คุณเจ้าของทราบหรือไม่ว่าสุนัขเป็นโรคลมแดดได้ง่ายกว่าในคนเสียอีก ก็เป็นเพราะว่าเค้ามีชั้นผิวหนังที่ถูกปกคลุมด้วยขนที่หนาและไม่มีต่อมเหงื่ออีกต่างหาก พวกเค้าจะหอบหายใจเพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายซึ่งมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการระบายออกทางเหงื่อ ดังนั้นในสภาพากาศที่ดีในความคิดคุณ อาจจะร้อนเกินไปสำหรับสุนัขของคุณ
โรคลมแดดเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับความร้อนมากเกินที่จะสามารถระบายความร้อนออกไปได้ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่ทำให้เซลล์แตก เกิดภาวะแห้งน้ำ และเลือดข้นขึ้น ไปมีผลต่อหัวใจ ก่อให้เกิดกระบวนการแข็งตัวของเลือดและเป็นผลให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะตับ สมอง และลำไส้จะเป็นอวัยวะที่มีความไวต่อความเสียหายมากที่สุด โดยกลไกการทำงานของร่างกายหลังจากที่ได้รับความร้อนจะมีการปรับตัวโดยส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะดังกล่าว ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโดยปกติอุณหภูมิของร่างกายสุนัขจะประมาณ 101-102.5 องศาฟาเรนไฮต์ ถ้าเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นถึง 106 องศาฟาเรนไฮต์ จะทำให้สมองเกิดความเสียหาย อวัยวะต่างๆล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นควรจะรีบลดอุณหภูมิเพื่อช่วยลดความเสียหายต่ออวัยวะต่อต่างๆ และเพิ่มโอกาสรอดให้กับสุนัข
อาการที่พบ ได้แก่ การหอบหายใจเร็ว ลิ้นแดงสด น้ำลายหนืดเหนียว อ่อนแรง ตามองไม่เห็น อาเจียน (อาจมีเลือดปน) ถ่ายเหลว ช๊อค หมดสติ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ รีบนำสุนัขออกจากบริเวณที่ร้อนนั้นแล้วรีบนำส่งสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด ระหว่างนั้นให้รีบลดอุณหภูมิของร่างกายของสุนัข โดยใช้น้ำเย็นเช็ดตัวหรืออาบน้ำ และเป่าพัดลมเพื่อเพิ่มการถ่ายเทอากาศ ควรวัดอุณหภูมิทุกๆ 5 นาที เมื่ออุณหภูมิร่างกายลดลงเหลือ 103 องศาฟาเรนไฮต์ แล้วให้หยุดแล้วเป่าให้แห้งเพื่อไม่ให้ร่างกายสูญเสียความร้อนต่อไปอีก ทั้งนี้ต้องระวังการใช้น้ำเย็นจัดเพราะอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงต่ำเกินไปซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิต นอกจากนี้สามารถให้สุนัขกินน้ำเพื่อช่วยลดอุณหภูมิและลดภาวะแห้งน้ำได้ในกรณีที่สุนัขยังสามารถกินเองได้อยู่ แต่ไม่ให้บังคับป้อนน้ำเพราะอาจทำให้สุนัขสำลักน้ำได้
สัตวแพทย์จะทำการรักษา โดยช่วยลดอุณหภูมิของสุนัขให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย (กรณีที่อุณหภูมิยังสูงอยู่) และคอยวัดอุณหภูมิของสุนัขอย่างต่อเนื่อง การให้สารน้ำเพื่อแก้ไขภาวะแห้งน้ำและออกซิเจนอย่างเพียงพอ การให้ยาในบางกรณี อีกทั้งการติดตามและเฝ้าระวังการเกิดภาวะช๊อค การหายใจลำบาก ไตวาย หัวใจทำงานผิดปกติ รวมถึงความผิดปกติของกระบวนการแข็งตัวของเลือดและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่ตามมา
การป้องกัน
- สุนัขที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เป็นโรคหัวใจ อ้วน อายุมาก หรือมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ควรให้อยู่ในที่เย็นสบายและอยู่ในร่ม/บ้าน เพราะกิจกรรมปกติของสุนัขก็มีโอกาสเสี่ยงสูงอยู่แล้ว
- ต้องตั้งน้ำให้มีกินเพียงพอตลอดเวลา เพื่อป้องกันภาวะแห้งน้ำ
- ไม่เอาสุนัขไว้ในรถแม้จะออกไปไม่นานและจอดไว้ในร่มก็ตาม เพราะอุณหภูมิในรถสามารถเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
- สุนัขที่เลี้ยงอยู่นอกตัวบ้านนั้นควรจัดสถานที่เลี้ยงให้มีที่ร่มไว้หลบแดดได้ด้วย และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความร้อนสูง เช่น ทราย หรือพื้นคอนกรีต
- ในวันที่อากาศร้อนควรลดการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเป็นเวลานานๆ เพราะร่างกายสุนัขจะเกิดความร้อนสูงและระบายความร้อนได้ไม่ทัน
- ไม่ใส่อุปกรณ์ที่ใช้ปิดปาก (Muzzle) ให้กับสุนัข เพราะจะยิ่งทำให้สุนัขหอบหายใจเพื่อระบายความร้อนได้ลำบากมากยิ่งขึ้น
- อาบน้ำให้สุนัขหรือพาไปว่ายน้ำเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายในวันที่อากาศร้อนจัด
เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย เกี่ยวกับอุณหภูมิร่างกาย
วิธีการวัด
ทาเจลหรือวาสลีนด้านปลายปรอทวัดไข้เพื่อหล่อลื่น จับสอดเข้าไปในรูทวารหนัก ลึกประมาณ 1-2 ซม. ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของสุนัขเป็นหลัก เสร็จแล้วรอประมาณ 1 นาทีจึงอ่านค่าได้
ระดับอุณหภูมิร่างกาย
ต่ำกว่าปกติ : น้อยกว่า 100.0 F
ปกติ : 100.0 - 102.5 F
สูงกว่าปกติ
- ระดับต่ำๆ : 102.5 - 103.0 F
- ระดับปานกลาง : 103.0 - 105.0 F
- ระดับรุนแรง : มากว่า 105.0 F
ที่มา : https://www.vs.mahidol.ac.th/hospital/index.php/article/130-heat-stroke