เรื่องราวที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเด็กหญิงซาดาโกะ ซาซากิ ได้รับพิษจากการทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐที่ถล่มเมืองฮิโรชิม่า เมื่อ 6 สิงหาคม 2489 หรือปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
ตอนที่เกิดระเบิดนั้นเด็กหญิงซาดาโกะไม่ได้เกิดอาการเจ็บป่วยในทันที แต่ 11 ปี หลังจากนั้น ในปี 2498 วันที่ซาดาโกะแข่งขันวิ่งผลัดที่โรงเรียน ทำให้เด็กหญิงเหน็ดเหนื่อยและปวดศีรษะอย่างรุนแรง และจากนั้นก็เริ่มปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นสลบในชั้นเรียน
พอพ่อแม่ซาดาโกะรู้ จึงพาไปหาหมอ และพบกับความจริงที่สะเทือนใจว่า ซาดาโกะป่วยเป็นลูคิเมียหรือมะเร็งในเม็ดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่คนสมัยนั้นเป็นกันมาก เพราะถูกปรมาณูในสงครามโลก
สำหรับซาดาโกะเมื่อทราบชะตาชีวิตตัวเองก็โศกเศร้าร้องไห้ตลอดเวลา เพราะอยากออกจากโรงพยาบาลและกลับไปโรงเรียน แต่ทำไม่ได้ กระทั่งชิซูโกะเพื่อนรักของซาดาโกะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลและนำโอริกามิหรือกระดาษพับมาให้ พร้อมทั้งเล่าตำนาน "ซูรุ" หรือนกกระเรียนให้ซาดาโกะฟัง
โดยคนญี่ปุ่นถือว่า ซูรุ เป็นนกศักดิ์สิทธิ์และสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาว ความหวัง ความโชคดีและความสุข นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันความเจ็บป่วยได้ด้วย ถ้าใครสามารถพับนกกระเรียนได้ถึง 1,000 ตัว แล้วผู้นั้นจะมีอาการดีขึ้น
เมื่อได้ฟังดังนั้นซาดาโกะก็เลยตัดสินใจที่จะพับนกพร้อมกับเขียนคำว่า สันติภาพลงบนปีกนกด้วย เพื่อให้มันบินไปได้ทั่วโลก หลังจากนั้นไม่นานครอบครัวและเพื่อนๆก็พากันช่วยซาดาโกะพับนกกระเรียน เมื่อครบ 500 ตัว ซาดาโกะอาการดีขึ้นและได้รับอนุญาตจากคุณหมอให้กลับไปอยู่ที่บ้าน
ระหว่างนั้นเด็กหญิงไม่เคยหยุดที่จะพับนกเลย แต่หลังจากกลับไปอยู่บ้านไม่นาน อาการของซาดาโกะก็เริ่มกำเริบขึ้นอีกจนต้องกลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดซาดาโกะก็จากครอบครัวไปอย่างสงบ ในขณะที่พับนกได้เพียง 644 ตัว
หลังการเสียชีวิตของซาดาโกะ เพื่อนๆ ที่โศกเศร้าต่อการจากไปของเธอร่วมกันพับนกกระเรียนที่เหลือจนครบ 1,000 ตัว และใส่ไปในโลงศพของเธอด้วย นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งสมาคมนกกระเรียนเพื่อรำลึกถึงซาดาโกะอีกด้วย
เมื่อเรื่องของซาดาโกะแพร่หลายออกไป ได้มีการบริจาคเงินสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงซาดาโกะและเด็กๆ อีกหลายคนที่เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณู และตั้งที่ใจกลางสวนสาธารณะสันติภาพฮิโรชิม่า โดยอนุสาวรีย์นี้เป็นรูปของซาดาโกะกำลังยืนและยื่นมือทั้งสองข้างขึ้นไปบนฟ้า ที่มือของเธอถือนกกระเรียนสีทองไว้ด้วย
ข้อมูลโดย : มูลนิธิดอกไม้และนกกระดาษเพื่่อสันติภาพ
นกกระเรียน
นกกระเรียน
Grus antigone
ลักษณะ : เป็นนกขนาดใหญ่เมื่อยืนมีขนาดสูงราว ๑๕๐ เซนติเมตร ส่วนหัวและคอไม่มีขนปกคลุม มีลักษณะเป็นปุ่มหยาบสีแดง ยกเว้นบริเวณกระหม่อมสีเขียวอมเทา ในฤดูผสมพันธุ์มีสีแดงส้มสดขึ้นกว่าเดิม ขนลำตัวสีเทาจนถึงสีเทาแกมฟ้า มีกระจุกขนสีขาวห้อยคลุมส่วนหาง จะงอยปากสีออกเขียว แข้งและเท้าสีแดงหรือสีชมพูอมฟ้า นกอายุน้อยมีขนสีน้ำตาลทั่วตัว บนส่วนหัวและลำคอมีขนสีน้ำตาลเหลืองปกคลุม ในประเทศไทยเป็นนกกระเรียนชนิดย่อย Sharpii ซึ่งไม่มีวงแหวนสีขาวรอบลำคอ
อุปนิสัย : ออกหากินเป็นคู่และเป็นกลุ่มครอบครัว กินพวกสัตว์ เช่น แมลง สัตว์เลื้อยคลาน กบ เขียด หอย ปลา กุ้งและพวกพืช เมล็ดข้าวและยอดหญ้าอ่อน ทำรังวางไข่ในฤดูฝนราวเดือนมิถุนายน ปกติวางไข่จำนวน ๒ ฟอง พ่อแม่นกจะเลี้ยงดูลูกอีกเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๐ เดือน
ที่อยู่อาศัย : ชอบอาศัยตามทุ่งหญ้าที่ชื้นแฉะ และหนองบึงที่ใกล้ป่า
เขตแพร่กระจาย : นกกระเรียนชนิดย่อยนี้ มีเขตแพร่กระจายจากแคว้นอัสสัมในประเทศอินเดีย ประเทศพม่า ไทย ตอนใต้ลาว กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ถึงเมืองลูซุนประเทศฟิลิปปินส์ บางครั้งพลัดหลงไปถึงประเทศมาเลเซีย และยังมีประชากรอีกกลุ่มหนึ่งในรัฐควีนแลนด์ประเทศออสเตรเลีย
สถานภาพ : นกกระเรียนเคยพบอยู่ทั่วประเทศ ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ พบ ๔ ตัว ที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดปทุมธานี จากนั้นมีรายงานที่ไม่ยืนยันว่าพบนกกระเรียน ๔ ตัว ลงหากินในทุ่งนาอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๒๘
สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ : นกกระเรียนจะจับคู่กันอยู่ชั่วชีวิต มีความผูกพันธ์กับคู่สูงมาก เมื่อคู่ของมันถูกยิงเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ นกตัวที่เหลือจะไม่ยอมไป จนมันถูกยิงเสียชีวิตไปด้วย การทำลายแหล่งหากิน และทำรังวางไข่โดยการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นนาข้าวในหลายบริเวณ รวมทั้งการล่านก เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้นกกระเรียนหมดสิ้นไปจากประเทศไทย นอกจากนี้ นกกระเรียนเป็นนกที่ขยายพันธุ์ได้น้อย ต้องใช้เวลาเกือบ ๓ ปี ในการเจริญพันธุ์ โอกาสที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นตามธรรมชาติจึงมีน้อยมาก