ประวัติ
พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๕๔ เมื่อเวลา ๐๗.๒๐ น. ในเรือ ที่ลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านม้า อำเภออินทบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโอรสของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบกับหม่อมแดง (บุนนาค)
เริ่มการศึกษาขั้นต้น ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (วังหลัง) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อที่โรงเรียน Trent College และศึกษาวิชาปรัชญาเศรษฐศาสตร์และการเมืองที่ The Queen's College มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดต่อมาได้รับปริญญาวารสารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เริ่มเข้ารับราชการที่กรมสรรพากร ซึ่งต่อมาเป็นเลขานุการที่ปรึกษากระทรวงการคลัง และเข้าทำงานเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้เข้ารับราชการทหารได้รับยศนายสิบตรี ต่อจากนั้นรัฐบาลได้ตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ได้เข้าทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายสำนักผู้ว่าการและหัวหน้าฝ่ายออกบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย และยังเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเป็นพลตรี (ทหารราชองครักษ์พิเศษ) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกในเมืองไทยชื่อ "พรรคก้าวหน้า" เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๘๘ - ๒๔๘๙ ต่อจากนั้นได้ร่วมในคณะผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และได้ริเริ่มจัดตั้งพรรคกิจสังคม ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตพระนคร ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่สามารถเข้าบริหารประเทศได้ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความเห็นชอบตามนโยบายพรรคกิจสังคมซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๑๘ คน โดยการนำของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น และได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๑๘
ในขณะที่บริหารประเทศ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ดำเนินการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง ตามนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และเป็นมิตรกับทุกประเทศที่มีเจตนาดีต่อประเทศไทย โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองในด้านการพัฒนาประเทศ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เริ่มโครงการผันเงินสู่ชนบท เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และสร้างงานในชนบท โดยการผันเงินจากงบประมาณรายจ่าย เพื่อปรับปรุงและสร้างสิ่งสาธารณูปโภคที่จำเป็นในชนบท มีผลให้ประชาชนในชนบทมีงานทำและมีรายได้ เป็นการยกฐานะทางเศรษฐกิจของชาวชนบทให้ดีขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาสภาตำบลอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดให้มีโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และได้ดำเนินการซื้อสัมปทานเดินรถของเอกชนมารวมเป็นของรัฐบาลภายใต้การดำเนินงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
จากการที่รัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค จึงทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร ต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองหลายประการ ในที่สุดหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงได้ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๙ รวมระยะเวลาที่บริหารประเทศประมาณ ๙ เดือนเศษ
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคม และได้ยุติบทบาททางการเมือง และใช้ชีวิตสงบเงียบ ณ บ้านพักซอยสวนพลู กรุงเทพมหานคร นอกจากบางโอกาสที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยการให้สัมภาษณ์ หรือโดยการเขียนบทความลงในคอลัมน์ "ซอยสวนพลู" พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๘ ณ โรงพยาบาลสมิติเวช รวมอายุได้ ๘๔ ปีเศษ
ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๓๖
๑๔ มีนาคม ๒๕๑๘ - ๑๒ มกราคม ๒๕๑๙