พระราชดำรัส พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2541
ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่มาชุมนุมกันในโอกาสใกล้จะถึงปีใหม่ ไม่ใช่ปีใหม่ เป็นปีใหม่ของเรา คือปีใหม่ของผู้พูด เพราะว่าพรุ่งนี้เริ่มศักราชใหม่ เริ่มอายุใหม่. นายกฯ ได้กล่าวสรุปชีวิตตั้ง ๕๐ กว่าปี ที่ได้ทำงานทำการ และชมว่าได้ช่วยให้ประเทศชาติอยู่เย็นเป็นสุข มีความร่มเย็น. วันนี้ท่านทั้งหลายมา ทั้งที่อยู่ข้างในข้างนอก มาเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นประวัติการณ์. การที่ได้ทำความเจริญหรือความสุขแก่ประเทศชาติและประชาชนนั้น มิได้เป็นงานของผู้หนึ่งผู้ใดที่จะปฏิบัติได้ ต้องร่วมมือกัน. ผู้ใดมีความรู้ทางใดก็ควรจะใช้ความรู้ความสามารถนั้นเพื่อสร้างความมั่นคง. ถ้ามีหลายคนที่มีความรู้อย่างเดียวกัน ก็ต้องร่วมมือกัน บางคนมีความรู้เหมือนกันแต่ความเห็นต่างกัน ดังนี้ก็จะต้องปรึกษากันมากกว่าที่จะเถียงกัน. คำว่าปรึกษากับคำว่าเถียงนี่ต่างกัน. คำว่าเถียงใช้แต่อารมณ์ คำว่าปรึกษาใช้ปัญญา . ถ้าสามารถที่จะใช้ปัญญาปรึกษากัน จะได้คำตอบ เพราะว่าความจริงนั้นมีอันเดียว. ความเท็จมีหลาย หรือทางที่ผิดมีมากมาย แต่ความจริงทางที่ดี ส่วนมาก เป็นทางเดียวที่จะสามารถนำพาสู่ความสำเร็จ.
นายกฯ ได้กล่าวถึงกิจการต่างๆ เช่นเรื่องที่ได้กล่าวเมื่อปีที่แล้ว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง. คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่มีในตำรา ไม่เคยมีระบบเศรษฐกิจพอเพียง. มีอย่างอื่นแต่ไม่ใช้คำนี้. ปีที่แล้วพูดว่า เศรษฐกิจพอเพียงเพราะหาคำอื่นไม่ได้. และได้พูดอย่างหนึ่งว่า เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ. ในคราวนั้น เมื่อปีที่แล้วนึกว่าเข้าใจกัน แต่เมื่อไม่นาน เดือนที่แล้ว มีผู้ที่ควรจะรู้ เพราะว่าได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนา มาช้านานแล้ว มาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ดีมาก แล้วก็เข้าใจว่าปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ. ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง และทำได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ.
ต้องพูดเข้าในเรื่องเลย เพราะหนักใจว่า แม้แต่คนที่เป็นดอกเตอร์ก็ไม่เข้าใจ. อาจจะพูดไม่ชัด แต่เมื่อกลับไปดูที่เขียนจากที่พูด ก็ชัดแล้วว่าควรจะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงไม่ต้องทั้งหมด เพียงครึ่งหนึ่งก็ใช้ได้ แม้จะเป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ. หมายความว่าวิธีปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ต้องทำทั้งหมด และขอเติมว่าถ้าทำทั้งหมดก็จะทำไม่ได้. ถ้าครอบครัวหนึ่ง หรือแม้หมู่บ้านหนึ่งทำเศรษฐกิจพอเพียงร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะเป็นการถอยหลังถึงสมัยหิน สมัยคนอยู่ในอุโมงค์หรือในถ้ำ ซึ่งไม่ต้องอาศัยหมู่อื่น เพราะว่าหมู่อื่นก็เป็นศัตรูทั้งนั้น ตีกัน ไม่ใช่ร่วมมือกัน จึงต้องทำเศรษฐกิจพอเพียง. แต่ละคนต้องหาที่อยู่ ก็หาอุโมงค์หาถ้ำ. ต้องหาอาหาร คือไปเด็ดผลไม้หรือใบไม้ตามที่มี หรือไปใช้อาวุธที่ได้สร้างได้ประดิษฐ์เอง ไปล่าสัตว์. กลุ่มที่อยู่ในอุโมงค์ในถ้ำนั้น ก็มีเศรษฐกิจพอเพียง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์. ก็ปฏิบัติได้.
แต่ต่อมาเมื่อออกจากถ้ำ ในสมัยต่อมา ที่สร้างบ้านเป็นที่อาศัย ก็เริ่มจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหลือประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามีคนผ่านไปผ่านมา ซึ่งไม่ได้เป็นศัตรู เอาอะไรๆ มาแลกเปลี่ยนกัน. เช่นคนที่มาจากไกล ผ่านมามีหนังสัตว์ที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ก็ซื้อด้วยการแลกเปลี่ยนด้วยอาหาร เช่นปลาที่จับได้ในบึง. อย่างนี้ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว. เวลาก้าวล่วงมาอีก มาถึงปัจจุบันนี้ ถ้าคนที่อยู่ทั้งข้างนอกทั้งข้างในนี้ จะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คงทำไม่ได้. และถ้าสำรวจตัวเอง หรือเศรษฐกิจของตัวเอง ก็เข้าใจว่า จะเห็นได้ว่าไม่ได้ทำ. เข้าใจว่าทำได้ไม่ถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ถึงเศษหนึ่งส่วนสี่ เพราะว่าสิ่งที่ตนผลิตหรือทำ ส่วนใหญ่ก็เอาไปแลกกับของอื่นที่มีความจำเป็น. ฉะนั้นจึงพูดว่าเศรษฐกิจพอเพียง ปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็ควรจะพอและทำได้. อันนี้เป็นข้อหนึ่ง ที่จะอธิบายคำพูดที่พูดมาเมื่อปีที่แล้ว คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก. ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน. พอมีพอกินนี้ ถ้าใครได้มาอยู่ที่นี่ ในศาลานี้ เมื่อ เท่าไหร่ ๒๐ ๒๔ ปี เมื่อปี ๒๕๑๗ ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๔๑ นี้ ก็ ๒๔ ปี ใช่ไหม. วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน. พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง. ถ้าแต่ละคนพอมีพอกิน ก็ใช้ได้. ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้น ก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน. บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย. สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน. จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้.
ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ. แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ. อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง. เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วย ว่าจะแปลเป็น Self-sufficiency. (พึ่งตนเอง) ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้ กว้างขวางกว่า Self-sufficiency คือ Self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง)
บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง. คำว่ายืนบนขาตัวเองนี่ มีคนบางคนพูดว่าชอบกล. ใครจะมายืนบนขา. คนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเอง ยืนบนขาตัวเองก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลง. อันนี้ก็เป็นความคิดที่อาจจะเฟื่องไปหน่อย. แต่ว่า เป็นตามที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง (ซึ่งแปลว่าพึ่งตนเอง). หมายความว่าสองขาของเรานี่ ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม. ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน. แต่พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง. คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย. ถ้าทุกประเทศมีความคิด “อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ” มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข. พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น. ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง.
เคยพูดว่า ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าอยากจะไปนั่งบนเก้าอี้ของผู้ที่อยู่ข้างๆ เช่นนี้ไม่พอเพียง และทำไม่ได้. ถ้าอยากนั่งอย่างนั้นก็เดือดร้อนกันแน่ เพราะว่าอึดอัด จะทำให้ทะเลาะกัน. เมื่อมีการทะเลาะกัน ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย. ฉะนั้นควรที่จะปฏิบัติสิ่งที่พอเพียง ทางความคิดก็เหมือนกัน ไม่ใช่ทางกายเท่านั้น ถ้ามีใครมีความคิดอย่างหนึ่ง และต้องการบังคับให้คนอื่นคิดอย่างเดียวกับตัว ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่ไม่ถูก ก็ไม่สมควรทำ. ปฏิบัติอย่างนี้ก็ไม่ใช่การปฏิบัติแบบพอเพียง. ความพอเพียงในความคิดก็คือ แสดงความคิดของตัว ความเห็นของตัว และปล่อยให้อีกคนพูดบ้าง และมาพิจารณาว่าที่เขาพูด กับที่เราพูด อันไหนพอเพียง อันไหนเข้าเรื่อง. ถ้าไม่เข้าเรื่องก็แก้ไข เพราะว่าถ้าพูดกันโดยที่ไม่รู้เรื่องกัน ก็จะกลายเป็นการทะเลาะกัน. จากการทะเลาะด้วยวาจาก็กลายเป็นการทะเลาะด้วยกาย ซึ่งในที่สุดก็นำมาสู่ความเสียหาย เสียหายแก่ผู้ที่เป็นตัวละครทั้งสองคน. ถ้าเป็นหมู่ก็เลยเป็นการตีกันอย่างรุนแรงได้ ซึ่งจะทำให้คนอื่นอีกมากเดือดร้อน.
ฉะนั้น ความพอเพียงนี้ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล. ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะต้องอธิบายคำว่าพอเพียงที่คนไม่เข้าใจเมื่อปีที่แล้ว และไม่เข้าใจจนกระทั่งถึงประมาณ ๒-๓ อาทิตย์นี้. ที่แปลกที่สุด คนที่มาพูดก็นึกว่าเขาเข้าใจ เพราะว่าเป็นคนที่เคยได้คุยด้วยมาก และก็คุยในเรื่องพรรณอย่างนี้ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความหมายของคำต่างๆ แต่ก็ยังไม่วาย. ฉะนั้นจึงต้องอธิบายอย่างกว้างขวางพอใช้ ไม่ทราบว่าวันนี้พูดเข้าใจหรือไม่. ถ้าพูดไม่เข้าใจวันนี้อาจจะต้องอธิบายต่อปีหน้า (เสียงหัวเราะ) เพราะน่าเบื่อถ้าต้องอธิบายต่อไปอย่างนี้ คนที่อยู่ต่อหน้านี่ก็ชักจะง่วง (เสียงหัวเราะ) แต่ว่านี่ก็ได้อธิบาย ที่ท่านทั้งหลายหัวเราะ ก็คงแปลว่าท่านก็เริ่มเข้าใจนิดหน่อย (เสียงหัวเราะ) ก็ดีแล้ว เข้าใจนิดหน่อย ดีกว่าไม่เข้าใจ.
อันนี้ก็มาอีกเรื่องหนึ่ง. เรื่องที่นายกฯ ได้กล่าวว่าทรงทำอะไรๆ ดีๆ คล้ายๆ ว่าทำอยู่คนเดียว. ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ทำ คนอื่นทำด้วย. ยกตัวอย่าง การปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่ เป็นการกระทำของหลายคน ของเจ้าหน้าที่การพัฒนาส่วนหนึ่ง และของประชาชนเองที่ทำตามทฤษฎีใหม่. ทฤษฎีใหม่นี้เป็นทฤษฎีที่ได้กล่าวออกมา หรือได้แสดงออกมาเมื่อประมาณปี ๒๕๓๗. พิมพ์ลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็น ๓ ขั้น และพยายามที่จะทำให้สั้นที่สุด. การทำให้สั้นที่สุดย่อมเข้าใจยาก แต่ว่าเมื่อทำให้สั้นที่สุด และให้มีใจความก็น่าจะเข้าใจได้ จึงให้ผู้ที่มีหน้าที่ได้ดู และให้เขาไปเลย. ไม่ได้นึกว่าทฤษฎีใหม่นี้จะไปปฏิบัติได้อย่างง่ายๆ. แต่ว่าผู้ที่รับทฤษฎีใหม่นี้ไปก็เกิดเข้าใจ และไปปฏิบัติได้.
ทฤษฎีใหม่นี้เกิดขึ้นมาอย่างไร. ก็มาจากการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการปฏิบัติของคนอื่นด้วยตั้งแต่ต้น. ทฤษฎีใหม่นี้ ความจริงทางราชการได้ปฏิบัติมาหลายปีแล้ว ก่อนที่เกิดเป็นทฤษฎีใหม่ตามที่เรียกว่าทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริ คือ การพัฒนาทางการเกษตร โดยเพาะปลูกหลายอย่างในที่เดียวกัน หรือผลัดปลูกหมุนเวียนกัน. อย่างเช่นเขาปลูกข้าว หลังจากฤดูกาลข้าว เขาก็ปลูกถั่ว อย่างนี้เป็นทฤษฎีใหม่แล้ว แต่ไม่มีใครบอกว่าเป็นทฤษฎี ก็เลยได้หน้าว่าใช้คำว่า ทฤษฎีใหม่. นี่เป็นความคิดขึ้นมา และยอมรับกันว่าเป็นทฤษฎี. เมื่อยอมรับกันว่าเป็นทฤษฎี ก็ไปปฏิบัติต่อได้.
ที่เริ่มทำทฤษฎีใหม่นี้ ก่อนที่จะได้เรียกว่าเป็นทฤษฎีก็ทำที่สระบุรี. ที่นั้นได้ไปหาซื้อที่ ๑๕ ไร่ ซึ่งคุณภาพไม่ดี. เงินที่ซื้อ ๑๕ ไร่นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเงินส่วนตัว อันนี้ส่วนตัวแท้ๆ ไม่ได้ไปเบิกจากงบประมาณแผ่นดิน หรือจากที่อื่น. เป็นเงินส่วนตัวที่เก็บอยู่เป็นเงินสด จนมีคนล้อว่าเป็นเศรษฐีเงินสด ไม่ได้เป็นเศรษฐีที่ไปลงทุนกินดอกเบี้ย. บางคนเขาตำหนิว่าทำไมเก็บเงินสด เก็บเงินสดไว้ในกระเป๋า เอาไว้ในห้องไม่ได้เอาไปไว้ที่ธนาคาร หรือบริษัทหลักทรัพย์ คนเขาก็บอกว่า การเก็บเอาไว้อย่างนั้นไม่ถูกหลักเศรษฐกิจ ก็เลยเอาเงินเช่นนั้นไปซื้อที่ดิน. คนอื่นที่เห็นดีในการไปซื้อที่ดินเพื่อที่จะทดลองก็มาสมทบทุน เป็นเอกชน เป็นเพื่อนเป็นฝูง. ไปซื้อ ๑๕ ไร่ และคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายจังหวัด ทั้งฝ่ายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้ร่วมไปทำ. ก็บอกว่าให้ไปขุดสระ เพราะที่นี่ยังไม่มีน้ำ.
คนที่ขายที่นั้นเขาบอกว่ามีบริษัทหนึ่งเข้ามาแถวนี้จะมาขอซื้อ แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ถ้าหาน้ำได้เขาจะซื้อ ปรากฏว่าเขาขุด แล้วหาน้ำไม่ได้. อันนี้ก็แปลกเพราะว่าเมื่อซื้อที่ซึ่งห่างจากที่ที่บริษัทนั้นเคยจะมาซื้อเพียงประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เมตร เราไปขุดมีน้ำ. เรียกว่าเราดวงดี ขุดมีน้ำได้. เมื่อมีน้ำแล้ว ก็สามารถที่จะนำน้ำนั้นมาทำการเพาะปลูกตลอดปี เลี้ยงปลาก็ได้. เลยใช้ที่ ๑๕ ไร่นี่.มาปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ต้นไม้ผล ปลูกสมุนไพรก็มี และมีการเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งหมดนี่ใน ๑๕ ไร่นี้ คนก็บอกว่า แหม! ทำไมในที่แคบอย่างนี้ ทำได้ทุกอย่าง. เมื่อทำไปปีหนึ่งก็ได้ผล. ผลผลิตนั้นได้ให้นักเรียนที่โรงเรียนวัด และที่เหลือก็ยังขายไป ได้กำไร ๒๐,๐๐๐ บาท.
แต่ที่บอกว่าการทำนี่ไม่ได้ทำเองแท้ เพียงแต่พูดไปว่ามีทฤษฎีทำอย่างนั้นๆ. คนที่ทำก็คือข้าราชการ และคนอื่นเข้ามาช่วยทำ. หมายความว่าต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ราชการ คนงานและนักวิชาการต่างๆ. แต่อย่างไรก็ตาม เขาไม่ค่อยคิดว่าจะทำในที่ ๑๕ ไร่ที่แห้งแล้งแบบนี้ได้ แต่ก็ทำได้ ผู้วางแผนเองก็ทึ่งตัวเอง. นี่พูดเหมือนว่า จะอวดตัวว่าเก่ง แต่ตกใจตัวเองว่าที่พูดไปใช้งานได้ จึงมาสรุปเป็นทฤษฎีใหม่. เมื่อเป็นทฤษฎีใหม่ก็ให้ไปที่มูลนิธิชัยพัฒนา แล้วเขียนข้างใต้ว่าเป็นทฤษฎีใหม่ของมูลนิธิชัยพัฒนา. ต่อมาคนก็ได้เห็นว่าใช้ได้ และไปปฏิบัติได้ในที่ที่แห้งแล้ง. เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าที่ทำที่อำเภอเขาวง กาฬสินธุ์ ที่ได้ผลดี. ที่ตรงนั้นทำ ๑๒ ไร่ ภายในปีหนึ่งเขาก็มีข้าวกิน. ครั้งแรกที่ไปเยี่ยมเขาไม่มีข้าวกิน มีเพียงไม่กี่เม็ดต่อรวง เมื่อชาวบ้านแถวนั้นเห็นว่าดี ก็ขอให้ช่วย. ปีต่อไปก็เพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ ราย. ปีต่อๆ ไปก็เป็น ๑๐๐ และขยายออกไปในภาคอื่น. ได้เป็นการปฏิบัติตามทฤษฎีและได้ผล.
เมื่อเป็นทฤษฎีใหม่แล้ว ก็มาเข้าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง. คนที่ทำนี้ ต้องไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ฟุ้งเฟ้อ. ได้เขียนไว้ในทฤษฎีนั้นว่าลำบาก เพราะผู้ที่ปฏิบัติ ต้องมีความเพียร และต้องอดทน. ไม่ใช่ว่าทำง่ายๆ ไม่ใช่บอกว่าเป็นทฤษฎีของในหลวง แล้วจะทำได้สะดวก. และไม่ใช่ว่าทำได้ทุกแห่ง ต้องเลือกที่. ถ้าค่อยๆ ทำไป ก็จะสามารถขยายความคิดของทฤษฎีใหม่นี้ไปได้ โดยดัดแปลงทฤษฎีนี้ แล้วแต่สภาพของภูมิประเทศ หรืออาจจะช่วยสภาพภูมิประเทศ โดยหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม. ความจริงทฤษฎีใหม่ที่ปฏิบัติที่สระบุรีนั้นได้คิดก่อนที่บัญญัติทฤษฎี. ที่สระบุรีนั้นได้ตั้งโครงการ ก่อนที่ตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา. โครงการนี้เป็นคล้ายๆ โครงการแรกของมูลนิธิ และก่อนที่เขื่อนป่าสักได้เริ่มต้น. นึกว่าที่ตรงนั้นถ้าหากเขื่อนป่าสักสำเร็จ “ซึ่งเวลานี้ใกล้จะสำเร็จแล้ว” จะสามารถนำน้ำมาผ่านใกล้ที่ของทฤษฎีใหม่นั้นได้. ถ้าคลองส่งน้ำผ่านมา ทฤษฎีใหม่นี้ก็จะสมบูรณ์ เพราะมีโครงสร้างรองรับไว้แล้ว. และบริเวณที่ไม่ใช่บริเวณของทฤษฎีใหม่ เป็นของชาวบ้าน และปฏิบัติแบบเดียวกับที่ของทฤษฎีใหม่ ก็จะอยู่ดีมีกินมากขึ้น. ถ้าทำโครงการอะไรที่ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ก็สามารถจะสร้างความเจริญให้กับเขตที่ใหญ่ขึ้นได้. เขตที่ใหญ่ ลงท้ายก็จะแผ่ทั่วประเทศได้ แต่เพื่อการนี้จะต้องมีความร่วมมืออย่างดี ระหว่างทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการ และนักปกครอง. ดังนี้ ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้. แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน. ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้.
ต่อไปนี้ไปคนละเรื่อง เป็นเรื่องจากข่าวที่ฟัง หรือจากการอภิปราย ถูกหรือไม่ถูก ต้องขออภัย เพราะว่าเกิดความคิดส่วนตัว เวลาฟังเขาเถียงกัน. เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องปลีกย่อย. เขาพูดกันว่า คนที่เป็นนักธุรกิจส่งนอก บอกว่าเดี๋ยวนี้เงินบาทแข็งเกินไป. แต่ก่อนนี้เงินบาทลอยไป ไม่ต้องมีเครื่องบิน ไม่ต้องมีบอลลูนหรอก มันลอยขึ้นไป พวกที่หัวใสในทางเก็งราคา ก็เก็งราคาดอลลาร์. ไปซื้อดอลลาร์เพราะทราบว่าจะลอย ก็ซื้อดอลลาร์มากมายทีเดียว เมื่อลอยก็ขายได้กำไร. ถ้าซื้อล้านบาท ก็ได้กำไรกลับคืนมาสองล้านบาทภายในไม่กี่เดือน.
การที่เงินบาทขึ้นๆ ลงๆ นี้ รู้สึกว่าจะไม่ถูก. ถ้าอย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เงินบาทมีความสม่ำเสมอ จะอยู่แค่ไหนก็ไม่เป็นไร ขอให้มีความมั่นคง คือไม่วูบวาบ ขึ้นแล้วลงมากเกินไป อยู่ตรงไหนก็ได้ ปัจจุบันนี้อยู่แถว ๓๖ มาแตะ ๓๕ บ้าง. ขึ้นๆ ลงๆ เพียง ๑๐ สตางค์ ๒๐ สตางค์ อย่างนี้ไม่เป็นไร. ถ้าเงินบาทอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ นักธุรกิจที่ส่งนอกเขาบอกเขาแย่ เพราะว่าจะไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อที่จะไปขายต่างประเทศ. แต่หารู้ไม่ว่า ผู้ที่ผลิตนั้นไม่ใช่ว่า เขาพอเพียง หรือประเทศพอเพียง เพราะต้องสั่งวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบของสินค้านั้นมาจากต่างประเทศ. ถ้าเงินขึ้นลง บางคนที่ไม่เก่งนัก ซื้อวัตถุดิบมาในราคาแพง แล้วขายสินค้าของเขาในราคาถูก คนเหล่านั้นก็ล่มจม. ส่วนใหญ่นักธุรกิจธรรมดาๆ ก็ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะขึ้น เมื่อไหร่จะลง ก็เลยผิดจังหวะ เขาก็ล่มจม. ในวงการธุรกิจจึงบอกว่าล่มจม. ส่วนผู้ที่เรียกว่าฉลาด หรือหัวใสเก็งราคา คือรู้ว่าเงินมีขึ้นมีลง ก็เล็งเอาตอนที่เหมาะสม ซื้อวัตถุดิบมาในราคาถูก และขายสินค้าในราคาแพง. อย่างนี้ควบคุมไม่ได้ ก็ทำให้พวกนี้สบาย.
ความจริงมีคนที่ยังสบายอยู่ไม่น้อย. ถ้าเศรษฐกิจการคลัง อัตราแลกเปลี่ยนไม่วูบวาบเกินไป ทุกคนที่ขยัน ก็จะสามารถทำธุรกิจได้ดี. ในระยะหลังนี้ทราบข่าวมาว่าเดือนนี้เศรษฐกิจดีขึ้น. จะเอาเกณฑ์อะไร ที่บอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าถามกระทรวงการคลัง หรือกระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่มีใครเชื่อ. เขาบอกว่ารัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีพาณิชย์นี่ พูดอะไร เชื่อไม่ได้. ท่านพยายามพูดอธิบายจนกระทั่งท่านไม่พูดแล้ว. ท่านพูดๆๆ ไม่มีใครฟัง ท่านก็ไม่พูด. ที่ได้ถาม ไม่ใช่รัฐมนตรี ไม่ใช่กระทรวง ถามโหราจารย์ ไม่ใช่ถามว่าเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ถ้าถามโหราจารย์ว่าเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจดีหรือยัง ก็ไม่มีใครเชื่ออีก. หาว่างมงายไปฟังโหราศาสตร์. โหราจารย์นั้น ไม่ใช่บอกว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี โหราจารย์บอกว่าเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจของโหราจารย์ดีขึ้น (เสียงหัวเราะ) ของตัวเองดี ไม่ใช่ของประเทศ ไม่ใช่ของนักธุรกิจ ไม่ใช่ของนักการเมือง ไม่ใช่ของฝ่ายค้าน ไม่ใช่ของฝ่ายรัฐบาล แต่ของตนเอง ของท่านโหราฯ เองดี. เอาเกณฑ์อะไรที่บอกว่าดี. ก็เพราะว่ามีคนมาขอฤกษ์มากขึ้น. เมื่อปีก่อนนี้ ท่านโหราจารย์แย่ ไม่มีใครมาขอฤกษ์ เลยไม่มีใครบำรุงกิจการบอกว่าล่มจม. แต่มาระยะหลังนี้ มีคนมาขอฤกษ์ หมายความว่าเศรษฐกิจชักกระเตื้อง. นี่เป็นเรื่องของเกณฑ์ ที่เราจะสามารถทราบว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร.
นี่เป็นความคิดความเห็นที่เป็นกลาง เพราะเป็นเรื่องของตัวท่านโหราจารย์เอง เป็นข้อเท็จจริง และก็เถียงไม่ได้. ฉะนั้นทำให้นึกดูว่า ถ้าเศรษฐกิจสม่ำเสมอดี มีแต่ดีขึ้นได้. จึงต้องรักษาความเป็นอยู่ที่ดี สถานการณ์ที่ดีต่อไป โดยรักษาอัตราแลกเปลี่ยนที่สม่ำเสมอ. ไม่มีปัญหาว่าประเทศชาติจะรอดพ้นจากวิกฤตการณ์. ทั้งนี้เพราะวิกฤตการณ์นี้มาจากความฟุ้งเฟ้อ หรือความโลภ ไม่อยากจะพูดว่าความทุจริต เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องมีความทุจริตก็แย่ได้เหมือนกัน. ยิ่งมีทุจริตก็ยิ่งแย่ เพราะว่าถ้ามีทุจริต ไม่มีใครทำงานอะไรได้ ไม่มีใครเชื่อใคร แล้วผู้ที่จะพยายามทำงานก็ไม่สามารถทำงาน เพราะกลัวทุจริต. ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้าไม่มีความสม่ำเสมอ ผู้ที่เป็นนักธุรกิจ หรืออุตสาหกรที่สุจริต ก็จะไม่สามารถกะงบประมาณ งบของตัวเอง จึงต้องค้ากำไรเกินควร เพื่อไม่ให้ขาดทุน. แต่มีหลายคนที่พยายามทำงานด้วยความไม่ฟุ้งเฟ้อ.
ได้พูดกับนักธุรกิจต่างประเทศ. ไม่ใช่ว่าจะต้องไปเชื่อชาวต่างประเทศ หรือนักเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศ บางคนก็เข้าข้างตัวเอง จะมา เรียกว่า มาขุดทองในเมืองไทย. มีพวกที่เป็นอุตสาหกร ผู้ที่เป็นนักธุรกิจต่างประเทศเขาหัวเราะเลย เมืองไทยนี่กำลังวุ่นวาย เขามาขุดทอง เพราะเมืองไทยยังมีทอง เมืองไทยยังเป็นสุวรรณภูมิ แต่ของเราเห็นทองแล้วโยนทิ้ง ก็เลยไม่ใช้ประโยชน์. ชาวต่างประเทศเห็นเราทิ้ง เขาก็เก็บ. อันนี้เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความคิดขึ้นมา. ที่พูดทั้งหมดนี้ ฟังแล้ว อาจจะน่ากลุ้มใจ แต่ถ้าดูอีกแง่หนึ่งก็อาจจะน่าสบายใจ. น่าสบายใจ เพราะดูได้ว่าถ้าเราปฏิบัติอย่างเรียกว่าตรงไปตรงมา ด้วยความตั้งอกตั้งใจสักนิดหนึ่ง “บอกว่าสักนิด” ก็พอ ไม่ต้องตั้งอกตั้งใจอย่างเคร่งเครียดมากเกินไป แต่ให้สม่ำเสมอ. สม่ำเสมอนี้ก็แบบเดียวกับที่พูดถึงพอเพียง สม่ำเสมอในทุกอย่าง. พอเพียงในทุกอย่าง เมืองไทยรอดเพราะโครงสร้างของประเทศ หรือนิสัยของประชากรชาวไทย. ประชากรนี่ หมายถึงประชาชนที่อยู่ในกรุง ประชาชนที่อยู่ในชนบท ประชาชนที่อยู่ชายทะเล ประชาชนที่อยู่บนภูเขา ยังดี คนยังมีจิตใจที่กล้าคิดกล้าทำ.
ถ้าทำตามคุณสมบัติของคน คือ คุณธรรมของคนหรือความดีของคน เมืองไทยสบาย ไม่ต้องให้ต่างประเทศมาขุด. แม้จะมีต่างประเทศมาขุด เขาก็ขุดให้เรา. เขาก็แบ่งให้เราด้วย เราก็แบ่งให้เขา. นี่ก็เลยกลายเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบ เศษ ๑ ส่วน ๔ หรือมากกว่าเศษ ๑ ส่วน ๔ ด้วยความพอเพียงที่แปลว่า พอประมาณ และมีเหตุมีผล. อันนี้ก็กลับมาถึงที่เศรษฐกิจพอเพียง ก็เลยนึกว่าเป็นสิ่งที่น่าจะนำไปคิดมีอีกเรื่องที่ได้พูดปีที่แล้ว และปีนี้มีความเปลี่ยนแปลงไป คือเรื่องที่ท่านนายกฯ พูดเรื่องภัยพิบัติน้ำท่วม. ปีที่แล้วภัยพิบัติน้ำท่วมได้เกิดขึ้น แต่ปีนี้ไม่เกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพร. ที่อำเภอเมืองจังหวัดชุมพรนั้น ปีที่แล้วน้ำท่วม ๒ ครั้ง และแต่ละครั้งเสียหายไปประมาณเกือบพันล้าน ๒ ครั้ง ก็เสียหายไปเกือบ ๒ พันล้าน. ปีนี้เสียไปไม่เท่าไหร่ เพราะไม่มีน้ำท่วม. เสียสำหรับโครงการที่เล่าให้ฟังว่าไปขุดคลองให้ครบถ้วน. คลองชลประทาน เขาขุดไว้แล้ว แต่ไม่ทะลุ. ถามเขาว่าเมื่อไหร่จะทะลุ เขาก็บอกว่าอีก ๒ ปี. ตอนนั้นปลายปี ๔๐ ปี ๔๑ ปี ๔๒ ก็จะยังท่วมอีก เพราะว่าคลองไม่ทะลุ จึงได้ทำโครงการให้ทะลุภายในเดือนเดียว. เงินไม่มีก็ให้ ปีที่แล้วบอกว่ามูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และมูลนิธิชัยพัฒนาให้ไป จะให้คืนหรือไม่คืนไม่เป็นไร. ลงท้ายได้คืน. ได้เงินคืนจากประชาชนเอง และจากทางราชการ ประชาชนเห็นว่าทำดี เขาก็บริจาค. ปีที่แล้วบ่นว่าชาวชุมพรไม่ยอมบริจาค แต่ปีนี้ยอมบริจาคช่วย จึงสามารถทำโครงการเพิ่มเติม. นอกจากการป้องกันน้ำท่วม ได้ทำโครงการเพิ่มเติมสำหรับการทำเกษตรที่ปลอดภัย และพอเพียงโดยใช้เงินที่ได้คืนมาตั้งกองทุน เพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้เป็นกลุ่มๆ.
ในปีนี้ระยะหนึ่ง ถ้าวัดน้ำในจุดหนึ่ง มีสูงกว่าปีที่แล้ว แต่เมื่อผ่านโครงการมาแล้ว ทำให้ที่ที่เคยท่วม ไม่ท่วม เพราะน้ำสามารถมาอยู่ในแก้มลิง อย่างที่อธิบายเรื่องแก้มลิงเมื่อปีที่แล้ว. แก้มลิงของเรานี้ ที่จริงเป็นแก้มลิงธรรมชาติที่ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น และต้องบริหารให้ดี. ลิงตัวนี้ตัวโตก็สามารถกักน้ำไว้ได้พอดี ถ้าบริหารดีแล้ว น้ำจะไม่ท่วม ปีนี้คนที่อยู่ข้างนอก ใกล้ทางที่เดินผ่านมาจากรถ. ถ้าลองหันหลังไปดู มีกรงลิง แล้วมีลิงอยู่ในนั้น.
ปีก่อนนี้ถามว่าเคยเห็นลิง ที่กินกล้วยไหม ก็ดูเหมือนไม่มีใครเคยเห็น จึงเอาลิงมาให้ดู. อยู่ในกรง หันหลังไปดูหน่อย. ลิงนี้เวลาให้กล้วยให้เงาะกิน มันใส่ปากแล้วเก็บไว้ในแก้ม ในแก้มลิง. หลังจากนั้นก็ค่อยๆ กลืน. น้ำที่อยู่ในแก้มลิงหนองใหญ่ที่ชุมพร ก็เป็นอย่างนั้น น้ำเข้ามาๆ แล้วจึงค่อยๆ ปล่อยออกไป. เป็นอันว่าเมื่อเข้ามาเก็บไว้ น้ำนั้นก็ไม่มาท่วมเมืองชุมพร. เมื่อน้ำที่ลงมาลดลงก็ปล่อยออก. ลิงนี้ก็เหมือนกัน. ได้พยายามถ่ายรูปลิงที่กินกล้วย ตอนนั้นลิงไม่ได้อยู่ตรงนั้น อยู่ที่ข้างสระกลม. ให้ถั่วลิสง มันก็เอาเข้าปาก แก้มลิงก็ตุ่ยออกมา แต่ถ่ายไม่ค่อยทัน ถ่ายไม่ได้ เพราะว่ามีลูกกรงทำให้รูปไม่ชัด. แต่คราวนี้มีอยู่ในกรงนี้ อาจจะสามารถถ่ายรูปลิงและแก้มของเขาให้เห็นชัด. แต่ท่านทั้งหลายที่ฟังเมื่อปีที่แล้ว เรื่องแก้มลิง คงได้ไปที่เขาดิน ดูลิงกินกล้วย กินเงาะ ก็คงได้เห็นแก้มลิงมาแล้ว เพราะสนใจเรื่องลิงขึ้น.
ตอนนี้เล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับที่พูดเมื่อปีที่แล้ว และที่นายกฯ ได้บอกว่า เป็นสิ่งที่ได้ปฏิบัติมา. ฉะนั้น ก็คงสมควรแก่เวลาที่จะให้ท่านทั้งหลายไปพักผ่อนได้. วันนี้ท่านมาในบัญชีที่อ่านเมื่อตะกี้ สองหมื่นกับเก้า (๒๐,๐๐๙) คน. ก็ไม่รู้ว่าครบหรือไม่ครบ (เสียงหัวเราะ) เพราะว่าเดิมเป็น สองหมื่นกับเจ็ด (๒๐,๐๐๗) คน แต่มีคนมาเพิ่มอีกสองคนเป็นสองหมื่นกับเก้า (๒๐,๐๐๙) คน. คงอยากให้มีเลขที่เป็นมงคล (เสียงหัวเราะ). ก็ขอขอบใจทุกคน ทั้งสองหมื่นกับเก้า (๒๐,๐๐๙) คน ที่มาให้พร และเป็นกำลังใจ. ก็ขอให้กำลังใจนี้สะท้อนกลับไปถึงแต่ละคน เพื่อให้ปฏิบัติงานได้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม. ใครทำอะไร มีหน้าที่อะไรก็ขอให้ทำได้อย่างดี และช่วยกัน ร่วมมือกัน ทำเพื่อความสงบสุข และความเจริญของประเทศและประชาชน.