อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอกะเปอร์ กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง และอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีกแห่งหนึ่ง ครอบคลุมพื้นที่บริเวณหาดแหลมสนและหมู่เกาะใกล้เคียง ร่มรื่นด้วยป่าสนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นที่อยู่ของนกนานาชนิด ทั้งมีหาดทรายขาวละเอียดเป็นแนวยาวและกว้างใหญ่ มีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก อุทยานแห่งชาติแหลมสนมีเนื้อที่ประมาณ 196,875 ไร่ หรือ 315 ตารางกิโลเมตร
ในปี พ.ศ. 2523 ป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานีได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประจำหน่วยควบคุมป่าเลน ที่ รน.1 ว่า สภาพป่าบริเวณแหลมสนในท้องที่ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง มีลักษณะสวยงาม มีชายหาดริมทะเล มีพรรณไม้นานาชนิด และมีสัตว์น้ำชุกชุม ป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานีจึงมีคำสั่งที่ 154/2523 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2523 ให้ นายณรงค์ จันทรางกูร เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ออกทำการสำรวจสภาพป่าบริเวณแหลมสนเพื่อจัดตั้งเป็นวนอุทยาน ตามรายงานผลการสำรวจบริเวณพื้นที่ป่าแหลมสนมีธรรมชาติสวยงาม เหมาะจัดเป็นวนอุทยาน เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อน ซึ่งป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานีได้มีหนังสือที่ กส.0708(สฎ)/3660 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2523 ให้กรมป่าไม้พิจารณา ในเดือนมกราคม 2524 กรมป่าไม้ โดยกองอุทยานแห่งชาติจึงได้มีคำสั่งที่ 125/2524 ลงวันที่ 28 มกราคม 2524 ให้นายมโน มนูญสราญ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานแหลมสน อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
ต่อมาวนอุทยานแหลมสนได้มีหนังสือที่ กส.0713(หส)/11 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2525 รายงานผลการสำรวจเพิ่มเติมว่า บริเวณหาดแหลมสนมีสภาพป่าและบริเวณชายหาดที่สมบูรณ์ดี มีป่าสนธรรมชาติขึ้นอยู่ตลอดแนวชายหาดและยังมีทุ่งหญ้า รวมทั้งมีหมู่เกาะใกล้เคียง มีจุดเด่นและธรรมชาติที่สวยงามเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตลอดจน นายพร อุดมพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ได้ให้การสนับสนุนอย่างดียิ่ง กองอุทยานแห่งชาติจึงได้นำเรื่องเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2525 ในการประชุมครั้งที่ 2/2525 และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินหาดแหลมสนและเกาะใกล้เคียงในท้องที่ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง ตำบลม่วงกลวง ตำบลกะเปอร์ ตำบลบางหิน ตำบลนาคา ตำบลกำพวน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เนื้อที่ 315 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 100 ตอนที่ 135 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2526 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 46 ของประเทศไทย
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตั้งอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีนทางฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ในท้องที่อำเภอเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์ กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง และอำเภอคุระบุรีจังหวัดพังงา อยู่ในระหว่างเส้นรุ้งที่ 9 องศา 16 ลิบดา - 9 องศา 40 ลิบดา เหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 98 องศา 19 ลิบดา - 98 องศา 31 ลิบดา ตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อทิศเหนือจดอ่าวอ่าง ทิศใต้จดป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองม่วงกลวง และป่าแหลมหน้าทุ่ง จังหวัดระนอง ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขานมสาว แปลงที่ 2 จังหวัดพังงา และป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งนาดำ และป่าควนปากเตรียม จังหวัดพังงา ทิศตะวันออกจดคลองเตรียม ทิศตะวันตกจดทะเลอันดามัน
อุทยานแห่งชาติแหลมสนครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 315 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำประมาณ 268.55 ตารางกิโลเมตร หรือ 85.25 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ประกอบด้วยพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 60 กิโลเมตร และหมู่เกาะ 2 หมู่เกาะ ได้แก่ หมู่เกาะกำใหญ่ และหมู่เกาะกำนุ้ย รวมทั้งเกาะต่างๆ อีก 8 เกาะ ได้แก่ เกาะหมู เกาะเปียกน้ำน้อย เกาะเปียกน้ำใหญ่ เกาะเทา เกาะค้างคาว เกาะล้าน เกาะกำหนุ่ย และเกาะไข่ใหญ่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลสูงสุด 296 เมตร ที่เกาะกำใหญ่ สำหรับชายฝั่งแผ่นดินใหญ่มียอดเขาสูงสุดที่เขาอ่าวอ่างสูงจากระดับน้ำทะเล 264 เมตร
ลักษณะชายฝั่งของอุทยานแห่งชาติ มีลักษณะเว้าแหว่ง และท้องทะเลลึก ไม่ห่างจากชายฝั่งมากนัก เป็นลักษณะชายฝั่งจมตัว เป็นผลให้ชายหาดตลอดแนวฝั่งแคบ มีลำน้ำสายสั้นขนาดเล็กจำนวนมาก ไหลจากที่สูงตอนในแผ่นดินไหลออกสู่ทะเลอันดามันประกอบด้วย คลองของ คลองลัดโนด คลองขะนุด คลองบางเบน คลองกล้วย คลองนาพรุใหญ่ คลองกำพวน และคลองปูดำ ซึ่งแม่น้ำลำคลองเหล่านี้ได้พัดพาตะกอนดินมาทับถมตามปาก แม่น้ำและชายฝั่ง ทำให้ลักษณะชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำ ลำคลองถูกปกคลุมไปด้วยป่าชายเลน ส่วนบริเวณติดต่อกับทะเลเปิดจะมีลักษณะของชายฝั่งเป็นดินโคลน แต่จะพบสันดอนทรายอยู่บ้างในช่วงน้ำลง บริเวณเขาอ่าวอ่าง เกาะหมู เขาบางเบน เกาะเปียกน้ำ เกาะเทา แหลมนาว เกาะค้างคาว หมู่เกาะกำใหญ่ หมู่เกาะกำนุ้ย เกาะล้าน เกาะกำหนุ่ย และเขาอ่าวนุ้ย ประกอบด้วยหน่วยหินแก่งกระจาน ในหมู่หินตะนาวศรี มีอายุอยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอร์รัส ถึง ยุคเพอร์เมียน มีอายุประมาณ 345-230 ล้านปีมาแล้ว
พืชพรรณและสัตว์ป่า
ลักษณะพืชพรรณที่ปรากฏในส่วนของแผ่นดินใหญ่บริเวณเขาบางเบน เขาปากเตรียม และตอนกลางของเกาะต่างๆ เช่น เกาะเปียกน้ำใหญ่ เกาะเปียกน้ำน้อย เกาะเทา เกาะกำใหญ่ เกาะกำนุ้ย เกาะไข่ใหญ่ เกาะล้าน และเกาะค้างคาว เป็น ป่าดงดิบ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางแดง ยางเสียน เคี่ยมคะนอง กระบกกรัง ไข่เขียว หว้า ลำป้าง พระเจ้าห้าพระองค์ เหรียง ปาหนันช้าง จิกเขา กระทุ่ม มะหาด สัตบรรณ พะวา มะไฟ ฯลฯ ซึ่งตามลำต้นและกิ่งก้านของต้นไม้เหล่านี้ยังมีไม้เถาและพืชอิงอาศัยอีกหลายชนิดเช่น พญาเท้าเอว เกล็ดนาคราช ชายผ้าสีดา ข้าหลวงหลังลาย กระแตไต่ไม้ เป็นต้น พืชคลุมดินและพืชพื้นล่างได้แก่ หวายกำพวน หวายเดาใหญ่ หวายเล็ก ระกำ กะพ้อ คัดเค้าหนู เข็มทอง เคลงหนู แก้มขาว เอื้องหมายนา ลิเภาใหญ่ เตยหนู ข่าป่า และกล้วยป่า เป็นต้น
ในบริเวณชายหาดจะพบ ป่าชายหาด ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าโปร่ง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สนทะเล หยีทะเล จิกเล กระทิง หงอนไก่ทะเล ปอทะเล เมา มะหวด มะพลับ ลำบิดทะเล ทองหลางป่า โพบาย สมพง นน หูกวาง หมูหมัน ตะแบกนา พืชพื้นล่างได้แก่ ผักบุ้งทะเล หญ้าปริก พังแหรใบใหญ่ บุก และพืชในวงศ์ขิงข่า ป่าชายหาดในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติจะเป็นลักษณะของป่าสนทะเล โดยมีพันธุ์ไม้ชนิดอื่นขึ้นปะปนน้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นทรายลึก สนทะเลแต่ละต้นมีขนาดใหญ่ มีพูพอนใหญ่ เมื่อมีลมพายุจึงเป็นแนวกันลมอย่างดี บริเวณชายฝั่งทะเลที่มีดินโคลนและน้ำทะเลท่วมถึง เป็นสังคมพืชของ ป่าชายเลน ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น ป่าชายเลนบริเวณเลนเหลว ซึ่งบริเวณนี้ช่วงน้ำทะเลขึ้นจะท่วมถึงทุกวัน มีดินเลนเหลวและลึก ชนิดพันธุ์ไม้ที่ปรากฏจะขึ้นอยู่ห่างๆ มีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ แสมดำ แสมขาว แสมทะเล และมีโกงกางใบเล็กขึ้นปะปนเล็กน้อย และ ป่าชายเลนบริเวณดินเลนค่อนข้างแน่น อยู่ระหว่างป่าชายเลนที่ดินเลนเหลวกับป่าชายหาด พันธุ์ไม้ที่ขึ้นค่อนข้างหนาแน่น พันธุ์ไม้เด่นได้แก่ โปรงแดง โปรงขาว และโกงกางใบเล็ก พังกาหัวสุม ถั่วดำ ถั่วขาว ตะบูนขาว และตะบูนดำ สำหรับในบริเวณป่าชายเลนใกล้ทะเลซึ่งได้รับอิทธิพลของลมและคลื่นโดยตรงจะพบไม้ลำแพน แสมขาว และ โปรงแดง เพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ยังพบหญ้าทะเลประเภท หญ้าใบมะขาม และหญ้าชะเงาใบสั้นปล้องยาว
จากลักษณะสภาพภูมิประเทศและความอุดมสมบูรณ์ของสังคมพืช ทำให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติแหลมสนเหมาะเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์หลายประเภทด้วยกัน จากการสำรวจสัตว์ป่าในช่วงปี พ.ศ. 2539-2541 พบมีความหลากหลายของสัตว์ป่าดังนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 30 ชนิด ได้แก่ ลิ่นชวา กระแตใต้ ลิงแสม ลิงกัง ค่างแว่นถิ่นใต้ หมูป่า กระจงเล็ก เก้ง พญากระรอกดำ กระรอกปลายหางดำ หนูนาเล็ก หนูฟานเหลือง เม่นหางพวง ฯลฯ นก พบทั้งหมด 175 ชนิด ได้แก่ นกยางควาย เหยี่ยวแดง นกคุ่มอกลาย นกกระปูดใหญ่ นกตะขาบทุ่ง นกนางแอ่นบ้าน นกเด้าลมเหลือง นกเด้าดินทุ่ง นกขมิ้นน้อยสวน นกปรอดคอลาย นกแซงแซวหางปลา นกเอี้ยงสาริกา นกกินปลีอกเหลือง นกกระติ๊ดขี้หมู ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน พบ 23 ชนิด ได้แก่ เต่าเหลือง จิ้งจกหางเรียบ ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าแก้ว จิ้งเหลนหลากหลาย ตะกวด งูสิงบ้าน เป็นต้น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบ 7 ชนิด ได้แก่ คางคกบ้าน กบบัว กบหนอง กบทูด กบเขาสูง เขียดตะปาด เขียดงูสวน
ในส่วนที่เป็นคลองน้ำจืดพบปลาดุกด้าน ปลาหมอเทศ ปลาแขยงหิน ฯลฯ พื้นที่บริเวณเกาะและชายฝั่งทะเลของอุทยานแห่งชาติกอร์ปไปด้วยแนวปะการังและป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร หลบภัย และขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิดทั้งที่มีกระดูกสันหลังและสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น เต่าหญ้า ปลากระบอก ปลากะพงขาว ปลากระเบน ปลากระทุงเหว ปลากะรัง ปลาข้างเหลือง ปลาผีเสื้อคอขาว กุ้ง หมึก ปู หอยมือหมี หอยหวาน ลิ่นทะเล เม่นหนามดำ ปลิงทะเล ดาวทะเล ปะการัง และกัลปังหา เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติแหลมสนตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดระนองซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองฝนแปดแดดสี่ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีฝนตกชุกมาก โดยมีฝนเฉลี่ยตลอดทั้งปีมากกว่า 4,000 มิลลิเมตร ฝนจะเริ่มตกตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน เป็นช่วงฝนชุกมาก โดยมีค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนมากกว่า 700 มิลลิเมตรต่อเดือน ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อากาศไม่หนาวจัดเพราะอยู่ไกลจากอิทธิพลของอากาศหนาวพอสมควร แต่บางครั้งอาจมีฝนตกได้เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยพาเอาฝนมาตก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงใต้พัดมาปกคลุม ทำให้อากาศร้อนโดยทั่วไป อากาศจะร้อนสุดในเดือนเมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 35 องศาเซลเซียส แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำจากทะเลทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก ฤดูร้อนจึงเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการมาเยือนอุทยานแห่งชาติแหลมสน