คุณพุ่มผู้แต่งเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ เป็นธิดาของพระยาราชมนตรี(ภู่) ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องประวัติปรากฏมาว่า เดิมถวายตัวทำราชการฝ่ายใน ได้เป็นตำแหน่งพนักงานพระแสง แต่ต่อมาไม่สบายทูลลากลับออกไปอยู่บ้านบิดาแต่ยังสาว คณพุ่มเห็นจะชอบแต่งกลอนมาก่อนแล้ว แต่มามีชื่อเสียงในการแต่กลอนต่อเมื่อกลับออกมาอยู่นอกวัง ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ชอบเล่นเพลงยาวและดอกสร้อยสักวากันแพร่หลาย คุณพุ่มอยู่แพที่หน้าบ้านบิดาข้างเหนือท่าพระ มักมีเจ้านาย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นต้น และข้าราชการที่สูงศักดิ์ เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นหลวงนายสิทธิ แล้วเลื่อนเป็นพระนายไวย ไปติดพันเล่นสักรวากับคุณพุ่มที่แพนั้นมิใคร่ขาด จนเรียกกันว่า "บุษบาท่าเรือจ้าง"(๑) เพราะจอดแพอยู่ใกล้ท่าเรือจ้างที่ท่าพระ และมีเรื่องเกร็ดที่เล่ามาก็หลายอย่าง เช่นว่าครั้งหนึ่งคุณพุ่มเข้าแย่งพระแสงดาบของพระบาทสมเด็จพระปื่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้เสียดังนี้เป็นต้น แสดงว่าคุณพุ่มในสมัยนั้นเป็นคนกล้าทั้งปากทั้งมือ ในข้อปากกล้านั้นยังมีคำอธิษฐานคุณพุ่มแต่งปรากฏอยู่(๒) คือ
คำอธิษฐานคุณพุ่ม
๑. "ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่"
คือ คนชิดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) อธิบายว่า เพราะมักถูกเฆี่ยนหลังลายไม่เว้นตัว
๒. "ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร"
คือ คนใช้ของเจ้าพระนคร(น้อย) อธิบายว่า เพราะถูกทำโทษนอกรีตต่างๆ ดังเช่นเรือช้าไป ให้ฝีพายถองเรือเป็นต้น
๓. "ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี"
คือ คนต้มน้ำร้อนของพระยาศรีสหเทพ(เพ็ง) อธิบายว่า เพราะพระยาศรีฯนั้นแขกไปหาไม่มีขาด จนคนต้มน้ำร้อนเลี้ยงแขกจะหาเวลาพักมิได้
๔. "ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช"
อธิบายว่า พระยานครราชสีมาครั้งนั้น อยากเล่นมโหรีให้เหมือนขุนนางผู้ใหญ่ที่ในกรุงเทพฯ มีแต่พวกข่าและลาวเชลยก็เอามาหัดเป็นมโหรีไปตามแกน
๕. "ขออย่าให้เป็นสวาดิของพระองค์ชุมสาย"
คือ มหาดเล็กตัวโปรดของกรมขุนราชสีหวิกรม อธิบายว่า ถ้าชอบทรงใช้มหาดเล็กคนไหน คนนั้นมักถูกจำโซ่ตรวนในเวลาใช้ไม่ได้ดังพระหฤทัย
๖. "ขออย่างให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์"
อธิบายว่า ฝีพายเรือที่นั่งของเจ้าฟ้าอาภรณ์นั้น ต้องขานยาวถี่กว่าเรือลำไหนๆหมด
๗. "ขออย่างให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า"
คือละครของน้อย ธิดาเจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอิน) อธิบายว่า ละครโรงอื่นๆเขาเล่นเอาเงินโรง แต่ละครของน้อยคนนั้นถึงใครจะให้เพียงข้าวปลา หรือที่สุดจนกะปิหอมกระเทียมก็รับเล่น ได้อะไรก็เอาสิ่งนั้นมาแจกเป็นบำเหน็จแก่ตัวละคร
๘. "ขออย่างให้รู้ชาตาเหมือนอาจารย์เซ่ง"
อธิบายว่า นายเซ่งคนนั้นเป็นหมอดู ใครไปให้ดูก็มักทายว่าดวงชาตาดี จะถึงได้เป็นกษัตริย์บ้าง ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่บ้าง ได้เป็นเศรษฐีบ้าง คนก็พากันหลงไปจ้างให้นายเซ่งดูชาตาลงที่สุดนายเซ่งต้องถูกลงพระราชอาญา
๙. "ขออย่าให้เป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงฟัก"
อธิบายว่า ท่านผู้หญิงฟักคนนั้นชอบเล่นเบี้ย มีอุบายนอกรีตอย่างหนึ่ง เวลาเข้าไปอยู่ในบ่อนเบี้ย มักทำกิริยาให้นายบ่อนมัวหลงดูที่ตัวท่ายผู้หญิงฟัก จนเป็นช่องให้พรรคพวกลักเปิดโปดูได้ กล่าวกันว่าเป็นนักเลงรวยด้วยอุบายอันนั้น
๑๐. "ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย"
คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เวลานั้นยังเป็นหัวหมื่นมหาดเล็ก อธิบายว่า เวลาเข้าเฝ้านุ่งผ้าสมปักพื้นเขียวอยู่ผืนเดียวไม่รู้จักเปลี่ยน
๑๑. "ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง"
คือ เจ้าจอมมารดาตานีรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นธิดาเจ้าพระยามหาเสนาฯ(บุนนาค) และเป็นเจ้าจอมมารดากรมหมื่นสุรินทรรักษ์ อธิบายว่า เจ้าคุณวังเป็นช่างดอกไม้ ฝีมือดีอย่างยิ่งในสมัยนั้น ใครจะมีการงานก็มักไปขอดอกไม้ที่เจ้าคุณวัง เจ้าคุณวังต้องร้อยดอกไม้ช่วยงานเขาไม่ขาด จนดอกไม้ในสวนเจ้าคุณวังถูกเด็ดไม่มีโอกาสที่จะบานได้กับต้น
๑๒. "ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ"
อธิบายว่า ระฆังวัดอื่นๆโดยปรกติตีแต่เวลาจวนรุ่งกับจวนค่ำ วันละ ๒ เวลา แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ โปรดให้ตีระฆังเป็นสัญญาอาณัติสงฆ์ในการอย่างอื่น เช่นตีเรียกสงฆ์ลงโบสถ์เช้าค่ำเป็นต้น ระฆังวัดบวรนิเวศในสมัยนั้นจึงต้องตีมากกว่าระฆังวัดอื่นๆ
คำอธิษฐานของคุณพุ่ม ๑๒ ข้อนี้ ล้วนคิดแต่งขึ้นเยาะเล่นโดยอำเภอคะนองใจคะนองปาก เห็นจะสำหรับว่าให้ผู้ที่ชอบพอกันฟังเล่น จึงรู้กันแพร่หลาย
คุณพุ่มกล่าวไว้ในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติว่า เมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดจะให้เข้าไปทำราชการในพระบรมบรมมหาราชวังอีก แต่พอใจจะอยู่นอกวังจึงทูลขอตัวเสีย แต่มาชั้นนี้คุณพุ่มอายุล่วงเข้าถึงกลางคน และไม่บริบูรณ์พูนสุขเหมือนเมื่อบิดายังมีชีวิตอยู่ในรัชกาลที่ ๓ คงมีแต่ฝีปากกลอนเป็นสมบัติสิ่งสำคัญสำหรับตัว แต่ก็ยังมีผู้นับหน้าถือตา เวลาเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่เล่นสักรวามักเชิญให้ไปบอกสักรวาเนืองๆ มีเรื่องเล่ากันมาว่า ในการเล่นสักรวาครั้งหนึ่ง กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (ซึ่งในกระบวนแต่งกลอนนับว่าเป็นเอกพระองค์ ๑) ทรงทราบว่าคุณพุ่มไปบอกสักรวาอยู่ด้วย จึงทรงแต่งสักรวาให้ร้องเย้าคุณพุ่มบท ๑ ว่า
สักรวาวันนี้พี่สังเกต...............เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา..................
คุณพุ่มได้ยิน รู้ว่าเป็นสำนวนพระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตตรฯก็แต่ตอบทันทีว่า
สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม.............นี่หรือกรมภูวเนตรเศษสวรรค์
เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน...เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กตำ
สักรวาที่อ้าง ๒ บทหาฉบับได้แต่เท่านี้(๓) แต่พอเห็นได้ว่าคุณพุ่มเป็นคนปากกล้าเพียงไร จึงเลยเป็นเรื่องเล่ากันต่อมา
เมื่อรัชกาลที่ ๔ คุณพุ่มได้อาศัยพึ่งพำนักใจ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศและกรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธรทรงอุปการะมาทั้ง ๒ พระองค์ ปรากฏว่าได้ไปขุดสระให้เป็นสาธารณประโยชน์ไว้ที่บางโขมด ในหนทางที่ขึ้นพระพุทธบาทแห่ง ๑ เมื่อฉลองสระ คุณพุ่มได้แต่งเพลงยาวเขียนปิดไว้ที่ศาลาริมสระนั้น มีผู้ลอกคัดไว้ดังนี้
เพลงยาวคุณพุ่ม บวงสรวงฉลองสระบางโขมด
ยอกรประณตก้มเกษ อภิวันท์เทเวศทุกสถาน เสวยสุขในรุกขพิมาน ห้วยละหานชลธีที่ใกล้ไกล ทั้งเทพาอารักษ์ศักดาฤทธิ์ สิงสถิตย์โขดเขินเนินไศล ตั้งแต่พื้นภูมานภาไลย อีกพระไพรเจ้าป่าพนาลี ทุกพระองค์ทรงรับส่วนกุศล ซึ่งมาฉลองมงคลสระศรี ขออาไศรยในทิวาแลราตรี อย่าให้มีโรคันอันตราย เชิญสดับดุริยางค์ที่ขับกล่อม ประนมน้อมจุดธูปเทียนถวาย แม้ผู้ใดบังอาจประมาทกาย ทำหยาบคายเบาจิตต์มิคิดทัน ให้ขุ่นเคืองเบื้องบาทเทวเรศ อย่าถือโทษโปรดเกษกระหม่อมฉัน ช่วยปราบมารอย่าให้พาลมากีดกัน สารพันไพรีอย่าบีฑา เชิญเสด็จมาสดับรับบวงสรวง เอานามพุ่มแทนพวงทิพบุบผา ด้วยจากแดนแสนกันดารดวงมาลา ไม่หันหาบายศรีพลีสังเวย ส่วนกุศลต่างสุคนธรสรื่น อันหอมชื่นไม่สิ้นกลิ่นระเหย ไมตรีจิตต์อุทิศแทนนมเนย บูชาเชยอารักษ์ด้วยภักดี แล้วจะลาไปประนตพระบทเรศ ขอพระเดชคุ้มภัยในวิถี กับศีลทานเมตตาบารมี จงเป็นที่พึ่งทั่วทุกตัวไป ขอฝากน้ำฝากนามตามอักขระ ให้เรียกสระกระสัตรีวารีใส ฤดูแล้งอย่าให้แห้งเช่นแห่งใด ถ้าใครได้วิดวักเหมือนตักเติม ฉันสิ้นชนม์ชลสินธุ์อย่าสิ้นด้วย เทพช่วยบริรักษ์บำรุงเฉลิม ให้สะอาดเอี่ยมตามาตามเดิม จงพูนเพิ่มภิญโญโมทนา ชลธารนี้เป็นทานทั่วพิภพ อยู่ให้ครบห้าพันพระวรรษา แม้นชีวังยังไม่บรรไลยลา จะกลับมาชมอีกให้อิ่มเอย ฯ
สระ....สำเร็จเสร็จสร้าง.............สามปี
น้ำ......สะอาดดุจมณี................ผ่องแผ้ว
ทำ......ไว้หว่างวิถี....................ทางโกล...อุดรแฮ
ทาน.....นี่จงขจัดแร้ว................รอดห้วงบ่วงมาร ฯ
ศา........ลาท่าหยุดร้อย.............รับลม...เรื่อยแฮ
ลา........เลิศดูทรงสม...............เทริดฟ้า
นา........นานิกรชม..................เชิญชื่น...พักพ่อ
รี..........รักพอผ่อนล้า..............เลื่อยแล้วจึงจร ฯ
ผู้ใดจรจวบต้อง................สุริยง
เชิญหยุดศาลาปลง...........ปลูกไว้
ผ่อนพักตักเสพสรง...........น้ำสระ
แล้วช่วยอวยผลให้............แก่ผู้รังสรร ฯ (๔)
เมื่อกรมหมื่นมเหศวรฯ กับกรมหมื่นวิศณุนารถฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๔ คุณพุ่มอัตคัดขัดสนมาก อาศัยเลี้ยงชีพแต่ด้วยแต่งกลอนขาย ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ คนหนึ่ง ชวนให้คุณพุ่มแต่งกลอนชมพระเกียรติยศ คุณพุ่มจึงได้แต่งเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ เพื่อจะแสวงหาบำเหน็จจากผู้ที่จะขอลอกคัดไปอ่าน ความทั้งนี้คุณพุ่มได้บอกไว้ในเพลงยาว ดูราวกับอำนาจกุศลที่แต่เพลงยาวเฉลิมพระเกียรตินี้ ต่อมาไม่ช้าก็เริ่มทรงสักรวาในรัชกาลที่ ๕ คุณพุ่มจึงได้โอกาสเข้ารับราชการอยู่ในสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร เป็นผู้บอกสักวา ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้กลับมีความสุขสืบมาจนตลอดอายุ
ครั้งเล่นสักรวาในสระบางปอินเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระซิบสั่งกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณให้ทรงสักรวาว่าเย้าคุณพุ่ม หมายจะทรงฟังสำนวนกลอนเวลาโกรธจะว่าอย่างไร กรมหลวงบดินทรฯแกล้งอ้างความขึ้นไปถึงครั้งคุณพุ่มชิงพระแสงดาบพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เย้าอยู่หลายบทสักรวา แต่จะเป็นเพราะคุณพุ่มแก่ชราเสียแล้ว หรือเพราะเกรงพระบารมีด้วยเป็นหน้าพระที่นั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ หาได้โต้ตอบเต็มสำนวนดังแต่ก่อนไม่ บทสักรวาเหล่านั้นปรากฏอยู่ในหนังสือประชุมบทสักราเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งหอพระสมุดฯพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑
คุณพุ่มนี้ ไม่ปรากฏว่าได้แต่งหนังสือเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใดไว้ ว่าโดยส่วนเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งหอพระสมุดฯพิมพ์แล้ว กระบวนความแต่งเป็น ๒ ตอน คือแต่งเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอน ๑ เฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตอน ๑ ในทางกลอนนับว่าดี แต่ในทางภาษาถ้อยคำมักชอบใช้เป็นกลอนตลาด หรือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า "อย่างซึมซาบ" แต่เมื่อพิจารณาดูทั้งเรื่องแล้ว ต้องนับว่าเป็นหนังสือแต่งดี อันสมควรจะพิมพ์รักษาไว้มิให้สูญญเสีย.
เชิงอรรถ
(๑) มีอยู่ในเพลงยาวสามชาย หอพระสมุดฯพิมพ์แล้ว
(๒) คำอธิษฐาน กรมหลวงประจักรศิลปาคมทรงจำไว้ได้จดประทานมา
(๓) บทสักรวานี้เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ จำไว้ได้บ้าง จะหาฉบับให้จบยังไม่ได้
(๔) โคลง ๓ บทนี้ สงสัยว่าเป็นของผู้อื่นแต่ง หาใช่สำนวนของคุณพุ่มไม่
ภาพและที่มา www.bloggang.com