ช่วงที่หลายคนเพิ่งคลอด คำถามส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นวิธีการที่ช่วยพัฒนาระบบสมองของลูกน้อย จากอาหารอย่างไร
ปีนี้ต้องบอกว่าเป็นปีที่ดีมากจริงๆ ค่ะเพราะช่วงนี้นอกจากมีหลายคู่แต่งงานเพื่อนผู้เขียนหลายคนก็เพิ่งคลอดน้องค่ะ และคำถามส่วนใหญ่ตอนนี้ก็คงหนีไม่พ้นวิธีการที่ช่วยพัฒนาระบบสมองของลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นจากกิจกรรมหรือจากอาหารต่างๆ ค่ะ
เพื่อนผู้เขียนบางคนมีลูกโตขึ้นมาหน่อยก็มีคำถามว่า ตอนนี้มีโฆษณาออกมามากมายเกี่ยวกับนมผง ที่มีสารสังเคราะห์ DHA (จริงๆ แล้วผู้เขียนคิดว่าเค้าคงต้องการถามว่ายี่ห้อไหนดีกันแน่) ซึ่งดูแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะเหมาะกับลูกน้อยเขาหรือไม่และควรเริ่มรับประทานเมื่อไหร่จึงจะดี
สำหรับเรื่องนี้สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ ได้เคยประกาศว่าคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรควรจะได้รับสาร DHA ประมาณ 300 มก.ต่อวัน ส่วนเด็กที่แข็งแรงควรได้รับประมาณ 220 มก.ต่อวันซึ่งสาร DHA นี้ ส่วนใหญ่ได้มาจากสาหร่ายปลาทะเลเช่นปลากะตักปลาแซลมอน ปลาเฮริ่ง ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า เครื่องในสัตว์เช่นตับรวมถึงไข่แดงเท่านั้นเองค่ะ
ส่วนเรื่องของการใส่สาร DHA ลงในนมผงนั้นเริ่มขึ้นจริงๆ เมื่อ 20 ปีก่อนนี้เองค่ะ เริ่มจากการที่องค์การอนามัยโลกพบว่าคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีน้ำนมอันเนื่องจากหลายสาเหตุ ทำให้ต้องหานมผงมาทดแทนซึ่งนมผงส่วนใหญ่ก็มักขาดกรดไขมัน Omega-3 และ Omega-6 ที่เรียกรวมๆ ว่า DHA และ ARA ซึ่งกรดไขมันนี้ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว เมื่ออยู่ในน้ำนมแม่จะช่วยในเรื่องพัฒนาการของสมองและการมองเห็นของลูกน้อยเมื่อนมแม่มีไม่เพียงพอ
องค์การอนามัยโลก จึงแนะนำให้นักวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยและสังเคราะห์สารนี้ ซึ่งสารนี้ทำได้โดยการหมักสาหร่ายและเห็ด โดยใช้สารเฮกเซนซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นตัวทำละลายในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขึ้นมา (สารเฮกเซนนี้เป็นสารจำพวกไฮโดรคาร์บอนและอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับสารพิษตัวอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งและปัญหาสุขภาพรุนแรงได้เช่นกัน) จนในท้ายที่สุด สูตรอนุพันธ์สังเคราะห์ของDHA และARA ได้ถูกจัดทำขึ้น เพื่อให้ใกล้เคียงและสามารถนำมาทดแทนนมแม่เพื่อตอบสนองต่อภาวะที่ทารกคลอดก่อนกำหนดใน 60 ประเทศทั่วโลกซึ่งอีก 8 ประเทศยินดีที่จะให้ใส่เพิ่มลงในนมผงและอาหารอื่นๆ สำหรับเด็กที่แข็งแรง ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสหรัฐ
ในช่วงแรกมีหลายงานวิจัยได้สนับสนุนความคิดที่ว่าDHA และARA มีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทารกซึ่งทางบริษัทแม่จึงยื่นเรื่องขอสัญญาบัตรจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในการที่จะกล่าวอ้างว่า สาร DHA และ ARA ที่บริษัทผลิตได้นั้นมีส่วนช่วยในพัฒนาการสมองและตาของเด็กทารกและเด็กวัยแรกเกิด
แต่ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐได้ปฏิเสธในการใส่สารสังเคราะห์DHA ลงไปในนมสำหรับเด็กอ่อนเนื่องจากเห็นว่านมผงสูตรปกติ มีกรดไขมันที่สามารถเปลี่ยนเป็น DHA และ AHA ได้มากเพียงพอและให้บริษัททั้งหมดนำข้อมูลที่ได้กลับไปพิจารณาอีกครั้ง
ในขณะเดียวกันที่สหภาพยุโรปได้มีการหารือเกี่ยวกับการที่ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐว่า มีการโฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมและอาหารเสริมที่ผสมสารDHA และARAซึ่งสอดคล้องกับองค์การอาหารและยาของสหรัฐโดยกล่าวว่าคำโฆษณาเป็นเรื่องที่เกินจริง, ไม่สามารถยอมรับได้, หลอกลวง, และไม่ได้รับอนุญาตซึ่งในปี 2007
องค์การอาหารและยาของสหรัฐได้ประกาศว่า สารที่ถูกผสมเพิ่มเติมเข้าไปนั้น สามารถส่งผลให้เด็กที่รับประทานเกิดอาการแพ้และไม่สบายได้ซึ่งรวมถึงท้องเสียท้องอืดดีซ่านรวมถึงการหยุดหายใจชั่วคราว ซึ่งสามารถทำให้เด็กเกิดภาวะออทิสซึมได้และเมื่อปี 2009 ทางองค์การได้ออกมากล่าวด้วยว่างานวิจัยที่สนับสนุนความปลอดภัยของสารสังเคราะห์DHA ในเด็กที่รับประทานเข้าไปนั้นยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอ
ส่วนคำถามที่ว่าเด็กที่รับประทานนมหรืออาหารเสริมที่เพิ่มสารDHA จะได้รับประโยชน์จริงหรือไม่นั้น ทางนักวิจัยจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐกล่าวว่า ตอนนี้ยัง "ไม่มี" หลักฐานที่เป็นงานวิจัยด้านสุขภาพที่จะสนับสนุนแนวความคิดที่ว่า การรับประทานนมหรืออาหารเสริมที่มี DHA มากๆ แล้วจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของสมองและตายอย่างแท้จริง
และในหัวข้อเดียวกันนี้จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารโภชนาการของสหรัฐนั้น นักวิจัยพบว่า ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างกรดไขมันกับพัฒนาการทางสติปัญญาหรือพฤติกรรมที่สามารถวัดได้ ขณะเดียวกันงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารกุมารแพทย์สหรัฐยังพบด้วยว่า การรับประทานสารอาหารสังเคราะห์ DHA และARA ไม่ได้ส่งผลต่อพัฒนาการของทารกดังนั้นการเพิ่มDHA จึงไม่มีความจำเป็น
และเมื่อปี 2010 ในวารสารด้านสูตินารีแพทย์ของสหรัฐได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่าจากงานวิจัยที่ทำการเก็บข้อมูลและบันทึกอย่างเข้มงวดพบว่าไม่มีความเกี่ยวเนื่องของสารสังเคราะห์ DHA และ ARA ที่เพิ่มเข้าไปในนมผงและอาหารเสริมต่างๆ ในการที่จะช่วยพัฒนาร่างกายสายตาหรือแม้กระทั่งการทำงานของระบบประสาทในทารกแต่อย่างใด
ศาสตราจารย์ด้านกุมารแพทย์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันได้ กล่าวโดยสรุปในงานวิจัยตอนหนึ่งที่ว่า คนเราจะฉลาดและสายตาดีจากการรับประทานสารสังเคราะห์DHA และARA ได้จริงหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วเป็นแค่เพียงการตลาดเท่านั้นซึ่งคำตอบก็น่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่าเท่านั้นเองค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก bangkokbiznews