คนญี่ปุ่นเรียกค่าเงินสกุลของตนเองว่า เอน แต่คนทั่วโลกพอใจที่จะเรียกจนคุ้นปากว่า เยน วันนี้ค่าเงินเยนกำลังแข็งตัวขึ้นอย่างรุนแรงรอบใหม่ พร้อมกับคำถามที่ว่า หากไม่มีการแทรกแซงให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงแล้ว การไหลออกของทุน หรือการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่นๆ แบบที่เกิดขึ้นหลัง ค.ศ.1985 จะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ และใครจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์มากน้อยเพียงไร ล่าสุดค่าของเงินเยนอ่อนลงใกล้เคียงกับ 90 เยนต่อดอลลาร์ ถือเป็นระดับที่แข็งค่าเพิ่มขึ้นถึง 12 % ในรอบ 1 เดือน หรือแข็งค่าเพิ่มขึ้นถึง 31 % เมื่อเทียบกับเงินยูโร และประมาณ 10 % เมื่อเทียบกับเงินบาท ผลของการแข็งค่าของเงินเยน ทำให้บรรดาผู้ผลิตและผู้ส่งออกของญี่ปุ่นพากันเดือนร้อนกันถ้วนหน้า เพราะยอดขายและผลกำไรตกลงอย่างมาก ในขณะที่ผู้นำเข้าสินค้า พากันยิ้มกันแก้มปริ เพราะกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนสามารถลดราคาสินค้าขายปลีกนำเข้าถูกลงได้อย่างสบายๆ แถมมีกำไรเพิ่มขึ้น คำถามที่ตามมาก็คือ ยุคของค่าเงินเยนอ่อนจะกลับมาเมื่อใด คำตอบก็คือไม่ง่ายเสียแล้ว เพราะโลกตะวันตกกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด ไม่ยอมให้จีนและญี่ปุ่นรวมหัวกันแทรกแซงให้ค่าเงินเยนและเงินหยวน อ่อนตัวลงในยามที่กำลังเกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ความพยายามของชาติตะวันตกในการพยายามจัดประชุมสร้างข้อตกลงที่เรียกว่า เบรตตั้น วูด รอบสอง ขึ้นมาเพื่อสร้างเสถียรภาพของตลาดเงินและตลาดทุน มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าอาจนำไปสู่การสร้างฉันทามติเพื่อเพิ่มภารกิจของเงินหยวนและเงินเยน เข้าไปมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นแทนที่สัดส่วนของเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ เหตุผลหลักก็คือว่าทั้งประเทศจีนและญี่ปุ่นล้วนแต่เป็นชาติที่มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกยามนี้ หากย้อนกลับกลับไปดูเงื่อนไขสำคัญของข้อตกลงพลาซ่า ค.ศ. 1985 ซึ่งเงินเยนเคยถูกบีบให้แข็งค่าขึ้นอีก 30 % จนกระทั่งอุตสาหกรรมภายในของญี่ปุ่นจำนวนมหาศาลต้องเคลื่อนย้ายฐานการผลิตออกจากญี่ปุ่นไปยังชาติอื่นๆในโลก ความเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์ซ้ำรอยอีกก็สูงยิ่ง ซึ่งนั้นก็หมายถึงว่ายุคของค่าเงินเยนแข็งกำลังจะเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง (ในขณะที่ภาวะค่าเงินหยวนจีนแข็งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก) สาเหตุสำคัญนอกเหนือไปจากการที่ญี่ปุ่นมีระบบเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่งแล้ว ก็ยังเกิดจากการไหลกลับของทุนญี่ปุ่นที่เคยออกไปตระเวนทั่วโลกเพื่อทำกำไร ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Yen Carry Trade ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลง ทำให้เงินทุนไหลกลับมาที่ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง ทำให้ค่าเงินเยนแข็งขึ้น Yen Carry Trade เกิดจากการที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศญี่ปุ่นต่ำมากจนใกล้ 0 % ทำให้ไม่คุ้มที่จะออม ทำให้มีการส่งเงินนออมจำนวนมากออกไปแสวงหากำไรในตลาดต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการซื้อตราสารหนี้ หรือกองทุนรวม โดยยอมเสี่ยงกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน แต่เมื่อเกิดวิกฤติการเงินขึ้นมาในยุโรปและอเมริกา ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงของการทำ Carry Trade มากจนไม่คุ้มค่า ต้องถอนเงินกลับไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเกินความจำเป็น สำหรับประเทศจีน การย้ายฐานการผลิตของจีน เพราะค่าเงินหยวนที่แข็งค่า ก็คงจะเป็นเรื่องที่ยากมาก เพียงแต่อาจเกิดการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากชายทะเลเข้าไปในดินแดนตอนในมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่กรณีของญี่ปุ่น การย้ายฐานการผลิตออกไปต่างประเทศ เป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยยอมแลกเปลี่ยนกับการที่ยอมให้มีคนว่างงานในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ปฎิบัติการส่งทุนออกนอกเพื่อลงทุนโดยตรง และสร้างฐานการผลิตใหม่ อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในทันที แต่ก็มีความเป็นได้สูงมาก ทำให้ชาติต่างๆที่ต้องการอาศัยทุนของญี่ปุ่นเป็นสปริงบอร์ดในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ในอดีตหลัง ค.ศ. 1985 ทุนจากญี่ปุ่นที่เกิดจากการย้ายฐานการผลิต ได้เคลื่อนตัวมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยในช่วงปี 2529-2531 ต้องมีการจัดระเบียบรับการลงทุนจากต่างชาติ รวมทั้งการให้ประเทศไทยเป็นด้านหน้าในการเข้าไปสู่ตลาดของกลุ่มประเทศอินโดจีน โดยผ่านนโยบายแปลงสนามรบเป็นสนามการค้า และเศรษฐกิจของไทยก็เกิดการขาดแคลนแรงงานจนถึงการที่ค่าแรงพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรงมาแล้ว จากความเป็นไปได้ในปัจจุบัน หากทุนญี่ปุ่นจะเคลื่อนย้ายฐานการผลิตไปอีกระลอกหนึ่ง ดูเหมือนว่า แม้จะมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น แต่ประเทศไทยก็ยังไม่สูญเสียโอกาสในการดึงดูดทุนจากญี่ปุ่นที่จะไหลเข้ามาอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่ต้องจัดการหรือสร้างมาตรการรองรับที่เหมาะสมกับเงื่อนไขในปัจจุบันให้ดีขึ้นเท่านั้น แม้ว่า โดยข้อเท็จจริง การเคลื่อนย้ายทุนดังกล่าวจากญี่ปุ่นจะไม่ยั่งยืนมากนัก และไม่สอดคล้องกับทฤษฎีฝูงห่านป่า (Wild Geese Theory) ที่เคยมีคนเสนอไว้ว่า หากมีชาติหนึ่งในภูมิภาครุ่งเรือง จะกระจายความรุ่งเรืองนั้นไปยังชาติรอบๆแบบเดียวกับการจัดแถวของฝูงบินของห่านป่า อย่างน้อยก็เป็นโอกาสที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยได้เดินหน้าต่อไปอย่างมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม
โดย คุณวีระชาติ ชุตินันท์วโรดม
ที่มา TSI Investment Wiki
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.tsi-thailand.org/
https://www.set.or.th/