...... ปีพุทธศักราช ๒๓๙๗ เซอร์จอห์นเบาริ่ง ราชทูตแห่งอังกฤษจากเมืองฮ่องกง ในสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรีย ผู้มาเจริญสัมพันธไมตรี เดินทางมาถึงอ่าวสยามโดยใช้เรือรบเป็นพาหนะชื่อเรือพอตเตอร์ มีมิสเตอร์แฮร์รี่ปาร์คส์ (อุปทูต) และมิสเตอร์ยอนจาโร เบาริ่ง (ตรีทูต เป็นลูกชายของเซอร์จอห์น เบาริ่ง) ร่วมขบวนได้เดินทางมาถึงสยามประเทศ
. . . . เมื่อเซอร์จอห์น เบาริ่ง มาถึงในครั้งแรกนั้น ก่อนที่จะเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ จะมีบรรดาขุนนางและมหาเสนาบดีทำการต้อนรับและตกลงเรื่องข้อราชการ ซึ่งในการพบปะหรือเข้าพบขุนนางนั้นจะแต่งตัวเพียงครึ่งยศไม่ห้อยกระบี่ แต่การเข้าเฝ้าฯ ตามธรรมเนียมไทยมีข้อกำหนดให้ปลดอาวุธทุกชนิดเมื่อเข้าสู่ท้องพระโรง ซึ่งขัดกับธรรมเนียมอังกฤษ หมิ่นพระเกียรติสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย ส่งผลให้เซอร์จอห์น เบาริ่งอึดอัดใจยิ่งนัก
. . . . และด้วยความที่เซอร์จอห์น เบาริ่ง เป็นนักเจรจาและเป็นนักการทูตฝีมือดี ในปี ๒๓๙๘ จึงได้เข้าเฝ้าพระจอมเกล้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ ก่อนจะมีราชพิธีเข้าเฝ้า ซึ่งเซอร์จอห์นเบาริ่ง ได้อธิบายไว้ในบันทึกส่วนตัวอย่างละเอียดยิบว่า
. . . . “เมื่อข้าพเจ้ามาถึงท่าเทียบเรือ ข้าพเจ้าถูกนำตัวไปยังพระบรมมหาราชวัง โดยนั่งไปบนเก้าอี้ พร้อมด้วยคนถือร่มขนาดใหญ่
และผ่านกลุ่มคนถือคบเพลิงนับเป็นร้อยๆทหารซึ่งยืนอยู่ตามจุดต่างๆวันทยาวุธโดยมีการออกคำสั่งเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อมาถึงสถานที่รับ พระจอมเกล้าทรงประทับอยู่ที่นั่น มีพระโอรสเล็กๆ สองพระองค์เล่นอยู่บนพรม ไม่ใส่เสื้อผ้า ใส่หมวกปีกกว้างอย่างเดียว พระองค์พาข้าพเจ้าไปยังพระที่นั่งส่วนพระองค์ซึ่งได้รับการตกแต่งด้วยนาฬิกาที่งดงามทั้งชนิดมีลูกตุ้มและชนิดธรรมดา มีรูปปั้นพระราชินีวิคตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต บารอมิเตอร์และเทอร์โมมิเตอร์ ซึ่งมีรูปร่างสวยงาม จากนั้นพระองค์นำทางข้าพเจ้าไปยังห้องเล็กๆอีกสองสามห้อง มีเครื่องกระเบื้องจีนงดงาม ของประดับที่ดูเป็นอังกฤษ และบนชั้นมีหนังสือใหม่ๆ วางอยู่หลายเล่ม...
พระองค์นำข้าพเจ้าไปยังท้องพระโรง ไม่ว่าจะไปที่ไหนพระองค์ทรงจูงมือข้าพเจ้าผ่านบรรดาขุนนาง ที่อยู่ในท่าหมอบราบและคลานไปมา ก้มศีรษะจรดพื้นเมื่ออยู่ต่อหน้าพระพักตร์”
. . . . ซึ่งการพูดคุยกันก่อนนี้เอง ที่เป็นเหตุให้สยามรับทำสนธิสัญญาเบาริ่ง อันหมายถึงการเปิดประเทศสู่การค้าเสรีตามที่อังกฤษกำหนด
. . . . ความสัมพันธ์อันดีของอังกฤษกับไทยจึงดำเนินเรื่อยมา กระทั่งเบาริ่งสามารถนำกระบี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายเต็มยศเข้าสู่ท้องพระโรงได้สำเร็จเมื่อมีการเข้าเฝ้าอย่างเป็นทางการ แม้จะขัดต่อธรรมเนียมการเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินสยามก็ตาม
. . . . สุดท้ายเซอร์จอห์น เบาริ่ง ราชทูตอังกฤษผู้มีอัธยาศัยดีเป็นเลิศ จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “พระสยามานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ” มีศักดินาเทียบเท่าขุนนางสยามทุกประการ จากนั้นได้มีการลงนามในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ระหว่างไทย-อังกฤษ ๒๑ ข้อ ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เรียกสัญญาฉบับนี้ว่า “สัญญาเบาริ่ง”
. . . . และนับตั้งแต่การเจรจาสนธิสัญญาเบาริ่งเป็นผลสำเร็จ ความสัมพันธ์ไทยกับอังกฤษจึงกระชับแน่นแฟ้นตั้งแต่นั้นมา จึงทำให้มีชาวตะวันตกเข้ามาในสยามมากขึ้น มีสถานกงสุลของชาติต่างๆเกิดขึ้นตามมา ชาวตะวันตกเริ่มเดินกันขวักไขว่จนชาวสยามเริ่มรวนเร วัฒนธรรมและการแต่งกายของชาวตะวันตกที่ถือว่าเป็นของแปลกและใหม่สำหรับชาวสยามก็เริ่มหลั่งไหล และเพื่อความอยู่รอดของประเทศ ชนชั้นสูงของสยามจึงเรียนรู้วิถีชีวิตแบบตะวันตกอย่างรวดเร็ว ดำเนินการตกแต่งบ้านช่องอย่างยุโรป ต้อนรับแขกด้วยซิการ์และบรั่นดีอย่างดีจากต่างประเทศให้เหมือนและเนี้ยบที่สุด … จากนั้นสยามก็เข้าสู่ยุค The Renaissance ที่มองออกไปนอกฝั่งก็มีแต่เรือรบ
. . . . ต่อมาในปี ๒๔00 ทูตไทยเดินทางไปอังกฤษ โดยมีหม่อมราโชทัยเป็นล่าม มีผู้ติดตามคณะทูต ๒๒ คน เมื่อราชทูตไทยเข้าเฝ้าพระนางวิคตอเรีย หนังสือพิมพ์ในกรุงลอนดอนลงชมเชยมารยาทของทูตไทยว่ามีกิริยาดี
ภาพและที่มา www.bloggang.com