พระบรมราโชวาท หมายถึง ถ้อยคำที่พระมหากษัตริย์ทรงตรัส มักกล่าวแก่ที่ประชุม มีจุดประสงค์เพื่อแนะนำ ให้ข้อคิด มีใจความที่แฝงไปด้วยประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ สามารถนำถ้อย พระบรมราโชวาท ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมบ้านเมือง
ในรัชกาลปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงตรัส พระบรมราโชวาท ไว้อย่างหลากหลาย เมื่อครั้งเสร็จพระราชดำเนินไปในงานพิธีต่างๆ อาทิ งานพระราชทานปริญญาบัตร วาระการประชุมที่สำคัญ หรือแม้แต่ในวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม พระองค์ก็ได้ทรงตรัสพระบรมโชวาทที่สามารถนำกลับมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดีแก่องค์กรและคณะบุคคลต่างๆ ทั้งนี้ เราได้รวบรวม พระบรมราโชวาท ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ส่วนหนึ่งมาให้ได้อ่านกัน เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ และทำให้เราได้มองเห็นในอีกด้านหนึ่งของการใช้ชีวิต ว่าควรจะดำเนินต่อไปอย่างไร
ส่วนหนึ่งของพระบรมราโชวาท
“การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัวช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒
------------------------------------------
“ถ้าทำงานด้วยความตั้งใจที่จะให้เกิดผลอันยิ่งใหญ่ คือความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติ ด้วยความสุจริตและด้วยความรู้ความสามารถด้วยจริงใจ ไม่นึกถึงเงินทองหรือนึกถึงผลประโยชน์ใดๆ ก็เป็นการทำหน้าที่โดยตรงและได้ทำหน้าที่โดยเต็มที่”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๑
------------------------------------------
“ถ้าทุกคนสนใจในความรักประเทศชาติ รักษาความดีเอาไว้ ไม่ต้องไปตามอย่างในสิ่งที่เราเห็นว่าไม่น่าที่จะเจริญไม่น่าจะพัฒนา เราต้องรักษาแนวทางความคิดตามที่เรามีอยู่ แม้จะเป็นสิ่งที่ตกทอดมาแต่โบราณกาลจากปู่ย่าตายายของเรา แต่เป็นระเบียบการหรือเป็นวิธีการที่ดี จะไม่ล้าสมัย”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ๑๓ มีนาคม ๒๕๑๔
------------------------------------------
“ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวง ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้ เพราะอวัยวะใหญ่น้อยทำงานเป็นปรกติพร้อมกันอย่างไร ชาติบ้านเมืองก็ดำรงอยู่ได้เพราะสถาบันต่าง ๆ ตั้งมั่นและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยพร้อมมูลอย่างนั้น”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ
และอาสาสมัครพลเรือนในพิธีตรวจพลสวนสนาม ในงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก ๘ มิถุนายน ๒๕๑๔
------------------------------------------
“ชาติบ้านเมือง คือ ชีวิต เลือดเนื้อ และสมบัติของเราทุกคน และการดำรงรักษาชาติประเทศนั้น มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆฝ่าย ทุกๆคน ที่จะต้องร่วมมือกระทำ พร้อมกันไปโดยสอดคล้องเกื้อกูลกัน”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก ๘ มิถุนายน ๒๕๑๔
------------------------------------------
“การมีเสรีภาพนั้น เป็นของที่ดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ตามความรับผิดชอบมิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนร่วมด้วย”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๔
------------------------------------------
“ความรู้ในวิชาการ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ และทำให้เป็นคนที่มีเกียรติ เป็นคนที่สามารถ เป็นคนที่มีความพอใจได้ในตัวว่า ทำประโยชน์แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม นอกจากวิชาความรู้ ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัยและสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการ ทั้งความรู้รอบตัว และความรู้ในชีวิต ก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเนื่องในโอกาสวันปิดภาคเรียนของโรงเรียนจิตรลดา ๒๕ มีนาคม ๒๕๑๕
------------------------------------------
“จิตใจและความประพฤติที่สะอาดและมีระเบียบ เป็นรากฐานสำคัญของชีวิตจิตใจทั้งความประพฤติดังนั้นใช่จะเกิดมีขึ้นเองได้ หากแต่จำเป็นต้องฝึกหัดอบรมและสนับสนุนส่งเสริมกันอย่างจริงจังสม่ำเสมอ นับตั้งแต่บุคคลเกิด ดังที่มนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใด ได้เฝ้าพยายามกระทำสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งเพื่อให้สามารถรักษาตัวและมีความสุข ความสำเร็จในการครองชีวิต ทั้งให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ด้วยความผาสุกสงบ”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการสัมมนาของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เรื่อง การพัฒนาสังคมในด้านศีลธรรมและจิตใจ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๖
------------------------------------------
“ความสามัคคีนั้น อาจหมายความถึงเห็นชอบเห็นพ้องกันโดยไม่แย้งกัน ความจริงงานทุกอย่างหรือการอยู่ เป็นสังคมย่อมต้องมีความขัดแย้งกัน ความคิดต่างกัน ซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราใช้หลักวิชาและความปรองดองด้วยการใช้ปัญญา การแย้งต่าง ๆ ย่อมเป็นประโยชน์ หากมีรากฐานของความคิดอย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้นคือ แต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความมีความเป็นปึกแผ่น”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ มีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๑๗
------------------------------------------
“ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็กเพราะว่าต่อไป ถ้ามีชีวิตที่ลำบาก ไปประสบอุปสรรคใดๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้ เพราะว่าถ้าไม่เจออุปสรรคอะไร ก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็ง ในกาย ในใจ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ นั้นได้”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชวินิต ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๘
------------------------------------------
9 คำสอนจากพระบรมราโชวาท
1. การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันควรทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีควรต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง จากพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖
แปลความ: การจะทำอะไรออกมาสักอย่างให้ประสบความสำเร็จมักจะต้องใช้เวลา บางอย่างที่เรายังมองไม่เห็นปลายทางทางของความสำเร็จก็อย่าเพิ่งย่อท้อไปซะก่อน ให้อดทน พยายาม และตั้งใจทำให้สุดความสามารถ เชื่อว่าเมื่อผลงานที่เราตั้งใจทำจนเสร็จจะต้องออกมาดี และจะมีผลดีต่อเนื่องตัวเราไปตลอด
2. ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับ ผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน จากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐
แปลความ: ไม่มีใครเกิดมาร่ำรวย หรือเป็นมหาเศรษฐีมาตั้งแต่เกิด โดยเฉพาะคนที่เกิดมาแล้วพอมีพอกิน หากอยากร่ำรวยก็ต้องขยันทำมาหากิน เก็บเล็กผสมน้อย ใช้เงินด้วยความรอบคอบ หาเงินมาด้วยความระมัดระวังสุจริต เมื่อเห็นผลของการออมนั้นแล้วจึงค่อยต่อยอดให้เม็ดเงินมีดอก ออกผลต่อไป จึงจะเป็นประโยชน์
3. เด็กๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมีระเบียบและคนที่มีระเบียบดีแล้ว จะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่างๆ ได้โดยถูกต้องรวดเร็ว จะเป็นคนที่จะสร้างความสำเร็จและความเจริญ ให้แก่ตนเองและส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน จากพระบรมราโชวาท พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือ วันเด็ก ประจำปี ๒๕๒๑
แปลความ: นึกจะทำสิ่งใดต้องมีสติ รู้ตัว และคิดให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจ นั่นเองจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าสิ่งที่ทำจะเกิดความสำเร็จมากน้อยเพียงใด หากเป็นคนที่ใช้สติพิจารณารอบคอบก่อนการตัดสินใจยิ่งจะช่วยเสริมให้ตัวเองคิดอย่างเป็นระบบ ทำอย่างเป็นระเบียบ ไม่ว่าจะเล่าเรียน หรือทำการงานสิ่งใดก็จะสำเร็จลุล่วง
คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้ จากพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๑
แปลความ: มนุษย์ทุกคนเกิดมาบนโลกนี้อย่าพยายามเห็นแก่ตัวเองเป็นสำคัญ โลกของเรายังมีเพื่อนร่วมโลกอยู่อีกมาก จงอย่าเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว แต่จงรู้จักให้เพื่อให้การรับนั้นสัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น การกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมักจะต้องมีสิ่งตอบแทนเป็นของรางวัล จึงจะทำให้ผู้ที่กระทำ หรือผู้ให้นั้นเกิดกำลังใจ แต่จงเลือกการให้ที่เป็นประโยชน์สูงสุด นี่จึงเป็นวิธีสร้างความสามัคคีที่ดีในหมู่คณะอีกวิธีหนึ่ง
ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม จากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๙๖
แปลความ: ตามแต่โบราณท่านได้สอนไว้ว่าไปมาลาไหวเป็นมารยาทสังคมที่เราทุกคนควรมี เมื่อเรามีจิตคารวะนอบน้อมต่อผู้ที่อาวุโสกว่า หรือบุคคลแปลกหน้าที่ไม่เคยได้รู้จักมักจี่กันมาก่อน นั่นจะทำให้เรามีความน่ารัก อ่อนโยน น่าเข้าหา พร้อมแล้วที่จะรับผู้อื่นเข้ามาอยู่ในแวดวงสังคมของเรา การรวมตัวบุคคลจึงจะทำได้ง่ายขึ้น เป็นอีกกลุ่มก้อนกำลังที่พร้อมจะทำประโยชน์ให้ผู้อื่นต่อไป
ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม จากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐
แปลความ: ก่อนที่จะพูดอะไรควรคิดพิจารณาให้รอบคอบ เมื่อเลือกที่จะพูดออกมาแล้วก็ต้องสามารถปฏิบัติให้เห็นจริงได้ ว่ากันว่าคำพูดของคนมักเป็นใหญ่กว่าร่างกาย หากพูดจริงแล้วทำจริงก็จะยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง และหากว่าสิ่งที่กระทำลงไปสำเร็จก็ยิ่งเป็นการเชิดหน้าชูตาในเกียรติคุณที่เราได้สร้างขึ้นไว้ ง่ายนักที่บุคคลทั่วไปจะหันมายกย่องสรรเสริญ ตัวเราก็จะมีความเจริญ
7. หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นคล้ายๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้ มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้ จากพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ ในโอกาสที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท วันที่ 25 พฤศจิกายน 2514
แปลความ: หนังสือเป็นเครื่องมือแห่งการเรียนรู้และเติมเต็มปัญญาได้ดีที่สุด มนุษย์เราเรียนรู้จักอักษรที่รวมตัวกันเป็นเรื่องราวมาตั้งแต่อดีต ทำให้ได้เรียนรู้ความเป็นไปของผู้คนในแต่ละยุคสมัย เมื่อวิวัฒนาการได้เปลี่ยนไป คนจึงได้คิดรวบรวมเรื่องราวเหล่านั้นให้ออกมาเป็นเครื่องมือที่สามารถพกพาไปไหนมาได้จึงกลายเป็นหนังสือ เครื่องมือที่เปรียบดั่งธนาคารแห่งความรู้ที่มีให้เราได้ถอนออกมาใช้และสะสมอย่างมากมาย
8. ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็กๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่นคง จากพระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ปี พุทธศักราช 2531
แปลความ: ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นการกระทำที่เราไม่ต้องพยายามให้ตัวเองเป็นไปในสิ่งนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตรงหน้า เรารับรู้ได้ด้วยตาเห็น ณ ขณะนั้นทันที ฉะนั้นแล้วเราควรฝึกให้ลูกของเรามีอุปนิสัยซื่อสัตย์สุจริตกันตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้เขามีความน่ารัก เป็นที่รัก จึงจะนำมาซึ่งความเจริญทุกอย่างในชีวิต
9. ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ จากพระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่าน ในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 12 ธันวาคม 2513
แปลความ: ความดีเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องฝึกฝน ไม่ต้องข่มใจทำดังเช่นกับการทำความชั่ว การทำดีแค่เพียงคนเดียวคงไม่เพียงพอ แต่เราต้องร่วมมือกันหลายๆ คนเพื่อกระทำในสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง เพื่อให้สังคมส่วนรวมเกิดความสงบและความสุข
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่บัณฑิต
การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์มิได้
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506
------------------------------------------------------------------------
การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหนเพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้อง เหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเอง ให้ยิ่งสูงขึ้น
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 18 กรกฎาคม 2541
------------------------------------------------------------------------
ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำคำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จมาจากความคิด การคิดก่อนพูดและก่อนทำจึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2540
------------------------------------------------------------------------
ความรู้จักอดทนและอดกลั้น ไม่ยอมตัวยอมใจให้วู่วามไปตามเหตุการณ์ ตามอคติและอารมณ์ที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจนั้น ทำให้เกิดมีการยั้งคิด และธรรมดาคนเรา เมื่อยั้งคิดได้แล้วย่อมมีโอกาสที่จะพิจารณาเรื่องที่ทำ คำที่พูด ทบทวนดูใหม่ได้อีกคำรบหนึ่ง การพิจารณาทบทวนเรื่องใดๆ ใหม่ ย่อมจะช่วยให้มองเห็นละเอียดชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจอันกระจ่างสว่างไสวขึ้น
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 14 กันยายน 2516
------------------------------------------------------------------------
การรู้จักรับผิด คือ การยอมรับว่าสิ่งที่ตนทำมีข้้อใด ส่วนใดผิดพลาดเสียหาย และเสียหายเพราะเหตุใดข้อนี้มีประโยชน์ ทำให้รู้จักพิจารณาการกระทำของตน พร้อมทั้งข้อบกพร่องของตนอย่างจริงจัง เป็นทางที่จะช่วยให้คิดหาวิธีปฏิบัติแก้ไข การกระทำและความผิดพลาดต่างๆ ให้ถูกต้องสมบูรณ์ได้
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 14 กันยายน 2516
------------------------------------------------------------------------
การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่พอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วยผู้ที่มี่ความรู้แต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็เท่ากับบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18 กันยายน 2504
------------------------------------------------------------------------
ความรู้ คือ ประทีปเปรียบได้กันหลายทาง ดวงประทีปเป็นไฟที่ส่องแสงนำทางไป ถ้าใช้ไฟนี้ส่องในทางที่ถูก ก็จะไปถึงปลายทางได้โดยสะดวกเรียบร้อย แต่ถ้าไม่ระวัง ไฟนั้นอาจเผาผลาญ ให้บ้านช่องพินาศลงได้
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 25 ตุลาคม 2505
------------------------------------------------------------------------
ในชีวิตการงานนั้น ทุกคนมีภาระอันหนักที่จะต้องกระทำมากมาย ทั้งในงานอาชีพและงานที่ทำประโยชน์แก่สังคม นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ รับใช้ชาติบ้านเมืองในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยอีกประการหนึ่งด้วย
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยศิลปากร 14 ตุลาคม 2512
------------------------------------------------------------------------
ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไปด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้นตามต่อกันไปเป็นลำดับ ผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น 18 ธันวาคม 2540
------------------------------------------------------------------------
คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่า ต่อไปและเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนก็ได้ช่วย ด้วยจิตใจที่เผือแผ่โดยแท้
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 เมษายน 2521
ขอบคุณที่มา: www.cca.chula.ac.th, Manager
คำสั่งสอนหรือคำชี้แนะ ที่เรามักได้ยินในงานรับปริญญาต่างๆ เรียกกันว่า พระบรมราโชวาท โดยคำว่า "ราโชวาท" มีความหมายคือ คำสอนของพระราชา ดังนั้นจึงหมายถึงคำสอนของพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชานั่นเอง