วันสื่อสารแห่งชาติ ๔ สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา กรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข ขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๒๖ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของกิจการด้านการสื่อสารของไทย ต่อมาได้รวมกรมทั้งสองแห่งเข้าด้วยกันเป็น กรมไปรษณีย์โทรเลข
กิจการด้านการสื่อสารของไทยได้เจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ และมีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา รวมทั้งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีแห่งการสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลขเมื่อปี ๒๕๒๖ คณะรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการสื่อสารจึงได้มีมติกำหนดให้วันที่ ๔ สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสื่อสารแห่งชาติ
ที่มาวันสื่อสารแห่งชาติ
เทคโนโลยีด้านการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และบทบาทของภาคเอกชนมีมากขึ้นรวมทั้งการแข่งขัน ในกิจการสื่อสารทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ได้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ความได้เปรียบในเรื่องเศรษฐกิจของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ขึ้นอยู่กับการมีระบบการสื่อสารให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมกับประเทศอื่น คณะรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของการสื่อสารดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดให้วันที่ ๔ สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันสื่อสารแห่งชาติ" นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมา ได้มีการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปี พ.ศ. ๒๕๓๓ คณะกรรมการจัดงานวันสื่อสาร แห่งชาติได้มีมติให้งดการจัดแสดงนิทรรศการ คงมีแต่เฉพาะงานพิธีและการประชุมทางวิชาการเรื่องเทคโนโลยีพื้นฐานและการวางแผนระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม) และในการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติแต่ละปี จะเน้นหัวข้อการจัดงานแตกต่างกันไปทุกปี เช่น
- พ.ศ. ๒๕๒๘ หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารกับเยาวชนแห่งชาติ
- พ.ศ.๒๕๓๐ หัวข้อการจัดงาน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการสื่อสาร
- พ.ศ. ๒๕๓๕ หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารเพื่อทศวรรษหน้า
- พ.ศ.๒๕๓๘ หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสนเทศ เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศให้ปี พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นปีเทคโนโลยีสารสนเทศไทย
การจัดกิจกรรมวันสื่อสารแห่งชาติ
ในวันสื่อสารแห่งชาติ ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่
๑. พิธีถวายเครื่องสักการะพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
๒. การกล่าวคำปราศรัยของพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
๓. การจัดทำดวงตาไปรษณียากรที่ระลึกวันสื่อสารแห่งประเทศไทย
๔. การจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม
ที่มา www.kanzuksa.com