ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ค่างแว่น, ค่างแว่น หมายถึง, ค่างแว่น คือ, ค่างแว่น ความหมาย, ค่างแว่น คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ค่างแว่น

          สัตว์จำพวกค่าง (สกุล Semnopithecus และ Presbytis) ของประเทศไทย ทั้ง 4 ชนิดนั้น สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่มย่อย ๆ โดยใช้ลักษณะของวงรอบตาเป็นตัวจำแนก กลุ่มแรกคือ กลุ่มค่างที่มีวงกลมสีขาวรอบตาทั้งสองข้างมองเหมือนไส่แว่นตา จึงมีชื่อเรียกว่า ค่างแว่น มีอยู่ 2 ชนิดคือ ค่างแว่นถิ่นเหนือ และค่างแว่นถิ่นใต้ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มค่างที่ไม่มีวงล้อมรอบตา มี 2 ชนิดคือ ค่างหงอกและค่างดำ โดยมีรายละเอียดของค่างแต่ละกลุ่มดังนี้

กลุ่มค่างที่มีวงรอบตาสีขาว

          ค่างแว่นถิ่นเหนือ (Phayre's langur) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า semnopithecus phayrei มีการกระจายในอเชียอาคเนย์ ตั้งแต่เส้นละติจูดที่ 14 องศาเหนือขึ้นไป หรือตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรีขึ้นไป จนถึงทางตอนใต้ของประเทศจีน นอกจากนี้ยังพบในประเทศพม่า ทางตอนเหนือของลาว และบางส่วนของเวีดนาม ส่วนในประเทศไทยพบได้ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น

          ค่างแว่นถิ่นเหนือ มีขนาดของลำตัวยาว 52-62 เซนติเมตร หางยาว 58-68 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 6-9 กิโลกรัม มีลักษณะทั่วไปคือ ค่างที่โตเต็มวัยมีขนปกคลุมลำตัวสีเทา ขนบริเวณด้านข้างใบหน้ามีสีเทาเข้ม ขนกระหม่อมมีสีเทาจาง ปลายมือและปลายเท้าสีดำ ลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกค่างชนิดนี้คือ เป็นค่างแว่นที่มีสีขนหางเป็นสีเดียวกันกับสีขนบริเวณด้านหลังลำตัว

          ค่างแว่นถิ่นเหนือ อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่ละฝูงมีจำนวน 6-30 ตัว ชอบอาศัยอยู่บนเรือนยอดไม้สูง ๆ แต่บางครั้งพบว่าลงมากินดินโป่งหรือกินน้ำจากห้วยแต่ถ้าได้ยินเสียงผิดปกติหรือพบคนค่างจ่าฝูงจะรีบกระโดดขึ้นไปนังรอสมาชิกในฝูงบนยอดไม้ และค่างตัวอื่น ๆ จะรีบตามมาในเส้นทางเดียวกัน ค่างแว่นถิ่นเหนือจะผสมพันธุ์กันตลอดทั้งปี ตัวผู้ที่โตเต็มวัยสามารถผสมพันธุ์กับค่างตัวเมียได้หลาย ๆ ตัว ตัวเมียมีระยะตั้งท้องนาน 140-150 วัน ให้ลูกครั้งละ 1 ตัว และจะดูแลลูกค่างจนกว่าจะถึงช่วงการให้ลูกใหม่

          ค่างแว่นถิ่นใต้ (spectacled langur) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Semnopithecus obscurusมีการกระจายตั้งแต่เส้นละติจูดที่ 14 องศาเหนือ (จังหวัดกาญจนบุรี) ลงมาทางทิศใต้ จนถึงประเทศมาเลเซีย ในประเทศพม่าพบบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีลงไปทางใต้ นอกจากนี้ยังพบตามเกาะต่างๆ ในประเทศมาเลเซีย เช่น เกาะลังกาวี เกาะปีนัง ส่วนในประเทศไทยพบได้ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

          ค่างแว่นถิ่นใต้ มีขนาดของลำตัวยาว 45-57 เซนติเมตร หางยาว 66-78 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 6-9 กิโลกรัม มีลักษณะทั่วไปคือ ค่างโตเต็มวัยมีขนบริเวณด้านหลังสีเทาเข้มเกือบดำ ขนบริเวณด้านข้างใบหน้าบริเวณปลายมือและปลายเท้ามีสีเทาเข้ม โคนขาและโคนแขนด้านนอกเป็นสีเทาจาง ลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกค่างชนิดนี้ คือสีขนหางสีดำ แตกต่างกับสีขนบริเวณด้านหลังที่เป็นสีเทาเข้ม

          ค่างแว่นถิ่นใต้ ชอบอาศัยอยู่ตามป่าเขาหินปูนที่มีโขดหินสูงชัน นอกจากนี้ยังอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบหรือสวนยางพารา มักจะทำความเสียหายแก่บ้านและสวนยางพารา แต่ละฝูงมีจำนวน 4-17 ตัว บางครั้งพบว่ามีตัวโตเต็มวัยหากินตามลำพัง ฝูงค่างเมื่อพบคน ค่างจ่าฝูงจะส่งเสียงร้องเตือนให้ค่างตัวอื่น ๆ รู้และหลบหนีไปก่อนแล้วค่างจ่าฝูงจะตามไปเป็นตัวสุดท้าย ค่างแว่นถิ่นใต้ผสมพันธุ์กันตลอดทั้งปี เช่นเดียวกับค่างแว่นถิ่นเหนือ ระยะตั้งท้องและการให้ลูกเช่นเดียวกับค่างแว่นถิ่นเหนือ

กลุ่มค่างที่ไม่มีวงล้อมรอบตา ค่างหงอกและค่างดำ 

          ค่างหงอก (silvered langur) เคยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Presbytis cristata ปัจจุบันเปลี่ยเป็น Semnopithecus cristaturs มีการกระจายอยู่ในประเทศกัมพูชา ทางตอนใต้ของเวีดนามในประเทศพม่าพบตั้งแต่บริเวณเทือกเขาตะนาวศรีลงไปทางใต้ ทางตะวันตกของมาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว เกาะชวา และหมู่เกาะใกล้เคียง ส่วนในประเทศไทยพบกระจรยอยู่ทางภาคตะวันตก ภาคตะวันออกและตอนใต้ของประเทศ

          ค่างหงอก มีขนาดของลำตัวยาว 49-57 เซนติเมตรหางยาว 72-84 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 6-8 กิโลกรัม มีลักษณะทั่วไป คือ ค่างที่โตเต็มวัยมีขนปกคลุมร่างกายสีเทาจางทั้งตัวคล้ายกับถ่างแว่นถิ่นเหนือ แต่ไม่มีวงรอบตาสีขาว ขนบริเวณรอบ ๆ ใบหน้าปลายมือและปลสายเท้ามีมีดำ ลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกค่างชนิดนี้ คือ ขนบนกระหม่อมยาว และมีสีขาว

          ค่างหงอก อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงค่อนข้างใหญ่มีจำนวน 10-40 ตัว แต่บางคครั้งก็พบว่ามีหากินตามลำพังเพียงตัวเดียว ฝูงค่างหากินรวมกันบนยอดไม้ในป่าดงดิบที่มีสภาพสมบูรณื อาหารของค่างขนิดนี้เป็นพวกใบไม้ ยอดไม้หรือพวกแมลง ปกติแล้วค่างตัวเมียในฝูงจะให้ลูกครั้งละ 1 ตัว ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม ค่างตัวเมียที่มีลูกอ่อนจะได้รับความสนใจจากค่างตัวเมียอื่น ๆ มากและยอมให้ค่างตัวเมียตัวอื่นอุ้มลูกของตัวเองได้ แต่ไม่ยอมให้ค่างตัวผู้อุ้มอย่างเด็ดขาด

          ค่างดำ (banded langur) เดิมเคยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Presbytis melalophos ปัจจุบันพบว่าเป็น Presbytis femoralis มีการกระจายอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่าลงไปทางตอนใต้จนถึงประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพบในเกาะสุมาตรา เกาะบอรืเนียวและหมู่เกาะเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนในประเทศไทยพบตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงตอนใต้สุดของประเทศ

          ค่างดำ มีขนาดลำตัวยาว 47-58 เซนติเมตร หางยาว 72-84 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 5-7 กิโลกรัม ลักษณะทั่วไปคือ ค่างโตเต็มวัยมีบนปกคลุมลำตัวสีเทาเข้ม ตั้งแต่หัวจนถึงหาง ยกเว้นบริเวณโคนขาด้านในทั้งสองข้าง และบริเวณด้านท้อง ลักษณะที่สำคัญที่ใช้จำแนกค่างชนิดนี้ คือเป็นค่างชนิดเดียวในประเทศที่ไม่มีขนสีขาวบนหัวและมีหางดำ

          ค่างดำ อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงมีสมาชิกในฝูงจำนวน 10-20 ตัวภายในฝูงมักจะหากินหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในรอบวันอยู่ด้วยกันเสมอไม่เหมือนกับค่างชนิดอื่น ที่จะมีการแยกออกเป็นฝูงย่อยขณะหาอาหาร แต่ความสัมพันธ์ภายในฝูงของสมาชิกมีน้อยกว่าค่างชนิดอื่น ๆ ส่วนมากเกิดขึ้นระหว่างค่างตัวเมีย กับค่างขนาดเล็ก (juveniles) ค่างดำสามารถหาอาหารได้ตั้งแต่ระดับพื้นดินจนถึงระดับสูงสุดของต้นไม้ และมีความสามารถปรับตัวให้เข้ากับป่ารุ่นสอง (secondary forests) ได้ 
 
ที่มา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
เรียบเรียงโดย สุรชิต แวงโสธรณ์
ภาพประกอบจาก องค์การสวนสัตว์, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, MCOT

ค่างแว่น, ค่างแว่น หมายถึง, ค่างแว่น คือ, ค่างแว่น ความหมาย, ค่างแว่น คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu