ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ประเพณีเลี้ยงผีมเหสักข์ชาวผู้ไทยวาริชภูมิ, ประเพณีเลี้ยงผีมเหสักข์ชาวผู้ไทยวาริชภูมิ หมายถึง, ประเพณีเลี้ยงผีมเหสักข์ชาวผู้ไทยวาริชภูมิ คือ, ประเพณีเลี้ยงผีมเหสักข์ชาวผู้ไทยวาริชภูมิ ความหมาย, ประเพณีเลี้ยงผีมเหสักข์ชาวผู้ไทยวาริชภูมิ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ประเพณีเลี้ยงผีมเหสักข์ชาวผู้ไทยวาริชภูมิ

       วันที่ ๕ เมษายน ของทุกปี จึงเป็นวันที่มีความหมายของชาวผู้ไทยวาริชภูมิทั้งที่อยู่ใกล้และไกลที่จะต้องพยายามมา "ตุ้มโฮม" รวมพี่รวมน้องชาวผู้ไทยภาพที่ชาวผู้ไทยหลั่งไหลเข้ากราบไหว้บูชารูปปั้นเจ้าปู่มเหสักข์ไม่ขาดสายท่ามกลางเสียงอวยชัยอวยพรของตนนับหมื่นคนกลางลานหน้าศาลเจ้าปู่มเหสักข์ แสดงถึงความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างหาได้ยากของสังคมชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเจ้าปู่มเหสักข์เป็นสายโยงใยให้ศรัทธาความเชื่อของผู้คนเหล่านี้มารวมกันได้อย่างน่าสรรเสริญ
ความสำคัญ
       เมื่อชาวผู้ไทยอพยพข้ามโขงเดินทางมาถึงเมืองสกลนคร จึงได้เข้ามาตั้งที่พักชั่วคราวในสนามมิ่งเมืองใกล้ ๆ บ้านเจ้าเมืองสกลนคร โดยมีผู้นำชื่อว่าท้าวราชนิกูลเป็นหัวหน้าควบคุมผู้คนอพยพเข้ามาใน พ.ศ.๒๓๘๗ ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นสมัยที่ชนกลุ่มเมืองต่าง ๆ ได้เรียกร้องขอตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นหลายแห่ง ท้าวราชนิกูลซึ่งอดทนมาเป็นเวลาแรมปี จึงขออนุญาตพาไพร่พลออกไปตั้งบ้านเมือง แต่กลับถูกขัดขวางไม่ยอมยกพื้นที่แห่งหนึ่งแห่งใดให้ตั้งเมือง กลับแต่งตั้งให้บุตรท้าวราชนิกูล อีกคนหนึ่งเป็นนายหมวด นายกองควบคุมชาวผู้ไทยแทนท้าวราชนิกูลเห็นว่าการเจรจาไม่เป็นผลจึงนำอพยพไพร่พลมุ่งไปทางทิศตะวันตกออกจากเมืองสกลนคร เจ้าเมืองสกลนครได้นำไพร่พลออกขัดขวางแต่ก็ไม่เป็นผล คงนำไพร่พลออกเดินทางไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านหนองหอย ใกล้กับที่ตั้งอำเภอวาริชภูมิในปัจจุบัน ใน พ.ศ. ๒๔๑๖ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ชาวไทโย้ย ตั้งเมืองวานรนิวาสได้แล้ว
       การตั้งบ้านเรือนที่บ้านหนองหอยในระยะนั้น ถือว่ายังอยู่ในเขตเมืองสกลนคร และเป็นเมืองที่ยังมิได้รับในตราภูมิอนุญาตให้ตั้งเมือง ด้วยปัญหาดังกล่าวท้าวสุพรหม บุตรท้าวราชนิกูล จึงได้ขอพึ่งบารมีพระพิทักษ์เขตขันธ์เจ้าเมืองหนองหาน ท้าวสุพรหม ได้พาบ่าวไพร่เดินทางไปกรุงเทพฯ เข้าร้องเรียนต่อพระยาภูธราภัย เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองแต่เนื่องจากไม่มีใบบอกของเจ้าเมืองสกลนครก็ไม่อาจนำความขึ้นกราบบังคมทูลได้ ท้าวสุพรหมจึงเดินทางกลับมาและได้รับการยกบ้านป่าเป้าเมืองไพร ในเขตหนองหาน ให้เป็นเมืองของชาวผู้ไทยแทน ต่อมาเมื่อเกิดศึกฮ่อใน พ.ศ.๒๔๑๘ กองทัพของพระยามหาอำมาติย์ (ชื่น) เดินทัพขึ้นไปที่หนองคาย ท้าวสุพรหมได้คุมเลกไพร่ของตน ๓๐ คน เข้าร่วมกับกองทัพของพระพิทักษ์เขตขันธ์ เจ้าเมืองหนองหาน ในการปราบฮ่อ เมื่อเสร็จศึกฮ่อแล้ว ท้าวสุพรหมได้ทูลขอบ้านผ้าขาวแขวงเมืองสกลนคร เป็นเมืองขึ้น แต่พระยาประจันตประเทศธานีคัดค้าน พระพิทักษ์เขตขันธ์จึงขอตั้งบ้านป่าเป้าเมืองไพร่ เป็นเมืองวาริชภูมิให้ท้าวสุพรหม เป็นพระสุรินทร์บริรักษ์ เจ้าเมืองวาริชภูมิ ขึ้นเมืองหนองหาน เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐
       ในสมัยกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการหัวเมือง มณฑลอุดรธานี ได้มีคำสั่งให้เมืองวาริชภูมิ โอนมาทำราชการที่เมืองสกลนคร ใน พ.ศ.๒๔๓๕ โดยได้กรมการเมืองวาริชภูมิยังคงตำแหน่งเดิมทุกคน ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) ได้ประกาศยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงค์ ราชบุตรมาเป็นตำแหน่งข้าราชการส่วนกลางเช่นปัจจุบัน ชาววาริชภูมิเชื่อในความมีจริงของอิทธิฤทธิ์เจ้าปู่มเหสักข์ของตนว่าสามารถเป็นที่พึ่งในยามคับขันให้ตนได้ ทั้งยังมีเรื่องเล่าสืบเนื่องต่อกันมาช้านานในอิทธิฤทธิ์ของเจ้าปู่ ดังความตอนหนึ่งว่า
       ในสมัยอดีต ขุนเพายาว เจ้าเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อเจ้าหุน และเจ้าหาญ ขุนเพายาว ได้ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยความสุข ผู้คนมีมากด้วยทรายหลายดังน้ำ ต่างก็มีอันจะกิน สร้างบ้านแปลงเมือง อยู่มานานหลายปีถึงช่วงระยะหนึ่งบ้านเมืองประสบภาวะฝนแล้ง ข้าวไร่นาเสียหาย เก็บเกี่ยวไม่ได้ผล ประกอบกับความแห้งแล้ง มีติดต่อกันมาหลายปี ขุนเพายาวพร้อมครอบครัว บ่าว นาย ไพร่ จึงได้อพยพลงมาทางใต้ ขบวนเดินทางรอนแรมผ่านป่า ผ่านเขา เป็นเวลาช้านานหลายเดือน เนื่องจากขบวนประกอบด้วยผู้คนจำนวนมาก ขบวนเดินเท้าจึงหยุดพักผ่อนตั้งค่ายพักแล้ว จึงเดินทางต่อเป็นอย่างนี้เรื่อยมา ช่วงเวลาหนึ่งขุนเพายาวได้สั่งให้ขบวนหยุดพัก ตั้งค่ายพัก ณ ที่แห่งหนึ่งด้วยเห็นเป็นทำเลที่เหมาะ และในวันหนึ่งขณะที่ผู้คนต่างออกหาเสบียง เจ้าหาญลูกชายขุนเพายาว ผู้น้อง ยิงกวางตัวหนึ่งจนบาดเจ็บ วิ่งหนีไปได้ เจ้าหาญจึงได้แกะรอยเข้าไปอย่างใกล้ชิด จนไปพบกวางตัวนั้นนอนตายที่หน้าเจ้าหุนผู้เป็นพี่ ต่างฝ่ายต่างเลยเถียงกันว่า กวางตัวนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ต่างฝ่ายโต้เถียงอย่างไม่ละลดไม่ยอมกัน ร้อนถึงขุนเพายาวผู้เป็นบิดาต้องมาช่วยตัดสินปัญหา ขุนเพายาว ตัดสินให้กวางตัวนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหุน ทำให้เจ้าหาญผู้เป็นน้องเสียใจว่าบิดาไม่รัก ไม่ตั้งอยู่ในสัตย์ เข้าข้างผู้เป็นพี่ชาย 
       ความรู้สึกน้อยใจทำให้เจ้าหาญชักชวนบ่าวไพร่ และผู้รักใคร่พร้อมด้วยครอบครัวอพยพออกจากขบวนของบิดา ไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ปรากฏว่ามีผู้ติดตามไปจำนวนมาก ขบวนอพยพรอนแรมป่าอยู่หลายวัน ผู้คนได้รับความลำบากเป็นอันมาก จึงได้หันไปพึ่งผีฟ้า ซึ่งชาวผู้ไทยนับถือเช่นเดียวกับชาวฮ่อ เจ้าหาญคิดว่าต่อไปข้างหน้าขบวนอพยพของตนอาจได้รับความลำบากได้รับอันตรายตลอดจนอุปสรรคต่าง ๆ อาจถึงมีศึกสงครามเป็นแน่แท้ แต่ก็จนใจที่ชาวผู้ไทยไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเจ้ายึดเหนี่ยว เป็นที่พึ่งทางใจคุ้มภัยให้เลย ครั้นขบวนอพยพมาถึงธารน้ำแห่งหนึ่ง ด้านหลังมีภูเขาใหญ่มีหน้าผาสูงชัน แหงนคอตั้งบ่าเจ้าหาญจึงสั่งให้ขบวนหยุดและตั้งค่ายพักขึ้น และพาไพร่พลจำนวนหนึ่งสร้างศาลขึ้นหลังหนึ่งด้านหลังค่ายพักหน้าผาสูงแห่งนั้นแล้วต่อมาเมื่อเห็นผู้คนหายเหนื่อยแล้ว จึงนำผู้คน บ่าวไพร่ พร้อมใจกันอธิษฐาน อัญเชิญเทพยดาฟ้าดิน เจ้าภูผา เจ้าป่าเจ้าเขา ให้มาสถิตอยู่ ณ ศาลนั้น ขอให้เป็นกำแพงคุ้มกันขบวนของชาวผู้ไทยตลอดไป ครั้นทำพิธีเสร็จได้พร้อมกันหาดอกไม้ธูปเทียนบูชา จัดสำรับกับข้าวคาวหวานเลี้ยงและเรียกชื่อเทพสถิตอยู่ ณ ศาลแห่งนี้ว่า "เจ้าปู่มเหสักข์" ผู้คนในขบวนต่างก็ร่วมฉลองเป็นการใหญ่
       ขบวนอพยพได้รอนแรมเรื่อยมา ค่ำลง ณ ที่ใดก็ตั้งค่ายพัก เจอที่เหมาะก็พักหลายวัน ตั้งค่ายลงที่ใดก็ตั้งศาลเจ้าปู่ขึ้นไว้ เคารพบูชามิได้ขาด จากนั้นขบวนก็มุ่งลงใต้เรื่อยมา พอถึงฤดูฝนการเดินทางลำบากก็หยุดพักขบวน พอเข้าหน้าแล้งก็ออกเดินทางต่อไป ตกบ่ายวันหนึ่งขบวนอพยพผ่านเข้าไปในป่าใหญ่ อากาศร้อนอบอ้าวมากได้เกิดไฟป่าโดยมิได้คาดฝัน ไฟได้ไหม้ลุกล้อมขบวนทุกด้านอย่างรวดเร็ว ต่างคนต่างจวนตัวไม่รู้ว่าจะไปทางทิศใด เจ้าหาญเห็นจวนตัวนึกอะไรไม่ออกจึงพนมมือตั้งจิตวิงวอนขอความช่วยเหลือต่อเจ้าปู่มเหสักข์ว่า "บัดนี้ลูกหลานได้รับความลำบากยิ่งถึงคราวจวนตัวไฟป่ามาถึงแล้ว ขอบารมีท่านช่วยขจัดปัดเป่าช่วยคุ้มภัยช่วยเป็นกำแพงกันไฟป่าให้ลูกหลานด้วย ท่ามกลางเสียงร้องคร่ำครวญกู่เรียกหา และเสียงกิ่งไม้ถูกไฟป่าเผาผลาญ ปาฏิหารย์ของเจ้าปู่ก็ปรากฏไฟป่าอ่อนตัวลง บ้างก็ดับ บ้างก็เปลี่ยนทิศทาง ไม่นานท้องฟ้าก็แจ่มใสอากาศโปร่งเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก คนทั้งปวงเห็นนิมิตเป็นมงคล เมื่อตั้งค่ายพักแรมในค่ำวันนั้น เจ้าหาญจึงให้จัดพิธีบวงสรวงเจ้าปู่ขึ้น ดังนั้นการเซ่นสรวงสำหรับผู้ตกทุกข์ขอความช่วยเหลือจึงมีมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
       เมื่อชาวผู้ไทยในสมัยของท้าวสุพรหม ผู้เป็นบุตรของท้าวราชนิกูลได้เป็นเจ้าเมืองคนต่อมา ได้รับพระราชทานทินนามเป็นพระสุรินทร์บริรักษ์และขอพระราชทานเมืองหนองหอยขึ้นเป็นเมืองวาริชภูมิ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ได้อัญเชิญเจ้าปู่มเหสักข์ แล้วตั้งศาลเจ้าปู่ขึ้นบริเวณที่ดอนซึ่งเป็นป่ารกทึบ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร (คือบริเวณบ้านนายสาย ใกล้ฝน ในปัจจุบัน) และใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่จัดพิธีเซ่นสังเวยเจ้าปู่มเหสักข์ทุกปี แต่ศาลเจ้าปู่แห่งนี้ไม่สะดวกสำหรับชาววาริชภูมิ ที่ต้องการไปไหว้เจ้าปู่เพราะเป็นป่ารกทึบ จึงได้สร้างศาลจำลองขึ้นหลังหนึ่งไว้ที่บ้านเจ้าจ้ำ (นายทองเพื่อน เหมะธุลิน) จวบจนสามารถสร้างศาลเจ้าปู่มเหสักข์จากที่ดอนมาประดิษฐานไว้ในที่แห่งนี้ ชาวผู้ไทยวาริชภูมิมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิของเจ้าปู่มเหสักข์ว่า นอกจากจะสามารถคุ้มครองป้องกันภัยต่าง ๆ ได้แล้ว การคุ้มครองป้องกันอัคคีภัยไหม้บ้าน เมื่อเกิดเหตุยังสามารถพึ่งบารมีได้อย่างชงัด นอกจากนี้ยังปรากฏนิมิตร่างของเจ้าปู่เป็นสัตว์ต่าง ๆ เช่น เสือลายพาดกลอน งูใหญ่ สุนัขสีขาว หรือปรากฏในความฝันว่าเป็นชายร่างใหญ่ ผิวดำ เสียงดัง มีอำนาจ แต่งกายนักรบโบราณ มือถือดาบ หน้าอิ่มเป็นลักษณะผู้ดี มีสกุลเป็นชั้นเจ้าตามบุคลิกของผู้นำที่สามารถ
พิธีกรรม
       ประเพณีในการทำพิธีเซ่นสังเวยเจ้าปู่มเหสักข์ ในสมัยก่อนมักทำในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ชาวนาเก็บเกี่ยวเสร็จ มีเงินทองจับจ่ายอย่างสะดวก เป็นช่วงเวลาที่เดินทางสะดวกก่อนถึงฤดูฝนและมักจะทำพิธีสามปีต่อครั้ง ดังที่กล่าวกันว่า "สองปีฮาม สามปีคอบ" โดยการเซ่นสังเวยในยุคนั้นเชื่อว่า วัว-ควาย ที่ถึงคราวหมดอายุขัยจะมาตายเองที่ศาลเจ้าปู่ ผู้คนเตรียมเครื่องปรุงอาหารไว้ให้พร้อมเพื่อทำลาบแดง ลาบขาว เนื้อหาบ เนื้อคอน ถวายเจ้าปู่ก่อนหลังจากนั้น ลูกหลานเจ้าปู่จึงบริโภคให้หมดให้สิ้นห้ามนำกลับบ้าน
       อย่างไรก็ดีพิธีกรรมดังกล่าวในปัจจุบันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา โดยเฒ่าจ้ำและผู้รับภาระหน้าที่จะจัดเครื่องเซ่นสังเวย อาหารคาว พานบายศรี ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ ตามธรรมเนียมเพื่อไหว้เจ้าปู่ ในตอนเช้ามีการแสดง เช่น หมอลำให้ประชาชนชมในช่วงกลางวัน ส่วนในภาคกลางคืนเป็นการชุมนุมพี่น้องลูกหลานชาวผู้ไทย กะป๋องวาริชภูมิ หน้าศาลเจ้าปู่ มีการแสดงฟ้อนรำผู้ไทยกะป๋อง ฟ้อนบายศรีขณะเดียวกันก็จะมีการผูกข้อต่อแขนให้ศีลขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่
ช่วงเวลาจัดงาน
        เมษายน ของทุกปี
แหล่งที่มา : วิกิพีเดีย

ประเพณีเลี้ยงผีมเหสักข์ชาวผู้ไทยวาริชภูมิ, ประเพณีเลี้ยงผีมเหสักข์ชาวผู้ไทยวาริชภูมิ หมายถึง, ประเพณีเลี้ยงผีมเหสักข์ชาวผู้ไทยวาริชภูมิ คือ, ประเพณีเลี้ยงผีมเหสักข์ชาวผู้ไทยวาริชภูมิ ความหมาย, ประเพณีเลี้ยงผีมเหสักข์ชาวผู้ไทยวาริชภูมิ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu