ช่วงนี้โรงเรียนต่างๆเริ่มทยอยปิดภาคเรียนแล้ว เด็กส่วนใหญ่จึงมักพักผ่อนและทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ที่บ้าน ซึ่งแม้ว่าบ้านจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดก็ตาม แต่จากการศึกษาการเกิดอุบัติเหตุในเด็ก กลับพบว่า บ้านเป็นสถานที่ที่มักเกิดอุบัติเหตุกับเด็กที่อยู่ในวัยซุกซน เนื่องจากเด็กไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นอันตรายกับตนเองได้
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จึงขอแนะนำวิธีการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กภายในบ้าน ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ดังนี้
บริเวณภายในบ้าน ประตูหน้าต่าง ควรติดตั้งเหล็กกั้นหรือที่ยึดประตู เพื่อป้องกันประตูหนีบ รวมทั้งที่ครอบลูกบิด เพื่อป้องกันเด็กกดลูกบิดเล่น ทำให้ประตูปิดล็อกจนไม่สามารถออกมาได้ ระเบียงบ้าน ควรติดตั้งที่กั้นแบบปิดทึบและหนาแน่น ระยะห่างระหว่างลูกกรงไม่ควรถี่เกินไปเพราะอาจทำให้ศีรษะ แขน ขาของเด็กเข้าไปติดและต้องไม่เว้นช่องห่างเกินไป อาจทำให้เด็กอาจพลัดตกลงไปได้ บันได ควรติดตั้งที่กั้นบริเวณราวบันได โดยช่องห่างระหว่างราวบันไดไม่ควรห่างเกินไป เพื่อป้องกันเด็กพลัดตก อีกทั้งไม่ควรวางของตามขั้นบันได เพราะเด็กอาจเหยียบจนลื่นล้มตกบันได
ปลั๊กไฟ ควรหาที่ครอบปลั๊กไฟและติดตั้งปลั๊กไฟบนที่สูงหรือในระดับที่เด็กเอื้อมไม่ ถึง เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วหรือวัตถุอื่นแหย่เล่น ทำให้ถูกไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช๊อต พัดลม ควรเลือกใช้พัดลมที่มีขาตั้งสูงและมีฝาครอบป้องกันที่ปิดล็อกอย่างแน่นหนา เพื่อไม่ให้เด็ก เอามือไปจับใบพัด ทำให้โดนใบพัดบาด และเมื่อใช้งานเสร็จแล้วควรถอดปลั๊กออกทุกครั้งเพื่อป้องกันเด็กเปิดพัดลม เล่นและเอานิ้วแหย่เข้าไปในพัดลมที่ใบพัดกำลังหมุนอยู่
ห้องครัว อุปกรณ์เครื่องครัว ควรจัดเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเฉพาะของมีคมที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ เช่น มีด ส้อม ควรเก็บในที่มิดชิด กระติกน้ำร้อนและกาต้มน้ำ ควรวางบนโต๊ะหรือบนชั้นเหล็กที่มีสภาพมั่นคง แข็งแรง และเด็กไม่สามารถเอื้อมถึงได้ รวมถึงไม่ควรวางบนโต๊ะที่มีผ้าคลุมโต๊ะที่ปล่อยชายยาวออกมา เพราะเด็กอาจดึงชายผ้าทำให้น้ำร้อนหกลวกตัวเด็ก
ห้องน้ำ พื้นห้องน้ำ ควรใช้กระเบื้องที่มีผิวขรุขระหรือมีลักษณะด้าน ไม่ควรใช้กระเบื้องที่มีลักษณะมันวาว เพราะหากเปียกน้ำจะยิ่งลื่น ทำให้หกล้มได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งควรปูพรมยางหรือพรมเช็ดเท้าบริเวณหน้าห้องน้ำ เพื่อป้องกันเด็กลื่นล้ม หลังจากใช้ห้องน้ำเสร็จแล้ว ควรปิดประตูทุกครั้ง ไม่ปล่อยให้เด็กเข้าห้องน้ำตามลำพังเพราะอาจลื่นล้มหรือจมน้ำเสียชีวิตจาก การลงไปเล่นในถังหรืออ่างน้ำ ควรปิดภาชนะกักเก็บน้ำอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันเด็กหัวทิ่มลงน้ำและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ปลอดภัยได้
จุดเสี่ยงอันตรายอื่นๆ ภายในบ้าน เช่น จุดวางสารเคมี ได้แก่ น้ำยาทำความสะอาดพื้น น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ ผงซักฟอก ยาฆ่าแมลง และสารเคมีต่างๆ หลังใช้งานเสร็จแล้วต้องปิดฝาให้เรียบร้อย แน่นหนา จุดวางเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตะปู ค้อน หรือวัตถุที่มีลักษณะแหลมคม ควรเก็บในที่มิดชิด นอกจากนี้ ควรเก็บยารักษาโรคไว้บนที่สูงหรือในที่ที่เด็กไม่สามารถหยิบได้ เช่น ตู้วางของ หรือตู้ยาสามัญประจำบ้าน เพราะเด็กอาจนำไปรับประทานจนเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
บริเวณนอกบ้าน บ่อน้ำหรือสระน้ำ ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นบริเวณดังกล่าวโดยลำพัง เพราะเสี่ยงต่อการตกน้ำ ลานจอดรถ เป็นสถานที่มีความเสี่ยงมากสำหรับเด็ก เนื่องจากเป็นลานกว้างที่เด็กมักใช้เป็นสถานที่เล่น ควรสอนมิให้เด็กเล่นบริเวณดังกล่าว และรู้อันตรายของรถ หากมีรถเข้า-ออกจากบ้าน ควรให้เด็กอยู่ห่างจากรถมากที่สุด รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการถอยรถเข้า-ออกจากบ้าน ถนนหน้าบ้าน เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเพราะมักมีรถยนต์หรือรถ จักรยานยนต์วิ่งผ่าน จึงไม่ควรให้เด็กเล่นบริเวณดังกล่าว เพราะอาจถูกรถเฉี่ยวชนได้รับบาดเจ็บได้
แม้ว่าบ้านจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด แต่หากขาดความเอาใจใส่ดูแลสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบบ้าน รวมถึงการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษแล้ว บ้านก็อาจเป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดอันตรายสำหรับเด็กได้ ดังนั้น การดูแลสภาพแวดล้อมในบ้านและบริเวณรอบบ้านให้ปลอดภัย โดยจัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย และระมัดระวังภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายกับเด็ก และทำให้ช่วงปิดภาคเรียนเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและสนุกสนานของเด็ก
ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
https://www.thaihealth.or.th/node/8354