การกำหนดว่าวันไหนเป็นวันที่ระลึกของเหล่าทัพใด เริ่มมีมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ครั้งนั้นรัฐบาลได้จัดให้มีวันที่ระลึกคล้ายวันสถาปนาหน่วยราชการต่างๆ ขึ้น และประกาศให้วันที่ "๘ เมษายน" เป็น "วันกลาโหม" โดยพิจารณาเห็นว่า วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๐ เป็นวันที่ออกประกาศการจัดการทหารและพระราชบัญญัติจัดตั้ง กรมยุทธนาธิการ ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดการทหารไทยแบบสมัยใหม่ และมีความเจริญก้าวหน้าติดต่อกันมาจนทุกวันนี้ ในปีต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศกำหนดวันที่ระลึกของกองทัพบก คือ วันที ๒๘ กรกฎาคม กองทัพเรือ คือวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน และ กองทัพอากาศ คือวันที่ ๑๐ มกราคม ตามลำดับ
การที่กองทัพบกเสนอวันที่ ๒๘ กรกฎาคม เป็นวันกองทัพบกในครั้งนั้น เนื่องจากวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นวันที่กองทัพไทยได้ฉลองชัยชนะกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส โดยกระทำพิธีสวนสนามรับมอบดินแดนในอินโดจีน ที่จังหวัดพระตะบอง โดยมี พล.ท.หลวงพรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี ดินแดนที่ประเทศไทยได้รับคืนคราวนั้นคือ ดินแดนของไทยทั้งหมดที่เสียให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ และ พ.ศ.๒๔๔๙ อันได้แก่
๑. ดินแดนแคว้นหลวงพระบาง ที่อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
๒. ดินแดนแคว้นจัมปาศักดิ์ ที่อยู่ตรงข้ามปากเซ
๓. ดินแดนกัมพูชา ได้แก่ เมืองพระตะบอง ศรีโสภณ และไพลิน
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๙๔ สภากองทัพบกพิจารณาเห็นว่า ควรเลือกวันที่มีความสำคัญที่เป็นเกียรติประวัติในทางตำนานและประวัติศาสตร์ของชาติเป็นวันกองทัพบก ในที่สุด กองทัพบกได้กำหนดให้วันที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี เมื่อวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๑๓๕ เป็นวันที่ระลึกสำหรับกองทัพบก โดยพิจารณาเห็นว่า การกระทำยุทธหัตถีครั้งนั้น นับเป็นการยุทธทางบกครั้งยิ่งใหญ่ ชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำมาซึ่งเอกราชของประเทศอย่างสมบูรณ์ และได้รับการยกย่องสรรเสริญทั่วไป ทั้งทวีปเอเซีย และทวีปยุโรป วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งต่อปวงชนชาวไทย เป็นวันที่คนไทยพึงตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งยังเกิดความรักและหวงแหนชาติบ้านเมือง ใน พ.ศ.๒๔๙๔ สำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ประกาศให้วันที่ ๒๕ มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ระลึกของกองทัพบก
เมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ กระทรวงกลาโหมเห็นสมควรรวมวันที่ระลึกของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เป็นวันเดียวกัน วันที่ระลึกกระทรวงกลาโหม คือวันที่ ๘ เมษายน และให้เรียกว่า วันกองทัพไทย ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเน้นในด้านความสามัคคี และความเป็นปึกแผ่นของกองทัพไทย ตลอดจนเน้นความประหยัดเป็นหลัก สำนักนายกรับมนตรีจึงประกาศให้วันที่ ๘ เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกกองทัพไทย
ครั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ ได้ดำริว่า วันกองทัพไทยน่าจะเปลี่ยนเอาวันที่มีความสำคัญและมีความหมายยิ่งสำหรับทหารทั้งสามเหล่าทัพ พึงระลึกถึงด้วยความภาคภูมิใจ ปลุกใจให้เกิดความรักและหวงแหนชาติบ้านเมือง และพร้อมที่จะสละชีวิตเลือดเนื้อเป็นชาติพลี ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่ทหาร ทั้งเป็นที่ชื่นชมยินดีของปวงชนชาวไทยอีกด้วย คณะรัฐตรีจึงมีมติกำหนดให้ วันที่ ๒๕ มกราคม ของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย โดยใช้เหตุผลเดียวกับวันกองทัพบก และวันที่ ๘ เมษายน ของทุกปีเป็นวันสถาปนากระทรวงกลาโหม โดยกำหนดให้ใช้เป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๔
จะเห็นได้ว่า โดยหลักฐานแล้ว วันที่ระลึกของทั้ง ๓ เหล่าทัพ ได้ถูกนำเข้าไปรวมเป็นวันกองทัพไทย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๒ แต่การที่กองทัพต่างๆ จัดงานเฉลิมฉลองวันกองทัพของตนนั้นเป็นการกระทำภายในเหล่าทัพตนเท่านั้น เช่น ทอ.จัดงานวันกองทัพอากาศ ในวันที่ ๒๗ มีนาคม และ ทร. จัดงานวันกองทัพเรือ ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ส่วน ทบ. ยังคงยึดถือวันที่ ๒๕ มกราคมเป็นวันกองทัพบก
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติให้วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี เป็นวันยุทธหัตถี ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักฐานที่ราชบัณฑิตยสถานและคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอ ซึ่งเป็นผลทำให้ประวัติศาสตร์ของวันยุทธหัตถีเปลี่ยนไป ดังนั้น เพื่อดำรงความมุ่งหมายเดิมในการกำหนดวันที่ระลึกกองทัพไทยและกองทัพบก รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กระทรวงกลาโหมและกองทัพบก จึงได้พิจารณาเปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยและวันกองทัพบก จากเดิมวันที่ 25 มกราคม เป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี โดยเริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นไป
ดังนั้น “วันกองทัพไทย” และ “วันกองทัพบก” ซึ่งเป็นวันครบรอบวาระที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะแผ่พระบารมีให้ปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทยนี้ จึงเป็นวันสำคัญที่กำลังพลในกองทัพทุกนายจะได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ อันสำคัญยิ่งที่จะรักษาหวงแหน ปกป้องบ้านเมืองและสืบทอดเจตนารมณ์ของพระองค์ท่าน เพื่อรักษาแผ่นดินนี้ให้เป็นมรดกของลูกหลานไทยสืบไป