ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

หญ้าทะเล (SeaGrasses), หญ้าทะเล (SeaGrasses) หมายถึง, หญ้าทะเล (SeaGrasses) คือ, หญ้าทะเล (SeaGrasses) ความหมาย, หญ้าทะเล (SeaGrasses) คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
หญ้าทะเล (SeaGrasses)

          ชีวิตมีจุดกำเนิดขึ้นในทะเล ต่อมาในช่วงปลายของยุค Silurian เมื่อประมาณ 400 ล้านปีมาแล้ว พืชได้วิวัฒนาการเจริญเติบโตขึ้นไปอยู่บนบก และต่อมาประมาณ 25 ล้านปีที่แล้ว พืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียบางชนิดได้มีวิวัฒนาการเจริญเติบโตกลับสู่ลงทะเลอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า หญ้าทะเล บริเวณที่มีหญ้าทะเลขึ้นอยู่ มักเป็นชายฝั่งที่มีคลื่นลมค่อนข้างสงบ และเนื่องจากหญ้าทะเลมีการแพร่กระจายพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศ คือ การสร้างดอก ผล และเมล็ด และอีกทางหนึ่ง คือ แบบไม่อาศัยเพศ โดยการแตกต้นใหม่จากลำต้นใต้ดิน (Rhizome) เช่นเดียวกับการขยายพันธุ์ของหญ้าบนบกทั่วๆ ไป จึงทำให้หญ้าทะเลหลายๆ ชนิด มักจะเจริญงอกงามปะปนกันติดต่อกันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เรียกกันว่า แหล่งหญ้าทะเล

ชนิดของหญ้าทะเลและการแพร่กระจาย

          หญ้าทะเล เป็นพืชทะเลที่มีดอก จะอยู่ในวงศ์พืชที่มีความสัมพันธ์กับพืชน้ำ วงศ์แรก คือ ไฮโดรคาริตาซีอี(Hydrocharitaceae) มีอยู่ 3 สกุล 11ชนิด คือสกุล Halophila, Thalassia และ Enhalus ส่วนอีกวงศ์หนึ่ง คือ โพตาโมจีตานาซีอี (Potamogetanaceae) มีอยู่ 9 สกุล 34 ชนิด คือ สกุล Phyllospadix, Zostera, Posidonia, Halodule, Thalassodendron, Cymodocea, Syringodium, Amphibolisและ Heterozostera ดังนั้น หญ้าทะเลที่เราพบตามมหาสมุทรต่างๆ ของโลกจึงมี 45 ชนิด

          ส่วนใหญ่ของสกุลและชนิดหญ้าทะเลจะกระจัดกระจายอย่างแน่นอนในเขตร้อน โดยเฉพาะทุกสกุลของหญ้าทะเลที่อยู่ในวงศ์ไฮโดรคาริตาซีอี (Hydrocharitaceae) จะมีลักษณะที่แสดงว่าเป็นพืชในเขตร้อน และวงศ์โพตาโมจีตานาซีอี (Potamogetanaceae) ซึ่งบางสกุลอย่างเช่น Zostera และ Phyllospadix อันเป็นชนิดที่ขึ้นอยู่ในเขตอบอุ่น สำหรับสกุล Posidonia จะอยู่กระจายในเขตที่ ต่ำจากเขตอบอุ่นจนถึงบริเวณถัดจากเขตร้อนเล็กน้อย โดยจะเจริญเติบโตอยู่ได้ทั่วไปในโล กและมีความสามารถอยู่ได้ในทะเลและแหล่งน้ำกร่อยจนกระทั่งเข้ามาในบริเวณน้ำจืด โดยทั่วไปแล้ว หญ้าทะเลจะเจริญได้ดีในเขตร้อนและเขตอบอุ่น มีอยู่เพียง 2-3 ชนิดเท่านั้น ที่สามารถแพร่ขยายขึ้นไปจนถึงเส้นรุ้งสูงๆ ได้ แต่ยังไม่ทราบเหตุผล ว่า ทำไมหญ้าทะเลจึงปรากฎอยู่เพียงชนิดเดียว คือ Heterozostera tasmasiica ที่ชายฝั่งของอเมริกาใต้ ส่วนใหญ่ศูนย์กลางที่เป็นแหล่งที่เกิดของหญ้าทะเล คือ

          บริเวณเขตอบอุ่นแปซิฟิกเหนือ แอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริเบียน ตะวันออกของอัฟริกา และเขตร้อนทาง แปซิฟิกตะวันตก หญ้าทะเลมีการแพร่กระจายอย่างอุดมสมบูรณ์ มากในทวีปออสเตรเลีย พบว่า มีหญ้าทะเล 11 สกุล ยกเว้นสกุล Phyllospadix เท่านั้นที่ไม่พบ รวมทั้งหมด 30 ชนิด ตลอดแนวชายฝั่งของทวีป ตั้งแต่ เขตร้อนทางตอนเหนือ ถึงเขตอบอุ่นทางตอนใต้ของ ทวีป ยังพบว่าหญ้าทะเลสกุล Halophila spp. (ยกเว้น H.australis), Cymodocea spp. (ยกเว้น C.angustata), Halodule spp., Thalassia sp., Enhalus และ Thalassodendron sp. มักเจริญเติบโตในเขตร้อน ส่วนใหญ่หญ้าทะเลสกุล Amphibolis spp., Posidonia spp., Thalassodendron sp., Zostera spp. Heterozostera spp.เป็นกลุ่มที่เจริญเติบโตในเขตอบอุ่นของประเทศออสเตรเลีย

          สำหรับชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทย และทางฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยนั้น ปัจจุบันได้มีการสำรวจพบหญ้าทะเล 7 สกุล 12 ชนิด คือ Halophila ovalis, Halophila beccarii, Halophila decipiens, Halophila ovala, Thalassia hemprichii, Enhalus acoroides, Cymodocea rotundata, Cymodocea serrulata, Halodule uninervis, Halodule pinifolia, Syringodium soetifolium และ Ruppia maritima



ระบบนิเวศน์หญ้าทะเล

          บทบาทที่สำคัญที่สุดของหญ้าทะเลในระบบนิเวศน์ คือ การเป็นผู้ผลิต (Producer) ในห่วงโซ่อาหาร ส่วนต่างๆ ของหญ้าทะเลโดยเฉพาะส่วนของใบซึ่งจะเน่าเปื่อยหลังจากตายลง ซากเน่าเปื่อยที่สลายตัวลงเรียกว่า "ดีไทรทัส" และผลผลิตที่ได้จากขบวนการสังเคราะห์แสง หญ้าทะเลจะปล่อยอินทรียสารที่ละลายน้ำได้สู่มวลน้ำและถูกถ่านเทออกไปยังนอกชายฝั่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการหมุนเวียนของคาร์บอนในแหล่งน้ำ โดยจะเป็นอาหารของแพลงค์ตอนพืชและสัตว์ต่อไป
ปลาบางชนิด หอย เม่น และหอยฝาเดียวบางชนิดจะแทะเล็มหญ้าทะเลเป็นอาหาร สัตว์เหล่านี้บางทีไม่ได้ย่อยสารเซลลูโลส แต่มันจะดูดซึมเซลล์ที่อยู่ในใบหญ้าทะเล หรือในสาหร่ายที่เกาะอยู่ตามผิวในเท่านั้น สัตว์ใหญ่ที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหารโดยตรง ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน และนกเป็ดน้ำ เป็นต้น

ประโยชน์ของหญ้าทะเล

          แหล่งหญ้าทะเลเป็นที่อยู่อาศัยและที่หาอาหารเพื่อการเจริญเติบโตของกุ้ง หอย ปู ปลานานาชนิดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และมีคุณค่าต่อความสมดุลของระบบนิเวศน์ ขณะเดียวกัน ยังเป็นแหล่งหลบภัยศัตรูจากผู้ล่า ดังนั้น จึงเป็นแหล่งที่เหมาะสำหรับการวางไข่ การอนุบาลของสัตว์ทะเลวัยอ่อน เช่น ปลาเก๋า ปลาตูหนา ปู และกุ้งทะเลหลายชนิด แหล่งหญ้าทะเลจึงเป็นแหล่งทำการประมงชายฝั่งที่สำคัญ ประโยชน์ของแหล่งหญ้าทะเลทางเศรษฐกิจ โดยตรงด้านอื่นนอกจากการประมงแล้ว อาจจะมีอยู่อย่างจำกัด เช่น ชาวอินเดียนตามชายฝั่งทะเลที่เมืองบาจา แคลิฟอร์เนีย นำผลของหญ้า Zoptera ไปใช้ประโยชน์ และในปาปัวนิวกินี ชาวพื้นเมืองจะกินผลของ Enhalus ซึ่งจะมีดอกอย่างกระจัดกระจายเพียง 10% ตลอดทั้งปี และนำส่วนใยสีดำของเส้นขอบใบ Enhalus ที่มีความเหนียวมากสานเป็นตาข่ายใส่ปลา

          ประโยชน์ทางอ้อมของแหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การเป็นเสมือนกำแพงชะลอความรุนแรงของกระแสน้ำที่พัดเข้าสู่ฝั่ง ทำให้อัตราการพังทลายของชายฝั่งลดลง แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล และด้วยทำเลที่แหล่งหญ้าทะเลมักเกิดอยู่ใกล้ชายฝั่ง จึงส่งผลให้แหล่งหญ้าทะเลถูกรบกวนและทำลายได้โดยง่าย การทำการประมงที่ไม่ถูกวิธี เช่น การใช้อวนรุน อวนลาก การปล่อยน้ำเสียจากบ่อเพาะเลี้ยงกุ้ง โรงงานอุตสาหกรรม หรือชุมชนต่างๆ โดยไม่ได้มีการบำบัด การทำเหมืองแร่ตามชายฝั่ง และการทำลายพื้นที่ป่าไม้อันเป็นกิจกรรมที่ทำให้น้ำที่ไหลลงสู่ชายฝั่งมีตะกอนมาก ซึ่งตะกอนและน้ำเสียเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการดำรงอยู่ของแหล่งหญ้าทะเล จนในที่สุดก็จะตายไปและเหลือเพียงแต่หาดเลนที่สกปรกนั่นเอง

          ในประเทศไทย ชายฝั่งทะเลของจังหวัดตรัง บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เกาะตะลิบงและเกาะมุก มีแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งอาหารสำหรับพะยูนและเต่าทะเลที่สมบูรณ์ผืนสุดท้ายของประเทศไทย จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้แหล่งหญ้าทะเลนี้คงความสมบูรณ์ต่อไป หากเราสามารถนำความรู้ทางด้านชีววิทยาทางทะเลที่มีอยู่หรือศึกษาค้นคว้าให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ทั้งสอง ความรู้ที่ได้จะนำมาใช้ประโยชน์ จนสามารถทำฟาร์มเลี้ยงเต่าทะเลและพะยูนในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลอย่างจริงจังในอนาคตได้


หญ้าทะเล (SeaGrasses), หญ้าทะเล (SeaGrasses) หมายถึง, หญ้าทะเล (SeaGrasses) คือ, หญ้าทะเล (SeaGrasses) ความหมาย, หญ้าทะเล (SeaGrasses) คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu