ความเป็นมาเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
ในคืนวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ พระอาจารย์ฝั้น ได้มรณภาพที่วัดป่าอุดมสมพร รวมอายุได้ ๗๘ ปี และหลังจากพระราชทานเพลิงศพท่านเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ที่วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นที่เรียบร้อยแล้วคณะศิษย์ทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสได้มีการประชุมปรึกษาจะสร้างสิ่งก่อสร้างเป็นเครื่องระลึกถึงพระอาจารย์ฝั้น ผู้เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ โดยสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ตรงบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของท่าน
ความเป็นมาในการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโรได้มีพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ภายหลังจากการสรงน้ำศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรว่าในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์ ขอให้ทุกคนได้สามัคคีกัน อย่าให้เกิดความแตกแยกและขอให้ยึดมั่นในคำสอนของท่านไว้ให้มั่นคง ขอให้เก็บอัฐิของท่านพระอาจารย์ไว้แห่งเดียวกัน เครื่องอัฐบริขารของท่านอาจารย์ ถ้าสามารถเก็บรวมรักษาไว้เป็นที่เดียวกันก็จะดี
หลักการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
หลักการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์มี ๔ ประการ
๑. ให้พยายามใช้วัสดุที่ประหยัด แต่ต้องมีความทนทาน และต้องการดูแลบำรุงรักษาให้น้อยที่สุด เพื่อมิให้เป็นภาระแก่วัด
๒. ลักษณะและรูปแบบควรเน้นหลักในทางที่ให้เกิดความรู้สึกในความเป็นกรรมฐาน และเสริมสร้างศรัทธาปสาทะแก่ผู้ได้พบเห็นมากกว่าความงดงามในแง่ศิลปกรรม
๓. ให้มีการแสดงประวัติของพระอาจารย์ฝั้น รวมถึงพิพิธภัณฑ์แสดงอัฐิธาตุ และบริขารของท่านด้วย
๔. ให้มีอาณาบริเวณโดยรอบพอสมควร ที่จะได้สิ่งแวดล้อมและต้นไม้ตามนิสัยและปฏิปทาของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และให้จุดศูนย์กลางของเจดีย์พิพิธภัณฑ์อยู่ตรงจุดที่ได้มีการพระราชทานเพลิงศพของท่านพระอาจารย์
ที่มารูปแบบเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
ที่มาของรูปแบบเจดีย์พิพิธภัณฑ์ ต่อมาได้มีการประชุมของบรรดาศิษยานุศิษย์ ทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาสเพื่อดำเนินการก่อสร้างในลักษณะเจดีย์พิพิธภัณฑ์และได้เห็นสมควรนิมนต์ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี มาเป็นองค์ประธานในการดำเนินงานเรื่องนี้ทั้งหมด พระอาจารย์มหาบัวได้กำหนดองค์ประกอบของคณะดำเนินงานขึ้น โดยมีพระอาจารย์แปลง สุนทโร เจ้าอาวาสวัดป่าอุดมสมพรและผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร มาร่วมคณะดำเนินงานและคณะดำเนินงานนี้ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นอีกชุดหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ซึ่งมีจิตศรัทธาต่อพระอาจารย์ฝั้น ซึ่งประกอบด้วยคณะทำงานก่อสร้างพิพิธภัณฑ์บริขารพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นผู้ออกแบบเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
แหล่งที่มา : https://www.pongrang.com/web/data/a4/04/revival.snru.ac.th/temple/24.htm