ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดและทางลัดการพัฒนา, เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดและทางลัดการพัฒนา หมายถึง, เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดและทางลัดการพัฒนา คือ, เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดและทางลัดการพัฒนา ความหมาย, เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดและทางลัดการพัฒนา คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 1
เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดและทางลัดการพัฒนา

          ใน "เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ" อี.เอฟ.ชูมาเคอร์ วิจารณ์ประเทศกำลังพัฒนาที่ทำแผนพัฒนาประเทศของตนเองแบบเดินต้อยๆ ตามหลังประเทศพัฒนาแล้วว่า "ไม่มีใครคิดว่าวิถีชีวิตแบบพุทธต้องการเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ในขณะที่วิถีชีวิตวัตถุนิยมสมัยใหม่นำมาซึ่งเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่"
            เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ที่ถือว่าการเติบโตขึ้นอยู่กับการบริโภค ถ้าไม่โลภไม่อิจฉาและไม่แข่งขันก็ไม่สามารถพัฒนาได้ จึงจำเป็นต้องปลุกเร้าความต้องการให้มาก  เศรษฐศาสตร์แบบนี้อาจจะบอกให้ "แปลงสินทรัพย์เป็นทุน" แต่ที่แท้คือ "แปลงทุนให้เป็นเงินเป็นรายได้" จนกระทั่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายถูกขายกินเกือบหมด
            นี่เป็นปัญหาวิธีคิด และไม่ใช่วิธีคิดธรรมดา เป็นหลักคิด หลักปรัชญา ซึ่งชูมาเคอร์วิจารณ์ว่า "นักเศรษฐศาสตร์เองก็เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ที่มักจะมีอาการตาบอดทางอภิปรัชญา ทึกทักเอาว่า ศาสตร์ของพวกเขาเป็นศาสตร์แห่งความจริงที่เด็ดขาดถาวร"
            พุทธปรัชญาอันเป็นที่มาของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธมีหลักการหลักคิดคนละอย่าง เน้นการบริโภคให้น้อยที่สุดเพื่อการอยู่เย็นเป็นสุขมากที่สุด เป้าหมายจึงอยู่ที่การอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ใช่การบริโภค ขณะที่เศรษฐศาสตร์แม่ของวัตถุนิยมสมัยใหม่ถือเอาการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมาย และความสุขเป็นผลที่ตามมา
            เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่เอาทรัพยากรธรรมชาติเป็นสินค้า ขายไปเพื่อได้เงินมาซื้อปัจจัยต่างๆ เพื่อการบริโภค เศรษฐศาสตร์แนวพุทธถือว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นทุนที่สำคัญเพื่อการมีชีวิตอยู่ จึงต้องใช้อย่างมีสติ ใช้แบบไม่ทำลายให้หมดไป แต่ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เหลือให้ลูกให้หลานได้ใช้ด้วย
            ย้อนกลับไปปี 2504 เมื่อผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง (ซึ่งยังไม่มีคำว่าสังคม) เป็นช่วงเดียวกันกับวิวาทะอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยยุคใหม่ว่าด้วย "สันโดษ" ระหว่างท่านพุทธทาสภิกขุกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช 
            วันนี้กับวันนั้นไม่ได้แตกต่างกัน สังคมควรจะเปิดเวทีใหญ่ให้มีวิวาทะเพื่อจะได้ชัดเจนว่า เราจะเลือกอะไร เลือกไปทางไหน และเลือกแล้วต้องทำอะไร ไม่เช่นนั้นเราก็จะพูดกันเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจนมึนงงกันไปทั้งประเทศ รู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า เศรษฐกิจพอเพียงมีสาระสำคัญอะไรบ้าง แต่รู้แล้วก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร รู้แบบ "แล้วไง" (so what)
ถ้าจริงอย่างที่ศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสนวิจัยว่า เศรษฐกิจพอเพียงมีรากฐานเดียวกันกับเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ก็ต้องศึกษากันต่อไปในรายละเอียด เพราะถ้าจะให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง คงต้องมีการทำงานกันอีกมากนัก ไม่ใช่ให้สภาพัฒน์ฯ เป็นคนมากำหนดกรอบ เกณฑ์ ตัวชี้วัด ซึ่งก็อาจจะเหมาะกับหน่วยงานราชการ ซึ่งต้องการ "น้ำจิ้ม" แต่หาได้เป็นอาหารจานหลักแต่อย่างใดไม่ ก็ยังคงทำแผนงานที่เพิ่มงบประมาณกันทุกปีต่อไป
            เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา ปรัชญาเป็นนามธรรม เป็นหลักคิด หลักการที่มีการประมวล สังเคราะห์ขึ้นมาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มาที่ไป ความหมายของชีวิตและสังคม ดังกรณีของคาร์ล มาร์กซ์ กับฟรีดรีช แองเกิล สองนักปรัชญา ซึ่งได้พัฒนาหลักคิดที่นำไปสู่ระบบ(system) และโครงสร้าง (structure) อย่างใหม่ที่เรียกกันว่าสังคมนิยม ที่แตกแขนงออกไปหลากหลายรูปแบบ
            วันนี้เราต้องทำความเข้าใจกับสารัตถะ (substance) ของเศรษฐกิจพอเพียงให้ลึกซึ้งมากกว่าการท่องจำ 3 หลัก 2 เงื่อนไข เพราะในที่สุดก็ไม่ได้ต่างไปจากการท่องจำศีล 5 และไม่ได้นำไปปฏิบัติ ระบบและโครงสร้างทางสังคมก็ไม่ได้เอื้ออำนวยส่งเสริมให้ผู้คนปฏิบัติได้
            ดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงแล้วตามด้วยโฆษณาบ้าเลือดทั้งหลาย ใครทนไหว ต้านได้ก็เก่งแล้ว คนที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติได้จริงวันนี้จึงต้องยกย่อง เพราะเป็นเรื่องยากที่จะทวนกระแสหลักของการบริโภค อันเป็นปรัชญาทุนนิยมเสรีที่เราเลือกใช้กันวันนี้
            ถ้ามีการระดมการศึกษาวิจัยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกันอย่างจริงจัง เราจะเข้าใจว่า สารัตถะของเศรษฐกิจพอเพียงโยงไปถึงระบบ (system) ที่จะต้องปรากฏออกมาอย่างชัดเจน เป็นระบบเศรษฐกิจ ระบบทุน  ระบบการเงิน ระบบการผลิต การบริโภค การตลาด ระบบทรัพยากร ระบบการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรและรายได้ ระบบวิถีเลี้ยงชีพ ระบบสวัสดิการ ระบบสุขภาพ ระบบการศึกษา ระบบกฎหมาย และระบบน้อยใหญ่อื่นๆ ทั้งองคาพยพของสังคม
            สารัตถะและระบบจะเกี่ยวโยงโดยตรงกับการกำหนดโครงสร้าง (structure) บอกความหมายของความสัมพันธ์ของระบบทั้งแนวราบแนวดิ่ง ทั้งระดับมหภาคระดับชุมชนฐานราก ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ทำให้เห็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมที่ชัดเจน โครงสร้างที่ให้ความเป็นธรรม ให้โอกาสคนส่วนใหญ่ได้พัฒนาตนเอง จัดการชีวิตของตนเอง และอยู่ได้อย่างพอเพียง
            การวิจัยสืบค้นหาสารัตถะ ระบบและโครงสร้างของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่หน้าที่ของนักวิชาการเท่านั้น แต่ต้องเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วม เพราะจะมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม และทุกคนต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันสร้างสำนึกใหม่ ให้เป็นพลังทางปัญญาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงถึงรากลึก (radical change) 
            ถ้าเราจริงจังกับเศรษฐกิจพอเพียง เราจะยอมรับการพัฒนาสังคมไทยไปในลักษณะที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไร สังคมที่ระบบโครงสร้างที่ก่อให้เกิดทุกข์ ความเครียด ความเจ็บป่วย ความขัดแย้ง ความรุนแรง  สังคมที่ดูเหมือนมีกฏเกณฑ์ แต่อยู่กันแบบโกลาหลวุ่นวายไร้ระเบียบ (chaos) คนมีอำนาจกดขี่คนไร้อำนาจ  คนรวยเอาเปรียบคนจน  มือใครยาวสาวได้สาวเอา
            ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สามารถส่งข้าวปลาอาหารไปเลี้ยงคนในหลายประเทศ ประกาศตนเป็น "ครัวของโลก" แต่ผู้ผลิต ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ก็ยังอดอยากยากแค้น เป็นหนี้เป็นสิน บ้านแตก ชุมชนล่มสลาย  ขายทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ไม้ในป่าจนหมด ขายแรงงาน ขายลูกขายหลานเพื่อจะได้เป็นตัวประกอบในเวทีละครโรงใหญ่ที่ชื่อว่าสังคมบริโภค           
            แทนที่จะให้โอกาสชาวบ้านได้เรียนรู้การจัดการกินการอยู่ การผลิต การบริโภค การค้าการขาย สังคมไทยก็ปล่อยให้นายทุนสามารถเปิดห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ไปทั่วทุกหัวระแหงเกือบจะไร้ขีดจำกัด อ้างว่าเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค จะได้ซื้อถูกลง ซื้อมากขึ้น เงินจะได้ไหลเวียน เศรษฐกิจจะได้ดี โดยไม่สนใจว่าชาวบ้านอีกกี่แสนกี่ล้านได้รับผลกระทบ หมดโอกาสทำมาค้าขายเล็กๆ ในเมือง หรือในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง
            รัฐบาลไทยไปทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ อ้างว่าไทยได้ประโยชน์ โดยมิได้คำนึงถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเอง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนยากคนจนคนในระดับรากหญ้าซึ่งถือได้ว่ามีภูมิคุ้มกันน้อยที่สุดในองคาพยพของสังคม เพื่อแลกกับการนำเข้าสินค้าราคาถูกลง กระตุ้นการบริโภคให้มากขึ้น และการส่งออกที่ผู้ได้ประโยชน์ยังคงเป็นพ่อค้านายทุน
            แนวคิดเรื่องการพัฒนาวันนี้ ด้านหนึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากปรัชญาการพัฒนาเมื่อสี่ห้าสิบปีที่แล้ว ซึ่งเชื่อในทฤษฎีการพัฒนาแบบไม่เท่าเทียม (Unequal Development Theory) ว่า จะพัฒนาคนทั้งหมดพร้อมกันไม่ได้ ต้องให้โอกาสคนส่วนน้อยมากกว่าคนส่วนใหญ่ ให้พัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งออก เมื่อคนเหล่านี้ร่ำรวยแล้ว ก็จะช่วยดึงคนจนส่วนใหญ่ให้ร่ำรวยตามไปด้วย 
            ความจริงที่แปลกประหลาด (paradox) ก็คือ เรารู้มาห้าสิบปีแล้วว่าเรื่องนี้ไม่จริง แต่เราก็หลับหูหลับตาเชื่อและใช้ทฤษฎีที่ว่านี้ต่อไป ให้โอกาสคนรวยเพื่อจะได้ช่วยคนจน  แต่ไม่ให้โอกาสคนจนเพื่อจะได้ช่วยตัวเอง ทั้งๆ ที่พวกเขามีศักยภาพเพียงพอ ขาดแต่โอกาสเท่านั้น 
            ถ้าเราจริงจังกับเศรษฐกิจพอเพียง  สังคมต้องกระเทือนทั้งระบบและโครงสร้างอย่างแน่นอน คิดดูว่า ถ้าหากคนส่วนใหญ่หันมาจัดระเบียบชีวิตของตนเอง ลดรายจ่ายลงไปได้หนึ่งในสี่ หรือร้อยละ 25 จะเกิดอะไรขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ
            คนชนบทเริ่มปลูกพริก ผัก ผลิตอาหารกินเอง ซื้อจากตลาดน้อยลง คนในเมืองเริ่มซื้อเริ่มจ่ายน้อยลง มีแบบมีแผนการใช้จ่าย เริ่มจัดระเบียบการเดินทาง ลดค่าน้ำมัน ค่าโทร.ลงหนึ่งในสี่ เริ่มดูแลเรื่องการใช้ไฟในบ้าน ทำให้ค่าไฟลดลง  ลดการกินเหล้า ลดการซื้อขนมกรุบกรอบ และของฟุ่มเฟือยทั้งหลาย เน้นการใช้จ่ายเฉพาะของที่จำเป็นสำหรับชีวิต อยู่อย่างเรียบง่าย ทำน้ำยาล้างจานใช้เองทั้งบ้านทั้งเมือง ทำปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพกันทั้งประเทศ
           
อะไรจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจไทย
           
           ถามว่ารัฐบาลยอมรับได้หรือไม่  ถ้าหากจริงจังกับเศรษฐกิจพอเพียงน่าจะไม่เพียงแต่ยอมรับอย่างเดียว แต่ควรทุ่มเทเพื่อช่วยให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยการปรับระบบและโครงสร้างให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง เพราะเอาเข้าจริง สิ่งที่กล่าวในวรรคก่อนนี้คงไม่เกิดได้ง่ายๆ โดยที่รัฐไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยปรับระบบโครงสร้างและให้การส่งเสริมสนับสนุนรณรงค์กันอย่างจริงจัง
            ถ้ากฏหมายค้าปลีกยังเป็นอย่างนี้ จะไปส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน ส่งเสริมโอทอปไปทำไม เพราะส่งเสริมไปแล้วก็ไปขายแข่งกับพ่อค้าไม่ได้ ทำอะไรก็ขายไม่ออก ขาดทุน ที่ทำๆ กันอยู่ก็เพราะมีหน่วยงานรัฐไปส่งเสริม หรือไม่รู้จะทำอะไรก็ลองทำดู หรือยังไม่ได้เจ๊งมากพอที่จะหยุด
            ถ้าการโฆษณายังบ้าเลือดอยู่อย่างนี้ จะไปสอนให้คนไม่ซื้อไม่จ่าย และให้บริโภคตามความจำเป็นได้อย่างไร ในเมื่อปล่อยให้มีการกระตุ้นการบริโภคแบบเอาเป็นเอาตายอยู่เช่นนี้ ผู้คนก็คิดว่า อะไรที่ตัวเองต้องการต้องเอาให้ได้ ความต้องการถูกทำให้กลายเป็นความจำเป็นไปหมด
            ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้เป็นผู้นำทางด้านคุณค่า แต่กลายเป็นเครื่องมือของระบบทุนนิยม ผลิตคนเพื่อไปรับใช้ตลาดแรงงานที่กลไกของสังคมทุนนิยมเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่กำหนดโดยรัฐที่มีวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ ที่บูรณาการการศึกษากับแผนการพัฒนาประเทศเข้าด้วยกัน
            การทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวาระแห่งชาติ เป็นการตัดสินใจที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะหมายถึงการปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างสังคมใหม่เลยทีเดียว
            การพัฒนาประเทศอาจไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่อาจจะมีทางลัดที่เกิดจากการสร้างรากฐานใหม่ ฐานคิดใหม่ที่ต้องการการพัฒนาที่มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การทำให้ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุข (GDH) มากกว่าการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ (GDP) 
            เศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้เราเป็นครัวของเราเองก่อนไปเป็นครัวของโลก เลี้ยงประชากรของเราให้อิ่มก่อนคิดค้าขายทำกำไร  เพิ่มมูลค่าของผลิตผลการเกษตรซึ่งมีมากมายด้วยการทุ่มเทส่งเสริมการศึกษาและการวิจัย อันจะทำให้เราเป็นครัวของโลกได้ด้วยความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติที่ได้รับประโยชน์ และการแบ่งปันอย่างยุติธรรม
            เรามีธรรมชาติสวยงาม มีวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มีวัดวาอาราม มีที่ทำสมาธิให้ความสงบร่มเย็น มีภูมิปัญญาท้องถิ่น มีสมุนไพร มีความรู้ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เป็นอะไรที่ใครมาพบเห็นก็เป็นสุข  อะไรที่ใครๆ กำลังโหยหาในสังคมหลังอุตสาหกรรม
            เราคงไม่ต้องวิ่งไล่ประเทศอุตสาหกรรมเหล่านั้นที่ยกโรงงานและขยะมาไว้บ้านเรา จ้างเราทำงานให้ผลิตให้ เราก็ได้แค่ค่าแรงถูกๆ ทั้งๆ ที่เรามีความรู้ความสามารถและทรัพยากรอื่นๆ ที่ดีกว่านั้น มี "ทุน" มากมาย ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่า สมุนไพร ธรรมชาติ วัฒนธรรม ซึ่งจัดการให้ดี ก็ทำให้เราอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินอย่างพอเพียงได้
           เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องยากสำหรับปัจเจกและสำหรับสังคม สำหรับชาวบ้านและสำหรับรัฐบาล เพราะต้องมีปัญญาและความกล้าหาญจึงจะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความกล้าหาญทางจริยธรรม
   ที่มา  www.phongphit.com

เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดและทางลัดการพัฒนา, เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดและทางลัดการพัฒนา หมายถึง, เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดและทางลัดการพัฒนา คือ, เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดและทางลัดการพัฒนา ความหมาย, เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดและทางลัดการพัฒนา คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu