เขียนโดย ผศ.ดร.ธเนศ เวศน์ภาดา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่น และเป็นเครื่องแสดงวัฒนธรรมมากกว่าสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าภาษายังสะท้อนตัวจิตใจของผู้ใช้ออกมาด้วย บอกสิ่งที่อยู่ข้างในใจออกมาได้ นอกจากจะสะท้อนลักษณะรูปธรรมเหมือนพวกเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ ภาษาจึงเป็นสื่อสะท้อนวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งที่สุด
เมื่อสังคมวัฒนธรรมเปลี่ยน ภาษาที่ใช้ในสังคมก็เปลี่ยน หน้าที่ของนักภาษาคือวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ทางภาษาที่เกิดขึ้นสะท้อนสังคมวัฒนธรรมในขณะนั้นอย่างไร
สังคมไทยในขณะนี้เป็นสังคมยุควัฒนธรรมประชานิยม วัฒนธรรมประชานิยมเป็นวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ มีการผลิตแบบ mass กระจายต่อแบบ mass ผ่านสื่อแบบ mass เช่น การพิมพ์คัมภีร์ศาสนาให้เผยแพร่ในหมู่ชนจำนวนมาก ไม่มีความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมชั้นสูงกับวัฒนธรรมชาวบ้าน ทุกอย่างจะหลอมรวมเพื่อสื่อความหมายใหม่ในสังคมยุคบริโภคนิยมที่สำคัญ วัฒนธรรมประชานิยมมีกระบวนการละลายความหมายเดิมที่อิงกับกรอบความคิดทางศาสนาประเพณี และวัฒนธรรมที่มีนัยศักดิ์ศรี เข้มขลัง
ภาษาในวัฒนธรรมประชานิยมส่วนหนึ่งจึงได้ละลายกรอบความคิดชุดเดิม เพื่อทำหน้าที่สร้างภาพลักษณ์เสริมธุรกิจ เช่น คำว่า อั้งเปา เดิมเป็นคำที่ปรากฏใช้ในกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน อิงกับวัฒนธรรมปีใหม่ของคนจีน อั้งเปา เป็นซองสีแดงใส่เงินทำขวัญที่ผู้ใหญ่ให้ลูกหลานในวันสิ้นปีต่อวันปีใหม่ คำคำนี้มีความหมายผูกพันกับวัฒนธรรมการเกษตร วัฒนธรรมครอบครัวขยายของคนจีน แต่ในปัจจุบัน อั้งเปา ได้สูญความหมายดังกล่าวให้กับวัฒนธรรมประชานิยม เมื่อร้านสะดวกซื้อชื่อดังนำไปใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ในความหมายที่เท่ากับคูปองแลกสินค้า
ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกตัวอย่างหนึ่งคือภาพของเกจิอาจารย์สามรูปที่นำมาจัดเรียงกันตามภาพนี้
ภาพดังกล่าวนำเกจิอาจารย์ชื่อดังสามรูปได้แก่ หลวงพ่อชอบ หลวงพ่อเงิน หลวงพ่อสด เมื่อนำมาเรียงกันได้ความว่า