ความเป็นมาของ๑๓ สุสานแห่งราชวงศ์หมิงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติครั้งหนึ่งในสมัย ราชวงศ์หมิง จากข้อมูลประวัติศาสตร์ จูหยวนจาง ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงรับสั่งให้ตั้งราชธานีที่เมืองหนันจิง ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน หลังจากจักรพรรดิ จูหยวนจาง เสด็จสวรรคตแล้ว นัดดาของจักรพรรดิจูหยวนจางขึ้นครองราชสมบัติ ต่อมา จูตี้ โอรสองค์ที่ ๔ ของ จักรพรรดิ จูหยวนจาง ก่อสงครามกลางเมือง เพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์ เมื่อหนันจิงราชธานีถูกตีแตก นัดดาของ จักรพรรดิ จูหยวนจางหายสูญไป ปัจจุบัน เรื่องนี้ยังเป็นปริศนาในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์หมิง
หลังจากจูตี้ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงมีพระราชดำริให้ย้ายเมืองหลวงจากหนันจิงไปปักกิ่ง เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ต่อมา จักรพรรดิ จูตี้รับส่งให้ผู้ติดตามไปเลือกหาทำเลที่ตั้งสุสานของตน เมื่อผ่านการเฟ้นหาเป็นขั้นเป็นตอนมากมาย ในที่สุดจักรพรรดิ จูตี้เลือกสถานที่ที่มีทิวทัศน์สวยงามและถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชา ฮวงจุ้ย อยู่ชานเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของปักกิ่ง เป็นสถานที่ก่อสร้างสุสานของพระองค์ และทรงตั้งชื่อสุสานแห่งนี้ว่า สุสาน ฉางหลิง ในช่วงเวลากว่า ๒๐๐ ปีต่อมาคือ ตั้งแต่ ปี ๑๔๐๙ ถึง ปี ๑๖๔๔ อันเป็นปีที่ราชวงศ์หมิงถูกโค่นล้ม รวมมีพระศพของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงบรรจุอยู่ในบริเวณนี้ ๑๓ องค์ จึงเรียกกันว่า ๑๓ สุสาน ของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง
ภาพ ทางเดินของเทพ
แผนผังของ ๑๓ สุสาน ของจักรพรรดิราชวงศ์หมิงที่กรุงปักกิ่งคล้ายกับของสุสานหมิงเซี่ยวหลิง สุสานของปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิงที่เมืองหนันจิง คือ มีทางเดินของเทพทอดเข้าสู่บริเวณเขตสุสาน เพื่อแสดงถึงศักดิ์ศรีของ จักรพรรดิ ก่อนถึงหน้าประตูสุสานของ๑๓ สุสานจักรพรรดิราชวงศ์หมิง มีซุ้มประตูขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่มีประวัติ กว่า ๔๕๐ปี ซุ้มประตูขนาดใหญ่แห่งนี้สร้างด้วยหินอ่อน มีลวดลายสลักที่สวยงามประณีต เป็นสถาปัตยกรรมซุ้มประตูหินสมัยราชวงศ์ หมิงและชิงที่หาได้ยาก ปัจจุบัน ซุ้มประตูแห่งนี้ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ เดินจาก ซุ้มประตูหินไปข้างหน้าไม่ไกล ก็ถึงประตูใหญ่ของเขตสุสาน จักรพรรดิราชวงศ์หมิงที่ไปทรงทำพิธีบูชาเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี ต้องเสร็จพระราชดำเนินผ่านประตูนี้ ทางซ้ายและขวาของประตูใหญ่ มีกำแพงที่ล้อมรอบบริเวณเขตสุสาน กำแพงนี้ลดหลั่นไปตามไหล่เขา มีความยาวรวม ๔๐ กิโลเมตร ตามกำแพงนี้ มีด่าน ๑๐ แห่ง ในสมัยนั้นมีทหารประจำการอยู่ในด่านแต่ละแห่ง เพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวสุสาน ในบริเวณเขตสุสาน มีที่พักอาศัยของขันทีผู้ดูแลเขตสุสานและกิจการบูชาเซ่นไหว้ มีที่พักของผู้ปลูกผักและผลไม้ที่จะใช้เป็นของถวายในพิธีบูชาเซ้นไหว้ ในแต่ละปี และยังมีที่พักของทหารประจำการด้วย ปัจจุบันนี้ ที่พักอาศัยเหล่านี้กลายเป็นหมู่บ้านเกษตรกรไปแล้ว
จักรพรรดิแต่ละองค์ทรงตั้งพระทัยจะให้สุสานของพระองค์คงสภาพ สมบูรณ์อย่างยั่งยืน จึงให้แต่งตำนานเรื่องเล่าต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับสุสานของพระองค์ขึ้นและมีรับสั่งให้สร้างสุสานของ พระองค์ให้มั่นคงมิดชิด ดังนั้น ตำหนักใต้ดินของ ๑๓ สุสานแห่งราชวงศ์หมิงแต่ละแห่งจึงมีความลี้ลับมาก ใน สุสาน ๑๓ แห่งนี้ สุสาน ติ้งหลิงเป็นสุสานที่มีความลี้ลับมากที่สุด เพราะไม่มีใครรู้ตำแหน่งแห่งที่แน่ชัดของตำหนักใต้ดินในสุสานแห่งนี้ จนกระทั่งถึง เดือนพฤษภาคม ปี ๑๙๕๖ นักโบราณคดีของจีนจึงขุดพบตำหนักใต้ดินของสุสานติ้งหลิง ตำหนักใต้ดินของสุสานติ้งหลิงมีเนื้อที่ ๑๑๙๕ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยตำหนักหน้า กลาง หลัง ซ้ายและขวา ๕ แห่ง ตำหนักเหล่านี้ล้วนสร้างด้วยหิน ตอนขุดพบ มีไม้กระดานปูไว้บนพื้นของตำหนักกลางและตำหนักหลัง เข้าใจว่า ทำเช่นนี้เพื่อรักษาพื้นของตัวตำหนักไม่ให้เสียหายจากการเคลื่อนย้าย โลงพระศพเข้าไปในตำหนัก ในตำหนักกลาง มีบัลลังก์หินอ่อน ๓ บัลลังก์ ส่วนตำหนักหลังที่ตั้งชื่อว่า เสียนถังนั้น เป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดของตำหนักใต้ดิน ภายในตำหนัก มีโลงพระศพ ๓ โลงตั้งไว้บนฐานหินอ่อน โลงพระศพที่ตั้งอยู่ตรงกลางและมีขนาดใหญ่สุดนั้นบรรจุพระศพของ จักรพรรดิจูยี่จุน ส่วนโลงพระศพที่ตั้งไว้ข้างซ้ายและข้างขวานั้น บรรจุพระศพของพระมเหสี สององค์ รอบ ๆ โลงพระศพ มีหีบรวม ๒๖ ใบ ที่เก็บพวกหยก เครื่องเคลือบลายครามและของใช้ประจำวันอื่น ๆ ตอนขุดค้นสุสานแห่งนี้ นักโบราณคดีของจีนพบโบราณวัตถุล้ำค่าจากสุสานแห่งนี้ กว่า ๓๐๐๐ ชิ้น อันได้แก่ สิ่งทอ เสื้อผ้าที่มีสีสันหลากหลาย เครื่องประดับที่สวยประณีต เครื่องทอง เครื่องหยกและเครื่องเคลือบเป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นโบราณวัตถุล้ำค่าในการวิจัยศิลปะหัตถกรรมของสมัยราชวงศ์หมิง
แหล่งที่มา : https://thai.cri.cn/chinaabc/chapter20/chapter200310.htm