นาฏศิลป์ หมายถึง ศิลปะการฟ้อนรำ หรือความรู้แบบแผนของการฟ้อนรำ เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความประณีตงดงาม ให้ความบันเทิง อันโน้มน้าวอารมณ์และความรู้สึกของผู้ชมให้คล้อยตาม ศิลปะประเภทนี้ต้องอาศัยการบรรเลงดนตรี และการขับร้องเข้าร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณค่ายิ่งขึ้น หรือเรียกว่า ศิลปะของการร้องรำทำเพลง
นาฏศิลป์ เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะสาขาวิจิตรศิลป์ อันประกอบด้วย จิตรกรรม สถาปัตยกรรม วรรณคดี ดนตรี และนาฏศิลป์
นาฏศิลป์ เป็นเสมือนแหล่งรวมศิลปะและการแสดงหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการที่จะสร้างสรรค์ อนุรักษ์ และถ่ายทอดสืบต่อไป
ที่มาของนาฏศิลป์ไทย
1. การเลียนแบบธรรมชาติ แบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ
ขั้นต้น เกิดแต่วิสัยสัตว์ เมื่อเวทนาเสวยอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาก็ตาม ถ้าอารมณ์แรงกล้าไม่กลั้นไว้ได้ ก็แสดงออกมาให้เห็นปรากฏ เช่น เด็กทารกเมื่อพอใจ ก็หัวเราะตบมือ กระโดดโลดเต้น เมื่อไม่พอใจก็ร้องไห้ ดิ้นรน
ขั้นต่อมา เมื่อคนรู้ความหมายของกิริยาท่าทางมากขึ้น ก็ใช้กิริยาเหล่านั้นเป็นภาษาสื่อความหมาย ให้ผู้อื่นรู้ความรู้สึกและความประสงค์ เช่น ต้องการแสดงความเสน่หาก็ยิ้มแย้ม กรุ้มกริ่มชม้อยชม้ายชายตา หรือโกรธเคืองก็ทำหน้าตาถมึงทึง กระทืบ กระแทก
ต่อมาอีกขั้นหนึ่ง มีผู้ฉลาดเลือกเอากิริยาท่าทาง ซึ่งแสดงอารมณ์ต่างๆ นั้นมาเรียบเรียงสอดคล้อง ติดต่อกันเป็นขบวนฟ้อนรำให้เห็นงาม จนเป็นที่ต้องตาติดใจคน
2. การเซ่นสรวงบูชา มนุษย์แต่โบราณมามีความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการบูชา เซ่นสรวง เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทานพรให้ตนสมปรารถนา หรือขอให้ขจัดปัดเป่าสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาให้สิ้นไป การบูชาเซ่นสรวง มักถวายสิ่งที่ตนเห็นว่าดีหรือที่ตนพอใจ เช่น ข้าวปลาอาหาร ขนมหวาน ผลไม้ ดอกไม้ จนถึง การขับร้อง ฟ้อนรำ เพื่อให้สิ่งที่ตนเคารพบูชานั้นพอใจ ต่อมามีการฟ้อนรำบำเรอกษัตริย์ด้วย ถือว่าเป็นสมมุติเทพที่ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ มีการฟ้อนรำรับขวัญขุนศึกนักรบผู้กล้าหาญ ที่มีชัยในการสงครามปราบข้าศึกศัตรู ต่อมาการฟ้อนรำก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลงมา กลายเป็นการฟ้อนรำเพื่อความบันเทิงของคนทั่วไป
3. การรับอารยธรรมของอินเดีย เมื่อไทยมาอยู่ในสุวรรณภูมิใหม่ๆ นั้น มีชนชาติมอญ และชาติขอมเจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนแล้ว ชาติทั้งสองนั้นได้รับอารยธรรมของอินเดียไว้มากมายเป็นเวลานาน เมื่อไทยมาอยู่ในระหว่างชนชาติทั้งสองนี้ ก็มีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ไทยจึงพลอยได้รับอารยธรรมอินเดียไว้หลายด้าน เช่น ภาษา ประเพณี ตลอดจนศิลปการละคร ได้แก่ ระบำ ละครและโขน