ก่อนจะไปใช้น่าจะมาเรียนรู้ถึงข้อควรปฏิบัติและโทษของมันดูบ้าง อย่ามุ่งมั่นเพื่อความสวยงาม โดยลืมนึกถึงความปลอดภัย
เลนส์สัมผัสหรือที่เรียกกันติดปากว่า contact lens เป็นแผ่นพลาสติคใสๆ บางๆ ได้รับการหล่อหรือขัดเกลาให้เป็นแผ่นกลมรูปกะทะ โดยมีความโค้งใกล้เคียงกับความโค้งของตาดำของเรา ตัวเลนส์มีกำลังหักเหของแสงคล้ายๆ เลนส์ที่ใช้ในแว่นตาขนาดต่างๆ เพื่อแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ ได้แก่ ตาสั้น ตายาว และตาเอียง เมื่อนำเลนส์สัมผัสมาใช้ โดยปะวางที่ตาดำอาศัยน้ำตาที่ฉาบบางๆ อยู่ผิวตาดำเป็นตัวยึดให้เลนส์ติดกับตาดำ โดยที่เลนส์ขยับเคลื่อนที่ได้เล็กน้อยเมื่อเรากลอกตาไปมา
ปัจจุบันการใช้เลนส์สัมผัสมีจุดประสงค์ 3 ประการ
- เพื่อแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ ทดแทนแว่นสายตา กล่าวคือสามารถแก้ไข สายตาสั้น ตายาว ตาเอียง ตลอดจนสายตาผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องใช้แว่นตา เป็นจุดประสงค์หลักที่ใช้กันมากที่สุด
- ใช้รักษาโรคกระจกตาบางชนิด เป็นการใช้ชั่วคราวเมื่อโรคกระจกตานั้นหายก็เลิกใช้
- ใช้เพื่อความสวยงาม เพื่อเปลี่ยนสีดวงตา หรือเพื่อปิดฝ้าขาวบริเวณตาดำ ในปัจจุบันนำมาใช้ให้ ดวงตาดูโตขึ้นที่ฮือฮาเป็นข่าวอยู่นี้
contact lens สีแบ่งออกเป็น 4 ชนิด
- Visibility colored contact lens เป็นสีอ่อนๆ ออกสีฟ้าหรือเขียวอ่อน เป็นอันแรกๆ ของเลนส์สัมผัสสี จุดประสงค์ให้ผู้ใช้มองเห็นได้ง่ายแต่เดิมผู้ใช้เลนส์สัมผัสไร้สีเมื่อถอดออกจากดวงตาแทบจะมองไม่เห็น อาจจะตกหล่นหรือหาย หรือแม้เมื่อถอดออกจากตาใส่ในตลับอาจวางเลนส์ที่ขอบตลับเมื่อปิดตลับ ทำให้เลนส์ฉีกขาดได้ ถ้าทำเป็นสีจางๆ จะช่วยให้ผู้ใช้มองเห็นเลนส์ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเลนส์สีชนิดนี้สีจางมากจึงไม่เปลี่ยนสีตาของผู้ใช้
- Enhance colored contact lens เป็นเม็ดสีที่ย้อมเข้าไปในเนื้อ contact lens ที่เข้มกว่าและเม็ดสี หนาแน่นกว่า จุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนสีตาของผู้ใช้ โดยเม็ดสีจะอยู่ในเนื้อ contact lens รอบๆ เว้นตรงกลางให้แสงเข้าเพื่อให้มองเห็นได้ดี
- Opaque colored contact lens เป็นเม็ดสีที่เข้มขึ้นไปอีกอยู่ในเนื้อเลนส์ที่ลึกลงไป มีสีต่างๆ หลายสี ใช้ในการเปลี่ยนสีตา ถือเป็นเครื่องประดับบริเวณตา มักใช้ในนักแสดงที่แต่งตัวสีฉูดฉาดและต้องการให้ดวงตามีสีแปลกๆ ด้วย นอกจากนี้อาจย้อมเม็ดสีให้กินบริเวณรอบนอกของเลนส์ ทำให้เมื่อใช้เลนส์นี้ดูตาดำใหญ่ขึ้นอันเป็นที่มาของเลนส์ช่วยให้ตาโต
- Light filtering contact lens เป็นพัฒนาการของ contact lens สีชนิดล่าสุดมักใช้ในกีฬา เป็นการ ทำเลนส์เป็นสีเพื่อกรองแสงบางสีออกไป เพิ่มความชัดของวัสดุที่จะมอง เช่น เพื่อให้สีของลูกเทนนิสหรือลูกกอล์ฟเด่นชัดขึ้น ตัวอย่างนักกอล์ฟใช้สีอำพันเพื่อตัดสีครามของท้องฟ้าไกลๆ ทำให้เห็นลูกกอล์ฟชัดขึ้น
ผู้ที่ไม่เหมาะที่จะใช้ได้แก่
- ผู้ที่มีโรคผิวหนังบริเวณเปลือกตาแบบเรื้อรัง การที่เปลือกตาอักเสบทำให้ไม่สบายตา อีกทั้งมักมีสาร ที่ขับจากต่อมบริเวณเปลือกตาเปลี่ยนไป
- ผู้ที่ตาแห้ง
- มีกระจกตาผิดปกติ
- เป็นภูมิแพ้ เพราะผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ อาจจะเกิดการแพ้ต่อสารที่ทำเลนส์หรือแพ้น้ำยาที่ใช้กับเลนส์
- มีโรคเรื้อรังทางร่างกาย เช่น เบาหวานที่ควบคุมไม่ดี โรคของต่อมไทรอยด์ที่มีตาโปน เพราะผู้ป่วย ในกลุ่มนี้มักจะมีตาแห้งไม่ค่อยกระพริบตา
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต มีความกังวล ขี้ระแวง
- ผู้ป่วยที่มีโรคข้อมือ มีมือสั่นจากโรคทางสมอง เช่น โรค Parkinson ทำให้จับต้องเลนส์สัมผัสไม่ได้ดี
- หญิงตั้งครรภ์และสตรีวัยทอง
- ผู้ที่ใช้ยาประจำบางตัว เช่น ยารักษาโรคกระเพาะ ผู้รับประทานยาคุมกำเนิด ผู้ใช้ยากลุ่มคลาย เครียดประจำ ฯลฯ
ข้อเสีย CL สี อาทิเช่น
- ราคาแพงกว่า
- ด้วยเหตุที่มีเม็ดสีเข้าไปอยู่ในเนื้อ CL บริเวณที่เป็นสี ออกซิเจนจะไม่ซึมผ่านเข้าไปเลี้ยงกระจกตา อีกทั้งเม็ดสีเป็นสิ่งแปลกปลอม อาจทำให้เกิดโทษจากการแพ้เม็ดสีในคนบางคนได้
- ด้วยเหตุที่มีเม็ดสีปนอยู่ในเนื้อเลนส์ ผิวอาจไม่เรียบเป็นเนื้อเดียวกัน เชื่อว่าอาจมีเมือก โปรตีนที่มีอยู่ ในน้ำตาเข้าไปฝังตัวทำให้เลนส์เสียเร็วขึ้น และเลนส์สีจะมีความหนากว่าเลนส์ปกติ ทำให้ออกซิเจนซึมผ่านจากอากาศ น้ำตาไปเลี้ยงกระจกตาน้อยลง
- โดยเฉพาะรายที่เป็นสีเข้มๆ เพราะต้องการเปลี่ยนสีตาทำให้การดูแลรักษายากกว่าเลนส์ทั่วไป กล่าว คือหากมีสิ่งสกปรก ปนเปื้อน เช่น มีกลุ่มเมือกปนเชื้อโรคติดอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ง่ายในเลนส์ธรรมดา ทำให้ผู้ใช้สามารถเช็ดถูออก หรือถ้าไม่ออกก็เลิกใช้คู่นั้น เพื่อความปลอดภัย หากเป็น CL สี มองไม่เห็นใช้ต่อไปทำให้เกิดตาอักเสบในเวลาต่อมาได้
- ในกระบวนการทำ CL สี ต้องเว้นบริเวณตรงกลางที่ตรงกับรูม่านตา เพื่อให้ผู้ใช้แลเห็นวัตถุ การเว้น ขนาดตรงกลางอาจจะใหญ่ไปหรือเล็กไป สำหรับบางคนเนื่องจากเวลากระพริบตาหรือกลอกตาไปมามีการขยับ ของ CL อาจทำให้บริเวณที่เป็นสีมาบังตา ทำให้มัวลงได้ เนื่องจากการเว้นขนาดบริเวณตรงกลางทำเป็นขนาดแน่นอนทั้งหมด แต่ขนาดรูม่านตาและการขยับของ CL เวลากระพริบตาไม่เท่ากันทุกคน
เมื่อได้เลนส์มาแล้วควรปฏิบัติตนดังนี้
- ไม่ว่าจะเป็นเลนส์ชนิดใด ล้วนต้องนำมาแปะไว้หน้าตาดำ ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่อาจก่อให้เกิด ปฏิกิริยาหรือการอักเสบได้ ความสะอาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเลนส์สกปรกมีเชื้อโรคก็เท่ากับนำเชื้อโรคไปใส่ในตา ซึ่งในบางครั้งอาจไม่เกิดโทษร้ายแรง แต่สักวันหนึ่งถ้ากระจกตามีรอยถลอก เชื้อโรคก็จะเข้าไปในเนื้อกระจกตาทำให้กระจกตาอักเสบและเกิดโรคร้ายแรงตามมา
- ใช้เลนส์ให้ถูกประเภท เลนส์ที่มีอายุ 2 สัปดาห์ก็ควรใช้แค่ 2 สัปดาห์ไม่ควรใช้เกินกว่านั้น แม้เลนส์ที่ ระบุว่าใส่นอนได้ก็ไม่ควรใส่นอน
- แม้เลนส์รุ่นใหม่ๆ จะออกแบบให้ออกซิเจนซึมผ่านได้ดีตามที่มีโฆษณากันอยู่ ตาที่ใส่เลนส์สัมผัสอยู่ จะได้รับออกซิเจนน้อยลงเสมอ ถ้าใส่เลนส์ไม่นานเกินไปก็จะเป็นการขาดออกซิเจนของตาดำที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากนัก จึงควรมีเวลาให้ตาได้พักหรือปลอดการใส่เลนส์ ขอแนะนำว่าแม้ท่านจะเลือกแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลนส์สัมผัส ท่านก็ควรจะมีแว่นเป็นอะไหล่ไว้ใช้เวลาพักตาจากเลนส์สัมผัส
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบเลนส์อย่างเคร่งครัด
- การทำความสะอาดเลนส์ ต้องทำอย่างเคร่งครัดประกอบด้วยการทำความสะอาด ล้างฆ่าเชื้อและ การเก็บ (cleaning, rinsing, disinfecting and storage) หลีกเลี่ยงการใช้น้ำเกลือซึ่งเทถ่ายจากขวดใหญ่ โดยคิดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากกระบวนการถ่ายเทน้ำเกลือ อาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนได้ น้ำยาที่แช่เลนส์ต้องเททิ้งทุกครั้ง
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บตา ตาแดง ตาพร่ามัว ควรจะถอดเลนส์ออกและปรึกษาจักษุแพทย์
- พึงระลึกว่าการใช้เลนส์สัมผัสใช่ว่าจะปลอดภัย 100 % ขณะใส่เลนส์สัมผัสตาดำจะอยู่ในภาวะขาด ออกซิเจนบ้าง อาจมีโรคแทรกซ้อนหากใช้ไปนานๆ ผู้ใช้จึงควรรับการตรวจจากจักษุแพทย์เป็นระยะแม้ไม่มีอาการผิดปกติ
- ขอเตือนว่ามีผู้ใช้เลนส์สัมผัสไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดผลเสียหลายอย่าง เช่น เจ็บตา ตาแดง กระจก ตาเป็นแผล ซึ่งนอกจากทรมานจากการเจ็บปวด เสียเงิน เสียเวลาในการรักษา บางรายเป็นรุนแรงถึงขั้นสูญเสียสายตาเล็กน้อยไปจนถึงมากอย่างถาวร