ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

หออัครศิลปิน, หออัครศิลปิน หมายถึง, หออัครศิลปิน คือ, หออัครศิลปิน ความหมาย, หออัครศิลปิน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 1
หออัครศิลปิน

ความเป็นมา
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล ทรงได้รับการยกย่องสดุดีพระเกียรติคุณ เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรและศิลปินทั้วโลก ในพระปรีชาสามารถอย่างหาที่เปรียบมิได้ ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งแปลว่า "ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ" หรือ "ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน" นอกจากนี้ ทรงมีคุณูปการอุปถัมภ์ศิลปินทั้งหลายมาโดยตลอด 
       เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างหออัครศิลปินเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อเป็นที่แสดงผลงานอันทรงคุณค่าของพระองค์และเพื่อสนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ว่า "ผลงานของศิลปินแห่งชาติเป็นมรดกศิลปะอันล้ำค่าของชาติ เป็นเครื่องหมายแสดงอารยธรรมอันสูงส่งของชาติไทยควรค่าแก่การภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ผลงานของท่านเหล่านี้นับวันจะสูญหายไปด้วยสาเหตุต่างๆ จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องศึกษาผลงานของทุกท่านเหล่านี้ แล้วจัดทำเนียบขึ้นบัญชีอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการศึกษาและรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติโดยส่วนรวมต่อไป" 
       สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงได้นำเสนอโครงการหออัครศิลปินต่อคณะกรรมการเตรียมการเฉลิมพระเกียรติฯ ของกระทรวงศึกษาธิการ และจัดตั้งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กลุ่มที่ ๑โครงการที่ ๑ โดยใช้ที่ราชพัสดุในความดูแลของกรมศิลปากร บนพื้นที่ ๕ ไร่ ตั้งอยู่ ณ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
วัตถุประสงค์
  • เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาส ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและแสดงผลงานอันทรงคุณค่าด้านศิลปะและวัฒนธรรม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่ทรงเป็น "อัครศิลปิน"
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บ จัดแสดงและสงวนรักษาผลงานที่มีคุณค่า ของศิลปินแห่งชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต
  • เพื่อเป็นสถานที่สำหรับให้ ศิลปินแห่งชาติ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถ่ายทอดต่อยอด ความรู้ให้แก่เยาวชน ศิลปิน ผู้มีความสามารถในด้านศิลปะ
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย แลกเปลี่ยน ให้บริการข้อมูล ทางศิลปวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริม และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งภายใน และต่างประเทศ ในการจัดกิจกรรม และการแลกเปลี่ยนผลงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม
รูปทรงทางสถาปัตยกรรม
       หออัครศิลปินเป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบไทยร่วมสมัย ที่ประยุกต์จากสถาปัตยกรรมไทยประเพณี เพื่อความเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยในการจัดแสดง และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น รูปทรงของอาคารประกอบด้วยอาคารหลัก ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ และผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ของอัครศิลปินรายล้อมด้วยอาคารรูปตัว U ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด "อัครศิลปินรายล้อมด้วยศิลปินแห่งชาติ ซึ่งพระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์"


นิทรรศการถาวร


ห้องอัครศิลปิน ชั้น 2 
         ทางเข้าด้านหน้าของห้องอัครศิลปิน ซ้าย-ขวา นำเสนอข้อมูล นำชมด้วยสื่อคอมพิวเตอร์ระบบสัมผัสให้รายละเอียดเนื้อหาการจัดแสดงตรงกลางห้องของอาคาร ซึ่งเป็นจุดสำคัญของหออัครศิลปิน เป็นที่ประดิษฐานบุษบกไม้ประดับกระจกปิดทอง ภายในบุษบกประดิษฐานพระราชสัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙ จำลอง บนพานแว่นฟ้า ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "อัครศิลปิน" ฐานโดยรอบบุษบก มีสื่อวีดิทัศน์แสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจจำนวน ๙ ตอน เมื่อผู้เข้าชมนั่งคุกเข่าเครื่องจำทำงานโดยอัตโนมัติ ฉากหลังเป็นจิตรกรรมฝาผนัง "ไตรภูมิ" ซ้าย-ขวา มีกระจกแกะลายเทพชุมนุมสื่อความหมายว่า เหล่าเทวดาล้วนสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เปรียบประดุจ "สมมุติเทพ" บริเวณโดยรอบจัดแสดงพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมทั้ง ๙ ด้าน อันได้แก่ - ด้านภูมิสถาปัตยกรรม จัดแสดงบริเวณด้านซ้ายของห้อง นำเสนอด้วยสื่อวีดิทัศน์ และภาพพระราชกรณียกิจหลากหลายโครงการ - ด้านหัตถกรรม นำเสนอพระปรีชาสามารถในการสร้างเรือใบ "ซูเปอร์มด" ด้วยภาพถ่ายดูราแทน แบบจำลองเรือใบซูเปอร์มด และเครื่องมือที่ทรงใช้ในการต่อเรือประกอบเสียงบรรยาย - ด้านวรรณศิลป์และวาทศิลป์ นำเสนอพระปรีชาสามารถด้านการทรงใช้ภาษาในงานวรรณกรรมของพระองค์ จัดแสดงผลงานพระราชนิพนธ์ติโต นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ พระมหาชนก และทองแดง โดยผ่านสื่อวีดิทัศน์ ภาพพลิก ๓ มิติ ประกอบเสียง - ด้านจิตรกรรม ประติมากรรมและการถ่ายภาพ จัดแสดงผลงานฝีพระหัตถ์ - ทั้งนี้ ยังจัดแสดงโล่อัครศิลปินจำลอง พระราชดำรัส และพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน"
ห้องอัครศิลปิน ชั้น 3
       จัดแสดงพระอัจฉริยภาพด้านคีตศิลป์และการพระราชนิพนธ์เพลงโดยเฉพาะ เน้นการนำเสนอด้วยระบบเสียงและภาพที่สมบูรณ์แบบ ภายในตู้จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงดนตรีขนาดใหญ่กลางห้องฉายภาพ พระบรมฉายาลักษณ์ในพระอิริยาบทต่างๆ บนเพดานโค้ง
ห้องศิลปินแห่งชาติ สาขา วรรณศิลป์ ชั้น 1 
       ทางเข้าด้านหน้า นำเสนอสื่อวีดิทัศน์แนวคิดมุมมองและทัศนคติงานวรรณกรรม โดยนักวิชาการผู้เกี่ยวข้องและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ - ด้านซ้ายมือจัดแสดงรายชื่อศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พร้อมรูปถ่ายและลายเซ็นของศิลปินแห่งชาติ คอมพิวเตอร์นำชม ข้อความประวัติชีวิต การทำงาน และผลงานอันเป็นที่มาของการได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ พร้อมคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียให้ข้อมูล ประวัติ และผลงานโดยละเอียด พร้อมภาพและเสียงประกอบคำบรรยาย - ตู้จัดแสดงต้นร่างผลงานวรรณกรรมและอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ในการสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติ - ห้องสมุดวรรณศิลป์ รวบรวมผลงานทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองของศิลปินแห่งชาติ พร้อมคอมพิวเตอร์สืบค้นข้อมูล - ห้องบรรยายและถ่ายทอดภูมิปัญญาของศิลปิน จัดเตรียมไว้ให้ศิลปินแห่งชาติถ่ายทอดความรู้สู่นักเขียนรุ่นหลัง - ตู้ถ่ายสติ๊กเกอร์ สำหรับถ่ายภาพผู้เข้าชมกับทัศนียภาพของหออัครศิลปิน และศิลปินแห่งชาติที่ชื่นชอบไว้เป็นที่ระลึก - ห้องพักและสัมมนาของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ - มุมนิทรรศการหมุนเวียน ใช้จัดแสดงนิทรรศการย่อยงานวรรณกรรม และความเคลื่อนไหวในแวดวงวรรณกรรม
ห้องศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์และศิลปะสถาปัตยกรรม ชั้น 2  
       บริเวณด้านหน้า จัดแสดงรายชื่อศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์และศิลปะสถาปัตยกรรม ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๘ จนถึงปัจจุบัน พร้อมภาพถ่ายและลายเซ็นของศิลปินแห่งชาติ ด้านซ้ายจัดเตรียมวีดิทัศน์เสนอมุมมองและแนวคิดของศิลปินทั้ง ๒ สาขา - ด้านประติมากรรม จัดแสดงผลงานประติมากรรมต้นแบบ และผลงานชิ้นเยี่ยมของศิลปินแห่งชาติ - ด้านถ่ายภาพ จัดแสดงประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ ด้านการถ่ายภาพพร้อมตัวอย่างผลงาน นำเสนอด้วยห้องคิวบิคภาพดูราแทนผลงานของศิลปิน - ด้านจิตรกรรม ภาพพิมพ์และสื่อผสม จัดแสดงผลงานชิ้นเอกของศิลปินแห่งชาติ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจัดแสดงจำนวนมาก - ด้านหัตถศิลป์ จัดแสดงผลงานหัตถกรรมด้านต่างๆ เช่น การทอผ้า เครื่องถม งานปั้น งานแกะสลัก และแบบร่างต่างๆ - ด้านสถาปัตยกรรม จัดแสดงแบบร่างงานสถาปัตยกรรม และหุ่นจำลอง ๓ มิติ ผลงานศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรมทั้งแบบไทยประเพณีและร่วมสมัย หากต้องการค้นคว้าข้อมูลประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติทั้ง ๒ สาขา สามารถค้นคว้าได้จากคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย ที่รวบรวมข้อมูลไว้โดยละเอียด
ห้องศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ชั้น 2 
       ห้องศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ใช้จัดแสดงประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทุกภูมิภาค บริเวณทางเข้าด้านหน้า จัดแสดงรายชื่อศิลปินแห่งชาติพร้อมรูปถ่ายและลายเซ็นของศิลปินแห่งชาติ - ด้านซ้ายมือจัดแสดงข้อความประวัติผลงานของศิลปินแห่งชาติ และภาพจิตรกรรมฝาผนังการแสดงพื้นบ้านภาคกลางและภาคอีสาน ตู้ไดโอราม่าการแสดง ๔ ภาค ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ประกอบเพลงพื้นบ้าน - ด้านขวามือ จัดแสดงข้อความประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ด้านการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ (พร้อมจอหนังตะลุงจำลอง) - ส่วนกลางของห้อง จัดแสดงศิลปะการแสดงด้านนาฎศิลป์ เช่น โขน หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก ลิเก โนราห์ ดุริยางคศิลป์และตู้ดูราแทน ประวัติของศิลปินแห่งชาติ - เวทีการแสดงและถ่ายทอดภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติประกอบไฟแสงสีพร้อมที่จะแสดงได้จริง และห้องแต่งตัวนักแสดง - จอภาพยนตร์ขนาดใหญ่บนเวทีใช้ฉายภาพยนตร์ ประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ - ห้องฉายภาพยนตร์จำลอง ขนาด ๒๐ ที่นั่ง ใช้ฉายภาพยนตร์ที่เป็นผลงานของศิลปินแห่งชาติ ด้านกำกับการแสดง ดารานักแสดง และสร้างภาพยนตร์ - ชั้นบนจัดแสดงประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงด้านเพลง เช่น นักร้อง นักแต่งเพลง หรือนักดนตรี พร้อมห้องคาราโอเกะ ให้ผู้เข้าชมฝึกร้องเพลงผลงานสร้างสรรค์ของเหล่าศิลปินแห่งชาติ
แหล่งที่มา : https://www.culture.go.th/wwwsupreme/21.htm

หออัครศิลปิน, หออัครศิลปิน หมายถึง, หออัครศิลปิน คือ, หออัครศิลปิน ความหมาย, หออัครศิลปิน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu