สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ)
วัดราชบพิธ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ภูมิลำเนาเดิม - ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรนายบาง นางผาด นิลประภา
วันประสูติ - ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ในรัชกาลที่ ๕
วันสถาปนา - ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
วันสิ้นพระชนม์ ๐ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระชนมายุ - ๙๐ พรรษา ๕ เดือน
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ๑๔ ปี ๒ เดือน
พระประวัติย่อ
ชาตกาลและชาติภูมิ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสนมหาเถระ) ท่านบิดาชื่อ บาง นิลประภา ท่านมารดาชื่อ ผาด นิลประภา เป็นบุตรคนที่ ๑ ในจำนวน ๓ คน ประสูติเมื่อวันพุธขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๔๐ เวลา ๑๙.๓๓ น. ที่บ้านตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
บรรพชา-อุปสมบท
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๖ ปี ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๕๕ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นพระอุปัชฌายะ พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) วัดราชบพิธ เป็นศีลาจารย์ บรรพชาอยู่จนครบอุปสมบท
อุปสมบท ณ วัดราชบพิธสถิตมหามาราม เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๖๑ สมเด็จพระสังราชเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอุปัชฌายะ พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) วัดราชบพิธ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระญาณดิลก (รอด วราสโย) วัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นศีลาจารย์ มีพระฉายาว่า “วาสโน”
การศึกษา
เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาภาษาไทยที่วัดข้างบ้าน และที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลอยุธยา พ.ศ. ๒๔๕๓ สอบเทียบได้ชั้นมัธยมปีที่ ๒ บรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาปริยัติธรรมตามลำดับ สอบได้เปรียญ ๔ ประโยค สถาบันทางศึกษาทางพระพุทธศาสนา ได้ทูนถวายปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ๒ สถาบัน และรัฐบาลอินเดียได้อนุมัติปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอักษรศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยพาราณสี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลกลาง เป็นผู้ดำเนินการประกอบพิธีทูลถวาย
สมณศักดิ์
ได้ทรงดำรงสมณศักดิ์ชั้นต่างๆ โดยลำดับดังนี้
- ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นพระครูโฆสิตสุทธสร
- ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นพระครูธรรมธร
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นพระครูวิจิตรธรรมคุณ (ตำแหน่งฐานานุกรมของพระเจ้า วรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นพระจุลคณิศร พระราชาคณะสามัญปลัดซ้ายของพระเจ้า วรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)
- ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชกวี
- ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพโมลี
- ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปาโมกข์
- ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
- ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
- ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ ทรงพระกรุณาโปรด ฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระอริยวงศา คตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
หน้าที่การงาน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นต้นมา ได้ทรงดำรงตำแหน่งต่างๆ บริหารงานพระศาสนาการคณะสงฆ์ รวม ๒๘ ตำแหน่ง และสำคัญๆ ที่ได้ทรงปฏิบัติมาตลอดจนถึงอวสานกาลแห่งพระชนมชีพ คือ
- เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ
- ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
- ประธานสภาการศึกษาของคณะสงฆ์
- เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
- นายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
- นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย
- ประธานคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนาและมนุษยธรรม
- องค์อุปถัมภ์มูลนิธิสังฆประชานุเคราะห์
- องค์อุปถัมภ์สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ
- องค์อุปถัมภ์ศูนย์และชมรมพุทธศาสน์ ในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ อีก ๙ แห่ง
- องค์อุปถัมภ์ศูนย์ธรรมศึกษาพิเศษโรงเรียนวิสุทธิกษัตรี-อาษาวิทยา
- องค์อุปถัมภ์โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
- องค์อุปถัมภ์สถานสงเคราะห์คนชรา “วาสนะเวศม์”
- องค์อุปถัมภ์มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
- องค์อุปถัมภ์มูลนิธิ “วาสนะเวศม์”
กิจกรรมพิเศษ
- รับการปลงพระบริขารจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
- เป็นผู้อำนวยการปฏิบัติการพระศพ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น
- ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ในการทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุฏมาร
- ทรงเป็นประธานกรรมการสังคีติการกสงฆ์ สังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอ บ แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๕๓๐
- ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้งเป็นพระคณาจารย์เอก ในทางรจนาพระคัมภีร์ แต่ พ.ศ. ๒๔๘๕
การบูรณะวัด
เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ เป็นวัดแรกในรัชกาลนั้น ถึงบัดนี้มีอายุ ๑๐๐ ปีเศษแล้ว วัตถุก่อสร้างภายในพระอารามจึงชำรุดทรุดโทรมอยู่ทั่วไป ในยุคที่ทรงเป็นเจ้าอาวาสได้ทำการบูรณะเขตพุทธาวาสให้คงสภาพดีเรียบร้อยไปแล้ว ที่ปรากฏในปัจจุบัน เช่น องค์พระเจดีย์ใหญ่ พระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารทิศ ๒ หลัง พระวิหารคด ศาลาราย ลานพระเจดีย์ และพื้นไพฑีโดยรอบ ในเขตสังฆาวาส มีศาลาการเปรียญคณะนอก (ศาลาร้อยปีในปัจจุบัน) พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ กุฎีสงฆ์คณะนอก ๓ แถว ๓ ชั้น กุฎีสงฆ์คณะในแถวใน ตำหนักอรุณ ศาลาการเปรียญคณะใน เป็นต้นโดยลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๓๐ ได้จัดการบูรณะซ่อมแซมพระอารามไปแล้ว รวม ๒๙ รายการ เป็นเงินประมาณ ๖๔,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ
ข้อมูลจาก เว็บไซต์มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์