สาหร่ายทะเล (Seaweeds)
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสาหร่ายเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนให้กับโลกของเราถึง 70% เลยทีเดียว นอกจากจะสร้างอาหารโดยการสังเคราะห์แสงแล้ว สาหร่ายทะเลก็สามารถ สร้างอาหารโดยการดูดซึม (osmosis) เอาแร่ธาตุและสิ่งมีประโยชน์ทั้งหลายโดยตรง มาจากทะเลด้วย ดังนั้นคุณค่า และคุณประโยชน์ของสาหร่ายนั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของ น้ำทะเลเป็นสำคัญ แหล่งที่เก็บเกี่ยวสาหร่ายจึงจัดว่า มีความสำคัญอย่างมาก ในการพิจารณาถึงคุณประโยชน์ของสาหร่ายด้วย (คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2540)
สาหร่ายทะเล เป็นพืชชั้นต่ำ ไม่มีระบบท่อลำเลียงอาหารจากรากสู่ลำต้นและใบแบบพืชชั้นสูงเช่นหญ้าทะเล แต่จะใช้วิธีดูดซับน้ำและแร่ธาตุจากน้ำทะเลสู่เซลล์ต่าง ๆ โดยตรง พืชกลุ่มนี้ไม่มีดอกและผล แต่แพร่กระจายพันธุ์ด้วยการสร้างสปอร์และแบ่งตัว สาหร่ายทะเลมีลักษณะมากมายหลายแบบ ตั้งแต่แบบที่เป็นแพลงก์ตอนลอยไปมาในน้ำ ซึ่งมีขนาดเล็กมากมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางชนิดเป็นเซลล์เดี่ยว บางชนิดจับตัวกันเป็นกลุ่มเซลล์ หรือเป็นสาย จนถึงชนิดที่เป็นต้นดูคล้ายพืชชั้นสูง
สาหร่ายทะเล แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามโครงสร้างและสีของสารสังเคราะห์แสง ได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
• สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (blue-green algae)
• สาหร่ายสีเขียว (green algae)
• สาหร่ายสีน้ำตาล (brown algae)
• สาหร่ายสีแดง (red algae)
โดยทั่วไป เราสามารถจำแนกกลุ่มสาหร่ายได้จากสีที่เห็น แต่ในประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อนซึ่งมีแสงจัด บางครั้งสาหร่ายจะมีสีเปลี่ยนไปจากที่ควรจะเป็น
ประโยชน์ของสาหร่าย
• เป็นอาหารพื้นฐานของสัตว์ทะเล ทั้งที่กินสาหร่ายโดยตรง หรือที่กินสัตว์อื่นที่กินสาหร่ายอีกต่อหนึ่ง
• เป็นอาหารโดยตรงของคน ใช้ทำวุ้น เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางหรือเวชภัณฑ์ยาหลายชนิด
สาหร่ายทะเล มีแร่ธาตุซึ่งร่างกายมนุษย์ต้องการครบถ้วนแร่ธาตุ ซึ่งต้องการมีอยู่ 18 ชนิด อาทิ แคลเซียม คลอรีน โครเมียม โคบอลต์ ทองแดง (คอปเปอร์) ไอโอดีน เหล็ก แมกนีเซียม ซีลีเนียม โซเดียม ซัลเฟอร์ วาเนเดียม และสังกะสี (ซิงค์) เป็นต้น