โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู มีรายงานผู้ป่วยครั้งแรกในประเทศไทย จำนวน 4 ราย (เสียชีวิต 2 ราย) เมื่อปี พ.ศ. 2485 ซึ่งเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ โดยนายแพทย์ใช้ ยูนิพันธ์ ที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากนั้นมีรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้ได้ทุกภาคของประเทศ และพบการระบาดสองครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเกิดน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและช่วงปลายปี พ.ศ. 2531 เนื่องจากเกิดอุทกภัยที่ภาคใต้ตอนบน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 การระบาดเกิดในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน และอุบัติการณ์ของโรคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ โดยเริ่มมีรายงานผู้ป่วยทั้งสิ้น 358 ราย จาก 38 จังหวัดในปี พ.ศ. 2539 แล้วเพิ่มมากขึ้นเป็น 2,334 ราย จาก 48 จังหวัดในปี พ.ศ. 2540 และ 2,230 ราย จาก 59 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2541 หลังจากนั้นมีรายงานเพิ่มขึ้นเป็น 6,080 ราย จาก 60 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2542 และ 13,461 รายในปี พ.ศ. 2543 ผู้ป่วยร้อยละ 85 - 90 พบที่จังหวัดต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดบุรีรัมย์ ขอนแก่น สุรินทร์ ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา เลย กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด และเริ่มมีรายงานการพบผู้ป่วยมากขึ้นทางภาคเหนือ เช่น ที่จังหวัดแพร่ เพชรบูรณ์ เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2542 และทางภาคใต้ในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีการแพร่กระจายของโรคนี้ตลอดเวลา
การระบาดของโรคเลปโตสไปโรซิส
พบได้ทั่วโลก (ยกเว้นเขตขั้วโลก) ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท มักเป็นโรคจากการประกอบอาชีพ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงโรคสูง ได้แก่ เกษตรกร (ชาวนา ชาวไร่อ้อย คนเลี้ยงสัตว์ เช่น คนงานฟาร์มโคนม คนงานบ่อปลา ฯลฯ) คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ คนงานเหมืองแร่ คนงานโรงฆ่าสัตว์ และสัตวแพทย์ มีรายงานผู้ป่วยในกลุ่มผู้ที่ชอบเดินป่า ตั้งแคมป์ ท่องเที่ยวตามแม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำตก และผู้ที่มีประวัติแช่ในน้ำท่วมขัง
เชื้อสาเหตุเลปโตสไปโรซิส
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ เลปโตสไปร่า (Leptospira ) ซึ่งเชื้อที่ทำให้เกิดโรค คือ Leptospira interrogans แยกเป็น 23 subgroups มีมากกว่า 200 serovars เชื้อนี้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อม ดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก แม่น้ำลำคลอง เป็นต้น และอยู่ได้นานเป็นเดือน ถ้าปัจจัยแวดล้อมเหมาะสม
สัตว์นำโรคเลปโตสไปโรซิส
ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงเป็นแหล่งรังโรคสำคัญ ซึ่งแตกต่างตามชนิดของเชื้อ (serovars) ได้แก่ หนู , สุกร , โค กระบือ , สุนัข และแรคคูน ส่วน เชื้อที่พบในสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ มีได้แต่ไม่เคยมีรายงานแพร่โรคมาสู่คน สัตว์ที่เป็นพาหะอาจไม่แสดงอาการแต่มีการติดเชื้อที่ท่อไต (renal tubule) ทำให้มีการปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะ (leptospiruria) ได้เป็นเวลานาน
วิธีการติดต่อของโรคเลปโตสไปโรซิส
เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีแผลหรือรอยขีดข่วน หรือผิวหนังที่เปื่อยเนื่องจากแช่อยู่ในน้ำนานๆ และเยื่อบุที่อ่อนนุ่ม เช่น ตา จมูก ปาก โดยมักพบเชื้อในน้ำ ดินทรายเปียกชื้น หรือผักที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ คนอาจติดโรคขณะว่ายน้ำหรือขณะประกอบอาชีพ เช่น การสัมผัสปัสสาวะสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อโดยตรง หรืออาจติดเชื้อขณะกินอาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะหนู (แต่ไม่พบบ่อยนัก) และอาจติดโดยการหายใจเอาฝอยละออง (droplet-nuclei) ของของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อ ระหว่างว่ายน้ำแล้วสำลักน้ำเข้าไป
ระยะฟักตัวของโรค และ ระยะติดต่อของโรค
ระยะฟักตัวของโรค : ใช้เวลาประมาณ 2-30 วัน ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังได้รับเชื้อ 4-19 วัน
ระยะติดต่อของโรค : ไม่พบการติดต่อจากคนถึงคนโดยตรง แต่เชื้อเลปโตสไปร่า (leptospira ) มักถูกขับออกมาในปัสสาวะผู้ป่วยได้นานประมาณ 1 เดือน บางรายอาจนานถึง 11 เดือน
อาการและอาการแสดง
โรคนี้มีระยะฟักตัวโดยเฉลี่ย 5-14 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้จำนวนหนึ่งอาจไม่มีอาการ (subclinical infection) ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการ อาจแบ่งเป็น 2 ระยะตามพยาธิกำเนิด
ระยะแรก (leptospiremic phase)
เป็นระยะ 4 - 7 วันแรกของการดำเนินโรคซึ่งสามารถแยกเชื้อเลปโตสไปร่าได้จากเลือด และน้ำไขสันหลัง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลัง น่องและต้นคอและมีคลื่นไส้อาเจียน อาการตาแดง ซึ่งเป็นผลจากการที่เส้นเลือดในเยื่อบุตาขยายตัวโดยไม่มีการอักเสบเป็นหนองมักพบใน 3 วันแรกของโรค และเป็นอยู่ได้นานถึง 1 สัปดาห์ อาจพบมีอาการคอแข็ง ความดันโลหิตต่ำ การตรวจร่างกายอื่นที่อาจพบได้แต่ไม่บ่อย ได้แก่ ผื่นแดง ต่อมน้ำเหลืองโต ตับ ม้ามโต
ระยะที่สอง (immune phase)
เป็นระยะที่ผู้ป่วยเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อกำจัดโรคนี้ หรือหลังจากเริ่มมีอาการไข้ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยจะมีช่วงที่ใข้ลงประมาณ 1 - 2 วันแล้วกลับมีไข้ขึ้น ทำให้ไข้มีลักษณะเป็น biphasic ในระยะนี้ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ ไข้ต่ำ ๆ คลื่นไส้อาเจียนแต่ไม่รุนแรง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบและพบหน้าที่ของตับและไตผิดปกติ ระยะนี้อาจกินเวลาตั้งแต่ 4 ถึง 30 วัน และจะพบเชื้อเลปโตสไปร่าในเลือดและน้ำไขสันหลังได้ใน 1 - 2 วันแรก และหลังจากนั้นเชื้อจะออกมาในปัสสาวะนาน 1 -3 สัปดาห์ ผู้ป่วยซึ่งมีอาการรุนแรงจะมีไข้สูงลอย
การป้องกันควบคุมโรค
มาตรการป้องกันโรค
1. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะสัตว์นำโรค หรือถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ต
2. ป้องกันโรคแก่ผู้ที่ทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ใช้ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ต ฯลฯ
3. ตรวจแหล่งน้ำ ดินทรายที่อาจปนเปื้อนเชื้อ ถ้าเป็นน้ำในท่อระบายน้ำ ควรล้างระบายน้ำที่ปนเปื้อนออกไป
4. ถ้าพบสัตว์ติดเชื้อต้องแยกออกเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังสัตว์ตัวอื่นๆ หรือเกิดการปนเปื้อนเชื้อบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อนท่องเที่ยว ฯลฯ
5. ควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัยของคน โดยเฉพาะในเขตชนบทและบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อนท่องเที่ยว ฯลฯ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่ปศุสัตว์ (เช่น โค กระบือ) และสัตว์เลี้ยง (เช่น สุนัข) จะช่วยป้องกันโรคได้ แต่ป้องกันการติดเชื้อและการขับเชื้อทางปัสสาวะไม่ได้ วัคซีนที่ใช้ต้องมี serovar ที่พบมากในท้องถิ่นนั้น
การควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม
1. เมื่อพบผู้ป่วยต้องแจ้งโรคไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในท้องถิ่น
2. ระมัดระวังการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย
3. สิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนปัสสาวะ ต้องนำไปฆ่าเชื้อ
การรักษาโรคเลปโตสไปโรซิส
ใช้ยา penicillins, cephalosporins, lincomycin, และ erythromycin ฆ่าเชื้อได้ในห้องทดลอง และการศึกษาในผู้ป่วยพบว่าการใช้ doxycycline, penicillin G และ amoxycillin ได้ผลดี แม้จะให้ยาช้าถึง 7 วันหลังการเริ่มป่วย
แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรซื้อยารักษาเอง เมื่อมีอาการสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์ หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็ว พร้อมแจ้งประวัติการลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือ การสัมผัสน้ำ
ข้อมูลจาก สำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข