การละหมาด คือ ศาสนกิจอย่างหนึ่งในศาสนาอิสลาม มีเวลาละหมาด 5 เวลาต่อวัน เป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่ออัลลอฮฺทั้งทางร่างกายและจิตใจ ด้วยความสงบและความสำรวม อีกทั้งยังนับว่าเป็นศาสนกิจประจำวันที่สำคัญที่สุดในศาสนาอิสลามด้วย อัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติข้อปฏิบัติเกี่ยวกับเวลาละหมาดไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน มีใจความสำคัญว่า ก่อนเริ่มการละหมาดจะต้องอาบน้ำละหมาดทุกครั้ง แต่หากในกรณีที่ไม่มีน้ำ สามารถใช้ ตายัมมุม คือ ฝุ่นดินที่มีความสะอาดทดแทนได้ ละหมาด มีความหมายถึงการขอพร ซึ่งในทางศาสนาแล้วการละหมาด หมายถึง การกล่าวและการกระทำอันประกอบไปด้วยการตักบีร และจบลงด้วยสะลาม การละหมาดเป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมุสลิมทั่วโลก
การละหมาด แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
- ละหมาดฟัรดู (ละหมาดบังคับ) ได้แก่ ละหมาดประจำวัน วันละ 5 เวลา, ละหมาดวันศุกร์ (บังคับเฉพาะเพศชาย) และละหมาดจีนาซะฮ์ ( สำหรับผู้ที่ถึงแก่กรรม ) การละหมาดภาคบังคับในมุสลิมจะปฏิบัติกันตั้งแต่บรรลุนิติภาวะ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในเพศหญิงจะได้รับการยกเว้นในขณะที่มีรอบเดือน หรือมีเลือดหลังคลอดบุตร แต่จะต้องทำการละหมาดชดเชยเมื่อเข้าสู่สภาพปกติ
- ละหมาดซุนนะฮ์ (ละหมาดที่ไม่บังคับ) เชื่อกันว่าหากปฏิบัติจะได้บุญ แต่หากไม่ปฏิบัติก็ไม่บาป ได้แก่ ละหมาดในวันตรุษอีดิลิฏรี ละหมาดขอพร ฯลฯ สถานที่ที่ทำการละหมาดเป็นที่ใดก็ได้แต่จะต้องสะอาด หากละหมาดในช่วงเวลาวันศุกร์ให้กระทำที่มัสยิด โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของ กะบะฮ์ หินศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่ในนครเมกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
คุณสมบัติของผู้ที่ต้องละหมาด
- เป็นมุสลิม
- บรรลุศาสนภาวะ
- มีสติสัมปชัญญะ
- ปราศจากหัยฎฺ นิฟาส หรือ วิลาดะฮฺ
การปฏิบัติละหมาด
การละหมาดนั้นชาวมุสลิมจะเริ่มต้นปฏิบัติตั้งแต่อายุได้ 7 ขวบ เป็นการละหมาดฟัรดู 5 เวลา คือ ซุบฮิ ดุฮรี อัสริ มักริบ และอีซา โดยมีจำนวนรอกาอัตที่แตกต่างกัน คือ 2, 4, 4, 3 และ 4 รอกาอัต ซึ่งรอกาอัต หมายถึง 1 หน่วยของกริยาการทำละหมาด ตั้งแต่ยืน โค้ง(รูกูอ) ท่าก้มกราบ(สุญูด) และท่านั่ง ให้ปฏิบัติด้วยความสงบ สำรวม มุสลิมจะก้มกราบได้เฉพาะพระอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้น ในขณะที่ทำการละหมาดให้หันหน้าไปทางกิบละอ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของไทย
การละหมาดญุมอะฮ หรือที่ชาวไทยมุสลิมเรียกว่า การละหมาดวันศุกร์ เป็นละหมาดฟัรดูที่จำเป็น และบังคับสำหรับผู้ชายที่จะต้องไปปฏิบัติรวมกัน โดยมีอิหม่ามเป็นผู้นำละหมาด มีจำนวน 2 รอกาอัต ปฏิบัติหลังจากการกล่าวคุฎบะฮ หรือคำอบรมของอิหม่าม สถานที่ที่ปฏิบัติ คือ มัสยิด หรือหากในบริเวณนั้นไม่มีมัสยิดก็ให้รวมกันละหมาดในพื้นที่ที่สะอาด ซึ่งมีผู้ทำหน้าที่ คือ มุอัซซิน เป็นผู้กล่าวคุฎบะฮและนำละหมาด
เวลาละหมาดและรูปแบบการละหมาด
การละหมาดฟัรฏู อัลลอฮฺทรงกำหนดให้มุสลิมทำการละหมาด วันละ 5 เวลา คือ
- ละหมาดศุบหฺ มี 2 ร็อกอะฮฺ เวลาเริ่มตั้งแต่ฟ้าสางจนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น
- ละหมาด ซุฮฺริ มี 4 ร็อกอะฮฺ เวลาเริ่มตั้งแต่ดวงตะวันคล้อยจนเงาของสิ่งหนึ่งสิ่งใดทอดยาวออกไปเท่าตัว
- ละหมาดอัศรฺ มี 4 ร็อกอะฮฺ เวลาเริ่มตั้งแต่เมื่อเงาของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยาวกว่าเท่าตัวของมันเอง จนถึงดวงอาทิตย์ตกดิน
- ละหมาดมักริบ มี 3 ร็อกอะฮฺ เวลา เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดิน จนสิ้นแสงอาทิตย์ คือเวลาพลบค่ำ
- ละหมาดอิชาอฺ มี 4 ร็อกอะฮฺ เวลา เริ่มตั้งแต่เวลาค่ำจนถึงก่อนฟ้าสาง
เงื่อนไขของการละหมาด
นอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ข้างต้นแล้ว ผู้ละหมาดยังต้องคำนึงถึงเงื่อนไขอีก 8 ประการที่สำคัญ อันได้แก่
- ต้องปราศจากหะดัษใหญ่และหะดัษเล็ก คือ ต้องไม่มีญะนาบะฮฺ หัยฎู นิฟาส หรือ วิลาดะฮฺ และต้องมีน้ำละหมาด
- ร่างกาย เครื่องนุ่งห่ม และสถานที่ละหมาด ต้องสะอาด
- ต้องปกปิดเอาเราะฮฺ กล่าวคือ ผู้ชายต้องปิดตั้งแต่สะดือถึงหัวหัวเข่า ผู้หญิงจะต้องปกปิดทั่วร่างกาย ยกเว้นมือและใบหน้า
- ต้องหันหน้าไปทางกิบละฮฺ
- ต้องรู้ว่าได้เวลาละหมาดแล้ว
- ต้องรับว่ามุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติการละหมาด
- ต้องไม่ตั้งใจเปลี่ยนการละหมาดเป็นอย่างอื่น
- ต้องห่างไกลจากสิ่งที่ทำให้เสียละหมาด
App แจ้งเตือนเวลาละหมาด ง่ายๆ ไม่มีลืม
อย่าว่าแต่ศาสนาพุทธในบ้านเราที่ทุกวันนี้การใช้ชีวิต หรือการปฏิบัติกิจต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งตำรา หรือหนังสือที่มีเนื้อหาหนาเตอะเสมอไป เห็นได้จากแอปพลิเคชั่นบทสวดมนต์ที่มีออกมามากมายในรูปแบบตัวอักษรบ้าง หรือเสียงบ้าง รวมไปถึงเรื่องเล่าต่างๆ ในพุทธศาสนา นั่นก็เพื่อความสะดวกและเป็นไปตามพฤติกรรมของผู้คนในยุคสมัยนี้ เช่นเดียวกันกับศาสนาอิสลามที่จะต้องมีการปฏิบัติกิจทางศาสนาที่เรียกว่า การละหมาด ตอนนี้ก็มีแอปพลิเคชั่นออกมาให้ชาวมุสลิมได้ใช้ชีวิตกันอย่างสะดวกและง่ายมากขึ้นแล้ว กับแอปที่มีชื่อว่า Muslim Pro
Muslim Pro เป็นแอปพลิเคชั่นที่จะช่วยบอกเวลาละหมาดพร้อมเสียงอะซาน โดยแอปนี้ได้รับการยอมรับใน 215 ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม มีผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านคน ภายในแอปก็จะมีฟังก์ชั่นอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น
- การคำนวณเวลาละหมาดที่ถูกต้องแม่นยำตามตำแหน่งปัจจุบันของคุณ
- มีระบบแจ้งเตือนทั้งภาพและเสียง พร้อมกับเสียงเรียกละหมาด
- บอกตำแหน่งร้านอาหารและมัสยิดที่อยู่รอบตัวคุณ
- มีเข็มทิศบอกตำแหน่งกิบลัตที่เคลื่อนไหวได้ โดยมีการแสดงทิศทางไปสู่นครเมกะ
- มีคัมภีร์อัลกุรอาน (อัลกุรอ่าน) พร้อมเสียงอ่าน ข้อความเสียงที่เป็น MP3 มาพร้อมกับฉบับแปล
- ปฏิทินมุสลิมที่ช่วยประมาณการวันศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญ อาทิ วันอีดิลฟิฏรี วันอีดิลอัฏฮา
- รายชื่อ 99 นามของพระอัลเลาะห์และนบีโมฮัมหมัด
มีเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกและทำให้การปฏิบัติกิจในศาสนาอิสลาม อย่างเช่น การละหมาด ง่ายขึ้นขนาดนี้แล้ว ก็อย่าลืมหาแอปพลิเคชั่นนี้ติดโทรศัพท์มือถือ หรือแท็ปเลตเอาไว้ จะได้ไม่หลงไม่ลืม
เงื่อนไขการละหมาดสำหรับสตรี
สำหรับข้อบังคับในเวลาละหมาดของผู้หญิงนั้นมีข้อตัดสินต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแยกต่างหากจากผู้ชาย โดยสามารถแจกแจงไว้เป็นข้อๆ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันได้ดังนี้
1. ไม่มีการอะซานและอิกอมะฮ์สำหรับสตรี ทั้งนี้เนื่องจากว่าการอะซานนั้นได้บัญญัติให้มีการใช้เสียงดังและสตรีนั้นไม่เป็นที่อนุญาตให้ใช้เสียงดัง อีกทั้งยังเป็นที่ไม่ถูกต้องในการที่ผู้หญิงจะทำการอะซานและอิกอมะฮ์ ซึ่งความดังกล่าวได้มีกล่าวไว้ใน อัลมุฆฺนี เล่มที่ 2 หน้าที่ 68 ว่า .. เราไม่รู้ว่ามีความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าวแต่ประการใด
2. ในทุกส่วนของสตรีนั้นเป็นเอาเราะฮ์ (สิ่งที่ต้องพึงสงวน) ซึ่งนอกจากใบหน้าของสตรีและฝ่ามือ ส่วนของฝ่าเท้าทั้งสองนั้นยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างนักวิชาการ โดยทั้งหมดนั้นคนที่ไม่ได้เป็นมะฮฺร็อมจะไม่ได้เห็นมัน หากว่ามีคนที่ไม่ได้เป็นมะฮฺร็อมของสตรีเห็น ก็จำเป็นที่จะต้องปกปิดเช่นเดียวกับที่จะต้องปกปิดนอกเวลาละหมาดเพื่อไม่ให้ผู้ชายเห็น ฉะนั้นในการละหมาด สตรีจะต้องปกปิดศีรษะ ต้นคอ และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ลงไปจนกระทั่งถึงหลังเท้าทั้งสองข้างของสตรี ซึ่งไชยคุลอิสลาม อิบนุ ไตยมียะฮ์ ได้กล่าวไว้ใน นมัจมั๊วอฺ อุลฟา เล่มที่ 22 หน้าที่ 113-114 ว่า …
“แล้วผู้หญิงนั้นหากนางได้ละหมาดคนเดียวนางนั้นก็ถูกสั่งให้มีการปกปิด และในเวลานอกละหมาดอนุญาติให้นางเปิดศีรษะของนางได้ในบ้านของนาง การสวมใส่เสื้อผ้าในละหมาดนั้นเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิ์แก่คนหนึ่งคนใดในการที่จะเวียนรอบบัยตุลลอฮ์ โดยเปล่าเปลือย ถึงแม้ว่าเขาจะกระทำเพียงคนเดียวก็ตาม....ไปจนกระทั่งท่านได้กล่าว อาเราะฮ์ในการละหมาดนั้นไม่ได้มีความผูกพันกับเอาเราะฮ์ของการมองจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม”
3. ในอัลมุฆนี เล่มที่ 2 หน้าที่ 258 กล่าวไว้ว่า “สตรีนั้นจะห่อตัวในการรูกั๊วอฺ แทนการกางออก จะนั่งพับเพียบแทนการตะวัรรุ๊ก และอิฟติรอซ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ปกปิดให้นางได้ดีที่สุด” อีกทั้ง อิมามซาฟีอี รอฮิมาฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ใน อัลมุ๊คตะศ็อรว่า …
“ไม่มีความแตกต่างใดๆระหว่างพวกผู้ชายกับพวกผู้หญิงในการงานของการละหมาด เว้นแต่ว่าผู้หญิงนั้นให้นางห่อตัวหรือเอาท้องของนางไปติดกับสองต้นขาในการสุญูดเพื่อให้ปกปิดมากที่สุด และชอบให้นางกระทำอย่างนั้นในการรุกั๊วอฺ และในละหมาดทั้งหมด”
4. การรวมตัวกันละหมาดของเหล่าสตรี โดยมีคนหนึ่งจากพวกนางเป็น อิหม่าม ในเรื่องนี้นั้นก็ยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไประหว่างบรรดาผู้รู้ซึ่งมีทั้งห้าม และอนุญาตให้ แต่ส่วนมากนั้นเห็นว่าไม่มีข้อห้ามใดๆ ในการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากท่าน นะบี ได้ใช้ให้ อุมมุวะเราะเกาะฮ์ ให้นำครอบครัวของนางละหมาด (อบูดาวุดรายงาน อิบนุคุไซมะฮฺบอกว่าเป็นหะดิษที่ซอเหี้ยะหฺ)
ทั้งนี้ ก็มีบางท่านเห็นว่ามันเป็นสิ่งมิชิบ (มิใช่สุนัต) บางท่านเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าละทิ้ง (มักรูฮฺ) บางท่านเห็นว่าเป็นสิ่งที่ใช้ได้ในละหมาดที่เป็นสุนัต และเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ในการละหมาดฟัรฎู โดยคิดว่าทัศนะที่หนักแน่นที่สุด คือ เป็นที่ชอบให้กระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นในปัญหานี้ ซึ่งขอให้ไปดูใน อัลมุฆฺนี เล่มที่ 2 หน้า 202 และอัลมัจมั๊วอฺ ของอิมามนะวะวียฺ เล่มที่ 4 หน้าที่ 84-85 นอกจากนั้นสตรีจะอ่านเสียงดังได้ก็ต่อเมื่อผู้ชายที่ไม่ได้เป็น มะฮฺร็อม ของพวกนางไม่ได้ยิน
5. อนุญาตให้พวกสตรีออกนอกบ้านเพื่อไปละหมาดในมัสยิด แต่ถือว่าการละหมาดในบ้านของสตรีเป็นสิ่งที่เหมาะสมมากที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติม: lib.ru.ac.th, islamhouse.muslimthaipost.com, sac.or.th
การละหมาด จึงถือได้ว่าเป็นการสร้างเอกภาพอย่างหนึ่งของมุสลิมทั่วโลก เป็นการแสดงความเคารพ และจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺ รวมถึงเป็นการฝึกฝนให้เป็นคนตรงต่อเวลา มีความอดทน และขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่ประพฤติสิ่งหนึ่งสิ่งใดในทางชั่วร้ายอย่างที่ในอัลกุรอานได้กำหนดเอาไว้ ชาวไทยมุสลิมจึงควรให้ความสำคัญและปฏิบัติตามเวลาละหมาดอย่างเคร่งครัด รวมถึงกฎเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นด้วย