สงครามเกาหลี (Korean War)
เป็นสงครามระหว่างประเทศเกาหลีเหนือกับประเทศเกาหลีใต้ เริ่มตั้งแต่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 ถึง 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1953 เป็นหนึ่งในสงครามตัวแทนระหว่างช่วงสงครามเย็น
ฝ่ายเกาหลีใต้ประกอบโดยสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา สหราชอาณาจักร ประเทศออสเตรเลีย และกองกำลังของประเทศอื่น ๆ โดยคำสั่งของสหประชาชาติ ฝ่ายเกาหลีเหนือมีสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพโซเวียตคอยให้ความช่วยเหลือ
ประเทศเกาหลีโดนยึดครองโดยประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ ฝ่ายพันธมิตรได้แบ่งดินแดนของเกาหลีเป็นสองส่วน โดยส่วนเหนือยอมแพ้ต่อโซเวียต และส่วนใต้ยอมแพ้ต่อสหรัฐอเมริกา มีเส้นแบ่งอยู่ที่เส้นขนานที่ 38 ทางสหประชาชาติมีแผนจะจัดการเลือกตั้งใน ค.ศ. 1948 แต่ได้รับการปฏิเสธจากโซเวียต และตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเอง
วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 ทหารฝ่ายเกาหลีเหนืออาศัยอาวุธยุทโธปกรณ์ของโซเวียตบุกข้ามเส้นขนานที่ 38 ลงมา วันที่ 28 มิถุนายน ก็สามารถยึดกรุงโซลได้ สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ได้สั ่งการให้นายพลดักลาส แมคอาเธอร์ ผู้บัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกในขณะนั้น ให้ทำการตอบโต้
วันที่ 5 กรกฎาคม ปีเดียวกัน กองทัพสหรัฐได้บุกเข้าสู่เกาหลีเหนือ
สหประชาชาติได้ลงมติให้ยกกองกำลังเข้าช่วยเหลือเกาหลีใต้ กองกำลังสหรัฐอเมริกาจึงเข้าร่วมกับกองกำลังของสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วยกองกำลังของอีก 15 ชาติ (รวมประเทศไทย)
ที่มา
https://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6-5/no36-43/history/sec05p03.html
การเจรจาเพื่อยุติสงครามและสงบศึก
นับตั้งแต่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๔ เป็นต้นมา การสู้รบด้วยกำลังทหารขนาดใหญ่แทบจะไม่มีอีก ฝ่ายกองทัพสหประชาชาติ หลังจากที่สกัดศึกใหญ่แล้ว ก็มิได้มีแผนการที่จะเข้าตีซ้ำเติมเพื่อเผด็จศึกแต่ประการใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเทศภาคีสมาชิกสหประชาชาติว่า จะให้ปฏิบัติการได้เพียงใด การดำเนินการของกองทัพสหประชาชาติอาจจะทำได้ ๒ วิธี คือ
วิธีที่ ๑ ให้กองทัพสหประชาชาติดำเนินการสงครามต่อไปจนได้ชัยชนะเด็ดขาด วิธีนี้จำเป็นต้องได้รับกำลังรบเพิ่มเติม และกำลังทางอากาศของกองทัพสหประชาชาติ จะต้องได้รับอนุมัติให้ปฏิบัติการผ่านชายแดนเกาหลีเข้าไปในแมนจูเรีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน
วิธีที่ ๒ ให้กองทัพสหประชาชาติวางแนวป้องกันตรึงอยู่ในแนวเขตแดนเท่าที่ยึดครองได้แล้ว ให้สหประชาชาติเจรจายุติการสงครามเอง
พลเอก แมก อาเธอร์ เตรียมที่จะปฏิบัติการตามวิธีที่ ๑ แต่บรรดาภาคีสหประชาชาติส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ประธานาธิบดี ทรูแมน และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสหรัฐฯ ก็ไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าภารกิจของกองทัพสหประชาชาติได้สำเร็จลงแล้ว คือขับกองทัพเกาหลีเหนือผู้รุกรานให้ถอยกลับข้ามเส้นขนานที่ ๓๘ ขึ้นไปทางเหนือ ตามมติคณะมนตรีความมั่นคง เมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๙๔
เนื่องจากมีอุปสรรค และความขัดแย้งต่าง ๆ ในการที่จะให้กองทัพสหประชาชาติรุกขึ้นไปยังแม่น้ำยาลู ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดน ระหว่างเกาหลีเหนือกับ สาธารณรัฐประชาชนจีน พลเอก แมทธิว อาร์ ริจเวย์ (Malthew R. Ridgway) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพสหประชาชาติ จึงสั่งให้ พลโท แวนฟลีต แม่ทัพกองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ เป็นผู้บังคับบัญชาทหารบกทั้งหมดของกองทัพสหประชาชาติในเกาหลี วางกำลังป้องกันบริเวณเส้นขนานที่ ๓๘ และเตรียมการจะส่งกำลังข้ามเส้นขนานที่ ๓๘ ขึ้นไปเมื่อเห็นว่าเหตุการณ์จำเป็น และได้เปรียบข้าศึก
นายทริกเว ลี (Trygve Lie) เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวในเดือน พฤษภาคม ๒๔๙๔ ว่า บัดนี้ถึงเวลาอันสมควรที่จะได้เจรจา เพื่อให้เกิดสันติภาพในประเทศเกาหลีแล้ว และมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ที่มีอยู่เดิมก็จะเป็นผลสมบูรณ์ ต่อมาเมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๙๔ นายมาลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหภาพโซเวียต ได้กล่าวทางวิทยุกระจายเสียงของสหประชาชาติ เสนอให้มีการเจรจาสงบศึกในเกาหลี และต่อมาทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้ประกาศทางวิทยุ สนับสนุนข้อเสนอของสหภาพโซเวียต
อำนาจหน้าที่ในการเจรจา เพื่อสงบศึกนั้น ที่ปรึกษากฎหมายของเลขาธิการสหประชาชาติ ได้เสนอความเห็นแก่เลขาธิการสหประชาชาติว่า กองบัญชาการกองทัพสหประชาชาติ มีอำนาจเจรจาโดยตรงกับฝ่ายข้าศึกได้ เฉพาะปัญหาในการทหารเท่านั้น และเมื่อตกลงประการใด จะต้องรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ทราบ
พลเอก ริจเวย์ ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพสหประชาชาติแทน พลเอก แมคอาร์เธอร์ ซึ่งถูกประธานาธิบดี ทรูแมนของสหรัฐฯ สั่งปลดออกจากตำแหน่ง เมื่อ ๑๑ เมษายน ๒๔๙๔ เพราะเกรงว่าตามแผนของ พลเอก แมค อาร์เธอร์ อาจเป็นชะนวนให้เกิดสงครามโลก พลเอก ริจเวย์ ได้ตอบรับข้อเสนอของนายมาลิก โดยประกาศทางวิทยุกระจายเสียงของสหประชาชาติ เมื่อ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ และเสนอว่าควรจะมีการเจรจากันในเรือ จัทแลนเดีย (Jutlandia) ซึ่งเป็นเรือพยาบาลของเดนมาร์กในอ่าววอนซาน แต่ฝ่ายแม่ทัพสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานาธิบดีเกาหลีเหนือเสนอว่าควร เจรจากันที่เมืองเคซอง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโซล
การเจรจาเพื่อสงบศึกได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเคซอง เมื่อ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๔ ต่อมาได้ย้ายไปเจรจากันที่ ตำบลปันมุมจอม (Punmumjom) โดยมีพลเรือโท จอย ผู้บัญชาการทหารเรือสหรัฐฯ ภาคตะวันออกไกล เป็นหัวหน้าฝ่ายกองทัพสหประชาชาติในการเจรจา ฝ่ายตรงข้ามมีพลเอกนัมมิลเสนาธิการทหารบก และรองนายกรัฐมนตรีเกาหลีเหนือเป็นหัวหน้าในการเจรจา การเจรจาดำเนินไปอย่างชิงไหวชิงพริบกัน การปะทะกันทั้งทางบก และการโจมตีทางอากาศคงดำเนินการต่อไป
กองพันทหารไทยผลัดที่ ๕ ไปรับหน้าที่ตั้งแต่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๖ ขึ้นบังคับบัญชา ทางยุทธการกับกรมทหารราบที่ ๙ กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ต้องทำการรบกับข้าศึกหลายครั้งก่อนที่จะได้มีการลงนามในข้อตกลงสงบศึก
หัวหน้าแผนกนายทหารติดต่อ กองบัญชาการกองทัพสหประชาชาติ ได้เชิญหัวหน้านายทหารไทยประจำกองทัพสหประชาชาติ (พันเอก ชาญ อังศุโชติ) เมื่อเดือน มิถุนายน ๒๔๙๔ เพื่อแจ้งให้ทราบเรื่องการเจรจาเพื่อสงบศึก ในการนี้จะมีนายทหารสหรัฐฯ ๓ คน นายทหารอังกฤษ ๑ คน และนายทหารสาธารณรัฐเกาหลี ๑ คน รวม ๕ คน เป็นผู้แทนฝ่ายกองทัพสหประชาชาติ แต่เนื่องจากประธานาธิบดี ซิงมันรี ของเกาหลีใต้ต้องการให้เผด็จศึก โดยให้กองทัพสหประชาชาติรุกผ่านเกาหลีเหนือไปจนถึงแม่น้ำยาลู เพื่อจะได้รวมประเทศเกาหลีเป็นประเทศเดียวกัน เห็นว่าการเจรจาสงบศึกเท่ากับเป็นการยอมจำนนแก่ข้าศึก ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะ และอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่สามได้
ประธานาธิบดีซิงมันรี ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อ ๖ มิถุนายน ๒๔๙๖ และแจ้งให้ พลเอก คล๊าค ซึ่งมารับหน้าที่ต่อจาก พลเอก ริจเวย์ เมื่อ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๖ ความโดยสรุปว่า ขอให้ทหารชาติต่าง ๆ ถอนทหารออกจากคาบสมุทรเกาหลี ภายหลังที่ได้มีการตกลงในสัญญาระหว่าง สหรัฐฯ กับ สาธารณรัฐเกาหลีแล้ว โดยสหรัฐฯ จะต้องรับประกันว่า จะให้ความช่วยเหลือแก่ สาธารณรัฐเกาหลีในทางทหาร ให้การสนับสนุนในกรณีที่ สาธารณรัฐเกาหลีถูกรุกราน และให้สหรัฐฯ มีกำลังทหาร อากาศ และทหารเรือ ส่วนหนึ่งอยู่ในบริเวณตะวันออกไกลด้วย หากไม่ตกลงตามนี้ สาธารณรัฐเกาหลีจะทำการสู้รบต่อไป
ในการนี้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในกองบัญชาการกองทัพสหประชาชาติคาดว่า ผู้แทนสาธารณรัฐเกาหลีคงจะไม่ไปร่วมในการลงนามในข้อตกลงสงบศึก จึงพิจารณาเห็นว่าประเทศไทยได้ส่งกำลังเข้าร่วมปฏิบัติการกับกองทัพสหประชาชาติอย่างห้าวหาญ จึงเสนอให้รัฐบาลไทยส่งนายทหารชั้นนายพล ๑ ท่าน มาเป็นกรรมการสงบศึกฝ่ายสหประชาชาติ (U.N. Military Commission) แทนสาธารณรัฐเกาหลี ถ้ารัฐบาลไทยไม่รับ ก็จะได้ขอให้รัฐบาลตุรกี ส่งผู้แทนมาเป็นกรรมการฯ แทน ทางราชการไทยได้ส่ง พลตรี ถนอม กิตติขจร มาเป็นกรรมการฯ โดยได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นใน ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๙๖ และได้กำหนดวันทำพิธีลงนามในข้อตกลงสงบศึกใน ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๖ ซึ่งมีเอกสารอยู่ ๙ ฉบับ มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษ เกาหลี และจีน
ข้อตกลงสงบศึกที่ปันมุมจอมนี้เป็นผลจากการเจรจาที่ยืดเยื้อถึง ๒๕๕ ครั้ง ใช้เวลา ๒ ปี ๑๗ วัน
ต่อมากระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่ง ลง ๙ กันยายน ๒๔๙๖ ให้พลตรี หม่อมเจ้าชิดชนก กฤษดากร เจ้ากรมการทหารม้า และรักษาราชการเจ้ากรมข่าวทหารบก เป็นกรรมการในคณะกรรมการสงบศึกฝ่ายทหารแทน พลตรี ถนอม กิตติขจร เมื่อ ๙ กันยายน ๒๔๙๖ พลตรีหม่อมเจ้าชิดชนกฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่จนถึง ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ จึงจบภารกิจ
ผลที่ประเทศไทยได้รับจากสงครามเกาหลี
ประเทศไทยได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกว่า ในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ไทยได้ปฏิบัติตามความมุ่งหมายของสหประชาชาติ ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ และเพื่อปราบปรามการรุกรานหรือการล่วงละเมิดต่อสันติภาพ
ในสงครามครั้งนี้ ทหารไทยทั้งสามเหล่าทัพได้ปฏิบัติหน้าที่ในยุทธภูมิภายใต้ธงสหประชาชาติ ร่วมกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติ อย่างสมเกียรติศักดิ์นักรบไทย เป็นที่เลื่องลือในบรรดาพันธมิตรที่ร่วมรบ รัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีได้ส่งสาส์น แสดงความยกย่องและสดุดีวีรกรรมต่าง ๆ ในหลายวาระหลายโอกาสด้วยกัน ทหารไทยได้รับความรู้ บทเรียน และประสบการณ์ในการรบในสภาวะการณ์ต่าง ๆ ทั้งในแบบ และนอกแบบ
เจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทย หน่วยพยาบาลของทั้งสามเหล่าทัพ ได้รับความรู้ และประสบการณ์เพิ่มเติมอย่างกว้างขวาง และได้นำความรู้และประสบการณ์เหล่านั้น มาปฏิบัติงานให้เกิดคุณประโยชน์ ต่อสาธารณชนของไทย
คณะกรรมการสงบศึกฝ่ายทหารของไทยได้ปฏิบัติงานเป็นผลสำเร็จ ตามที่ได้รับมอบหมาย ทำให้เป็นที่ประจักษ์ในขีดความสามารถของนายทหารไทย
บรรดาผู้ที่ไปราชการสงครามในเกาหลี ได้นำเอาคุณลักษณะที่ดีของความเป็นคนไทย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอุปนิสัยขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมไปเผยแพร่แก่ชาวต่างประเทศ นับว่าเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ในประการสุดท้าย การไปราชการสงครามในครั้งนี้ของไทย เป็นผลให้คณะมนตรี สนธิสัญญา ซีอาโต (SEATO) มาประชุมกันเป็นครั้งแรก ที่กรุงเทพ ฯ และประเทศไทยได้รับเกียรติและความไว้วางใจ คณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้ลงมติให้ตั้งสำนักงานเลขาธิการประจำ ณ กรุงเทพ ฯ เป็นการถาวร
ที่มา
https://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/military/korea/korea.htm