กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 6 – 15 ธันวาคม 2550 การจัดการแข่งขันครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในการเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 24 ถือเป็นการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันครั้งที่ 6 ของประเทศไทย ซึ่งจะมี นักกีฬาในภูมิภาคอาเซียนร่วมชิงชัยใน 43 ชนิดกีฬา 475 เหรียญทอง โดยได้รับความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ทุกช่องเป็นอย่างดี โดยในครั้งนี้ทั้ง 6 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และทีไอทีวี จะทำหน้าที่ หมุนเวียนสลับกันไปทุกวัน
ตัวนำโชค ซีเกมส์ 2007
ตัวนำโชค ( MASCOT)
เป็นรูปแมวสีสวาดเป่าแคน มีผ้าขาวม้าสีสันสดใสคาดพุงแบบชาวอีสาน มี Emblem ซีเกมส์ครั้งที่ 24 อยู่ที่แขนเสื้อ แมวสีสวาด มีถิ่นกำเนิดที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา อันเป็นจังหวัดหลักของการแข่งขัน ชาวไทยเชื่อกันว่าแมวสีสวาดนี้ เป็นสัตว์ที่แสดงถึงความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ นำโชคลาภ และความเป็นสิริมงคล มาสู่ผู้เลี้ยงดูและผู้พบเห็น แมวสีสวาดยังแสดงถึงเอกลักษณ์ไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก (ผู้ออกแบบภาพตัวนำโชค คือ นายสะอาด จอมงาม จ.เชียงใหม่)
ชื่อตัวนำโชค ( MASCOT NAME)
ชื่อของแมวเพศผู้ตัวนี้ ชื่อว่า “แคน” ( CAN ) แปลว่า สามารถ สื่อความหมายถึงการส่งแรงใจให้นักกีฬาทุกชาติที่ร่วมแข่งขันให้สามารถคว้าเหรียญทองได้ ชื่อ “แคน” เป็นชื่อสั้น ออกเสียงง่าย ทั้งพ้องเสียงกับชื่อเครื่องดนตรีประจำภาคอีสาน ด้วย (ผู้ตั้งชื่อนี้ คือ เด็กหญิงปิยะธิดา ศรีวิมล อายุ 8 ปี จ.นนทบุรี)
ที่มา www.2007seagames.com
ประวัติซีเกมส์
“ซีเกมส์” กำเนิดมาจาก กีฬาแหลมทอง (SEAP GAMES) และกีฬาแหลมทองได้เกิดขึ้นที่ไทยโดยคนไทย และสิ้นสุดที่ไทยก่อนจะกลายเป็น "ซีเกมส์ (SEA GAMES)”
กีฬาแหลมทอง (SEAP GAMES) กำเนิดขึ้นเมื่อประมาณปลายปี 2500 ด้วยการริเริ่มของ คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ โดยในระยะนั้นประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้มีการติดต่อทางการกีฬากันเป็นประจำ โดยเฉพาะพม่าได้มีสาส์นเชิญประเทศไทยให้ส่งนักกีฬาไปร่วมแข่งขัน ฟุตบอล รักบี้ แบดมินตัน เทนนิส มวยสากล บาสเกตบอล กรีฑา เป็นประจำเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นประเพณีก็ว่าได้
ด้วยเหตุนี้ คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการ โอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ จึงได้เกิดความคิดขึ้นมาว่า "น่าจะจัดแข่งขันกีฬาระหว่างชาติในกลุ่มแหลมทอง" ขึ้นในลักษณะคล้ายคลึงกับ "เอเชี่ยนเกมส์" หรือ "โอลิมปิกเกมส์" เพราะประชาชาติที่อยู่ในภาคพื้นนี้มีความเป็นอยู่ อากาศและรูปร่างคล้ายคลึงกันมาก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการกีฬาของชาติในกลุ่มแหลมทองให้สูงขึ้นเพื่อเตรียมเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเกมส์ใหญ่ ๆ เช่น เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ และเพื่อให้นักกีฬาของแต่ละประเทศในแถบนี้ได้มีความสามารถฝึกฝนสมรรถภาพของตนให้มีมาตรฐานสูงขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเกมส์ใหญ่ ๆ และข้อสำคัญ คือ เป็นการสร้างสรรค์ความสัมพันธไมตรีและความร่วมมือระหว่างชาติเพื่อนบ้านในภาคพื้นแหลมทองด้วยกัน
ปี 2501 คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ได้นำความคิดเห็นของท่านฝากไปกับ ม.ร.เดฟ คิชเตอร์ ผู้ฝึกสอนกิตติมศักดิ์ของสมาคมกรีฑาไทยที่จะเดินทางไปประเทศเขมร เวียดนาม เป็นการส่วนตัว ระหว่างวันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ 2501 เพื่อได้ปรึกษาและซาวเสียงต่างประเทศเหล่านั้น ปรากฏว่าทั้งเขมร เวียดนาม ในสมัยนั้นได้สนับสนุนความคิดริเริ่มของคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ อย่างเต็มที่ ต่อมาคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ จึงได้นำความคิดเห็นของท่านที่จะจัดแข่งขันกีฬาระหว่างชาติในกลุ่มแหลมทอง รวมทั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติเพื่อนบ้านเสนอเป็นการปรึกษาต่อที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคฯครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2501 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้วรับหลักการเห็นควรให้จัดการแข่งขันครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในเดือนธันวาคม 2501 พร้อมกับได้มอบให้คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ นายกอง วิสุทธารมณ์ และนายสวัสดิ์ เลขยานนท์ เป็นผู้ดำเนินการวางโครงการและรายละเอียดต่อไป และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในโอกาสต่อมา
ในระหว่างการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 3 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เดือนพฤษภาคม 2501 คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วย คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ , นายกอง วิสุทธารมณ์ และนายสวัสดิ์ เลขยานนท์ เป็นผู้แทนไทยเดินทางนำข้อเสนอแนะ การจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในกลุ่มแหลมทองไปปรึกษาหารือกับประเทศในภาคพื้นแหลมทองที่โตเกียว ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมประชุมคือ ไทย พม่า มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เขมร และเวียดนาม ที่ประชุมได้เห็นชอบและมีมติให้ใช้ชื่อในการแข่งขันว่า "กีฬาแหลมทอง" (SEAP GAMES - SOUTH EAST ASIA PENINSULAR GAMES) และเพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยจึงกำหนดจัดให้มีการแข่งขันครั้งแรกที่ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2502
ต่อมาได้มีการแต่งตั้งให้ พล.ท.ประภาส จารุเสถียร (ยศในสมัยนั้น) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานมนตรีสหพันธ์กีฬาแหลมทองคนแรก และคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันครั้งที่ 1
ชาติสมาชิก
BRU บรูไน
CAM กัมพูชา
INA อินโดนีเซีย
LAO ลาว
MAS มาเลเซีย
MYA พม่า
PHI ฟิลิปปินส์
SIN สิงคโปร์
THA ไทย
TLS ติมอร์ตะวันออก
VIE เวียดนาม
คำขวัญซีเกมส์ 2007
คณะกรรมการจัดการแข่งขันเห็นชอบให้ใช้ คำภาษาอังกฤษ 3 คำ เป็น THEME การแข่งขันครั้งนี้ คือ
SPIRIT, FRIENDSHIP, AND CELEBRATIONS
โดยใช้ภาษาไทย ว่า “สปิริต มิตรภาพ และ การเฉลิมฉลอง” มีความหมายถึงการแข่งขันกีฬาที่แสดงออกถึงจิตวิญญาณ และมิตรภาพของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง เป็นการเฉลิมฉลอที่ประเทศได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ในห้วงเวลาที่มีการ เฉลิมฉลอง โอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2550
ตราสัญลักษณ์การแข่งขันซีเกมส์ 2007
ความหมายของตราสัญลักษณ์การแข่งขัน ( EMBLEM )
เป็นรูปทรงปราสาทหินพิมาย ของ จ.นครราชสีมา พร้อมรูปเรือใบ 3 ลำ สื่อความหมายในเรื่องของความก้าวหน้า การผสานวัฒนธรรม และ เทคโนโลยีของประเทศไทย ส่วนของใบเรือใบแรก ได้จัดวางสัญลักษณ์ห่วงวงกลมของสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ สื่อถึงความสัมพันธ์ทางด้านการกีฬาของประชาชาติในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
รูปทรงปรางค์ของปราสาทหินพิมาย แสดงถึงความล้ำค่าของ จ.นครราชสีมาและความภาคภูมิใจ ของคนในจังหวัด ตราสัญลักษณ์นี้ ผู้ออกแบบยังได้แรงบันดาลใจ จากการเฉลิมฉลองโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2550 และการที่ปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ 40 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชนะเลิศการแข่งขัน กีฬาเรือใบ ประเภท OK ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (ชื่อเดิมของกีฬาซีเกมส์)
ในการแข่งขัน ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2510 สีเหลืองที่ใช้ เป็นสีของวันพระราชสมภพ (วันจันทร์) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การใช้สี เหลือง แดง และ น้ำเงิน ประกอบกันเพราะต่างก็เป็นแม่สีตามทฤษฎีสี สื่อความหมายถึงกีฬาของชาวเอเชียอาคเนย์ที่ก่อเกิด เอกภาพ สัมพันธภาพ และมิตรภาพที่ดีต่อกัน