นับย้อนไปในปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ วันที่ ๔ กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันพระราชทานปริญญาบัตรของบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนั้นชาวไทยทั้งแผ่นดินได้รับทราบข่าวอันเป็นมหามงคลว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระประสูติกาลเจ้าฟ้าหญิงองค์น้อย พระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ในกาลต่อ ๆ มา พสกนิกรชาวไทยต่างชื่นชมใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (Professor Dr. Her Royal Highness Princess Chulabhorn Mahidol) หรือ ทูลกระหม่อมเล็ก และประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์จวบจนเติบใหญ่ ยังความปีติแก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า
พระกรณียกิจด้านศาสนา
แม้พระภารกิจมากมาย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ฯ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงสดับพระธรรมเทศนาจากพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี และทรงปฏิบัติธรรมอย่างเข้มแข็งและสม่ำเสมอตลอดมา ทรงเจริญภาวนาอยู่เป็นนิจ ณ พระตำหนักไร้นิวรณ์ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่สัพปายะและอยู่ใกล้วัด บ่อยครั้งเมื่อประทับภาวนา ณ พระตำหนักไร้นิวรณ์ พระองค์จะเสด็จทรงบาตร ณ วัดถ้ำพุทธาจาโร หรือวัดห้วยเกษียรใหญ่ และถวายภัตตาหารทั้งคาวหวานแก่พระสงฆ์ ซึ่งทรงประกอบอาหารด้วยพระองค์เอง ครั้นถึงวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา ทรงเสด็จเวียนเทียนอย่างเรียบง่าย เป็นแบบอย่างของพุทธศาสนิกชนที่ดี
ความพากเพียรในการปฏิบัติธรรมตลอดระยะเวลา ๖ ปี ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ฯ เป็นแรงศรัทธาในคณะสงฆ์และประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมมือร่วมใจกันสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสทรงมีพระชันษาครบ ๔ รอบ พระองค์ทรงมอบปัจจัยจำนวนหนึ่งร่วมกับชาวบ้านในการซื้อที่ดินและสร้างวัด พร้อมพระราชทานนามของวัดอันเป็นมงคลนี้ว่า "วัดธรรมานุสรณ์ญาณวิสุทธิ์" มีกำหนดสร้างเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๔๙ พร้อมกับจะมีการบรรพชาอุปสมบทพระสงฆ์ จำนวน ๔๙ องค์ในอุโบสถของวัดแห่งนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เจ้าฟ้าทรงธรรมพระกรรมฐาน ในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติครบ ๔ รอบของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขอถวายพระพร ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ขอบคุณข้อมูลจาก
www.sakulthai.com
www.naewna.com
www.navy.mi.th
https://data.schq.mi.th/~agd/newsjuly.html
เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์
ด้วยความสนพระทัยในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์จึงได้ทรงเข้าศึกษาเพิ่มเติมในสาขาวิชาต่างๆ ที่สนพระทัย อาทิ การเข้าอบรมระดับหลังปริญญาเอก(Post Doctoral Training) เรื่อง Synthesis of Oligonucleotides Using Polymer Support and Their Applications in Genetic Engineering จากมหาวิทยาลัยอูล์ม ประเทศเยอรมัน ศึกษาด้านพิษวิทยา ระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศึกษาด้านการเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ ระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีพระปรีชาสามารถ ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของ ประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และทรงเป็นผู้ที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างดียิ่ง องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสห ประชาชาติ หรือ UNESCO จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองคำอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เหรียญเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์ที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางวิชาการ และการส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์ ทรงเป็นบุคคลที่ ๓ ของโลกและเป็นนักวิทยาศาสตร์สตรีพระองค์แรกที่ได้รับรางวัลนี้ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙
ด้วยทรงตระหนักถึงปัญหาความขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข และความเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์ เรื่องการ ขาดแคลนบุคคลากรด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขโดยเฉพาะ ความต้องการการสนับสนุนเรื่องการศึกษาวิจัยทางวิชาการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการสาธารณสุข จึงทรงก่อตั้งกองทุนจุฬาภรณ์ขึ้น และต่อมาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิจุฬาภรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย
ต่อมาทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้น เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ทรงเป็นองค์ประธานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ส่งเสริมความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนาบุคลากรสาขาวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งระดมสติปัญญาของนักวิชาการที่มีศักยภาพและวิทยาการที่ก้าวหน้า เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนตลอดไป
ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และให้การศึกษาและฝึกอบรมอย่างครบวงจร ประกอบกับแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ให้ขยายภารกิจด้านการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสาขาที่มีความต้องการสูงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีการเสนอโครงการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๘
และจากการที่ทรงรับเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติ การเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็งด้วยพระองค์เอง ประกอบกับทรงพบว่าประชาชนชาวไทยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มในอัตราที่สูงมากขึ้น จึงทรงก่อตั้งศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม และให้เป็นศูนย์วิจัยด้านโรคมะเร็งที่มีความเป็นเลิศทางการวิจัย วิชาการ และการบำบัดรักษา พร้อมทั้งพัฒนาเป็นศูนย์ชำนาญการวินิจฉัยมะเร็งที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค โดยมีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากลรองรับ
นอกจากนี้ ยังทรงจัดตั้งศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ(Cyclotron and PET Scan) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการในการตรวจโดยสารเภสัชรังสี เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่สามารถติดตาม ตรวจวัด ประเมิน และวิเคราะห์ การทำหน้าที่ของอวัยวะนั้นๆ ในระดับเซลล์เมตาบอลิสม์ ที่สามารถให้รายละเอียดการวินิจฉัยโรคและระยะของโรคได้ดีกว่าการตรวจอย่างอื่น ซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โรคทางสมอง และหัวใจ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ทรงเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีพระปณิธานแน่วแน่ในการสร้างเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย และให้ความช่วยเหลือ ฝึกอบรมแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนา โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ
จากผลของการทรงงานอย่างต่อเนื่อง จึงทรงเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องในแวดวงวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติ คณะกรรมการรางวัลฮอลแลนเดอร์ จึงมีมติเอกฉันท์ให้ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นของโลกในสาขาสารเคมีก่อมะเร็งและพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม และทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับรางวัล EMS Hollaender International Award ประจำ ปี ค.ศ. 2002 และในปีพ.ศ. ๒๕๔๗ สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก (IUCN The World Conservation Union) สวิตเซอร์แลนด์ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกอีกด้วย
ค่ายจุฬาภรณ์
ในการที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ฯ ท่านทรงเป็นนายทหารเรือหญิง พรรคนาวิกโยธิน พระองค์แรก จากความคิดนี้ นาวาเอก สงบ ศรลัมพ์ จึงได้มีหนังสือถึงกรมนาวิกโยธิน เพื่อพิจารณาขอ พระราชทานชื่อค่ายดังกล่าวซึ่งท่านผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน พลเรือโท ยุธยา เชิดบุญเมือง เห็นชอบด้วย และได้มีหนังสือถึงกองทัพเรือ เพื่อพิจารณาขอพระราชทานชื่อ " ค่ายจุฬาภรณ์ " ซึ่งกองทัพเรือและหน่วยเหนือคือกองบัญชาการทหารสูงสุด และกระทรวงกลาโหมได้เห็นชอบ ตามลำดับ และเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๒๔ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงกลาโหม พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อนำกราบบังคม ทูลพระกรุณาขอพระราชทานชื่อค่ายทหารของกองบังคับการ กรมทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ กรมนาวิกโยธิน และกองพันทหารราบที่ ๙ รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๓ กรมนาวิกโยธิน ว่า"ค่ายจุฬาภรณ์"เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า " CHULABHORN CAMP"
จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๒๕ ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือถึงกระทรวงกลาโหม ความว่า "สำนักเลขาธิการรัฐมนตรีได้นำเสนอท่านนายกรัฐมนตรีทราบและได้ขอให้สำนักราช เลขาธิการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลพระบาท แล้วพระราชทานชื่อ ค่ายตามที่ขอพระมหากรุณา" เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๒๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย เรือเอกหญิงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเปิด "ค่ายจุฬาภรณ์" ที่กรมทหารราบที่ ๓ กรมนาวิกโยธิน บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งในบริเวณพิธีมี พลเรือเอก สมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก โสภณ สุญาณเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้บัญชาการ ทหารเรือ พลเรือโท ยุธยา เชิดบุญเมือง ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน และนายทหารผู้ใหญ่ ของกองทัพเรือ และ พลเรือตรี ประเสริฐ น้อยคำศิริ รองผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน นาวาเอก สง่า แดงดีเลิศผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๓ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และแขกผู้มีเกียรติ คอยเฝ้าฯ รับเสด็จหลังพระราชพิธีเปิด "ค่ายจุฬาภรณ์"
พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรม
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ฯ ทรงนำศิลปวัฒนธรรม และการแสดงมาเป็นเรื่องกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและจีน ประทานชื่องานที่มีความหมายลึกซึ้งว่า "สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน" เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๔ ทรงบรรเลงกู่เจิ้งเป็นองค์นำร่วมกับวงออเคสตร้าถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ อีกปีอต่อมาทรงใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อกระชับสัมพันธ์อีกครั้ง ในปี ๒๕๔๕ ได้เส็ดจประเทศจีนเพื่อร่วมแสดงดนตรีและการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ "สายสัมพันธ์สองแผ่นดินครั้งที่ ๒" หรือ "จง ไท อิ เจีย ชิง" ณ สามนครใหญ่ คือ ปักกิ่ง ซีอาน และเซี่ยงไฮ้ ประกาศความเป็นไทยด้วยบทเพลงไพเราะ "ไทรโยค คอนแชร์โต้" ในปลายปี ๒๕๔๘ สายสัมพันธ์สองแผ่นดินครั้งที่ ๓ จะจัดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง
พระอัจฉริยภาพด้านศิลปะนั้น ทรงฝึกหัดเขียนภาพสีน้ำมันด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ทรงออกแบบเครื่องประดับได้อย่างงดงาม โดยทรงนำมุกชนิดต่าง ๆ พลอยสี ลูกปัด จากประเทศจีนมาสลับกับเครื่องเงินของไทยร้อยเป็นสายสร้อยด้วยจินตนาการของพระองค์เอง ที่งดงามไม่ซ้ำแบบกันนับเป็นร้อยเส้น แสดงใน "งานถักร้อยสร้อยรัก" โดยนำรายได้จากการจำหน่ายไปใช้ในการสร้างศูนย์ศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง
พระประวัติ
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประสูติเมื่อ วันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงเริ่มการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนจิตรลดา จนทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกวิทยาศาสตร์ แล้วทรงเข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยทรงเลือก เคมีเป็นวิชาเอก เน้นหนักทางอินทรีย์เคมี ทั้งนี้เนื่องจากทรงตั้งพระปณิธานว่า จะทรงนำความรู้ในทางนี้มาใช้ในงานทดลองของโครงการต่างๆ ที่ดำเนินตามพระราชดำริ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เพื่อให้ชาวไร่ชาวนาผู้ยากไร้ มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นและทรงได้รับพระราชทาน ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตทางเคมีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
หลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้วสมเด็จพระนางเจ้าลูกเธอเจ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ในสาขาอินทรีย์เคมี โดยทรงศึกษาและทำการวิจัยที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และทรงได้รับพระราชทาน ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ( อินทรีย์เคมี ) จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘
ในระหว่างที่ทรงศึกษาเป็นที่ประจักษ์ว่าทรงมีพระปรีชาสามารถสูง ทรงได้รับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดีเป็นประจำทุกปีและทรงได้รับคะแนนเป็นเยี่ยม ในสาขาวิชาเคมี ชีววิทยาทรงร่วมและช่วยเหลือในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ และของมหาวิทยาลัย
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงได้รับการยกย่องในฐานะเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ในนานาประเทศที่ได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นและอบอุ่น ทรงได้รับการเชิดชูพระเกียรติยศโดยที่มหาวิทยาลัยอันมีชื่อเสียงหลายแห่งในประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตกได้กราบทูลอัญเชิญบรรยายในทางวิชาการเกี่ยวกับงานวิจัย ที่ทรงกระทำอยู่ให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นนำฟังและซักถามและได้รับการถวาย เหรียญทอง " ไอส์ไตน์ " จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( ยูเนสโก ) เพื่อเทอดทูนพระปรีชาสามารถในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยกย่องและยอมรับในวงการวิชาการนับแต่ได้ตราเหรียญ " ไอส์ไตน์ " ขึ้น องค์การนี้ได้มอบเหรียญดังกล่าวให้นักฟิสิกส์ระดับโลกมาก่อนกราบทูลถวายเพียง ๒ ท่านเท่านั้น ซึ่งทั้งสองท่านนั้น ก็มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับรางวัลโนเบลมาแล้ว นอกจากนั้นราชบัณฑิตยสถานสาขาเคมีแห่งประเทศอังกฤษได้ถวายพระเกียรติยศให้ทรงเป็นสมาชิกชั้นสูงสุดของสมาคมเคมีอันทรงเกียรติยิ่งแห่งนี้ด้วย