ไม่ว่าเราจะได้เตรียมตัวแล้วหรือไม่ เตรียมเก็บเงินมายาวนานแค่ไหนแล้วก็ตาม แต่เมื่อใกล้ถึงวันที่เราจะแต่งตัวมาเพื่อมาทำงานวันสุดท้ายแล้ว ก็เริ่มจะวิตก หรือคิดไปต่าง ๆ นานา ว่า ที่ผ่านมาแล้วนั้น เราได้เตรียมมาพร้อมแล้วจริงหรือ และถ้าเราไม่อยากวิตกอย่างนั้นในวันที่เราจะหยุดชีวิตการทำงานของเรา เราควรต้องคิดวางแผนและลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้เมื่อวันนั้นมาถึงเราจะมีเวลาอีกเหลือเฟือเพื่อคิดว่าเราจะไปพักผ่อนกับลูกหลานได้เมื่อไหร่ เราจะท่องเที่ยวไปต่างเมืองที่ไหนได้บ้าง หรือเราจะเข้าคอร์สเพื่อรักษาสุขภาพที่ทำให้เราสบายเมื่อไหร่อย่างไร โดยไม่ต้องเอาเวลาช่วงที่จะสบายนั้นมานั่งวิตกจริตว่า วันนี้จะเอาเงินที่ไหนใช้ ซึ่งเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ขั้นตอนง่าย ๆ เพื่อลงมือทำมีดังนี้ ประการแรก ไม่ต้องกังวลว่าเราต้องการเงินเมื่อตอนเกษียณแล้วเป็นเงินจำนวนมากกว่า 3 ล้านบาท หรือ 1 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น ในขณะที่วันนี้เรามีเงินเดือนเพียง 10,000 บาทเท่านั้น เพราะถ้าเราคิดแบบนั้นในวันนี้ที่ไม่พอจะเลี้ยงดูตนเองให้อยู่อย่างดี เราจะหมดกำลังใจที่จะออมเอาง่าย ๆ เพราะฉะนั้น เราต้องมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน กับเรื่องจริงของชีวิตที่เกิดขึ้น และเริ่มปลูกฝังให้มีนิสัยและวินัยเรื่องการออม จากข้อมูลของต่างประเทศระบุไว้ว่า ปัจจุบันนี้ถ้าอยากมีชีวิตตอนเกษียณอย่างสบาย ควรมีเงินเก็บประมาณ 17 % ของรายได้ทุกเดือน แต่เราก็ไม่จำเป็นที่วันนี้ต้องออมสูงถึง 17% ของรายได้ ขอเพียงแต่เรารู้ตัวเลขไว้ว่าน่าจะออมได้ขนาดนั้นก็เพียงพอแล้ว และเริ่มเพียงนิดหน่อยเป็นประจำทุกเดือน เช่น 3% ของรายได้ทุกเดือนให้เป็นนิสัยให้ได้ และค่อยเพิ่มจำนวน % ให้สูงขึ้นในปีถัด ๆ ไปได้ ขอเพียงตระหนักได้ว่า เรามีหน้าที่ต้องออมเงินเพื่อตัวเราเองเป็นประจำและเข้มแข็งพอที่จะทำเพื่อตนเองอย่างเป็นระบบก็ใช้ได้แล้ว
ประการต่อมา ถ้าเราคิดว่าเราไม่สามารถจะหักเงินและเอาเก็บเข้าออมเองได้อย่างเป็นนิสัยแล้ว ต้องพิจารณาถึงการขอให้ฝ่ายการเงินหน่วยงานของเราหรือธนาคาร ทำหน้าที่หักบัญชีให้เราได้เลยทันทีที่เราได้รับเงินเดือน หรือมีรายได้เข้ามา โดยที่เงินยังไม่ทันถึงมือเรา ด้วยวิธีการนี้ทำให้เราไม่ทุกข์ทรมานนักเพราะเงินไม่ถึงมือเราก่อนที่จะเบิกออกไปออม หลายคนจะประสบปัญหาว่า ถ้าไม่มีการหักเงินไปเลยนั้น ก็จะใช้เงินที่ได้รับมาไปกับสิ่งที่จำเป็นในวันนี้โดยที่ทำใจให้คิดถึงชีวิตในวันหน้าได้ยาก
สิ่งต่อไปที่ควรทำคือ จัดเงินออมของเราเป็นแบบ 60: 40 นั่นคือ60 % ของเงินออมเอาไปลงทุนในเครื่องมือการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยมั่นคงสูง และอีก 40 % ของเงินออมเอาไปลงทุนในเครื่องมือการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อให้อัตราผลตอบแทนของเราชนะเงินเฟ้อเสมอนั่นเอง แต่อย่าลืมว่าตัวเราเองต้องรู้และเข้าใจอย่างดีถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วยก่อนการลงทุน
ประการสุดท้าย เราควรปรับสัดส่วนการลงทุนของเราเป็นประจำทุกช่วงเวลา หรือถ้าให้ดี ควรปรับแผนการลงทุนทุกปีได้ยิ่งดี เพราะสถานการณ์ทั้งภาวะเศรษฐกิจของโลก ของประเทศ และสภาวะของตัวเราเองย่อมเปลี่ยนแปลงไปเมื่อวัน เวลาเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นไม่ใช่ว่าวันนี้เราชอบเสี่ยงสูงเพราะวัยยังน้อย แต่เมื่อวันเปลี่ยนไปเราอายุสูงขึ้นก็ควรเสี่ยงน้อยลง ดังนั้น ควรปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับวัฏจักรชีวิตเราด้วยไม่ใช่ลงทุนแล้วปล่อยเลยตามเลยแบบนี้ไม่ถูกต้องนัก ลองคิดเริ่มต้นและลงมือในสิ่งที่เป็นไปได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้วันที่เรามีรายได้ถึงแม้จะไม่สูงนักก็จะไม่ทรมานกับการออม อีกทั้งวันหน้าก็สบายดีกว่า เพราะเมื่อใกล้วันเกษียณอายุสำหรับข้าราชการในสิ้นเดือนกันยายน หรือแม้แต่หน่วยงานเอกชนหลายแห่งที่เกษียณตอนครบวันเกิด หรือเกษียณตอนสิ้นปีก็ตาม ไม่อยากให้พบกับความรู้สึกว่า ไม่เคยคิดเลยว่าเมื่อถึงวันไม่มีเงินใช้และลูกหลานก็ไม่มาเลี้ยงดูแล้วจะทรมานเช่นนี้
โดย คุณวีระชาติ ชุตินันท์วโรดม
ที่มา TSI Investment Wiki
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.tsi-thailand.org/
https://www.set.or.th/