จระเข้และตะโขงที่พบในประเทศไทย
1. จระเข้น้ำจืดหรือจระเข้พันธุ์ไทย (Freshwater or Siamese Crocodile, Crocodylus siamensis)
ถิ่นกำเนิด : เวียดนาม เขมร ลาว ไทย กะลิมันตัน ชวา และมีในสุมาตรา
ลักษณะ : เป็นจระเข้ขนาดปานกลาง ค่อนมาทางใหญ่ (3-4 เมตร) มีเกล็ดท้ายทอด
ชีววิทยา : จระเข้ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 10-12 ปี
วางไข่ : ครั้งละ 20-48 ฟอง
ระยะเวลาฟักไข่นาน : 68-85 วัน เฉลี่ยราว 80 วัน
มีนิสัย : ดุพอสมควร ชอบอยู่และหากินเดี่ยว
2. จระเข้น้ำเค็มหรือจระเข้ปากแม่น้ำ (Saltwater Crocodile, Esturine Crocodile, Crocodylus porosus)
ถิ่นกำเนิด : ศรีลังกา ตะวันออกของอินเดีย บังคลาเทศ พม่า ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ชอบอยู่ตามปากแม่น้ำที่เปิดออกทะเลและป่าชายเลน
ลักษณะ : เป็นจระเข้ขนาดใหญ่ที่สุด มีรายงานพบว่า ยาวถึง 9 เมตร ไม่มีเกล็ดท้ายทอย
ชีววิทยา : เพศผู้ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 16 ปี หรือยาวประมาณ 3.2 เมตร ส่วนเพศเมียคือ 10 ปี และ 2.2 เมตร ตามลำดับ
วางไข่ : ฤดูฝน ครั้งละ 25-90 ฟอง เฉลี่ย 50 ฟอง
ระยะเวลาฟักไข่นาน 80 วัน
มีนิสัย : ดุร้าย ไม่ชอบอยู่เป็นฝูง
3. ตะโขงหรือตะโขงมลายู (False Gharial หรือ Malayan Gharial, Tomistoma shlegelii)
ถิ่นกำเนิด : ตอนใต้ของประเทศไทยและในคาบสมุทรมลายู สุมาตรา กะลิมันตันและบอร์เนียว อาศัยตามน้ำกร่อย และป่าชายเลน
ลักษณะ : ขนาดปานกลาง ความยาวประมาณ 2.80-3.0 เมตร ปากแหลมเรียวยาวมาก แต่ไม่มีก้อนเนื้อตอนปลายจมูก เช่น ตะโขงอินเดีย มีแถบสีดำพาดขวางลำตัวและหาง
ชีววิทยา : ตะโขงเพศเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 5-6 ปี หรือความยาว 2.5-3.0 เมตร
ทำรัง : โดยพูนดินและวัชพืชขึ้นบนชายฝั่ง
วางไข่ : ครั้งละ 20-60 ฟอง ในฤดูแล้ง
ระยะฟักไข่ราว 2.5-3 เดือน ออกเป็นตัวประมาณต้นฤดูฝน
การขยายพันธุ์ในที่กักขังหรือเพาะเลี้ยงยังไม่ประสบความสำเร็จ
การสืบพันธุ์ของจระเข้
จระเข้เพศเมีย อวัยวะสืบพันธุ์ แบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
• รังไข่
รังไข่จระเข้มีจำนวน 2 อัน รูปร่างรีและแบนสีขาว เนื้อค่อนข้างแน่นแข็ง ติดอยู่ใกล้กับไตทั้ง 2 ข้าง โดยแขวนลอยใต้กระดูกสันหลังส่วนเอว เมื่ออยู่ในฤดูผสมพันธุ์ รังไข่จะขยายตัวและมีถุงไข่อ่อนอยู่บนผิวเป็นจำนวนมาก
• ท่อนำไข่
ท่อนำไข่ของจระเข้ ได้แก่ ส่วนที่เห็นเป็นท่อแบนๆ รูปตัววาย (Y) แยกเป็น 2 ปีก ัถัดจากรังไข่ทั้งสองข้าง ท่อนำไข่จะเปิดออกสู่บริเวณช่องขับถ่ายร่วม ด้านล่างของลำตัวตรงตำแหน่งโคนหางของจระเข้
จระเข้เพศผู้ อวัยวะสืบพันธุ์ แบ่งได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
• อัณฑะ
อัณฑะของจระเข้มีจำนวน 2 อัน อยู่ในช่องท้องบริเวณใกล้กับไตซึ่งติดอยู่ด้านหลัง มีหน้าที่ผลิตน้ำเชื้อ (อสุจิ)
• ท่อนำน้ำเชื้อ
เป็นท่อที่ต่อจากอัณฑะมายังอวัยวะเพศในช่องขับถ่ายร่วม ทำหน้าที่เป็นทางขนส่งน้ำเชื้อจากอัณฑะเพื่อออกผ่านทางอวัยวะเพศขณะผสมพันธุ์
• อวัยวะเพศผู้
มีลักษณะเป็นแท่งยาวปลายแหลมขยายออกเล็กน้อย โดยมีรอยคอดก่อนถึงส่วนขยาย มีร่องเปิดด้านบน เพื่อให้น้ำเชื้อซึ่งผ่านมาจากท่อนำน้ำเชื้อไหลออกขณะทำการผสมพันธุ์ โดยปกติแล้วอวัยวะเพศผู้จะพับซ่อนตัวอย่างในช่องขับถ่ายร่วม และจะโผล่ออกมาเมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์เท่านั้น
สรีรวิทยาการสืบพันธุ์
จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย มีฤดูผสมพันธุ์ราวเดือนพฤศจิกายน โดยจระเข้เพศเมียจะถึงวัยเจริญพันธุ์ที่อายุระหว่าง 7 ถึง 11 ปี (เฉลี่ยราว 9-10 ปี) ทั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของระบบสืบพันธุ์คือ
รังไข่ก่อนถึงฤดูผสมพันธุ์จะมีการสร้างไข่ซึ่งอยู่ภายในถุงไข่ ขึ้นเป็นเม็ดกลมๆ จำนวนมากบนรังไข่ทำให้ดูว่ารังไข่เหมือนพวงองุ่น เริ่มขยายตัวและมีไข่เกิดขึ้นประมาณ 8-12 ฟองต่อหนึ่งข้าง
เมื่อจระเข้ทำการผสมพันธุ์กันแล้วไข่ที่ตกจากรังไข่ลงมาอยู่ในท่อนำไข่ซึ่ง ณ จุดนี้ เชื้อจากจระเข้เพศผู้ที่เข้ามาผท่านทางอวัยวะเพศของตัวเมียเคลื่อนเข้าสู่ท่อนำไข่ทั้งสองข้าง ทันทีที่ไข่สุกตกมาพบตัวเชื้อก็จะเกิดการปฏิสนธิขึ้น ซึ่งไขที่ผสมแล้วเหล่านี้จะคงอยู่ในท่อนำไข่ทั้งซ้ายขวาตลอดไปจนถึงระยะเวลาวางไข่ จากนั้นจะมีการพัฒนาไข่ขาวออกมาห้อมล้อมไข่และในระยะสุดท้ายจึงมีการพัฒนาเปลือกไข่ห่อหุ้มชั้นนอกสุด ขณะเดียวกันตัวอ่อนของจระเข้ก็เริ่มมีการพัฒนาตัวโดยการแบ่งเซลล์ขึ้นมา จากการศึกษาพบว่าน้ำเชื้อของจระเข้เพศผู้สามารถเข้าไปรอการตกไข่ของตัวเมียในรังไข่ได้นานตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง แม่จระเข้ที่ตั้งท้องแล้วจะเริ่มหาและทำการพูนดินตลอดจนวัสดุต่างๆ เป็นรัง โดยจะวางไข่ประมาณเดือนมีนาคม และเมษายน
ทันทีที่ไข่ออกมาจากตัวแม่จระเข้แล้ว ตัวอ่อนภายในไข่จะขยับตำแหน่งมาอยู่บริเวณที่สูงสุดหรือเหนือสุดของไข่แดงไม่จมอยู่ด้านล่างหรือทางต่ำ ซึ่งจะคงอยู่ ณ ตำแหน่งนี้ตลอดไป ขณะที่ฟักไข่นั้นจะไม่มีการขยับตัวเลย
ไข่จระเข้ที่ออกมาใหม่ๆ จะมีเปลือกที่ค่อนข้างโปร่งแสง แต่ภายในวันเดียวจะพบว่ามีแถบสีขาวทึงแสงผ่านบริเวณเหนือตำแหน่งที่ตัวอ่อนอยู่แล้วค่อยๆ ขยายวงกว้างออกเป็นแนวโอบลงมา 2 ข้างของไข่
ระยะก่อนฟักออกเป็นตัวเปลือกแข่จะค่อนข้างบางลงกว่าเดิม ทั้งนี้เนื่องจากมีการดึงแคลเซี่ยมจากเปลือกไข่ไปใช้พัฒนาโครงสร้างของจระเข้ ด้วยสาเหตุนี้ลูกจระเข้จึงสามารถเจาะเปลือกไข่ออกมาได้ง่ายขึ้น และก็ยังมีอวัยวะช่วยเจาะเปลือกอีกอันหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ฟันเจาะไข่" เป็นอวัยวะที่งอกออกมาจากผิวหนังบริเวณเหนือปาก ใช้เจาะเปลือกไข่ให้เป็นรู จากนั้นอวัยวะนี้ก็จะหายไปในภายหลัง
ข้อมูลจาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การกำหนดเพศของจระเข้
จระเข้เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีการกำหนดเพศในระยะเป็นตัวอ่อนด้วยอุณหภูมิ จากการทดลองและวิจัยพบว่า ถ้าอุณหภูมิฟักไข่ที่ 30 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า ลูกจระเข้ที่ออกมาส่วนใหญ่จะเป็นเพศเมีย หากอยู่ระยะหว่าง 32 ถึง 33 องศาเซลเซียส ส่วนใหญ่จะเป็นเพศผู้ แต่ถ้าประมาณ 31 องศาเซลเซียสแล้ว ปริมาณลูกจระเข้ที่ออกมาจะมีสัดส่วนเพศผู้และเพศเมียเท่าๆ กัน
ข้อมูลจาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์