พัฒนาการและวิธีเสริมสร้างกระดูกลูกทารกในครรภ์ให้แข็งแรงในแต่ละไตรมาส
โครงสร้างหลักในร่างกายของลูกน้อยก็คือกระดูก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กล้ามเนื้อและอวัยวะส่วนต่างๆ ยึดเกาะจนกลายเป็นรูปร่างขึ้น ซึ่งกระดูกของลูกน้อยจะแข็งแรงและสมบูรณ์ได้นั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณแคลเซียมจากร่างกายคุณแม่ที่ลูกนำไปใช้ คุณแม่จึงควรช่วยเสริมสร้างกระดูกลูกไปพร้อมๆ กับพัฒนาการด้านอื่นๆ ในแต่ละไตรมาสด้วย
พัฒนาการของกระดูกลูกน้อย
ไตรมาสที่ 1 กระดูกสันหลังเริ่มพัฒนาก่อนส่วนอื่น
สัปดาห์ที่ 6 กระดูกพัฒนามาจากกลุ่มเซลล์ของตัวอ่อนที่อยู่บริเวณชั้นกลางหรือ Mesoderm เซลล์นี้จะเปลี่ยนไปเป็นโครงกระดูก กล้ามเนื้อทั่วไป กล้ามเนื้อหัวใจ อัณฑะหรือรังไข่ ไต ม้าม เม็ดเลือดแดง และเซลล์ผิวหนังชั้นในสุด กระดูกสันหลังของลูกน้อยจะเริ่มพัฒนาก่อนกระดูกส่วนอื่น โดยช่วงแรกจะมีลักษณะเป็นแนวคล้ายร่องหยักตลอดทั้งหลัง ช่วงนี้ลำตัวของลูกจะคดงอเหมือนกุ้งค่ะ
สัปดาห์ที่ 10 โครงหน้าของลูกเริ่มพัฒนาขึ้น เพราะกระดูกโครงหน้าแต่ละส่วนมีการพัฒนาเชื่อมต่อกัน จนเกิดเป็นโครงสร้างเพื่อให้กล้ามเนื้อยึดเกาะ รวมทั้งโครงสร้างกระดูกของอวัยวะอย่าง แขน ขา ก็เริ่มพัฒนามากขึ้น
ไตรมาสที่ 2 แคลเซียมช่วยกระดูกแข็งแรง
สัปดาห์ที่ 14-18 ลำตัวของลูกน้อยเริ่มเหยียดตรงแล้ว มีการพัฒนากระดูกและซี่โครงรอบลำตัว สัปดาห์นี้ลูกน้อยจะมีเล็บมือและเล็บเท้าแล้วนะคะ กระดูกอ่อนในร่างกายบางส่วนเริ่มมีแคลเซียมสะสมจนกลายเป็นกระดูกแข็งแล้ว ส่วนเหง้าของฟันแท้ทั้ง 32 ซี่กำลังซ่อนตัวอยู่ในปุ่มเหงือกค่ะ
สัปดาห์ที่ 22 โครงสร้างกระดูกในร่างกายของลูกน้อยพัฒนาจนลูกมีลักษณะร่างกายภายนอกเหมือนทารกแรกคลอดแล้ว ฟันน้ำนมก็เริ่มเกิดขึ้นในเหงือก และเล็บมือก็งอกออกมาอย่างสมบูรณ์แล้วค่ะ
ไตรมาสที่ 3 กระดูกของหนูพัฒนาสมบูรณ์แล้ว
สัปดาห์ที่ 26-30 เพราะได้รับแคลเซียมจากคุณแม่ จึงทำให้ในช่วงสัปดาห์นี้กระดูกของลูกน้อยแข็งแรงมากขึ้นกระดูกนิ้วมือและนิ้วเท้าพัฒนาอย่างเต็มที่
สัปดาห์ที่ 34-40 กระดูกทุกส่วนในร่างกายพัฒนาสมบูรณ์แล้วค่ะ เล็บมือและเล็บเท้าของลูกจะยาวมาก คุณหมออาจจะต้องตัดเล็บมือให้ทารกแรกคลอดเพื่อป้องกันเล็บข่วนหน้าด้วย
เคล็ดลับดูแลครรภ์
สิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างกระดูกของลูกน้อยในท้องให้แข็งแรงก็คือแคลเซียมค่ะ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับแคลเซียมในปริมาณที่มากกว่าปกติ เพราะลูกจะดึงแคลเซียมในร่างกายของคุณแม่ไปใช้ในการเจริญเติบโต เพราะหากคุณแม่ไม่ค่อยได้กินอาหารที่มีแคลเซียม อาจทำให้เกิดอาการตะคริวที่บริเวณน่องและขาได้ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหันมากินอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง อย่างนม โยเกิร์ต เต้าหู้ ถั่วเหลือง ธัญพืชต่าง ๆ ไข่แดง ปลาเล็กปลาน้อย ผักโขม บรอกโคลี หัวปลี ฟักทอง และตำลึงค่ะ ทางที่ดี คุณแม่ควรกินอาหารเหล่านี้ไปจนถึงหลังคลอดและช่วงให้นมเลยนะคะ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดแคลเซียม และยังเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยด้วย
ที่มาข้อมูลและภาพ thaiza.com