคุณภาพดี สำหรับใช้เพาะปลูกในไร่ของตนเองอย่างพอเพียงทุกฤดูกาล
โครงการ ฯ ได้ขยายผลโดยจัดการฝึกอบรมการผลิตถั่วเหลือง เพื่อจำหน่ายในเชิงธุรกิจ ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และเกษตรกรผู้นำ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมทั้งบูรณาการความรู้เกิดเป็นหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง “การปลูกถั่วเหลืองเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี” สำหรับนักเรียนระดับมัธยมต้นของโรงเรียนกิ่วลมวิทยา ต.นิคมพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)