การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นภารกิจหนึ่งที่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความสำคัญและดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ที่ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการแก้ปัญหา ปรับปรุงกระบวนการผลิต และยกระดับคุณภาพการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ โครงการทักษะวิศวกรรมอาหาร (Food Engineering Practice School Program : FEPS) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไบโอเทค และภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีเป้าหมายเพื่อผลิตวิศวกรวิจัยระดับมหาบัณฑิต ที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 60 คน ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2547-2551) โดย
• อาศัยกลไกการสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับภาคเอกชน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ เป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ รวมทั้งผลิตงานวิจัย/วิชาการ และพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรม
• เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ เน้นการเรียนการสอนที่ฝึกทักษะด้านการสื่อสารที่ดีทั้งการพูดและการเขียน และฝึกนักศึกษาให้รู้จักการวางแผน การจัดการอย่างเป็นระบบ มีความเป็นผู้นำ สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีทักษะการตัดสินใจเชิงวิศวกรรมที่ดี มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม
• เน้นการเรียนการสอนจากปัญหา (Problem-based) ของอุตสาหกรรมอาหาร โดยนักศึกษาในโครงการต้องเลือกทำโครงงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาของโรงงาน และทำโครงงานด้านเทคนิค เสมือนเป็นวิศวกรวิจัยในโรงงานของบริษัทที่ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานฝึกทักษะ (Practice Sites) ของนักศึกษา ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของอาจารย์ โครงการนี้จึงเป็นหลักสูตรผลิตกำลังคนที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมที่ให้การสนับสนุนสถานฝึกทักษะ
• บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด
• บริษัท อาหารสยาม จำกัด
• บริษัท สหอินเตอร์ฟูดส์ จำกัด และได้สนับสนุนทุนการศึกษาตั้งแต่รุ่นที่ 3-6 รวม 18 ทุน
• บริษัทในเครือเบทาโกร จำกัด (เริ่มให้การสนับสนุนในปีการศึกษา 2549)
• บริษัท ไทยรอแยลฟรอเซนฟู๊ด จำกัด (เริ่มให้การสนับสนุนในปีการศึกษา 2549)
ความสำเร็จในการผลิตนักศึกษาของโครงการ
โครงการ FEBS ผลิตวิศวกรวิจัยระดับมหาบัณฑิต ที่มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนา โดยเน้นทักษะการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร การออกแบบ ปรับปรุง และแก้ปัญหากระบวนการผลิตเพื่อการใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาจากโครงการ 4 รุ่น จำนวน 64 คน ซึ่งเข้าสู่สายอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารระดับนานาชาติและระดับชาติ 55 คน เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย 2 คน นักวิจัยในสถาบันการศึกษา 3 คน และศึกษาต่อระดับปริญญาเอก 4 คน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2549)
ตัวอย่างผลงานของนักศึกษาที่ผ่านมา
บริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด จำกัด
• การปรับปรุงสูตรซาละเปาและการปรับปรุงโครงสร้างภายในตู้นึ่ง ลดการสูญเสียของซาละเปา ไส้หมูสับจากปกติจาก 5% เป็น 0% และยังประยุกต์ใช้ได้กับซาละเปาไส้ต่างๆ ที่ผลิตจากโรงงาน ซึ่งมีกำลังผลิตประมาณ 200 ตันต่อเดือน
• การศึกษาวิธีการละลายกุ้งแช่แข็ง พัฒนากระบวนการละลายที่เหมาะสม และลดการสูญเสียน้ำหนักกุ้งเนื่องจากการละลายจาก 15% เหลือ 12% ซึ่งโรงงานใช้กุ้งเป็นวัตถุดิบประมาณ 6 ตันต่อเดือน
บริษัท อาหารสยาม จำกัด (มหาชน)
• การปรับปรุงการจัดการการใช้น้ำในโรงงาน ประหยัดเงินโดยตรงได้ 1 ล้านบาทต่อปี และในทางอ้อมการลดปริมาณน้ำเสีย ช่วยประหยัดงบประมาณการลงทุนระบบกำจัดน้ำเสียมูลค่า 20 ล้านบาท
• การประหยัดไฟฟ้าในโรงงาน ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 5 ล้านบาทต่อปี และประเมินความประหยัดในทางอ้อมได้อีก 5 ล้านบาทต่อปี
• การเพิ่มผลผลิตของกระบวนการผลิต ลดการสูญเสียวัตถุดิบ และได้ผลผลิตมากขึ้น 164 ล้านบาทต่อปี
• การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำสับปะรดเข้มข้นเกรดบี ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ 3 ล้านบาทต่อปี และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 27 ล้านบาทต่อปี และยังช่วยลดการนำเข้าเอนไซม์จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
บริษัท สหอินเตอร์ฟูดส์ จำกัด (ในเครือบริษัท สหฟาร์ม จำกัด)
โครงงานวิจัยเน้นการแก้ปัญหาเรื่องพลังงานและปัญหาในกระบวนการผลิตของโรงงาน ช่วยโรงงานประหยัดเงินทางตรงได้ 53.5 ล้านบาท/ปี และทางอ้อม 27 ล้านบาทต่อปี ตัวอย่างเช่น
• การกำจัดการปนเปื้อนของเชื้อ Listeria ในผลิตภัณฑ์ไก่อบและไก่นึ่งโดยใช้ความร้อนช่วยลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ทางตรงได้ 16 ล้านบาทต่อปี และทางอ้อม 4 ล้านบาทต่อปี
• การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการหมักเนื้อไก่ก่อนการแปรรูป ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางตรง 15 ล้านบาทต่อปี และทางอ้อม 5 ล้านบาทต่อปี
• การปรับปรุงการใช้และการจัดการน้ำมันเตา ช่วยลดการใช้พลังงานทางตรง 7.5 ล้านบาทต่อปี และทางอ้อม 10 ล้านบาทต่อปี
• การประหยัดพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดการใช้พลังงานทางตรง 7 ล้านบาทต่อปี และทางอ้อม 3 ล้าน บาทต่อปี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)