ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

อารยธรรมกรีกโบราณ, อารยธรรมกรีกโบราณ หมายถึง, อารยธรรมกรีกโบราณ คือ, อารยธรรมกรีกโบราณ ความหมาย, อารยธรรมกรีกโบราณ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
อารยธรรมกรีกโบราณ

          ในเขตทะเลเอเจียนมีอารยธรรมมาแล้วเมื่อ 3000 ปีก่อนค.ศ. แต่มียุคที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองที่สุด เห็นจะเป็นตั้งแต่เมื่อ 2000 ปีก่อนค.ศ. เป็นต้นมา ขณะที่พวกอินโด-ยุโรเปี้ยนเข้าไปในเยอรมัน โกล (Gaule, ฝรั่งเศส) อังกฤษ ยุโรปกลาง อิตาลี มีเหตุการณ์เช่นเดียวกัน คือ มีผู้คนอพยพมาจากบอลข่านมาอยู่แถวเฮลลาดโดยผ่านมาทางอิลลีรี และเอปีร์ นับเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของพวกเฮลเลนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พวกนี้เป็นนักรบ รูปร่างสูงใหญ่ ผมสีทอง ร่างกายแข็งแรงมีกล้ามเนื้อเป็นมัด เราเรียกพวกนี้ว่า เอเชียน มาขับไล่ชนพื้นเมืองเดิมคือ พวกเปลาจออกไปและยังเข้าไปในกรีกภาคกลางและเปโลโปนิซุส (Peloponesus) พวกเอเชียนมิใช่คนป่า เขาได้นำภาษาใหม่มาใช้คือภาษากรีกโบราณและเกาะไซปรัส ได้ใช้ภาษานี้ต่อมาอีกนาน เขานำการสร้างห้องโถงใหญ่ การสร้างหลังคาแบบลาดลงมาสองด้านเหมือนหลังคาบ้านไทย ซึ่งแตกต่างจากหลังคาแบบอารยธรรมเมดิเตอร์เรเนียนเดิมที่เป็นเทอเรซ พวกเอเชียน รักษาลักษณะเดิมของพวกเขา คือการใช้อาวุธอย่างดี การมีเทคนิคในการขี่ม้าและใช้รถม้าในการรบ อารยธรรมครีตเข้ามาในดินแดนเฮลลาด โดยพวกเอเชียน อารยธรรมครีตนั้นเราเรียกว่า อารยธรรมมิโนเอน (minoaenenne) หรือมิโนส (minos)

อารยธรรมมิโนส

          อารยธรรมมิโนส (Minos: 1700-1400 ก่อนค.ศ.) มิโนส เป็นกษัตริย์ของเกาะครีต เป็นลูกของพระเจ้าเซอุส (Zeus) และพระนางยุโรป (Europe) มีสัญลักษณ์ประจำพระองค์เป็นรูปวัว ตามตำนานเล่าว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่รักศิลปะ ในรัชสมัยของพระองค์มีศิลปินหลายคนที่สำคัญ คือ เดดาล (Dedale) ผู้แต่งเรื่อง "ทางปริศนา" (Labyrinthe) และเรื่อง "วัวสัมริด" อักษรที่ใช้จากที่พบในแผ่นดินเหนียว พบว่าเป็นตัวอักษรแบบที่ เรียกว่า lineaire A ประกอบด้วยอักษรประมาณ 90 ตัว ไม่ทราบที่มาเช่นเดียวกับตราดินเหนียวทรงกลมมีรูปและอักษรสลักอยู่

          อารยธรรมมิโนส รุ่งเรืองที่สุดที่เมืองคนอสโซส (Knossos) ผู้ครองเมืองดำรงฐานะเป็นพระ-กษัตริย์ มีการสร้าง พระราชวังแบบใหม่ ขนาดใหญ่และซับซ้อนคล้ายทางปริศนา ที่คนอสโซส ไฟโตส และอักเฮียเทรียดามีระบบบริหารทางการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นแบบรวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางดังเช่นในอียิปต์ ฐานะของสตรีสำคัญมากในสังคม ประมาณ 1600 ปีก่อนค.ศ. เกิดแผ่นดินไหว ทำลายพระราชวังที่คนอสโซสลงถึง 2 ครั้ง เเละเมื่อ 1500 ปีก่อนค.ศ. พวกเอเชียนมาจากฝั่งทวีปเข้ามาตั้งรกรากบนเกาะครีต (เกิดราชวงศ์เอเจียน) นำตัวอักษร lineaire B มาใช้ด้วย (อักษรกรีกปัจจุบัน)

          การจัดระเบียบทางสังคม เป็นแบบกลุ่ม พรรคพวก พี่น้อง หรือ genos มีหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้นำอาศัยอยู่เป็นหมู่บ้านหรืออยู่ในบ้านใหญ่รวมกัน เมื่อสมาชิกใน genos เสียชีวิตก็จะฝังในที่ฝังศพแบบครึ่งวงกลมร่วมกันพร้อมกับอาวุธ แจกัน เครื่องประดับ แม้ว่าภายหลังจะแยกหลุมศพเป็นของแต่ละคนแบบในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีโอ่งใหญ่ใช้เป็นที่เก็บศพเด็กๆ ฝังรวมกันอยู่ หลังสุดจึงเกิดสุสานขึ้นที่เมืองซาเฟอร์-ปาปูรา (Zafer-papoura)

          ทางด้านการเมือง ราว 2000 ปีก่อนค.ศ. เป็นแบบ"สังคมวัง" กล่าวคือ รอบพระราชวังเป็นเมืองเล็กบ้างใหญ่บ้างของเจ้าของที่ดินหรือพ่อค้าที่ร่ำรวย มีลักษณะการสร้างที่แปลกกว่าที่อื่น บ้านเหล่านี้สร้างติดกับรั้วพระราชวังเลย บางเมืองไม่มีพระราชวังอยู่ในบริเวณ เช่นตามเมืองเล็กๆ ที่ประกอบการอุตสาหกรรม เช่นเมือง***ร์เนีย ที่อยู่อาศัยของคนจะเป็นลักษณะแคบ ปลูกติดๆ กันตามริมฝั่งถนนที่ปูด้วยแผ่นหิน หรือริมถนนแคบๆ ที่มีบันไดเป็นระยะไป ลักษณะพิเศษอีกอย่างของอารยธรรมครีต คือ ทั้งพระราชวังและเมืองจะปราศจากกำแพงเมือง ซึ่งเป็นลักษณะตรงข้ามกับเมือง สมัยอารยธรรมไมเซเนียนและเมืองทางเอเชีย อาจเป็นว่าคนในแถบนี้มุ่งมั่นทำแต่การค้าระหว่างกัน ไม่ปรากฏว่ามีการรบพุ่งกัน และครีตเองก็มีอำนาจทางทะเลมาก ความร่ำรวยของครีตบ่งถึงอารยธรรมมิโนเอียน คือ รสนิยมในเรื่องความสุขสบายและความสวยงาม ความหรูหรา การชอบงานรื่นเริง และการมีชีวิตอยู่ที่ดี เมื่อราชวงศ์เอเชียนเริ่มขึ้นที่ครีต จึงมีการรวมอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลาง รวมทั้งด้านการเงินและผลิตผลต้องมารวมอยู่ในพระราชวัง ที่คนอสโซสจะมีกลุ่มคนที่ช่วยพระราชาบริหารประเทศ มีพวก สคริป (Scribes) ทำหน้าที่ทางด้านการจดบันทึก และทำบัญชี ผลิตผลของพระราชวัง โดยจดลงบนแผ่นดินเหนียว ภายในพระราชฐานจะมีอาคารสำหรับเก็บผลิตผล สร้างเป็นอาคารใหญ่มีทางเดินอยู่กลางยาว 60 เมตร สองข้างเป็นช่องหินสำหรับใส่โลหะมีค่า ของมีค่า บางแห่งวางโถใหญ่ (Pithoi) บรรจุเมล็ดพืช เช่น ถั่ว ผลไม้ตากแห้ง น้ามันมะกอกและเหล้าองุ่น ของพวกนี้ใช้สำหรับเลี้ยงดูข้าราชสำนัก และใช้จ่ายแทนเงินในพิธีทางศาสนา จ่ายเป็นเงินเดือนข้าราชการ คนงานและช่างฝีมือ ของจากวังที่ทำด้วยเซรามิค กระเบื้อง เครื่องเงินทอง หินมีค่า ผลิตภัณฑ์ของช่างเหล่านี้จะถูกประทับตราพระราชวงศ์ และส่งออกขายยังประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพครีตมีพระราชาเป็นผู้นำทัพ และใช้ทหารจ้างผิวดำมาเป็นทหาร สังเกตได้ว่ามีการบริหารบ้านเมืองแบบอียิปต์

          ทางด้านศาสนา เกี่ยวกับพระราชวงศ์อีก ลักษณะพิเศษของครีตอีกอย่างก็คือ บนเกาะครีตไม่มีวัด เวลามีพิธีทางศาสนาจะทำ กันตามถ้ำในภูเขาสูงหรือในห้องพิธีทางศาสนาของราชวัง ที่เป็นห้องขนาดย่อม พระราชาผู้เป็นทั้งพระและกษัตริย์ก็จะเสด็จมาทำพิธี ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่าชาวทะเลเอเจียนนับถือรูปปั้นผู้หญิงมาแต่ดั้งเดิม ครีตก็เช่นกัน แต่สมัยนั้นเป็นรูปปั้นผู้หญิงคนเดียว เรียกกันว่า เจ้าแม่ เช่นเดียวกันประเทศในเอเชียตะวันออกสมัยโบราณ ส่วนมากรูปปั้นเจ้าแม่จะอยู่ในลักษณะเปลือย คาดว่าคงเป็นธรรมเนียมทางศาสนา เพราะคนธรรมดาแต่งตัวอย่างสง่างามด้วยเสื้อที่ปกปิดมิดชิด การที่คนนับถือเจ้าแม่ทำให้สังคมยกย่องสตรี ครีต เสรีภาพสตรีในการที่จะไปไหนมาไหนได้ตามต้องการ มีบทบาทสำคัญ ในพิธีทางศาสนา ต่อมาผู้ชายสร้างพระเจ้าขึ้นมา แต่ก็ยังเป็นรองเจ้าแม่ เพราะจะออกมาในฐานะเป็นลูกชายของเจ้าแม่และมีวัวกระทิงเป็นสัญลักษณ์

          ทางด้านศิลปะและอารยธรรม มีการสร้างพระราชวังให้ใหญ่โตขึ้น และตกแต่งสวยงามขึ้น พร้อมกับมีระบบส่งน้ำที่สมบูรณ์แบบเพื่อรับน้ำฝน และมีที่กรองน้ำเสีย อีกทั้งยังมีห้องน้ำห้องส้วมและท่อน้ำเสีย ซึ่งแม้แต่ที่พระราชวังแวร์ซายยังไม่มี จิตรกรรมฝาผนังเป็นที่นิยมกันมาก ภาพที่วาดเป็นภาพสัตว์บกและสัตว์น้ำ ส่วนห้องต่างๆ ในพระราชวังที่คนอสโซส เป็น ภาพชีวิตในวัง สมัย 1600 ปีก่อนค.ศ. งานศิลปะมีลักษณะเป็นงานเป็นการขึ้น เช่นมีรูปขบวนนักบวช สตรี นักดนตรี และคนถือของถวายพระ สมัยนี้มีการปั้นแบบนูนต่ำระบายสี ส่วนมากมักเป็นรูปหัววัวกระทิงและเจ้าชายกับดอกไม้ ภายหลังประมาณ 1500 ปี ก่อนค.ศ. ภาพจิตกรรมฝาผนังมีลวดลายค่อนข้างแข็ง ในเรื่องของเซรามิค มีแจกันที่นิยมทำแบบมีสามหูอยู่ใกล้คอแจกัน สีที่ใช้คือสีน้ำตาลหรือดำบนพื้นอ่อน ภาพที่วาดบนแจกันเป็นภาพจากธรรมชาติและภาพเกี่ยวกับทะเล เช่น หอย ประการัง ฯลฯ ความงดงามและละเอียดอ่อนทางด้านศิลปะที่ชาวครีตสมัยจักรวรรดิมิโนสผลิตขึ้นมา รวมทั้งการใช้วัตถุที่มีค่าในการทำเครื่องประดับ สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ และจินตนาการของพลเมืองครีต ทางด้านวรรณคดีไม่ปรากฏว่ามีเอกสาร ที่พบมีแต่การจดบันทึกในราชการ ดูลักษณะการเขียนแล้วพบว่าชาวครีตเจริญกว่าชาวเกาะเพื่อนบ้าน

          ต้นกำเนิดของอารยธรรมครีตมาจากไหน อารยธรรมครีตมากับชาวเอเซียที่เข้ามาอยู่บนเกาะครีตเมื่อ 3000 ปีก่อนค.ศ. มาแล้ว โดยพวกนี้ นำการใช้ทองแดงมาเป็นอย่างแรก ต่อจากนั้นเป็น เทคนิคการทำแจกันด้วยหินและการทากระเบื้องลวดลายต่างๆ เช่น แมว ลิง ต้นหญ้า ปาปิรุส การใช้สีแดงสำหรับผู้ชาย สีขาวสำหรับผู้หญิง ศิลปะในการหล่อโลหะ การทหารและการปกครองมาจากอียิปต์ แต่อิทธิพลจากเอเซียตะวันออกมีมากกว่าและ สำคัญกว่าโดยเฉพาะด้านศาสนา เช่นการนับถือเจ้าแม่ สัญลักษณ์ที่เป็นรูปนก ขวานสองคม แก้ว รูปสัตว์พิธีบวงสรวงวัวกระทิง การละเล่นต่างๆ การกีฬาต่อสู้กับสัตว์ และรูปเจ้าแม่ที่มีสัตว์ป่าขนาบทั้งสองข้าง

          สถาปัตยกรรมครีตได้รับอิทธิพลมาจากพระราชวังของพระเจ้าซาร์กอน (บาบิโลเนีย) และของพวกฮิตไทแห่งเมโสโปเตเมีย เครื่อง ประดับมีค่าระบุอิทธิพลมาจากเอเซียโดยเฉพาะเทคนิคการล้อมจี้ห้อยคอด้วยผึ้ง 2 ตัวของมาลเลีย (Mallia) ลายผ้าเป็นแนวและการปีกผ้าเป็นของตะวันออก ภาพการแต่งตัว ของสตรีด้วยอาภรณ์อันสวยงาม ปรากฏว่าเป็นการแต่งตัวของคนเมืองกิช (Kish) ในเมโสโปเตเมีย การสลักหินอ่อน การบูชาดวงอาทิตย์มาจากเอเซียตะวันออก ฯลฯ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างจะถูกนำมาจากที่ต่างๆ แต่เมื่อมาผสมผสานกันแล้วก็กลายเป็นมีลักษณะเฉพาะของครีต โดยเฉพาะทางด้านศิลปะและศาสนา

อารยธรรมไมเซเนียน

          อารยธรรมไมเซเนียน (Micaenean : 1400-1200 ปีก่อนค.ศ.) เมื่อตอนที่พวกเอเชียนเข้ามาอยู่ในกรีกราว 2000 ปีก่อนค.ศ. นั้น พวกเขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับทะเลเลย แต่ได้เรียนรู้ในภายหลังเมื่อ สมัยเข้าไปตั้งราชวงศ์อยู่ที่ครีตแล้ว และก็ได้มีเส้นทางเดินเรือเปิดความสัมพันธ์ระหว่างอียิปต์กับไมซีเนีย (Mycenae) บนเกาะเปโลโปนิซุส (Peloponnesus) เมื่อคนอสโซสถูกทำลายลงราว 1400 ปีก่อนค.ศ. ทิ้งไว้แต่ร่องรอยของอารยธรรมมิโนส งานศิลปะ เสื่อมลงทีละน้อย ชาวครีตอพยพไปอยู่เกาะไซปรัสและทางเอเชียตะวันออก บางพวกไปอยู่อียิปต์ เมื่อพวกเอเชียนเข้ามาแทนที่ทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากบนเกาะครีต เพราะเอเชียนซึ่งมีเชื้อสายนักรบ มักชอบอะไรที่แข็งแรงเพื่อให้เป็นเครื่องหมายของความเป็นใหญ่ จึงสร้างป้อมปราการใหม่ให้ดูใหญ่โตน่าเกรงขาม ผนังห้องมีภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพ ผู้หญิงแต่งตัวด้วยเครื่องประดับมากมาย ภาพการล่าสัตว์และภาพการออกรบ เหล่านี้เข้ามาแทนที่ภาพทิวทัศน์ที่เน้นดอกไม้ ความอ่อนโยนในศิลปะแบบครีตหายไป ความแข็งของลายเข้ามาแทนที่ลวดลายบนแจกัน จะนิยมลายเรขาคณิต เกิดลายสัตว์ 4 เท้า นก รูปนักรบไว้เครา แต่เส้นลายก็ยังแข็งเป็นลักษณะเฉพาะของสมัยนี้ (1200-1100 ก่อนค.ศ.) ส่วนศิลปะในการสลักหินอ่อน การทำเครื่องเงินเครื่องทอง กลับทำอย่างประณีตบรรจง ยังคงเป็นงานที่ใช้เน้นเงินเน้นทองลงบนเหล็กตามวิธีของครีตที่มีมา อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วศิลปะไมเซเนียนก็เป็นศิลปะที่แพร่หลายอยู่ทั่วไป ค่อนข้างเป็นอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ โรงผลิตงานศิลปะมีอยู่หลายแห่งในเมืองต่างๆ และรอบพระราชวัง เส้นทางคมนาคมมีทั่วกรีก การติดต่อทางทะเลมีมากขึ้น มีการผลิตและ ส่งแบบจำนวนมาก เพราะมีลูกค้าต้องการมาก คุณภาพทางศิลปะจึงลดลง อีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นลักษณะของนักรบ และการปกครองแบบเพศชายเป็นผู้นำของอารยธรรมพวกเอเชียน คือ ผู้หญิงจะไม่ออกจากฮาเร็มเลย เทพเจ้าเป็นเพศชายและมักเป็นนักเดินเรือ เจ้าแม่ลดความสำคัญลงไป เรื่องเล่าเกี่ยวกับวีรบุรุษที่ชนะสงครามตามที่ต่างๆ ขณะเดียวกับที่ด้านการศาสนาดั้งเดิมของเกาะครีตยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็นกันในสมัยต่อมา ไม่ว่าจะเป็นพิธีทางศาสนาที่เกี่ยวกับสตรี และเรื่องเร้นลับของชาวครีต แต่สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์ของชาวครีต สมัยอารยธรรมมิโนส ได้อันตรธานไปและการเขียนหนังสือก็ได้หายไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากที่ชนะได้ครองกรีกและเกาะใกล้เคียงแล้ว พวกเอเชียนที่อยู่ในถิ่นกันดารของเฮลลาด ก็เริ่มออกแสวงหาถิ่นทำกินที่ดีกว่าตามริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พวกนี้ไม่ได้ทำการค้าขายอย่างเดียวเหมือนพวกครีต พวกเขาพยายามตั้งหลักแหล่งทำการค้าและมีอำนาจทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะมีอำนาจเหนือเกาะต่างๆ และมีอำนาจในเอเชีย พวกเอเชียนเริ่มด้วยการครองเกาะโรด เข้าไปสร้างเมือง ต่อไปเป็นเกาะไซปรัส ซึ่งเคยถูกพวกครีตครองอยู่บางส่วนแล้ว ที่นี่พวกเอเชียนนำภาษาของตนเข้ามาผสมกับภาษาอียิปต์และภาษาในซีเรีย มีการแลกเปลี่ยนทางการค้า มีผู้พบแจกันไมเซเนียนถึงนูเบียและคานาน ตลอดชายฝั่งซีเรียซึ่งเมื่อก่อนก็ได้รับอารยธรรมครีตอยู่แล้ว ตั้งแต่นั้นมา ศูนย์กลางการค้าขายเกิดขึ้นเต็มไปหมด เมืองอูการ์ทกลายเป็นอาณานิคมไมเซเนียน แต่ที่พวกเอเชียนชอบมาก คือ ที่ริมฝั่งทะเลของอนาโตเลีย (ตุรกี) พวกเขามาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นี่ ทำตัวเป็นโจรสลัดในทะเลเอเจียน แต่เป็นมิตรดีกับพลเมืองในผืนแผ่นดิน โดยเฉพาะกับพวกฮิตไท เราจึงพบร่องรอยทางวัตถุ เช่น ตราประทับสฟิงซ์ ที่ฮักเฮียเทรียดา (Haghia Triada) แผ่นจารึกที่พบบอกเราว่า รัฐของพวกเอเชียนนั้นยิ่งใหญ่เท่ากับอียิปต์ และยังกล่าวว่ากษัตริย์ของพวกเขาชื่อ Attarassias มีอำนาจทางทะเลมาก มีเรืออยู่ในครอบครองถึงหนึ่งร้อยลำ เป็นที่น่าแปลกที่พวกไมเซเนียนไม่สนใจที่จะไปแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก ดังเช่นชาวครีตเคยทำมา แต่กลับมีร่องรอยทางวัตถุของไมเซเนียนอยู่ตามเกาะตะวันตก คือ ตราประทับแบบเอเจียนที่เกาะซาร์ดิเนีย ที่หมู่เกาะบาเลอาร์มีพิธีทางศาสนาที่เกี่ยวกับวัวกระทิง มีขวานสองคมและเขาสัตว์ที่ใช้บูชาสิ่งเหล่านี้อาจผ่านตัวกลาง เช่น พ่อค้าต่างๆ อย่างไรก็ตามก็แสดงถึงอิทธิพลเอเชียนในถิ่นนี้ และบอกให้เราทราบว่าพวกกรีก สมัย 1000 ปีก่อนค.ศ. ลืมเส้นทางเดินเรือและการค้าแถบนี้จนกระทั่งถึงประมาณ 630 ปีก่อนค.ศ.



อารยธรรมโฮเมอร์

          อารยธรรมโฮเมอร์ (Homer: ประมาณ 900 ปีก่อนค.ศ.) พวกดอเรียนเข้ามารุกรานจนถึงดินแดนกรีกโบราณประมาณ 800 ปีก่อนค.ศ. เป็นสมัยที่เราไม่ค่อยมีหลักฐาน เกี่ยวกับกรีกเป็นเวลานานถึง 4 ศตวรรษ นอกจากบทประพันธ์ของโฮเมอร์ (Homer) ซึ่งมี 2 เล่ม คือเอเลียดและโอดิสซี พูดถึง เรื่องราวและบุคคลต่างๆในสมัยไมเซเนียนปะปนไปกับเรื่องราวของสงครามเมืองทรอย และอารยธรรมของไอโอเนียน และเอโอลิค สมัย 900 ปีก่อนค.ศ. ซึ่งนับเป็นหลักฐานทางประวัติศาตร์ที่สำคัญแต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยทั่วๆไป เรายอมรับว่าอารยธรรมนี้ อยู่ประมาณ 900 ปีก่อนค.ศ. ภาษาที่เขียนในบทประพันธ์โฮเมอร์คล้ายภาษาเอโอเลียน มีศัพท์บางตัวมาจากภาษาไอโอเนียน

          ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และเป็นไปในลักษณะลึกซึ้งมีขึ้นเมื่อพวกดอเรียน นักรบผู้ชำนาญในการใช้ม้าและอาวุธเหล็ก เข้ามารุกรานพวกเอเชียน พวกดอเรียนมีศิลปะในการรบเหนือกว่าพวกเอเชียนทั้งๆ ที่ดั้งเดิมมาจากเชื้อสายเดียวกัน คือ ชาวอินโด-ยูโรเปี้ยน แต่พวกเอเชียนมาได้รับอารยธรรมเอเจียนก่อนหลายศตวรรษ เครื่องนุ่งห่มของพวกดอเรียนทอด้วยขนสัตว์ เรียกว่า ชไลนา หรือ เปโปล มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดา จับจีบติดด้วยเข็มกลัด นับว่าแตกต่างจากเครื่องนุ่งห่มของพวกที่ได้รับ อารยธรรมเอเจียนที่มีเสื้อผ้าหรูหรา เน้นรูปทรงที่เอว แม้แต่ทางสถาปัตยกรรมตกแต่งอันสวยงามแบบเอเจียนที่มีอยู่ต่อจากนี้ไป ก็ไม่มีใครสนใจ วัดกับวังจะแยกจากกันไม่อยู่ในบริเวณเดียวกันเหมือนแต่ก่อน การสร้างวังก็ไม่พิถีพิถัน สร้างแบบง่ายๆ เป็นห้องโถง ธรรมดาและมีห้องติดต่อกันอีก 2-3 ห้อง ผังของห้องโถงเป็นลักษณะห้องยาวมีทางเดินเข้า ใช้เป็นห้องประดิษฐานเทพเจ้าต่างๆ ผังเมืองสร้างคล้ายตาหมากรุก มีถนน 2 สายตัดกันเป็นมุมฉาก ตรงทางแยกเป็นศูนย์กลางของเมืองทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางศาสนา

          ทางด้านศาสนา มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ เทพเจ้าของทางผืนแผ่นดินเข้ามาแทนที่เทพเจ้าทางทะเลของพวกเอเชียน และเทพเจ้าแห่งท้องฟ้ามาแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดิน เทพเจ้าของกรีกตั้งแต่สมัยนี้เป็นต้นไปจะต้องหนุ่มและรูปร่างงาม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทพเจ้าเป็นไปในทางสังเวยและอธิษฐาน ความเร้นลับน่ากลัวที่ได้รับมาจากตะวันออกและปนมากับศาสนา สมัยนี้การเผาศพเปลี่ยนไปเป็นฝังคนตายแทน ไม่มีประเพณีระลึกถึงคนตาย ไม่มีของบูชาให้คนตาย และไม่มีการทำหลุมศพขนาดใหญ่ การละเล่นยังคงเหมือนเดิมจากที่รับถ่ายทอดมา แต่จุดประสงค์มุ่งเพื่อคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่มีการเชื่อเรื่องเบื้องบน ศาสนาของชาวกรีกกลายเป็นศาสนาที่นับถือเทพเจ้าหลายองค์ และเป็นแบบเทพนิยาย เป็นการดึงคนให้ออกมาจากความเชื่อในสิ่งที่เกินธรรมชาติแบบโบราณ และจากความหวาดกลัวกับเรื่องที่ว่าตายแล้วไปไหน

          ทางด้านศิลปะ ของอารยธรรมโฮเมอร์ เรารู้ไม่มากนัก แรกเริ่มเข้าใจว่าเป็นแบบไมเซเนียน จนกระทั่ง 800 ปีก่อนค.ศ. จึงเกิดรูปปั้นศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกกันว่า ซัวนา (Xoana) ที่ทำขึ้นมาอย่างหยาบๆ ด้วยดินเหนียวบ้าง สัมริดบ้าง งาช้าง หรือตะกั่วบ้าง ล้วนรับอิทธิพลมาจากตะวันออก ในเรื่องของเซรามิค ก่อนหน้าที่จะมีแจกันลายเรขาคณิตไม่ปรากฏว่ามีแจกันอย่างอื่น แจกันที่งามที่ ปัจจุบันถือว่ามีค่าที่สุด เป็นแจกันของดีไพลอน (Dipylon) ได้มาจากหลุมศพที่เอเธนส์ แจกันนี้สูงถึง 1.75 เมตร มีลายดำบนพื้นสีอ่อน เป็นลายซิกแซก ลายหมากรุกหรือลายคดเคี้ยว ลายขบวนแห่งานศพ ลายรถลากด้วยม้าเรียงกันเป็นแถว ลายการต่อสู้ทางทะเล ทุกลายมีการวางภาพได้อย่างสวยงาม นับเป็นลักษณะเด่นของศิลปะโฮเมอร์

          ทางด้านการปกครอง มีการจัดระบบการปกครองใหม่ด้วยการยุบการปกครองแบบกลุ่มมาเป็นนครรัฐ หรือที่เรียกว่า โปลิส (Polis) โดยสร้างตรงที่เป็นพระราชวัง เดิมของพวกไมเซเนียน ล้มเลิกสังคมที่มีกษัตริย์และนักรบ มาเป็นสังคมที่มีชนชั้นขุนนาง เจ้าที่ดิน ระบบกษัตริย์ให้มีแต่ในเขตชายแดน เช่น เอปีร์ และมาซีโดเนีย


อารยธรรมกรีกโบราณ, อารยธรรมกรีกโบราณ หมายถึง, อารยธรรมกรีกโบราณ คือ, อารยธรรมกรีกโบราณ ความหมาย, อารยธรรมกรีกโบราณ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu