ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หมายถึง, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ความหมาย, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นพระราชธิดา องค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2498  ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เป็นผู้ถวายการประสูติ และทรงมีพระนามที่บรรดาข้าราชบริพารเรียกกันทั่วไปว่า "ทูลกระหม่อมน้อย"

          ในวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2520  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรกระหม่อมให้สถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษา ครบ 50 พรรษา



พระราชประวัติด้านการศึกษา

          ทรงเริ่มการศึกษาระดับอนุบาล ณ โรงเรียนจิตรลดา ในปีพุทธศักราช 2501 ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดานี้จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นี้ ทรงเอาพระทัยใส่ในการเรียน และโปรดการอ่านหนังสือมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงเริ่มแต่งคำประพันธ์ต่าง ๆ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองตั้งแต่ยังทรงศึกษาในชั้นประถมศึกษา โปรดการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนทั้งด้านกีฬา ดนตรี บันเทิงและกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์

          ในปีพุทธศักราช 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ในปีการศึกษาพุทธศักราช 2519

          ในปีพุทธศักราช  2520 ทรงสมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมกันทั้งสองแห่ง ทรงสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีการศึกษาพุทธศักราช 2522 จากนั้น ทรงสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษาพุทธศักราช 2524 และด้วยทรงสนพระทัยงานด้านการพัฒนาโดยอาศัยหลักวิชาการศึกษาหรือการเรียนรู้เป็นแกน จึงทรงสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงสำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ ในปีการศึกษาพุทธศักราช 2529

          นอกเหนือจากการศึกษาในสถาบันการศึกษาแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยเข้ารับการศึกษาเพิ่มเติมและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ในวิชาการด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน อาทิภูมิศาสตร์กายภาพ อุทกศาสตร์ พฤกษศาสตร์ การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ รีโมตเซนซิ่ง ระบบภูมิสารสนเทศ แผนที่โภชนาการ เป็นต้น ทรงนำความรู้ที่ได้จากวิชาการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการทรงงานด้านการพัฒนาชุมชน และความเป็นอยู่ของราษฎร



พระราชประวัติการทรงรับราชการ

          ในปีพุทธศักราช 2523 ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตรสังกัดกองทัพบก ตำแหน่งอาจารย์ประจำ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล ซึ่งเวลานั้นอยู่ในความรับผิดชอบของกองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์
          ในปีพุทธศักราช 2529 กองวิชาประวัติศาสตร์ได้จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยแยกจากกองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์ เป็นพระองค์แรกจนถึงปัจจุบัน
          ในปีพุทธศักราช 2539 ทรงได้รับพระราชทานพระยศพลเอก
          ในปีพุทธศักราช 2543 ทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ (อัตราจอมพล) วิชาที่ทรงร่วมสอน ได้แก่ วิชาไทยศึกษา ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก และประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย นอกจากนี้ ยังได้ทรงรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชาการ ณ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์



พระราชกรณียกิจ

          ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ครอบคลุมงานสำคัญ ๆ อันเป็นประโยชน์หลักของบ้านเมืองเกือบทุกด้าน และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจที่ทรงสืบสาน ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบหมาย โดยเฉพาะการทรงงานด้านการบริหารองค์การและมูลนิธิเพื่อสาธารณกุศล อาทิ โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เป็นต้น รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในโอกาสต่าง ๆ อาทิ การทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ การพระราชทานปริญญาบัตร การพระราชทานผ้าพระกฐิน เป็นต้น

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงจัดตั้งโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนผู้ยากไร้ในชนบท ทั้งการส่งเสริมสุขภาพอนามัยและแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ทรงเห็นว่าเด็กจะเรียนหนังสือไม่ได้ถ้าท้องหิว หรือเจ็บป่วย จึงทรงริเริ่ม โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2523 ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ก่อสร้างโรงเรียน ศูนย์การเรียนชุมชนสำหรับชาวไทยภูเขา ห้องเรียนเคลื่อนที่ ทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นค่าตอบแทนครูผู้สอน และทรงจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนพระราชทาน เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม จะได้มีความสามารถในการพึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ในอนาคต ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริอย่างใกล้ชิด และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในโครงการด้วยพระองค์เองเสมอ

          จากการที่มีประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล หรือสมทบทุนเพื่อทรงดำเนินงานโครงการพัฒนาต่าง ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นกองทุน 

งานอดิเรกที่ทรงสนพระทัย

          ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถโดยทรงมีงานอดิเรกที่โปรดหลายประเภท อาทิ ดนตรี กีฬา ท่องเที่ยว งานสะสม งานศิลป์ การอ่านและสะสมหนังสือ ทรงมีหอสมุดส่วนพระองค์ที่จัดเก็บหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งที่ทรงเลือกซื้อด้วยพระองค์เองและที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย และดังเช่นเป็นที่ประจักษ์กันทั่วไปว่า ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการเรียงร้อยอักษร จึงทรงพระราชนิพนธ์ ร้อยแก้ว และร้อยกรอง มีทั้งประเภทบทความ เรื่องสั้น ความเรียง คำนำ บทกวี บทเพลง เรื่องแปล และสารคดีจำนวนมาก รวมทั้งพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือน  “บันทึกการเดินทาง” ที่ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน
  
          ในปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงสนพระทัยศึกษาและฝึกฝนเรียนรู้ทักษะภาษาและวิชาการต่าง ๆ อยู่มิได้ขาด เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน เทคโนโลยีสารสนเทศ ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น พระปรีชาสามารถด้านภาษา ของพระองค์เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วหน้า นอกจากนี้ ทรงสนพระทัยเข้าร่วมการประชุม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทรงศึกษาดูงาน และทรงพบปะสนทนากับปราชญ์ด้านต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อทรงรับความรู้ใหม่ ๆ และทันสมัยอยู่เสมอ

          แหล่งที่มา : https://www.sirindhorn.net


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หมายถึง, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ความหมาย, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต