ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค, ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค หมายถึง, ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค คือ, ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ความหมาย, ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค

ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค

          ลูกไฟแดงอมชมพู ที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขง สู่ท้องฟ้าใน วันออกพรรษา ที่บริเวณเขต อ.โพนพิสัย เห็นจนชินและเรียกสิ่งนี้ว่า “บั้งไฟพญานาค” เพราะลูกไฟที่ว่านี้จะเป็นลูกไฟ สีแดงอมชมพู ไม่มีเสียงไม่มีควัน ไม่มีเปลว ขึ้นตรง ไม่โค้งและตกลงมาเหมือนลูกไฟทั่วไป จะดับกลางอากาศ สังเกตได้ง่ายจากลูกไฟทั่วไป จะเกิดขึ้นในเขตตั้งแต่ บริเวณค่าย ตชด.(อ่างปลาบึก), วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่, ท่าน้ำวัดหลวง ต.วัดหลวง เรื่อยลงไปจนถึง เขตบ้านน้ำเป กิ่ง อ.รัตนวาปี แต่ก่อนจะเห็นเกิดขึ้นเฉพาะท่าน้ำวัดหลวง, วัดจุมพล, วัดไทย และท่าน้ำวัดจอมนาง อ.โพนพิสัยแต่ทุกวันนี้จะเห็นเกิดที่บ้านน้ำเป, บ้านท่าม่วง, ตาลชุม, ปากคาด และ แก่งอาฮง อ.บึงกาฬ

          ก่อนนี้คน อ.โพนพิสัย เห็นแล้วก็เฉย ๆ เพราะเห็นประจำทุกปีในวันออกพรรษา เมื่อวันออกพรรษา ได้ไปนั่งดูอยู่ที่ท่าน้ำวัดไทย อ.โพนพิสัย และได้ลงเรือไปไหลเรือไฟด้วย เมื่อไหลเรือไฟมาถึงบริเวณท่าน้ำวัดหลวงก็จะเริ่มเห็นลูกไฟดังกล่าว พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขง ขึ้นสูงไม่เกิน 2-3 วา นาน ๆ จะพุ่งขึ้นที จะขึ้นก็ต่อเมื่อประชาชนบนฝั่งเวียนเทียนเสร็จ เงียบ ลูกไฟถึงจะขึ้นให้เห็น แต่ทุกวันนี้ เมื่อ 18.00 น. ก็ขึ้นแล้วขึ้นสูงถึง 200-300 เมตร และขึ้นแต่ละทีก็มากด้วย ตั้งแต่ 5-20 ลูกติดต่อกัน

          สังเกตว่า ลูกไฟนี้หากขึ้นกลางโขงจะเบนเข้าหาฝั่ง หากขึ้นใกล้ฝั่งจะเบนออกกลางโขง ลูกไฟนี้จะขึ้นเฉพาะวันออกพรรษาเท่านั้น แต่ถ้าหากวันพระไทย ไม่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ของลาว ลูกไฟนี้ก็จะไม่ขึ้น ปีไหน (วันออกพรรษา) ตรงกันทั้งไทย และ ลาว ลูกไฟนี้จะขึ้นมาก เชื่อกันว่าที่ เขต อ.โพนพิสัย มีเมืองบาดาล อยู่ใต้พื้นดินและเป็นทางออกสู่เมืองมนุษย์ เรียกว่า เป็นเมืองหน้าด่านจึงมีบั้งไฟพญานาค เกิดขึ้นเป็นประจำที่นี้ ส่วนเมืองหลวงนั้นอยู่ที่ แก่งอาฮง อ.บึงกาฬ ที่ว่าอย่างนั้นเพราะที่แก่งอาฮง เมื่อหน้าแล้งจะมีสะดือแม่น้ำโขง ตลอดความยาวของแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านหลายประเทศ ตรงที่ลึกที่สุดก็อยู่ที่แก่งอาฮง เมื่อหน้าแล้ง ชาวประมงวัดโดยใช้เชือกผูกก้อนหินหย่อนลงไปได้ 99 วา ที่นี้จะมีลูกไฟขึ้นเป็นสีเขียวนวล บ่อยครั้งที่ชาวลุ่มแม่น้ำโขงต้องเสียชีวิตลงในระหว่างการเดินทาง ทางน้ำ พวกเขาเชื่อว่าเป็นการกระทำผิดต่อเจ้าแม่สองนาง หรือ เทพเจ้าทางน้ำ จึงถูกลงโทษเหตุนี้เรียกว่า “เงือกกิน” “เงือก, งู” เป็นสิ่งเดียวกันกับพญานาค แต่พญานาคนั้นมีภพเป็นที่อยู่อีกมิติหนึ่ง สามารถแปลงร่างได้หลายชนิด แปลงกายเป็นมนุษย์ หรือ อะไรก็ได้ เพียงแค่คิดเท่านั้นรูปร่างก็เปลี่ยนไปแล้ว
จึงได้ปรากฏอยู่บ่อยๆ ว่ามีคนเห็นงูใหญ่ หรือเห็นคนเดินลงไปในน้ำ หรือหลายครั้งที่มีคนพบรอยประหลาดแต่ก็เชื่อว่าเป็นรอยพญานาคที่เกิดขึ้นในเขต อ.โพนพิสัย หรือที่อื่น ๆ แม้แต่กลางกรุงเทพ ฯ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่หากคิดว่าทำไมและเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น และทำไมจะต้องเกิดขึ้นเฉพาะในวันออกพรรษาเท่านั้น และจะต้องตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ ของลาวจึงเชื่อได้ว่าพญานาค มีสัญชาติเชื้อชาติ ลาว ถึงแม้จะเกิดขึ้นทางฝั่งไทยก็ตาม

          นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ และเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขงที่แท้จริง เพราะลูกไฟประหลาดหรือที่เรียกว่า “บั้งไฟพญานาค” นี้เกิดขึ้นเฉพาะในเขต จ.หนองคายเท่านั้น ตามแนวแม่น้ำโขง ไม่มีขึ้นที่อื่นแม้จะอยู่ตามริมแม่น้ำโขงเช่นกัน จึงนับได้ว่าหนองคายกับเวียงจันทน์ สมัยก่อนนั้นการปกครองและการสร้างเมืองโดยพญานาค จึงได้รับอิทธิพลนี้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะถูกแยกการปกครอง และแยกประเทศออกจากกัน แต่ในความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์ก็เป็นพื้นที่เดียวกัน

          ตำนานประเพณีต่าง ๆ ของคนแถบลุ่มแม่น้ำโขง จะเกี่ยวข้องกับพญานาคกันทั้งนั้น เพราะพญานาค หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร และความเป็นอยู่ของมนุษย์

          ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เพื่อ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พญานาค ก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร และ สำคัญอย่างไร กับเมืองหนองคาย-เวียงจันทน์ และทำไม ”บั้งไฟพญานาค” จึงได้เกิดขึ้นเฉพาะเขต จ.หนองคาย เท่านั้น และที่สำคัญจะเกิดขึ้นเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกันระหว่าง ไทย-ลาว หากปีไหนแปดสองหนบั้งไฟพญานาค ก็จะเลื่อนไปขึ้นในวันพระลาว (15 ค่ำ ลาว) เป็นเรื่องที่ท้าทายให้มาดูมหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง บั้งไฟพญานาคว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงต้องเกิดในวันดังกล่าวเท่านั้น ใครทำเพื่ออะไร และ ได้อะไรจากการกระทำดังกล่าว เชื่อว่าหลายคนยังต้องการไปพิสูจน์ความมหัศจรรย์นี้อยู่ (ตำนานพระพุทธศาสนา กล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดา บนดาวดึงส์ ครบ 3 เดือน เมื่อเสด็จกลับโลกมนุษย์ พญานาคได้เนรมิตบันไดแก้ว เงิน ทอง เสด็จลงมา มนุษย์ เทวดา พญานาค ได้ฉลองสมโภชด้วยการจุดบั้งไฟถวาย โดยเฉพาะเหล่าพญานาค ดังนั้นต่อมาเหล่าพญานาคจึงได้ถือเอาวันออกพรรษาเป็นวันสำคัญ)

ความเป็นมาของบั้งไฟพญานาค

         แม่น้ำโขงที่ทอดตัวไหลเรื่อยมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน ไหลผ่านประเทศพม่า, ไทย, ลาว, เวียดนาม ระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร มีปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่น่าพิศวงที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคายคือ ในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะเกิดปรากฏการณ์ มีลูกไฟพุ่งขึ้นจากผิวน้ำสู่อากาศแล้วดับหายไป ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “บั้งไฟพญานาค”

         ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง เฉพาะช่วงจังหวัดหนองคาย จากการเล่าขานสืบต่อกันมาแต่ครั้งปู่ย่าตายายว่า ในแม่น้ำโขงมีเทพเจ้าทางน้ำเรียกว่าพญานาคอาศัยอยู่

         ในแต่ละปีจะมีผู้คนเสียชีวิตในแม่น้ำโขงจำนวนไม่น้อย ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเพราะการกระทำของเทพเจ้าทางน้ำ จึงได้สร้างศาลเจ้าแม่สองนาง (เทพเจ้านางน้ำ) ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อเซ่นไหว้ บวงสรวงให้ปกป้องคุ้มครอง มิให้ประสบภัยอันตรายและเกิดสิริมงคล แก่ผู้คนที่ประกอบอาชีพทางน้ำเป็นประจำทุกปี ดังปรากฎมีศาลเจ้าแม่สองนาง อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่อำเภอเมืองหนองคาย, อำเภอโพนพิสัย, อำเภอบึงกาฬ เป็นต้น

         ในวันออกพรรษาของทุกปี เชื่อกันว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้า จะเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลับสู่โลกมนุษย์ เหล่าบรรดาพญานาคที่อยู่ในแม่น้ำโขงต่างแสดงความยินดีปรีดา ด้วยการจุดบั้งไฟเฉลิมฉลอง เพื่อเป็นพุทธบูชา จึงปรากฏให้เห็นเป็นลูกไฟที่พุ่งขึ้นจากผิวน้ำ ชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็น “บั้งไฟพญานาค”

         เชื่อกันว่า พญานาคเป็นเทพหรือเทวดาจำพวกหนึ่ง รูปร่างคล้ายงูใหญ่ มีฤทธิ์มากสามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ได้ เป็นผู้ทรงศีล ทรงธรรม ปรารถนาในการบำเพ็ญทาน อาศัยอยู่ในเมืองบาดาล

         จากตำนานเล่าขานกันมานานว่า พญานาคมีส่วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์มาช้านาน ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ครั้งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้มีพญานาคชื่อ”มุจลินท์” มาขดตัวให้พระพุทธเจ้าประทับ แผ่พังพานใหญ่เหนือพระเศียรเพื่อปกป้องเพทภัยจากหมู่มาร มิให้มารบกวนสมาธิของพระพุทธองค์

         พระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด พระอาจารย์มั่น ภูริหัตโต หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ต่างเคยพูดว่า ขณะออกบำเพ็ญเพียรกัมมฐาน ไปยังป่าเขาลำเนาไพรนั้น มักจะพบว่ามีพญานาคมาฟังพระธรรมเทศนาด้วย

         ลูกไฟหรือบั้งไฟพญานาคจะเริ่มปรากฎให้เห็นตั้งแต่เวลาหลังพระอาทิตย์ตกดินจนถึงประมาณ 23 นาฬิกา มีลักษณะเป็นดวงไฟขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือไปจนถึงขนาดเท่าไข่ห่านหรือผลส้ม มีสีแดงอมชมพูออกสีบานเย็น หรือสีแดงทับทิม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น จะเริ่มปรากฎจากเหนือผิวน้ำ ตั้งแต่ระดับ 1-30 เมตร แล้วจะพุ่งขึ้นไปสูงประมาณระดับ 50-150 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5-10 วินาที แล้วก็จะดับหายวับไปในอากาศ ทั้งๆ ที่ดวงไฟยังโตอยุ่ มิได้หรี่เล็กลงแล้วค่อยๆ ดับ และไม่มีลักษณะโค้งตกลงมาเหมือนดอกไม้ไฟ

         การเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคจากงานวิจัยของนายแพทย์มนัส กนกศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. 2536-2541 พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของอากาศระดับชิดผิวโลกจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์, โลก, ดวงจันทร์ และพลังงานรังสีจากดวงอาทิตย์ และเมื่อดวงจันทร์, ดวงอาทิตยื อยู่ในตำแหน่งที่ก่อให้เกิดส่วนประกอบอากาศใหม่ที่ผิวโลกที่สามารถทำปฏิกิริยากับฟองแก๊ซธรรมชาติที่มีขนาด และส่วนประกอบที่เหมาะสมผุดขึ้นแทบทุกวันลุกติดเป็นดวงไฟ ณ ตำแหน่งและเวลาเดิม ขระโลกขยับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์โดยจะพบในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคม, เมษายน และพฤษภาคม รวม 1-3 วัน และฤดูหนาว กันยายน และตุลาคม ร่วม 2-5 วัน โดยวันที่พบจำนวนลูกไฟมากที่สุดคือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 สิ่งที่ทำให้หนองคายแตกต่างจากทุกแห่งในโลกคือ ที่อื่นคาดไม่ได้ว่าจะขึ้นวันไหนแน่ แต่ระบบนิเวศน์วิทยาที่มหัศจรรย์ของลุ่มแม่น้ำโขงนับเป็นเรื่องจริงที่เหลือเชื่อ เพราะทำให้บั้งไฟพญานาคขึ้นมาก และแน่นอน ประจักษ์แก่สายตามหาชนทุกคืนวันออกพรรษา ติดต่อกันมามากกว่าหนึ่งร้อยปีที่จังหวัดหนองคายเท่านั้น

ที่มา www.most.go.th , เว็บไซต์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค, ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค หมายถึง, ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค คือ, ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ความหมาย, ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu