ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ชายฝั่งทะเลของไทย, ชายฝั่งทะเลของไทย หมายถึง, ชายฝั่งทะเลของไทย คือ, ชายฝั่งทะเลของไทย ความหมาย, ชายฝั่งทะเลของไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 1
ชายฝั่งทะเลของไทย

          ชายฝั่งทะเลของไทย   ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลอยู่ 2 ฝั่ง คือ

          1. ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก และฝั่งทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดีย ฝั่งอ่าวไทยแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ อ่าวไทยด้านตะวันออก ได้แก่ บริเวณฝั่งทะเลตั้งแต่จุดกึ่งกลางระหว่างปากแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางตะวันออก วกไปจนจรดเขตแดนประเทศกัมพูชา บริเวณบ้านหาดเล็ก จังหวัดราด รวมความยาวประมาณ 544 กิโลเมตร และอ่าวไทยด้านตะวันตก เริ่มจากจุดกึ่งกลางระหว่างปากแม่น้ำท่าจีน กับแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางตะวันตก วกลงไปทางใต้จรดเขตแดนประเทศมาเลเซีย ที่ปากแม่น้ำสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส ระยะทางยาวประมาณ 1,334 กิโลเมตร

          2. ฝั่งทะเลอันดามัน นับตั้งแต่ปากน้ำกระบุรี จังหวัดระนอง ซึ่งจรดกับเขตแดนของประเทศสหภาพพม่า เรื่อยลงไปทางใต้จนถึงเขตแดนของประเทศมาเลเซียที่จังหวัดสตูล ซึ่งอยู่ในช่องแคบมะละกา ระยะทางยาวประมาณ 937 กิโลเมตร รวมความยาวชายฝั่งทะเลไทยทั้งหมดได้ประมาณ 2,815 กิโลเมตร



ภูมิประเทศที่เกิดจากตะกอนทับถม

          ภูมิประเทศที่เกิดจากตะกอนทับถม  จะเกิดขึ้นในบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีน้ำตื้น ลักษณะชายฝั่งราบเรียบและลาดเทไปสู่ก้นทะเล ทำให้ความเร็วของคลื่นและกระแสน้ำลดลง และเมื่อคลื่นและกระแสน้ำคลื่นตัวเข้าสู่ฝั่ง  สารแขวนลอยในน้ำจึงตกตะกอนทับถมกัน เกิดเป็นภูมิประเทศลักษณะต่างๆ กัน คือ

          1. พื้นที่ระหว่างฝั่งกับแนวน้ำ ลดต่ำลงเป็นแถบยาวไปตามริมฝั่ง เกิดขึ้นได้ทั้งในทะเล ทะเลสาบ หรือแม่น้ำ โดยสารแขวนลอยต่างๆ โดยมากจะเป็นกรวด ทราย หรือเลน ซึ่งถูกระแสน้ำกระแสคลื่นพัดพามาด้วยความเร็วที่ช้ามาก จึงเกิดการตกตะกอน ส่วนใดที่มีน้ำหนักมากจะตกก่อน แบ่งออกได้ 3 ประเภท ตามชนิดของตะกอน คือ
          - หาดหิน หรือ หาดกรวด เป็นหาดที่ประกอบด้วยหินหรือกรวดขนาดใหญ่ทับถมกัน บางถูกคลื่นซัดและขัดสีกันจนแบนเรียบบางกลมมน เช่น หาดที่เกาะหินงาม อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล
          - หาดทราย วัตถุต้นกำเนิดของทรายได้มา จากหินแกรนนิต หรือหินทราย ขนาดและสีของทรายจะแตกต่างกันตามโครงสร้าง ของหินต้นกำเนินและวิธีการสลายตัว ซึ่งโดยมากเป็นสีขาวเม็ดเล็ก เช่น หาดวนกร อุทยานแห่งชาติวนกร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อย่างไรก็ตาม มีหาดทรายอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีต้นกำเนิดจากซากปะการังที่ผุพังแล้ว โดยมากจะมีสีขาวขุ่นและมีขนาดเล็กละเอียดมาก เช่น หาดทราย ณ เกาะเมี่ยง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา
           - หาดโคลน ตะกอนดินจากผืนแผ่นดินเมื่อถูกน้ำกัดซะละลายไหลลงสู่ทะเลไปตามลำคลองหรือแม่น้ำ แล้วตกตะกอนลง ณ บริเวณปากแม่น้ำเกิดเป็นลานโคลนหรือเลนขึ้น เวลาน้ำทะเลขึ้นจะถูกท่วม และเมื่อน้ำลงจะปรากฏขึ้นเป็นลานกว้าง โดยมากมีความลาดชันน้อยมาก ด้วยความสมบูรณ์ของธาตุอาหารในตะกอนดิน และระดับน้ำทะเลหรือน้ำกร่อยที่พอเหมาะ หาดโคลนจะมีพรรณไม้ป่าชายเลนขึ้นตามธรรมชาติ เช่น อ่าวทุ่งคา อุทยานแห่งชาติหาดทรายรี จังหวัดชุมพร ในบางแห่งที่หาดโคลน มีเม็ดทรายปนอยู่ด้วย และเป็นหาดที่มีความลึกน้อยจะพบว่ามีหญ้าทะเลขึ้นอยู่เป็นลานกว้าง เช่น หาดเจ้าไหมอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง

          2. สันทราย (Berm) หรือ สันหาด ลักษณะเป็นเนินทรายขนาดเล็กคล้ายที่ราบ อยู่สูงกว่าระดับน้ำท่วมถึง และมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและขนาดได้ตามแรงปะทะของคลื่น กระแสน้ำ และลม บ้างเกิดขึ้นจากการพังทลายของขอบฝั่ง

          3. สันดอน (Bar) หมายถึง บริเวณที่น้ำทะเลพัดพาเอาตะกอน ซึ่งโดยมากเป็นทรายมาสู่ฝั่ง แต่มีสิ่งขวางกั้นก่อนถึงชายฝั่ง น้ำทะเลจึงชะลอความเร็วลง ตะกอนทรายจึงทับถมสะสมกันมากเกิดเป็นสันดอน สันดอนที่เกิดขึ้นจึงมีการเปลี่ยนแปลง ตำแหน่ง รูปร่าง และขนาดได้ เมื่อกระแสน้ำและคลื่นเปลี่ยนขนาดและทิศทาง สันดอนส่วนมากมักเกิดยื่นขวางหรือปิดปากแม่น้ำหรือชายหาด จึงกีดขวางทางเดินเรือและปากอ่าว แบ่งเป็น 4 ประเภทตามรูปร่างและสถานที่เกิด คือ สันดอนก้นอ่าว สันดอนปากอ่าว สันดอนจงอยปากอ่าว และสันดอนเชื่อมเกาะ บางแห่งหากมีสันดอนปากอ่าวเกิดขึ้นและคงอยู่เป็นเวลานานจนมีขนาดใหญ่และเป็นแผ่นดินขึ้น แอ่งน้ำทะเลที่ถูกปิดกั้นไว้ก็จะเกิดเป็นทะเลสาบน้ำเค็ม ซึ่งมีทางให้น้ำทะเลไหลเข้าออกได้ ในประเทศไทยพบเพียงแห่งเดียว คือ ทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา

          4.เกาะ (Island) หมายถึง แผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบโดยตลอดเป็นภูมิประเทศสำคัญอย่างหนึ่ง ตามบริเวณชายฝั่งทะเล แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามตำแหน่งที่ตั้ง คือ เกาะริมทวีป ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งของทวีป เป็นแผ่นดินผืนเดียวกันกับทวีปนั้น แต่อาจมีการยุบตัวของแผ่นดิน จนน้ำท่วมส่วนที่ต่ำตัดขาดแผ่นดินกับเกาะนั้นๆ หรืออาจเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกบริเวณนั้นก็ได้ และประเภทเกาะกลางมหาสมุทร เช่น หมู่เกาะฮาวาย การเกิดมี 2 วิธี คือ จากภูเขาไฟหรือจากซากปะการังทับถมกัน สำหรับเกาะที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมดจัดเป็นเกาะริมทวีปทั้งสิ้น เกาะที่สำคัญได้แก่ เกาะภูเก็ต เกาะสมุย เกาะช้าง และหมู่เกาะตะรุเตา เป็นต้น

          จากรูปร่างและลักษณะต่างๆ ของชายฝั่งทะเลที่แตกต่างกัน จึงทำให้ชายฝั่งทะเลมีคุณค่าในตัวเองอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ นอกจากคุณค่าต่อการศึกษาทางธรณีวิทยา สัณฐานวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ และอื่นๆ แล้ว ชายฝั่งทะเลแต่ละแห่งก็มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ได้ แต่ทำลายได้ คุณค่าเหล่านี้ หากเราทุกคนเข้าใจ ตั้งใจ จริงใจ และร่วมมือกันที่จะอนุรักษ์ไว ้โดยการใช้ประโยชน์อย่างทะนุถนอมและรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของธรรมชาติ ชายฝั่งทั้งหมดที่กล่าวมาย่อมสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างดี เช่น การท่องเที่ยวหรือการใช้ทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศน์ที่สมดุล ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลเหล่านี้



ลักษณะชายฝั่งทะเล

          พื้นที่ในทะเล ซึ่งอยู่ระหว่างอ่าวไทยฝั่งตะวันออก บริเวณช่องแสมสาร จังหวัดระยอง กับอ่าวไทยฝั่งตะวันตก บริเวณเหนืออำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนถึงก้นอ่าวไทย เรียกว่า "อ่าวประวัติศาสตร์"  บริเวณที่เรียนกันว่า ก้นอ่าวไทย คือ ชายฝั่งทะเลตั้งแต่ปากน้ำแม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา จนถึงบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ

          ลักษณะชายฝั่งของประเทศไทย ส่วนมากเป็นหาดทราย ที่มีความสูงไม่มากนัก ส่วนบริเวณปากแม่น้ำและใกล้เคียง เป็นหาดทราย โคลนหรือหาดทรายปนโคลน เนื่องจากเปลือกโลกมีความเคลื่อนไหว ตลอดเวลา ทำให้เกิดการยกตัวสูงขึ้น หรือบางแห่งก็ยุบจมต่ำลง ลักษณะชายฝั่งทะเล จึงสามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ

      - ชายฝั่งทะเลยกตัว (Emerged shoreline) เป็นชายทะเล ที่เกิดขึ้นจากการที่เปลือกโลกยกตัวขึ้น หรือฝั่งทะเลลดระดับลง ทำให้บริเวณที่เคยจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา รูปร่างของแนวชายฝั่งมักเรียบตรง ไม่ค่อยเว้าแหว่งมาก ชายฝั่งแบบนี้มีตัวอย่างเห็นได้ในภาคใต้ ฝั่งตะวันออกด้านอ่าวไทย

      - ชายฝั่งทะเลยุบตัว (Submerged shoreline) เป็นลักษณะของชายฝั่งที่เปลือกโลกมีการยุบระดับต่ำลง ทำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาท่วมบริเวณผืนดินชายฝั่ง และเกิดเป็นแนวชายฝั่งขึ้นใหม่ในบริเวณ ที่เป็นผืนแผ่นดินมาแต่เดิม ชายฝั่งทะเลประเภทนี้ส่วนใหญ่มักเป็นหน้าผาชัน ไม่ค่อยมีที่ราบชายฝั่ง และแนวชายฝั่งมีลักษณะเว้าแหว่งมาก หากลักษณะภูมิประเทศเดิมเป็นภูเขา เมื่อเกิดการยุบจมมักจะเกิดเป็นเกาะต่างๆ ลักษณะชายฝั่งทะเลยุบตัวที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ชายฝั่งบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล นอกจากนี้ แม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลส่วนมากจะมีปากแม่น้ำกว้างเป็นพิเศษ ซึ่งเรียกปากน้ำชนิดนี้ว่า ชะวากทะเล ตัวอย่างเช่น บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนอง เป็นต้น

       - ชายฝั่งทะเลคงระดับ (Neutral shoreline) เป็นลักษณะชายฝั่งที่เปลือกโลกไม่มีการเคลื่อนไหวมาเป็นเวลานาน ทำให้แนวชายฝั่งอยู่คงที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพของฝั่งตามสภาพปกติดังเช่น บริเวณดินดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา จากพลังของคลื่น ลม และกระแสน้ำที่กระทบชายฝั่งตลอดเวลา จึงเกิดการกัดเซาะชายฝั่งให้สึกกร่อนพังทลายไป และบางส่วนอาจเกิดการตกตะกอนทับถม จึงทำให้รูปร่างของชายฝั่งทะเลแตกต่างกันไป

          ชายฝั่งที่เกิดการกัดเซาะ โดยมากมักเป็นบริเวณชายฝั่งทะเลน้ำลึก ลักษณะชายฝั่งลาดชันลงสู่ท้องทะเล ทำให้เกิดการกัดเซาะของคลื่นลม และกระแสน้ำเป็นไปอย่างรุนแรง เกิดเป็นภูมิประเทศลักษณะต่างๆ คือ

          1. หน้าผาชันริมทะเล (Sea Cliff) เป็นบริเวณชายฝั่งที่มีภูเขาหรือเทือกเขาอยู่ติดทะเล หรือชายฝั่งที่เป็นชั้นหินวางตัวในแนวเอียงเทหรือแนวตั้ง คลื่นจะกัดเซาะฝั่งทำให้เกิดเป็นหน้าผาริมทะเลขึ้น มักเกิดขึ้นในบริเวณฝั่งทะเลยุบตัว เห็นได้ชัดเจนบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน

          2. เว้าทะเล (Sea Notch) เป็นรอยเว้าในแนวระดับขนานไปกับระดับน้ำทะเลเป็นทางยาว เกิดขึ้นบริเวณฐานของหน้าผาชันริมทะเล จากการกัดเซาะของคลื่นและการกร่อนละลายของหินผา ใช้เป็นหลักฐานแสดงถึงระดับน้ำทะเลในอดีตได้

          3. โพรงหินชายฝั่ง (Grotto) หรือ ถ้ำทะเล (Sea Cave) หมายถึง ถ้ำที่เกิดตามบริเวณชายฝั่งทะเล หรือชายฝั่งของเกาะต่างๆ ถ้ำชนิดนี้เกิดจากการกัดเซาะของคลื่นที่หน้าผาชายฝั่ง ทำให้เป็นช่องหรือโพรงเข้าไป ในช่วงแรกอาจเป็นโพรงขนาดเล็ก (grotto) เมื่อเวลานานเข้าได้รับอิทธิพลจากน้ำฝนและน้ำใต้ดินก็กลายเป็นโพรงขนาดใหญ่ หรือเป็นถ้ำ (cave) ในที่สุด

          4.ถ้ำลอด (Sea Arch) ลักษณะเป็นโพรงหรือถ้ำที่เปิดทะลุออกทะเลทั้งสองด้าน ถ้ำลอดที่มีชื่อเสียงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของไทย คือ ถ้ำลอดที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา และเขาช่องกระจก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          5. สะพานหินธรรมชาติ (Natural Bridge) เกิดจากคลื่นและลมที่กัดเซาะแนวหินบริเวณหัวแหลมทำให้เกิดโพรงหินชายฝั่ง ซึ่งการกัดเซาะเกิดขึ้นทั้งสองด้านพร้อมๆ กัน จนโพรงนั้นทะลุถึงกัน โดยหินส่วนที่เหลืออยู่เหนือโพรงจะมีลักษณะคล้ายสะพาน  ดังเช่นสะพานหินธรรมชาติ ณ เกาะไข่ ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล

          6. เกาะหินโด่ง (Stack) หมายถึง เกาะโขดหินแนวตั้งที่แยกโดดออกจากผืนแผ่นดินหรือเกาะที่อยู่ใกล้เคียง อาจเกิดจากผาหินที่ยื่นออกไปในทะเล ถูกคลื่นและลมเซาะส่วนเชื่อมต่อซึ่งไม่แข็งแรงออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งส่วนที่เชื่อมต่อต้องพังทลายจมน้ำไป เหลือเพียงโขดหินเท่านั้นตั้งโดดเด่นอยู่ โดยที่ส่วนที่เคยเชื่อมต่อนั้นอาจเป็นแนวหิน สะพานหินธรรมชาติ หรือถ้ำลอดขนาดใหญ่ ซึ่งน้ำหนักของหินส่วนที่ปิดเชื่อมต่ออยู่ข้างบนมีมากเกิดความแข็งแรง จึงเกิดการหักพังหรือยุบถล่มลงจมอยู่ใต้น้ำ ตัวอย่างที่รู้จักกันดี คือ เขาตาปูในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา

          7. ชะวากทะเล (Estuary) คือ บริเวณตอนล่างของปากแม่น้ำที่มีความกว้างมากจนมีลักษณะคล้ายอ่าว แต่ตอนบนสอบแหลมเป็นรูปกรวย เกิดจากพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำยุบตัวลง เช่น บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนอง
        


ชายฝั่งทะเลของไทย, ชายฝั่งทะเลของไทย หมายถึง, ชายฝั่งทะเลของไทย คือ, ชายฝั่งทะเลของไทย ความหมาย, ชายฝั่งทะเลของไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu