ในช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงต้นฤดูร้อน (พฤศจิกายนถึงมีนาคม) ปกติประเทศไทยจะมีท้องฟ้าโปร่ง และมีเมฆปกคลุมน้อยกว่าช่วงอื่น ๆ ของปี เมฆที่ปกคลุมในช่วงดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเมฆชั้นสูง และมีเมฆก่อตัวในทางตั้งเช่นเมฆคิวมูลัส หรือเมฆคิวมูโลนิมบัส ที่ก่อให้เกิดฝนฟ้าคะนองได้บ้าง โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไปถึงพฤษภาคม เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนส่วนใหญ่ท้องฟ้าจะมีเมฆมาก หรือมีเมฆเต็มท้องฟ้า เว้นแต่ในช่วงฝนทิ้งประมาณปลายเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคมอาจมีโอกาสที่จะมีท้องฟ้าโปร่งได้
พายุฟ้าคะนอง
โดยทั่วไปเป็นพายุที่เกิดเฉพาะท้องถิ่น เกิดจากเมฆคิวมูโลนิมบัส มีฟ้าแลบกับฟ้าร้องรวมอยู่ด้วย นอกจากนั้นมักจะมีลมกระโชกแรง และฝนตกหนักเกิดขึ้น บางครั้งมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุฟ้าคะนองนี้เป็นพายุที่เกิดในช่วงเวลาอันสั้น มีน้อยครั้งที่เกิดนานกว่า 2 ชั่วโมง
ประเทศไทยตอนบนมีโอกาสเกิดพายุฟ้าคะนองมาก ในช่วงเดือนเมษายนถึงตุลาคม โดยเฉพาะเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดพายุฟ้าคะนองได้มาก เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว จึงมีการยกตัวขึ้นของมวลอากาศ และอาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมา ในขณะที่มวลอากาศร้อนปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทย ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศร้อนและเย็น ซึ่งในกรณีที่มีพายุฟ้าคะนองรุนแรง อาจมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกก่อให้เกิดความเสียหายได้ ส่วนภาคใต้เกิดขึ้นได้มากในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน
ลมผิวพื้น
เป็นลมที่พัดใกล้ๆบริเวณสถานีตรวจบนพื้นดิน หลักใหญ่ๆในการตรวจวัด มักจะวัดที่ระดับความสูงประมาณ 10 เมตรเหนือพื้นดินในบริเวณที่โล่งแจ้ง ทั้งนี้เพื่อลดความผิดพลาดอันเกิดขึ้น เนื่องจากสิ่งกีดขวางและพื้นภูมิประเทศ ลมผิวพื้นที่พัดปกคลุมประเทศไทยผันแปรไปตามฤดูกาล ในฤดูหนาวหรือฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่ เป็นลมฝ่ายเหนือและลมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้ลมที่พัดปกคลุมส่วนใหญ่ เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออก ในช่วงฤดูฝนหรือฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ และลมใต้ สำหรับช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่ลมแปรปรวน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะประเทศไทยตอนบนมักมีลมฝ่ายใต้พัดปกคลุม
รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง- การเกิดลูกเห็บ - หิมะ - น้ำค้าง - หมอก - ฝน - พายุฤดูร้อน - น้ำค้างแข็ง
- เหมยขาบ
- แม่คะนิ้ง
ที่มา www.tmd.go.th