ภูมิหลัง
1. ความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต (Emerald Triangle) เป็นแนวความคิดที่เริ่มขึ้น เมื่อ มิ.ย. 43 ซึ่ง นรม. กัมพูชาได้เสนอให้ไทย กัมพูชา และลาว มีความร่วมมือในลักษณะสามเหลี่ยมเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ทั้งสามประเทศมีพรมแดนร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งฝ่ายไทยเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ โดยกัมพูชารับจะทาบทามให้ลาวเข้าร่วมกรอบความร่วมมือนี้ ในส่วนของไทยได้ติดตามความคืบหน้าของการเข้าร่วมของลาวอย่างใกล้ชิดในระดับของกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย และได้พยายามทาบทามอีกทางหนึ่ง โดยขอให้ลาวรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสามเหลี่ยมมรกต เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกัน และต่อมาลาวได้ตอบรับเข้าร่วมความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกตและรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกตามที่ฝ่ายไทยเสนอ
2. ครม. มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 45 ให้จัดตั้งคณะทำงานด้านสารัตถะของความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต ตามที่กระทรวงฯ เสนอ โดยมี รมว.กต.เป็นประธาน ปลัดกระทรวงฯ เป็นรองประธาน และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เป็นคณะทำงาน และเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 45 คณะทำงานด้านสารัตถะของความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกตได้จัดประชุมครั้งที่ 1/2545 มีมติให้พื้นที่ความร่วมมือของไทยควรครอบคลุมอุบลราชธานี และศรีสะเกษ และได้กำหนดสาขาความร่วมมือที่สามารถดำเนินการได้โดยสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการฯ ได้แก่ การท่องเที่ยว การเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปรายย่อย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
1. กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายไทยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวสามเหลี่ยมมรกต ประกอบด้วย คณะกรรมการระดับชาติ และคณะกรรมการระดับท้องถิ่น โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 46
2. กรมวิเทศสหการ กระทรวงการต่างประเทศ ได้สนับสนุนงบประมาณในโครงการปรับปรุงศูนย์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวสามเหลี่ยมมรกต ที่แขวงจำปาสักของลาว ทั้งในด้านครุภัณฑ์และอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ตลอดจนการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ โดยศูนย์ดังกล่าวได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงการประชุม ครม. ร่วมไทย – ลาว เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 47
3. ผช. รมต. (ดร. สรจัก เกษมสุวรรณ) ได้นำคณะทูตานุทูตและคู่สมรสจำนวน 46 ราย จาก 28 ประเทศ และสื่อมวลชนจากสามประเทศ จำนวน 18 ราย เดินทางไปทัศนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวสามเหลี่ยมมรกต ระหว่างวันที่ 11 – 14 มี.ค. 47 โครงการนี้นับเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกตและเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวของสามประเทศให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศ และสร้างความตื่นตัวให้กับภาคเอกชน ตลอดจนส่วนราชการท้องถิ่นให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของฝ่ายไทยในการร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวในภูมิภาคกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจร่วมกัน
4. กระทรวงท่องเที่ยวฯ ได้ร่วมกับองค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization: WTO) สำรวจพื้นที่สามเหลี่ยมมรกตเพื่อจัดทำแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการตลาด เมื่อวันที่ 6 – 18 พ.ค. 47 และร่วมกันนำเสนอแผนต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการ WTO ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 41 เมื่อวันที่ 3 – 7 มิ.ย. 47
5. จากการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 15 – 17 ธ.ค. 48 ที่เมืองปากเซ WTO และ UNDP แจ้งว่าพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมแก่บุคลากรด้านการท่องเที่ยวของทั้งสามประเทศทั้งในด้านวิชาการและแหล่งเงินทุน รวมทั้งการสนับสนุนเงินทุนในการออกแบบตราสัญลักษณ์ของสามเหลี่ยมมรกต และการจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้ประเทศไทยประกาศรับเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวสำหรับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของประเทศสมาชิก ในช่วงต้นปี 49 และจะเป็นเจ้าภาพจัด FAM trip สำหรับภาคเอกชนและสื่อมวลชนในสามเหลี่ยมมรกตต่อไป
ข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ
การประชุมที่สำคัญ
1. การประชุม จนท. อาวุโส ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวสามเหลี่ยมมรกต 15 ก.ค. 46 ที่เวียงจันทน์ สปป. ลาว มีปลัด กต. (นายเตช บุนนาค) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน
2. การประชุม รมต. ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวสามเหลี่ยมมรกต 2 ส.ค. 46 ที่เมืองปากเซ สปป. ลาว มี รมว.กต. (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน และมี รมว. กระทรวงท่องเที่ยวฯ (นายสนธยา คุณปลื้ม) เข้าร่วมด้วย
3. การประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวในกรอบสามเหลี่ยมมรกต ครั้งที่ 1 15 – 16 ธ.ค. 46 ที่อุบลราชธานี
4. การประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวในกรอบสามเหลี่ยมมรกต ครั้งที่ 2 17 – 18 ธ.ค. 47 ที่เมืองเสียมราฐ (ไม่มีผู้แทนกระทรวงฯ เข้าร่วม มีเฉพาะผู้แทนกระทรวงท่องเที่ยวฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ความร่วมมือเข้าร่ม)
5. การประชุมเชิงวิชาการเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในกรอบสามเหลี่ยมมรกต ครั้งที่ 1 20 – 22 ก.ค. 48 ที่เมืองสาละวัน สปป. ลาว
6. การประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวในกรอบสามเหลี่ยมมรกต ครั้งที่ 3 15 – 17 ธ.ค. 48 ที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก
กลไกการประชุมระดับ รมต. – กำหนดให้จัด back-to-back กับการประชุมระดับ รมต. ECS (หรือ ACMECS ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นวาระของกัมพูชาในปี 48 แต่ไม่ได้มีการจัดขึ้น ดังนั้น หากจะมีการจัดการประชุมระดับ รมต. ครั้งถัดไป กัมพูชาต้องรับเป็นเจ้าภาพ
พื้นที่ความร่วมมือ – ต.อ./น. ของไทย ต.ต./น. ของกัมพูชา และตอนใต้ของลาว
จังหวัดหลักของความร่วมมือ – อุบลราชธานีและศรีสะเกษของไทย พระวิหารและอุดรมีชัยของกัมพูชา และจำปาสักและสาละวันของลาว
จุดผ่านแดนถาวรสามเหลี่ยมมรกต – 1. กัมพูชา (Chorm) – ไทย (ช่องสะงำ ศรีสะเกษ) 2. กัมพูชา (Don Kralor) – ลาว (Veunkham) และ 3. ลาว (วังเต่า) – ไทย (ช่องเม็ก อุบลราชธานี)