ครูสาคร ยังเขียวสด ศิลปินแห่งชาติสาขา ศิลปะการแสดง ( ละครเล็ก ) ประจำปี พ . ศ . 2539
ครูสาคร ยังเขียวสด เป็นผู้มีความสามารถในการแสดงนาฎศิลป์ ทั้งโขน ละคร ลิเก โดยเฉพาะการเชิดหุ่นละครเล็ก ที่สืบทอดมาจากครูแกร ศัพทวนิช ผู้ให้กำเนิดหุ่นละครเล็ก ทำให้หุ่นละครเล็กกลับคืนมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่สูญหายไปราว ๕๐ ปี โดยใช้ชื่อคณะว่า “หุ่นละครเล็ก” คณะสาครนาฎศิลป์ ละครเล็กหลานครูแกร”
นอกจากจะเป็นผู้อนุรักษ์หุ่นละครเล็กแล้ว ท่านยังได้ริเริ่มรังสรรค์พัฒนาให้หุ่นเคลื่อนไหวได้มากขึ้นคล้ายคนจริง ปรับแก้รูปทรงสัดส่วนและเครื่องแต่งกายของหุ่นให้งดงามยิ่งขึ้น ประกอบกับใช้ศิลปะการเชิดที่ใช้คน ๓ คน ต่อหุ่น ๑ ตัว ทำให้หุ่นละครเล็กเป็นที่ชื่นชอบและรู้จักแพร่หลายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ครูสาคร ยังเขียวสด ได้ถ่ายทอดการเชิดหุ่นละครเล็กให้แก่ลูกหลานทุกคนด้วยความวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นที่จะรักษาศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็กไว้ให้คงอยู่ เป็นสมบัติวัฒนธรรมที่งดงามของชาติสืบไป
ประวัติครูสาคร ยังเขียวสด
ครูสาคร ยังเขียวสด เกิด เมื่อวันจันทร์ เดือนสาม ปีจอ พ.ศ. 2464 ในเรือละคร ขณะที่บิดามารดาเดินทางไปแสดงละครเล็กของคณะครูแกร ศัพทวนิช ที่วัดปากคลองบางตะไคร้ (ไม่ปรากฎแน่ชัดว่าเป็นที่ใด) จังหวัดนนทบุรี คุณย่าหลั่งภรรยาพ่อครูแกรตั้งชื่อให้ว่า " สาคร " เพราะขณะนั้นหุ่นละครเล็กพ่อครูแกรกำลังแสดงเรื่องพระอภัยมณีคุณย่าปลั่ง จึงนำชื่อ " สุดสาคร " ตัวละครในเรื่องพระอภัยมณีมาตั้งเป็นชื่อให้
ครูสาคร ยังเขียวสด มีชื่อเล่นเมื่อครั้งยังเด็ก ว่า " หลิว " แต่ครั้นโตขึ้นได้เข้าสู่วงการแสดง ได้เป็นเจ้าของคณะลิเก และชอบแสดง เป็นตัวตลกประจำคณะ จึงมีผู้เรียกชื่อเล่นเพี้ยนจากหลิวเป็น หลุยส์ และภายหลังมีผู้เติมสมญานามว่า โจ ให้อีก จึงกลายเป็น โจหลยส์ ซึ่ง เป็นชื่อที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการแสดง และปัจจุบันได้นำชื่อ โจหลุยส์ มาตั้งเป็นชื่อของโรงละครโดยใช้ชื่อว่า " โจหลุยส์เธีย เตอร์ "
ครูสาคร ยังเขียวสด มีบิดาชื่อ นายคุ่ย ยังเขียวสด มารดาชื่อนางเชื่อม ยังเขียวสด นายสาคร เรียนสำเร็จ การศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดประชาระบือธรรม สมรสกับนางสมศรี มีบุตรด้วยกัน 1 คน แต่เสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ ต่อมาได้สมรสกับนางสมพงษ์ มีบุตรธิดาด้วยกัน 9 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 2 คน
ครูสาคร ได้รับตัวหุ่นจากครอบครัวของ พ่อครูแกร ศัพทวนิช 30 ตัว จึงเป็นหุ่นละครเล็กเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในประเทศไทย เพราะได้สูญหายไปกว่า 50 ปีแล้ว จัดแสดงหุ่นละครเล็กในเทศกาลเที่ยวเมืองไทยปีพ.ศ. 2528 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสนับสนุน ได้ทำพิธีบูชาพ่อครูแก ขออนุญาตจัดทำหุ่นเพิ่มเติม ได้แสดง ณ สวนอัมพรหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อปีพ.ศ. 2530
ครูสาคร ตั้งชื่อคณะว่า "หุ่นละครเล็กคณะสาครนาฏศิลป์ละครเล็กหลานครูแกร" เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมมาก เพราะมีลักษณะพิเศษที่ตัวหุ่นเคลื่อนไหวได้ทุกส่วนคล้ายคนจริง เครื่องแต่งกายก็สวยงามแบบโขนละครจริง ศิลปะการเชิดก็แตกต่างจากการเชิดหุ่นกระบอกที่คุ้นเคย ยิ่งมีการพัฒนาให้หันหน้าได้ทุกตัว มีรูปทรงสัดส่วนสวยมาก เพิ่มเครื่องประดับมากขึ้น มีความประณีตในการแสดงมากขึ้น ทำให้หุ่นมีท่าทาง การเจรจาเหมือนคนจริง มีการเชิดหน้าโรง ให้เห็นลีลาท่าเต้นของผู้เล่นหุ่นทั้งสามคน มีการสาธิตวิธีการเชิดก่อนการแสดง อีกทั้งครูโจ หลุยส์ยังได้ดัดแปลงให้แสดงเรื่องรามเกียรติ์โดยสมบูรณ์ มีตัวละครสง่างามตามเรื่องสนุก ทำให้การแสดงหุ่นละครแบบดั้งเดิมที่เคยจัดแสดงเพียงเล็กน้อยเฉพาะตอนเปิดเรื่องเพื่อเป็นการแสดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องพระอภัยมณี ยิ่งทำให้ศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็กโดดเด่นมีความสำคัญเต็มรูปแบบสมบูรณ์ จนได้รับการเชิดชูจากสถาบันต่างๆ ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปเผยแพร่ศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็กในประเทศต่างๆ ครูโจ หลุยส์ คือผู้ฟื้นฟูศิลปะการแสดง หุ่นละครเล็ก สืบทอดมรดกของชาติ ท่านจึงได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเล็ก) ประจำปีพุทธศักราช 2539
หุ่นละครเล็กโจ หลุยส์ ได้ชื่อว่าเป็นหุ่นละครเล็กเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในเมืองไทย ได้เปิดโรงละครขึ้นที่จังหวัดนนทบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2542 สร้างหุ่นขึ้นมาอย่างมีศิลปะล้ำค่า ต่อมาบ้านถูกไฟไหม้ หุ่นละครที่มีอยู่ 50 ตัว ถูกเผาเกลี้ยง ปีพ.ศ. 2544 ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใจบุญทั้งในและนอกประเทศ อุปถัมภ์การสร้างหุ่นละครเล็กขึ้นใหม่สามารถเปิดการแสดงได้ที่สวนลุมพินีไนต์บาซาร์ รวมทั้งจัดนิทรรศการว่าด้วยประวัติความเป็นมา การประดิษฐ์หุ่นละครตามเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ที่ได้มาจากรามายณของอินเดีย
ครูสาคร ยังเขียวสด เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ด้วยอาการน้ำท่วมปอด สิริรวมอายุได้ 83 ปี