การลงทุนในตราสารหนี้จัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการจัดสรรเงินทุน (Asset Allocation) เนื่องจากมีลักษณะที่สำคัญคือ การให้กระแสเงินสด (Cash flows) ที่สม่ำเสมอ อีกทั้งมีความผันผวน และค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ที่ต่ำกับตราสารทุน การจัดสรรการลงทุนในตราสารหนี้ในสัดส่วนที่เหมาะสมจะช่วยให้พอร์ตการลงทุนมีความผันผวนของผลตอบแทนที่ต่ำด้วย กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ (Fixed Income Investment Strategies) แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ กลยุทธ์เชิงรับ (Passive Investment Strategies) และกลยุทธ์เชิงรุก (Active Investment Strategies) การวางกลยุทธ์แบบ passive เป็นการวางแผนการลงทุนให้มีสัดส่วนที่สอดคล้องกับองค์ประกอบของอัตราอ้างอิง (Benchmark) ซึ่งมีผลดีในแง่ของค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่ต่ำ เจ้าของเงินลงทุนทราบ benchmark ที่จะมาเป็นตัวเปรียบเทียบที่แน่นอน และไม่ต้องการผลตอบแทนที่เบี่ยงเบนไปจากตัว Benchmark มาก (Tracking Error ต่ำ) ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่ใช้กลยุทธ์เชิงรุก (Active Strategies) เป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตราสารหนี้ โดยจะทำการศึกษาข้อมูล กลั่นกรองในเรื่องทฤษฎีของอัตราผลตอบแทน และการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในสภาวะต่างๆ
ทั้งนี้แหล่งที่มาของผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ (Total Return) สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ
1.ดอกเบี้ยที่ตราไว้ (Coupon Rate) คือดอกเบี้ยรับ (Accrued Interests) ที่นักลงทุนจะได้รับจากการถือตราสารหนี้ไว้ และจะมีการจ่ายเมื่อครบกำหนดที่ระบุไว้สำหรับตราสารหนี้นั้นๆ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด กล่าวคือ หากอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้น และผู้ลงทุนมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินขึ้นมาจริงๆ โดยที่ตราสารหนี้ที่ผู้ลงทุนถืออยู่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ลงทุนก็อาจจะต้องขายตราสารหนี้ดังกล่าวก่อนครบกำหนด ก็อาจจะเผชิญกับภาวะขาดทุน เรพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้ลดลง
2.กำไร (หรือขาดทุน)จากส่วนต่างของราคา (Capital Gain/Loss) คือผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่นักลงทุนจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาตราสารหนี้ อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากส่วนนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้านักลงทุนขายตราสารหนี้ออกไปในอัตราผลตอบแทนซึ่งเท่ากับตอนที่ซื้อมา
3.อัตราผลตอบแทนจากการนำไปลงทุนต่อ (Reinvestment Return) ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับจากการนำอัตราผลตอบแทนจากส่วนที่ 1. และส่วนที่ 2. ไปลงทุนต่อในการลงทุนอื่น
อาจกล่าวได้ว่าการวางกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม ควรจะคำนึงถึงองค์ประกอบส่วนที่ 2. เป็นสำคัญ เนื่องจาก Capital Gain/Loss จัดเป็นองค์ประกอบที่มีผลสูงสุดต่อตอบแทนสุทธิจากการลงทุน กังนั้นกระบวนการบริหารพอร์ตตราสารหนี้จึงมุ่งเน้นการวางกลยุทธ์เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ประกอบนี้ (Capital Gain) เป็นสำคัญ ความรู้เรื่องการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้จึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่นักลงทุนควรจะเข้าใจก่อนที่จะลงทุนในตราสารหนี้
โดย คุณวีระชาติ ชุตินันท์วโรดมที่มา TSI Investment Wiki
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.tsi-thailand.org/
https://www.set.or.th/