"รถตุ๊กตุ๊ก" หรือชื่อเรียกทางราชการว่า "รถสามล้อเครื่อง" ที่เราทุกคนรู้จักคุ้นเคยกันดี เริ่มเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกราวๆ ปี 2503 โดยนำเข้ามาจากหลายประเทศด้วยกัน แต่โดยส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น
ยุคแรกๆ รถตุ๊กตุ๊ก มีทั้งยี่ห้อไดฮัทสุ ฮีโน่ มาสด้า มิตซูบิชิ ราคาตกคันละประมาณเกือบ 2 หมื่นบาท แต่ปัจจุบันราคาขยับขึ้นไปถึงหลักแสนแล้ว และเหลือเพียงยี่ห้อเดียวเท่านั้น คือ "ไดฮัทสุ"
รถตุ๊กตุ๊ก ในสมัยก่อน มีทางให้ผู้โดยสารขึ้นลง 2 ด้านแต่ต่อมาเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารเลยกำหนดให้ปิดทางขึ้นลงด้านขวา ของตัวรถ เหลือทางขึ้นลงเพียงด้านเดียว แต่กว่าจะมาเป็นรถตุ๊กตุ๊กได้อย่างทุกวันนี้ มีวิวัฒนาการจากการนำรถสามล้อเครื่องกระบะบรรทุกจากญี่ปุ่น เข้ามาดัดแปลง โดยเอามาต่อหลังคาเพิ่มไว้สำหรับนั่งโดยสารและขนของได้
แต่ในปี พ.ศ. 2508 รถตุ๊กตุ๊กก็เกือบจะต้องอันตรธานหายไปจากเมืองไทย เพราะทางราชการเตรียมจะยุบเลิก โดยเห็นว่าเป็นรถที่มีกำลังแรงม้าต่ำ แล่นช้า เกะกะกีดขวางทางจราจร แต่สุดท้ายก็สามารถต่อสู้ยืนหยัดอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้เป็นเวลาเกือบ 50 ปี แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถตุ๊กตุ๊กยังถือเป็นรถที่ต้องถูกจำกัดจำนวน โดยปี พ.ศ.2530 ทางราชการก็ออกกฎห้ามจดทะเบียนรถตุ๊กตุ๊กรับจ้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี และนครราชสีมา แต่อนุโลมให้กับรถตุ๊กตุ๊กส่วนบุคคลที่นำไปประยุกต์ใช้งานเฉพาะอย่างได้ ทำให้ปัจจุบันมีรถตุ๊กตุ๊กที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในกรุงเทพฯ รวมกันประมาณ 7,405 คันเท่านั้น และถ้ารวมๆ กันทั้งประเทศ จะมีรถตุ๊กตุ๊กที่วิ่งอยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่าคัน
นอกจากคนไทยจะเริ่มประกอบรถตุ๊กตุ๊กใช้ในประเทศได้เองแล้ว ยังผลิตเพื่อส่งออกไปประเทศอื่นๆ ด้วย อาทิ อินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท แถมยังกลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยอีกด้วย
ที่มาของชื่อเรียก "ตุ๊กตุ๊ก" เพราะเดิมทีชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยไม่รู้จะเรียกรถสามล้อเครื่องว่า อะไร เลยอาศัยเรียกชื่อตามเสียงท่อไอเสียของรถ กลายเป็นชื่อ "รถตุ๊กตุ๊ก" ติดปากมาถึงวันนี้
ความเป็นมาและวิวัฒนาการของรถสามล้อชนิดต่างๆ
รถสามล้อพ่วงข้าง
ปี พ.ศ.2476 "รถสามล้อ" ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่ จ.นครราชสีมา โดย นาวาอากาศเลื่อน พงษ์โสภณ นำรถลาก หรือรถเจ็ก มาดัดแปลงร่วมกับจักรยาน ถือเป็นต้นแบบของรถสามล้อที่ใช้รับผู้โดยสารแพร่หลายไปทั่วประเทศ ต่อมามีผู้นำจักรยานมาเพิ่มล้อและกระบะพ่วงเข้าที่ด้านข้าง ติดตั้งเก้าอี้หวายยึดแน่นกับกระบะ ออกวิ่งรับจ้าง นับเป็นต้นแบบของ "สามล้อพ่วงข้าง" ซึ่งปัจจุบันยังใช้อยู่ในจังหวัดภาคใต้
ซาเล้ง หรือ สามล้อแดง
เพื่อทุ่นแรงและสามารถรับส่งผู้โดยสารได้ในระยะที่ไกลขึ้น นักประดิษฐ์ชาวไทยได้ดัดแปลงนำเครื่องจักรยานยนต์มาติดกับรถสามล้อแบบที่ใช้คนถีบ ได้รับความนิยมแพร่หลาย เพราะนอกจากไปได้ในระยะทางไกลกว่าแล้ว ความรวดเร็วก็เป็นส่วนสำคัญ ทุกวันนี้ "สามล้อเครื่อง" ยังเกลื่อนเมือง ตามด้วย "ซาเล้ง" หรือสามล้อแดง ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ส่งสินค้าที่มีน้ำหนักไม่มาก ระยะทางไม่ไกลนัก เป็นสามล้อใช้แรงถีบ ผู้ขับขี่อยู่ด้านหลังกระบะบรรทุก
รถตุ๊กตุ๊ก
"รถตุ๊กตุ๊ก" กำเนิดจากการนำสามล้อเครื่องกระบะบรรทุกจากญี่ปุ่นเข้ามาดัดแปลงเป็นรถนั่งโดยสาร เมื่อปี พ.ศ.2503 เพื่อทดแทนรถสามล้อถีบซึ่งถูกห้ามวิ่งในเขตกรุงเทพฯ ทุกวันนี้เราผลิตได้เองแล้ว และส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย ในนาม "TUK-TUK" สามล้อตุ๊กตุ๊กมีบริการทั่วไปทุกจังหวัดและเป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่งของทัวริสต์
รถตุ๊กตุ๊กสองแถว
วิวัฒนาการมาจากตุ๊กตุ๊กธรรมดา ดัดแปลงเบาะนั่งด้านหลังเป็นที่นั่งสองแถวเพื่อรับผู้โดยสารได้จำนวนมาก พบเห็นได้ตามแหล่งชุมชนอย่างท่ารถโดยสาร ท่าเรือข้ามฟาก ตลาดสด และด้วยฝีมือไทยประดิษฐ์ ได้มีการนำรถตุ๊กตุ๊กธรรมดามาดัดแปลงประดับตกแต่งสวยงามทั้งตัวถัง วงล้อ เบาะนั่ง แผงหน้าปัด กระบังหน้า เครื่องยนต์เปลี่ยนจาก 2 เป็น 4 จังหวะ จากตุ๊กตุ๊กธรรมดาก็กลายเป็น "ตุ๊กตุ๊กเดอลุกซ์" บริการในจังหวัดภาคตะวันออก
สามล้อสกายแล็บ
เมื่อครั้งสถานีอวกาศ "สกายแล็บ" ได้เป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก คนไทยร่วมฮิตด้วยการประดิษฐ์สามล้อและเรียกชื่อตามสมัยนิยมว่า "สามล้อสกายแล็บ" โดยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ จ.อุดรธานี ก่อนแพร่ไปจังหวัดต่างๆ ทั่วอีสาน เป็นสามล้อที่ใช้กำลังเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ ที่นั่งโดยสารตอนหลังเป็นสองแถว จุดเด่นคือสีสันสดใส และช่วงหน้าเชิดสูง
รถสามล้อแบบมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง
เมื่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างถือกำเนิดและแพร่หลายไปทุกท้องถิ่น ก็มีแนวคิดว่าทำอย่างไรจึงจะรับผู้โดยสารได้ครั้งละหลายๆ คน รถสามล้อแบบมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างจึงถูกประดิษฐ์ขึ้น เมื่อไม่ออกรับจ้างผู้โดยสารก็สามารถถอดเฉพาะตัวรถขับขี่ไปทำธุรกิจได้ ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เรียกสามล้อแบบนี้ว่า "ไก่นา"
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ vcharkarn.com/varticle/43901