เสาชิงช้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโบสถ์พราหมณ์หรือหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ถนนบ้านดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร (เดิม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้านหน้าเทวสถานตรงบริเวณที่เป็นใจกลางพระนคร เมื่อมีการสร้างโรงแก๊สขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงย้ายมาตั้งตรงบริเวณปัจจุบัน ) นับเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 จนถึงวันที่เสาชิงช้าถูกถอดลงมาบูรณะมีอายุรวม 222 ปี
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นเสาชิงช้าขนาดใหญ่ โครงยึดหัวเสาทั้งคู่ แกะสลักอย่างสวยงาม ทั้งหมดทาสีแดงชาด ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่ แต่เดิมอยู่ตรงหน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์และย้ายมาตั้งอยู่ ณ ที่ปัจจุบันซึ่งห่างกันไม่กี่สิบเมตร ต่อมาก็มีการซ่อมบูรณะกันเรื่อยมา นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๑ พ.ศ. ๒๔๖๓ ซึ่งมีหลักฐานจารึกไว้ว่า ไม้เสาชิงช้าคู่นี้กับทั้งเสาตะเกียบและทับหลัง เมื่อคราวเปลี่ยนเสาเก่าบริษัทหยุยตีลีโอโนเวนส์ นายหลุยส์โทมัส เลียวโอเวนส์ ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้วนั้นเป็นผู้ที่เคยได้มีเคหะสถานอยู่ในประเทศสยามกว่า ๕๐ ปี เสาชิงช้านี้ได้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ จากนั้นก็มีการบูรณะตลอดเวลา พอสรุปได้ว่า พ.ศ. ๒๔๗๘ ๒๔๙๐ ๒๕๐๒ ๒๕๑๓ เสาชิงช้ามีความสูงจากฐานถึงยอดลายกระจังประมาณ ๒๑ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางฐานประมาณ ๑๐ เมตร ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ ทำด้วยหินล้างสีขาวปูกระเบื้องดินเผาสีแดงมีบันได ๒ ชั้นทั้ง ๒ ด้าน คือ ทางด้านถนนบำรุงเมืองตัดผ่านตามแนวโค้งถนนบ้านดินสอ เสาชิงช้าแกนกลางคู่และเสาตะเกียบ ๒ คู่ เป็นเสาหัวเม็ดล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม กระจัง และหูข้างไม้สักจำหลักลวดลายใบเทศดอกพุดตาน ติดสายล่อฟ้าจากลวดลายกระจังด้านบนลงดิน
ความสำคัญต่อชุมชน เสาชิงช้า เป็นโบราณวัตถุสถานที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ซึ่งตามประวัติได้ใช้โล้ชิงช้า ในพิธีกรรมตรียัมปวาย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ และเลิกโล้ชิงช้าในสมัยรัชกาลที่ ๕
เส้นทางเข้าสู่เสาชิงช้า เสาชิงช้าอยู่หน้าโบสถ์พราหมณ์ และวัดสุทัศน์เทพวราราม จึงสามารถเข้าได้โดยผ่านถนนดินสอเข้ามาตัดกับถนนบำรุงเมือง
สาเหตุที่สร้างเสาชิงช้า
กล่าวกันว่า เนื่องมาจากมีพราหมณ์นาฬิวันชาวเมืองสุโขทัยผู้หนึ่ง ซึ่งมีนามว่าพระครูสิทธิชัย(กระต่าย) ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่าในการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวายอันเป็นประเพณีของพราหมณ์มีมาแต่โบราณนั้น จำเป็นต้องมีการโล้ชิงช้า และเสาชิงช้าก็ถูกสร้างขึ้นตรงกลางพระนครเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2327(่โบราณกำหนดเอาบริเวณเสาชิงช้าว่าเป็นกึ่งกลางพระนคร)
ต่อมาอีก 34 ปี คือเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2361(รัชกาลที่ 2)ได้เกิดฟ้าผ่าลงบนยอดเสาชิงช้าทำให้เสียหายไปเล็กน้อยและดูเหมือนว่าตั้งแต่นั้นมาก็จะไม่ได้ซ่อมแซมกันเท่าไรนัก ต่อมาอีกร้อยปีปรากฏว่าบริษัทหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้อยู่ในเวลานั้น ได้อุทิศซุงไม้สักให้หลายต้นเพื่อซ่อมแซมให้ดีดังเดิม โดยอุทิศบุญกุศลเป็นที่ระลึกแก่หลุยส์ ธอมัส เลียวโนเวนส์ (เป็นลูกชายของแอนนา เลียวโนเวนส์ ซึ่งได้เขียนประวัติไว้แล้วในหนังสือ "ชาวต่างชาติในประวัิติศาสตร์ไทย" ของ ส.พลายน้อย) การซ่อมแซมครั้งนั้นสำเร็จลงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2463 ดูเหมือนจะมีคำจารึกไว้ที่เสาด้วย
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2502 ทางเทศบาลได้จัดการซ่อมแซมใหม่ ได้ทำพิธียกกระจังขึ้นตั้งยอดเสาเมื่อเดือนธันวาคม 2502 เสาชิงช้านี้มีขนาดและความสูงดังต่อไปนี้คือ
สูงจากพื้นถนนถึงยอด 21.15 เมตร
สูงจากพื้นถนนถึงฐาน 0.75 เมตร
สูงจากพื้นฐานถึงคาน 18.70 เมตร
สูงจากคานถึงยอดกระจัง 1.70 เมตร
ปลายเสาตอนบนห่างกัน 4.05 เมตร
โคนเสาตอนล่างห่างกัน 5.70 เมตร
การซ่อมเสาชิงช้านี้ ทางบริษัทหลุยส์ทีเลียวโนเวนเคยเป็นผู้ออกเงินให้ โดยกำหนดให้ปีละ 100 ปอนด์
การบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า
ปี พ.ศ. 2547 กรุงเทพมหานครเตรียมการตกแต่งโบราณสถานในพื้นที่ และได้ตรวจพบเสาชิงช้ามีสภาพชำรุดทรุดโทรดตามอายุ เนื้อไม้ผุกร่อน มีร่องรอยปลวกทำลายโครงสร้างไม้เสาชิงช้า จึงได้ประสานทำงานร่วมกับกรมศิลปากร มีความเห็นตรงกันว่า ความชำรุดครั้งนี้อยู่ในขั้นวิกฤต การซ่อมบูรณะโบราณสถานของชาติจึงเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2548 – 2549 ปีที่เสาชิงช้าอายุครบ 222 ปี และกรุงเทพมหานครมีอายุ 224 ปี ซึ่งกรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลรับผิดชอบโบราณสถานทั่วพื้นที่ มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน) เป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา 5 ท่าน ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 20 ท่าน รวม 25 ท่าน เพื่อดำเนินการบูรณะเสาชิงช้าให้ถูกต้องตามหลักวิธีปฏิบัติแห่งราชประเพณีนิยม ประวัติและรูปแบบเดิมทุกประการ โดยแบ่งการทำงานเป็นส่วนการบูรณะ ซ่อมแซมและการหาไม้เพื่อนำมาทดแทนเสาเดิมที่ทรุดโทรมและผุพังลงตามกาลเวลาด้วยเทคนิคทางวิศวกรรม
สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้รับมอบหมายให้เตรียมซ่อมแซมรอยต่อรอบแตกของไม้ เสา รวมทั้งโครงสร้างเสาชิงช้าทั้งหมด และเมื่อได้เข้าทำงานในสถานที่ตรวจสอบโดยละเอียดพบความเสียหายมากกว่าเมื่อตรวจพบขั้นต้น จึงปรับเปลี่ยนวิธีซ่อมโดยเทคโนโลยีใหม่ใช้วัสดุสังเคราะห์ประเภทคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon Fiber) และอิพ็อกซี่ (Epoxy) ที่มีความเหนียวและแข็งแรงเพียงพอจะรับน้ำหนักและแรงกระทำต่อโครงสร้างเสาชิงช้า มีการตกแต่งผิวเนื้อไม้ทั้งต้นอย่างพิถีพิถันใช้เวลารวมทั้งสิ้น 60 วัน จึงแล้วเสร็จ เสาชิงช้ามีความมั่นคงแข็งแรงและกรุงเทพมหานครได้จัดพิธีบวงสรวงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 โดยพระราชครูวามเทพมุนี เป็นผู้ประกอบพิธีพราหมณ์ ณ บริเวณลานเสาชิงช้า
นอกจากการซ่อมบูรณะ คณะกรรมการอำนวยการบูรณะเสาชิงช้า กรุงเทพมหานครยังได้เตรียมการจัดหาไม้มาทดแทนเสาชิงช้าตามลักษณะ ขนาด และรูปแบบเดิม โดยหารือกับหน่วยงานที่มีความชำนาญในเรื่องพันธุ์ไม้ ขณะที่สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานครดำเนินการบูรณะเสาชิงช้าอยู่นั้น คณะอนุกรรมการสืบค้นหาไม้ก็เริ่มดำเนินงานโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและสถานบันการศึกษาต่าง ๆ ดำเนินงานในภูมิภาคได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกค้นหาต้นสักที่มีลำต้นตรง ไม่มีตำหนิขนาดใช้จริงยาวประมาณ 20 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางปลายเสาประมาณ 40 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางโคนต้นประมาณ 80 เซนติเมตร เป็นอย่างต่ำ และไม้ก่อนการตัดแต่งสูง 25 เมตร ตามแหล่งไม้สักทั่วภาคเหนือและภาคกลาง เดินทางไปสืบค้นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ และจังหวัดแพร่ ฯลฯ โดยมีอาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเดินทางไปค้นหาใช้หลักวิชาตรวจสอบต้นสักที่อยู่ในข่ายการคัดเลือกทุกแห่ง
จนในที่สุด สามารถพบไม้สักสำคัญทั้ง 6 ต้นตามกำหนด จากป่าภาคเหนือรวม 3 แห่ง ในท้องที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ที่ยังคงสามารถรักษามรดกธรรมชาติของท้องถิ่นไว้สืบต่อมรดกวัฒนธรรมของชาติโดยรวม นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดแพร่ ธนารักษ์พื้นที่แพร่ แขวงการทางแพร่ กรมทางหลวง ให้ความอนุเคราะห์มอบไม้ให้กรุงเทพมหานครรับไปดำเนินงานทั้ง 6 ต้น
พระราชพิธีตรียัมพวาย (ประเพณีโล้ชิงช้า)
แต่เดิมนั้นพระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวาย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือนมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจะทำกันในเดือนอ้าย (ธ.ค.) ครั้นเมื่อถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนมาทำในเดือนยี่ (ม.ค.)
พิธีนี้ถือเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ ซึ่งในหนึ่งปีพระอิศวรจะเสด็จมาเยี่ยมโลก 10 วัน พราหมณ์จะประชุมที่เทวสถานพระอิศวรแล้วผูกพรตชำระกายสระเกล้าเตรียมรับเสด็จพระอิศวร
พระราชพิธีตรียัมพวาย ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนมีดังนี้
"ความมุ่งหมายของการพิธีตรียัมพวายที่ทำนี้ว่า พระอิศวรเป็นเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้งหนึ่งกำหนด 10 วัน วันเดือนอ้าย ขึ้น 1 ค่ำเป็นวันเสด็จลง แรมค่ำ 1 เป็นวันเสด็จกลับต่อนั้นในวันค่ำ 1 พระนารายณ์เสด็จลงมา แรม 5 ค่ำเสด็จกลับ การที่เลื่อนมาเดือนยี่เกินกำหนดซึ่งเสด็จลงมาแต่ก่อนก็จะไม่เป็นการยากอันใด ด้วยพราหมณ์ย่อมถือตัวว่าเป็นผู้ถือประแจสวรรค์คล้ายกันกับโป๊ป เมื่อไม่อ่านเวทเปิดประตูถวายก็เสด็จไม่ได้อยู่เอง การซึ่งรับรองพระอิศวรนั้น ก็จัดการรับรองให้เป็นการสนุกครึกครื้นตามเรื่องราวที่กล่าวไว้ คือ มีเทพยดาทั้งหลายมาเฝ้าประชุมพร้อมกันเป็นต้นว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี พระคงคา โลกบาดาลทั้งสี่ก็มาเล่นเซอคัสโล้ชิงช้าถวายพญานาคหรือเทพยดาว่ากันเป็นสองอย่างอยู่ ก็มารำเสนงพ่นน้ำหรือสาดน้ำถวาย บรรดาในการพระราชพิธีตรียัมพวายส่วนพระอิศวรนั้นเป็นการครึกครื้น มีผู้คนไปรับแจกข้าวตอก ข้าวเม่าที่เหลือจากสรวงสังเวยเป็นสวัสดิมงคล แต่ส่วนการพระราชพิธีตรียัมพวายของพระนารายณนั้นทำเป็นการเงียบ ด้วยพระองค์ไม่โปรดในการโซไซเอตีมีพื้นเป็นโบราณอยู่ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ความมุ่งหมายของการพระราชพิธีมีความนิยมดังกล่าวนี้"
ส่วนการโล้ชิงช้า นั้นจะขอยกตำราพิธีทวาทศมาสฉบับเก่าซึ่งอธิบายถึงการโล้ชิงช้าไว้เป็นอย่างดีและแปลกกว่าฉบับอื่นมาให้อ่านดังต่อไปนี้
"พระราชพิธีตรียัมพวาย ให้ตั้งโรงราชพิธีประดับดุจก่อนให้ชีพ่อพราหมณ์เชิญพระอิศวรพระนารายณ์มาตั้ง แล้วให้เจ้าพนักงานตั้งชุมรุมพิะีเป็นปรำสูง 6 ศอก แล้วให้เจ้าพระยาพลเทพแต่งตัวโอ่โถง ใส่อินทรธนู ใส่เสนากุฎกั้นสัปทนกระฉิ่งคานหามแห่มาเข้าโรงราชพิธี
ครั้นได้ฤกษ์ดี ให้เจ้าพระยาพลเทพออกยืนตีนดียวในปรำมีพราหมณ์ 4 คนเฝ้าอยู่ ให้เจ้าพนักงานขึ้นถีบชิงช้าทีละ 4 คน เงิน 1 ตำลึงเป็น 3 ผลัด เป็นคน 12 คน เป็นเงิน 3 ตำลึง ถีบไปกว่าจะแวยเงินได้เปมือนกันทั้ง 3 วัน
ครั้นวันสุดท้าย ให้เจ้าพนักงานเอาแม่ขันสาคร 3 ใบตั้งน้ำไว้กับเขนงเขาโคเพลาะ ครั้นถีบชิงช้าแล้วให้เขาทั้ง 12 คนจับเขนงรำพัดชา ตักน้ำสาดกันไปเวียนรอบไปกว่าจะสิ้นน้ำนั้น แล้วให้เจ้าพนักงานเอากระดานแขวนไว้ 3 วันแล้วให้เจ้าพนักงานเก็บไว้ตามตำแหน่งที่นั้นเถิด เสร็จการพระราชพิธีตรียัมพวายเพื่อทรงพระเจริญพิพัฒมงคล"
แต่ตำรานี้ดูจะเก่าและแปลกกว่าตำราอื่นเช่นใช้คำว่าจับเขนงรำพัดชา เรื่องการโล้ชิงช้าตามพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกล่าวว่า "กลางชมรมตั้งราวไม้ไผ่หุ้มผ้าขาวสำหรับนั่งราวหนึ่งสำหรับพิงราวหนึ่ง นำพระยาเข้าไปนั่งที่ราว ยกเท้าขวาพาดเข่าซ้าย เท้าซ้ายยันพื้น ...นาลิวันขึ้นโล้ชิงช้ากระดานละ 4 คน 3 กระดาน มีเสาไม้ไผ่ปลายผูกถุงเงินปักไว้ กระดานแรก 3 ตำลึง กระดานที่สอง 10 บาท กระดานที่สาม 2 ตำลึง นาลิวันซึ่งโล้ชิงช้านั้น แรกขี้นไปนั่งถวายบังคมแลนั่งโล้ไปจนชิงช้าโยนแรงจึงได้ลุกขึ้นยืน คนหน้าคอยคาบเงินที่ผูกไว้บนปลายไม้ คนหลังคอยแก้ท้ายให้ตรงเสาเงิน ครั้นโล้ชิงช้าเสร็จสามกระดานแล้ว ตั้งกระบวนกลับ ... วัน 9 ค่ำ...นาลิวันโล้ชิงช้า 3 กระดาน เงินที่ผูกปลายไม้ก็เท่ากันกับวันแรก เมื่อโล้ชิงช้าแล้วนาลิวันทั้ง 12 คน ยกขันที่เรียกขันสาคร มีน้ำเต็มในขันมาตั้งหน้าชมรมรำเสนงสาดน้ำกันครบสามเสนง แล้วพระยาย้ายไปนั่งชมรมที่ 2 ที่ 3 นาลิวันก็ยกขันตามไปรำเสนงหน้าชมรมสาดน้ำแห่งละสามเสนง เป็นเสร็จการ" ดังนี้จะเห็นว่ารายละเอียดบางอย่างผิดกัน อาจจะเปลี่ยนแปลงในสมัยหลังๆ
เรื่องการโล้ชิงช้านี้ยังมีคนเข้าใจผิดๆ กันอยู่ว่า ถ้าใครโล้ชิงช้าแล้วตกลงมาจะถูกฝังไว้ที่ใต้เสาชิงช้านั้น เรื่องนี้ไม่เคยปรากฏว่ามีการตกหรือฝังใครเลย และในตำราก็ไม่มีเล่มใดที่ได้บอกไว้ ดังนั้นมีที่กล่าวไว้แปลกแห่งหนึ่งคือในคำให้การชาวกรุงเก่าเขียนไว้ว่า "ให้พราหมร์โล้ชิงช้าไปคาบเงินที่ห้อยไว้ ถ้าคาบได้ก็ได้เงินนั้น ถ้าแลคาบมิได้พราหมณ์นั้นตัองถูกฝังดินเพียงบั้นเอว" เท่านั้น จึงคิดว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดๆ ติดมาจากเรื่องการฝังหลักเมืองเป็นแน่ คือเอะอะอะไรก็จะฝังกันเสียทุกที ความจริงนั้นผู้ที่จะขึ้นโล้ชิงช้าเขาก็มีเชือกเป็นที่ยึกถือไว้แน่นทั้ง 4 คน คือสองคนอยู่หัวกระดานข้างหนึ่ง และอีกสองคนอยู่หัวกระดานอีกข้างหนึ่ง และมีเชือกจับมั่นคง ไม่มีทางตกลงมาได้นอกจากว่าจะเป็นลม แต่ก็ไม่เคยปรากฏ
การที่จะฉวยเอาเงินรางวัลได้นั้น ก็อยู่ที่คนหัวกระดานเป็นคนฉวย เงินนั้นเขาผูกแขวนไว้กับฉัตรสูงปักไว้แล้วมีคันทวยยื่นออกไประยะห่างพอที่จะโล้ชิงช้ามาถึงได้ ที่ใต้ชิงช้านั้นเขาผูกเชือกล่ามลงมา สำหรับให้คนข้างล่างช่วยชักอีกทีหนึ่ง การโล้ชิงช้าเป็นเรื่องที่น่าสนุกสนานและตื่นเต้นก็ตอนที่่จะฉวยเงินนี่เอง จะได้หรือไม่ได้คนดูที่อยู่ข้างล่างก็ตีปีกเชียร์กันอย่างสนุก
การโล้ชิงช้านี้ ได้มีติดต่อกันมาหลายรัชกาล จนถึงรัชกาลที่ ๗ เศรษฐกิจของไทยเราชักไม่ค่อยมั่นคง เงินในท้องพระคลังร่อยหรอลงเต็มที ถึงกับต้องตัดรายจ่ายที่ไม่สำคัญออก และปลดข้าราชการออกเป็นแถว เหลือเอาไว้แต่เฉพาะกรมที่สำคัญๆ เท่านั้น การโล้ชิงช้าต้องใช้เงินมาก และเป็นการหมดเปลืองเงินหลวง และในระยะนั้นเป็นสมัยที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยใหม่ๆ เหตุการณ์ยังไม่ค่อยสงบดีนัก ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้จึงได้ยกเลิกประเพณีการโล้ชิงช้าเสีย คงทำเฉพาะปี พ.ศ. 2477 ซึ่งพระยาชลมารควิจารณ์(ม.ล.พงศ์ สนิทวงศ์) ได้เป็นประธานหมู่นาฬิวัน นับเป็นปีสุดท้ายที่ได้มีการโล้ชิงช้า ส่วนในปีต่อมาได้จ่ายเงินให้แก่พราหมณ์ไปจัดทำเอาเองด้วยยอดเงิน 400 บาท การโล้ชิงช้าก็เลยงด จัดแต่พิธีบวงสรวงสังเวยพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น ปัจจุบันการประกอบพระราชพิธีนี้จะกระทำเป็นการภายในเทวสถานเท่านั้น
งานฉลองเสาชิงช้า พุทธศักราช 2550
งานฉลองเสาชิงช้า พุทธศักราช 2550
วันที่ 11-13 กันยายน 2550
ณ บริเวณลานคนเมืองและเสาชิงช้า กรุงเทพฯ
สืบเนื่องจากกรุงเทพมหานครได้บูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า โบราณสถานสำคัญของชาติจนแล้วเสร็จในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับราชประเพณีและบรมราชวงศ์จักรีมายาวนานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รวมอายุ 223 ปี กรุงเทพมหานครจึงทำหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีฉลองเสาชิงช้าอย่างเป็นทางการ
เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีฉลองเสาชิงช้า 13 ก.ย. 50
กรุงเทพมหานครได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีฉลองเสาชิงช้าอย่างเป็นทางการ โดยเสด็จฯ มาถึงพลับพลาพิธี เวลา 17.00 น. มีกองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ทรงจุดธูปเทียนบูชาเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง พระราชทานให้พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์อัญเชิญไปสักการะเทวรูปที่เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ ก่อนจะเสด็จฯ ไปยังเสาชิงช้า เพื่อทรงพระสุหร่าย ฉีดที่เสาชิงช้า และพระราชทานผ้าสีชมพูให้กรุงเทพมหานครอัญเชิญไปผูกที่เสาชิงช้า เป็นการประกอบพิธีฉลองเสาชิงช้าอย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองพระองค์จะเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการเรื่องราวของเสาชิงช้า ประกอบด้วย ประวัติการสร้างเสาชิงช้า และการบูรณปฏิสังขรณ์ พิธีตรียัมปวาย พิธีโล้ชิงช้า ความหมายของการช้าหงส์ และความหมายของพราหมณ์ นาลิวัน ผู้โล้ชิงช้า
ในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดทำของที่ระลึกเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย ประกอบด้วย พระศรีศากยมุนีเนื้อทองคำ กำกับหมายเลข 1-9 จำนวน 9 องค์ พระศรีศากยมุนี เนื้อเงิน กำกับหมายเลข 1-9 จำนวน 9 องค์ พระชุดเสาชิงช้า ประกอบด้วย พระ 9 องค์ จำนวน 1 ชุด เทวรูปพระตรีมูรติ ขนาดกว้าง 12 นิ้ว สูง 88 ซม. จำนวน 1 องค์ และเสาชิงช้าจำลอง ทำจากเนื้อไม้สักทอง อายุกว่า 100 ปี ต้นเดียวกับที่ใช้ทำเสาชิงช้าต้นหลัก ขนาดย่อส่วนจากของจริง 1 : 25
11 ก.ย. วันสุกดิบ
“งานฉลองเสาชิงช้า พ.ศ. 2550” กำหนดจัดเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย. 50 โดยมีการประกอบพิธีตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เน้นให้ความรู้แก่ประชาชนถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง กิจกรรมหลักภายในงานฉลองเสาชิงช้าประกอบด้วย พิธีพุทธ-พราหมณ์ พิธีเปิดงาน นิทรรศการ รถรางชมเมือง การสาธิตและการแสดงลานวิถีไทย การประกวดภาพถ่าย “มหัศจรรย์เสาชิงช้า” และมหรสพเฉลิมฉลอง
กิจกรรมงานฉลองเสาชิงช้า เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 50 เวลา 14.00 น. พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงการสถาปนาเมืองพี่เมืองน้องระหว่างกทม. กับจังหวัดแพร่ ที่ได้มอบไม้สักทองทั้ง 6 ต้น ให้กทม. มาบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า จากนั้นเป็นพิธีมอบรางวัลผู้ชนะ การประกวดภาพถ่าย “มหัศจรรย์เสาชิงช้า” ต่อเนื่องด้วยการเปิดนิทรรศการงานฉลองเสาชิงช้า และการเปิดกิจกรรมทัศนศึกษารถรางชมเมืองรอบกรุงรัตนโกสินทร์รอบปฐมฤกษ์ และเวลา 15.00 น. จะเริ่มพิธีเจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดมนต์เย็น โดยพระราชาคณะ 10 รูป ณ บริเวณลานคนเมือง ซึ่งเป็นกิจกรรมตามธรรมเนียมไทยที่จะมีการสวดมนต์เย็นในวันสุกดิบก่อนจะมีงานใหญ่ในวันรุ่งขึ้น โดยมีการปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีไทยและการแสดงประชันปี่พาทย์ซึ่งหาชมได้ยาก นำโดยวงกรุงเทพมหานครและวงศ์ปี่พาทย์ ชั้นนำอีก 4 วง
12 ก.ย. วันฉลองเสาชิงช้า
วันที่ 12 ก.ย. 50 เริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น. พิธีทำบุตรตักบาตรพระสงฆ์ 81 รูป และเปิดให้ชมนิทรรศการรอบบริเวณงาน ตั้งแต่ 09.00 น. ขณะเดียวกันก็จะมีการประกอบพิธีชุมนุมเทวดา อ่านโองการโดยครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ การรำแก้บน คณะเรืองนนท์ นำโดยครูบุญสร้าง เรืองนนท์ ศิลปินกรมศิลปากร ณ เทวสถาน โบสถ์พราหมน์ และการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เวลา 17.00-18.00 น. โดยกรุงเทพมหานครเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความจงรักภักดีด้วยการสวมเสื้อสีเหลืองมาร่วมเฝ้าฯรับเสด็จที่ลานคนเมือง ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจให้ชมด้วย
จากนั้นในช่วงเย็นเวลา 18.00-22.00 น. จะมีการแสดงลานวิถีไทยและมหรสพบนเวที ซึ่งมหรสพที่นำมาแสดงนี้เป็นการรวมตัวของศิลปินแห่งชาติจากกรมศิลปากรที่หาชมได้ยาก เช่น ขับเสภา ซึ่งจะเกริ่นเรื่องสร้างพระนคร นำโดยครูสมชาย ทับพร จากกรมศิลปากร คุณนฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ ศิลปินอิสระ การแสดงโขนชุด “สร้างพระนคร” โดยคณะโขนกรมศิลปากร ละครชาตรี เรื่อง “ระเด่นลันได” นำแสดงโดย ครูมืด (ประสาท ทองอร่าม) จากกรมศิลปากร ในช่วงเวลา 21.00-22.00 น. การแสดงหุ่นละครเล็ก ร่วมกับวงดุริยางค์ทหารบก ประกอบด้วยการแสดงทั้ง 9 ชุด ได้แก่ ระบำครุฑเฉลิมพระเกียรติ ระบำศรีชัยสิงห์ รำโนราห์ กินรีร่อน วีรชัยลิง กลองยาว-โปงลาง โจโจ้ซัง (ญี่ปุ่น) อารีดัง (เกาหลี) และการแสดงแปดนางฟ้า (จีน)
13 ก.ย. เฉลิมฉลองต่อเนื่อง
วันที่ 13 ก.ย. 50 เป็นการเฉลิมฉลองต่อเนื่องอีกหนึ่งวัน ซึ่งจะเปิดให้ชมนิทรรศการรอบบริเวณงานตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป มีการรำแก้บนที่โบสถ์พราหมณ์ ในช่วง 09.00-17.00 น. ส่วนบริการรถรางชมเมือง มีตั้งแต่ 10.00-16.00 น. จากนั้นเวลา 18.00-21.00 น. เป็นการแสดงที่น่าสนใจมาก คือ เมดเลย์ “มหรสพกรุงรัตนโกสินทร์ แรกสร้างกรุงเทพฯ ถึงปัจจุบัน” โดยมีการร้อยเรียง ละครชาตรี ลิเก ปี่พาทย์ภาษา แตรวง และลูกทุ่ง กำกับโดยครูมืด จากกรมศิลปากร ต่อด้วยการแสดงหุ่นละครเล็ก ทั้ง 9 ชุด แสดงร่วมกับวงดุริยางทหารบก จนถึงเวลา 22.00 น.
สัปดาห์ก่อนงานฉลอง
ก่อนที่จะถึงงานฉลอง กรุงเทพมหานครได้จัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดสัปดาห์ โดยในวันที่ 4 ก.ย. 50 เชิญประชาคม ผู้ประกอบการ และประชาชน ย่านเสาชิงช้า มาร่วมประชุมเพื่อขอความร่วมมือในการจัดงานฉลองและรับเสด็จ ซึ่งถือว่าประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ด้วย
ส่วนวันที่ 5 ก.ย. 50 ทาง 5 สมาคมฯ ถ่ายภาพ จะมาชี้จุดและมุมมองการถ่ายภาพเสาชิงช้าที่สวยงาม โดยจะเชิญผู้ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดถ่ายภาพมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการถ่ายภาพเสาชิงช้า พร้อมทั้งมีการสาธิตการถ่ายภาพคู่กับเสาชิงช้า ซึ่งจะเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานฉลอง สำหรับประชาชนที่อยากได้ภาพที่ระลึกในงานประวัติศาสตร์ และบริจาคเงินค่าภาพเข้ากองทุนเสาชิงช้า
แท้จริงแล้วการโล้ชิงช้าเริ่มต้นที่ไหน
นอกเหนือจากการจัดงานฉลองแล้ว กรุงเทพมหานครยังอยากให้เยาวชน ประชาชนชาวไทย และสื่อมวลชน ได้มีความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของเสาชิงช้าว่า ต้นกำเนิดของเสาชิงช้า และพิธีโล้ชิงช้าแท้จริงนั้นมาจากไหน สมัยโบราณนั้นมีการโล้ชิงช้ากันอย่างไร โดยกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับคณะกรรมการกรุงเทพฯ ศึกษา จัดกิจกรรมเสวนา เรื่อง “โล้ชิงช้า พิธีกรรมดึกดำบรรพ์ของสุวรรณภูมิ ไม่ใช่พิธีพราหมณ์ชมพูทวีป” ในวันที่ 7 ก.ย. 50 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ซึ่งในวันนั้น ครูมืด จากกรมศิลปากร จะมาร่วมเล่าถึงความสำคัญและความน่าสนใจในการชมการแสดงมหรสพ และคำแนะนำในการชมนิทรรศการในงานฉลองเสาชิงช้า
ที่มา : ส.พลายน้อย,เล่าเรื่องบางกอก www.bma-cpd.go.th
https://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/bangkok/index6.htm
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=bcomp&month=07-09-2007&group=1&gblog=5
https://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=2070
https://tarachai.tripod.com/03seethaitumnan/central/bangkok003.htm
https://tourinthai.com