ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

วันพืชมงคล, วันพืชมงคล หมายถึง, วันพืชมงคล คือ, วันพืชมงคล ความหมาย, วันพืชมงคล คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 2
วันพืชมงคล

           วันพืชมงคล หมายถึง วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมาแต่โบราณ เพื่อเป็นศิริมงคลแด่พืชพันธ์ธัญญาหาร บำรุงขวัญเกษตรกรและเตือนให้เริ่มเพาะปลูกข้าวและพืชไร่อันเป็นธัญญาหารหลักในการดำรงชีวิตของชาวไทย

พระราชพิธีพืชมงคล

          ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าหน้าที่เชิญพระปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลปัจจุบันพระพุทธคันธารราษฎร์ของรัชกาลที่ ๑ พระพุทธรูปปางสมาธิทรงภาวนาให้ต้นข้าวเกิดงอกงามรอบพุทธบัลลังก์ รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้าง พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๔ พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๕ พระคันธารราษฎร์ขอฝนแบบจีน พระบัวเข็ม เทวรูปพระพลเทพ พระโคอุศุภราช ตั้งบนม้าหมู่ในธรรมาสน์ศิลาหน้าฐานชุกชีพุทธบัลลังก์บุษบก พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ใต้ธรรมาสน์ศิลาตั้งกระบุงทอง กระบุงเงินอย่างละคู่บรรจุข้าวเปลือกพันธุ์ดีที่เป็นของพระราชทานจากนาทดลอง และมีถุงบรรจุพันธุ์พืชต่าง ๆ คือ ผักกาดกวางตุ้งดอก ผักกาดหอม ข้าวโพดขาว ผักกาดขาวปลี แตงกวา พริกชี้ฟ้า แตงกวาผสม ละหุ่ง ผักกาดหัว บวบเหลี่ยม มะระจีน คะน้าใบ ผักกาดขาวกวางตุ้ง คะน้ายอด มะเขือเทศสีดา แตงร้าน แตงโม ฟักทอง พริกขี้หนู มันแกว แตงไทย ผักบุ้งจีน ผักกาดขาวใหญ่ ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ตั้งโอ๋ น้ำเต้า ข้าวโพดเกษตร ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เมล็ดงา ผักปวยเล้ง กระเจี๊ยบ ขึ้นฉ่าย ชุนฉ่าย ฟักเขียว ผักกาดขาวปลี ผักชี ผักกาดเขียวกวางตุ้ง แฟง ผักขมจีน เผือก มัน แล้ววงสายสิญจน์จากพระพุทธรูปสำคัญโยงไปถวายพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ หน้าธรรมาสน์ศิลาทอดเครื่องนมัสการพุ่มพานดอกไม้ธูปเทียนไว้พร้อม

          ก่อนเวลาเสด็จพระราชดำเนินพระยาแรกนาแต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เทพีทั้ง ๔ แต่งกายชุดไหมไทยห่มสไบผ้าไหมประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มายังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จุดธูปเทียนสักการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปนั่งเก้าอี้ที่เฝ้าฯ ตามลำดับ

          เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิตไปยังพระบรมมหาราชวังเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงจุดเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการที่หน้าธรรมาสน์ศิลา ทรงกราบ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ แล้วประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์กรมการศาสนาอาราธนาศีล พระราชคณะถวายศีล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศีล เมื่อทรงศีลแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปที่ธรรมาสน์ศิลาทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์และพระพุทธรูปสำคัญแล้วทรงประพรมพืชต่าง ๆ ทรงโปรยดอกไม้มีดอกมะลิและกลีบกุหลาบ แล้วถวายพวงมาลัยที่พระพุทธรูปทุกองค์โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนพระคันธารราษฎร์ ๒ คู่ และทรงจุดเทียนที่พระคันธารราษฎร์จีนอีก ๑ เล่ม ทรงกราบอธิษฐานขอความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักรแล้วประทับพระราชอาสน์หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล

          เมื่อหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคลจบ พระสงฆ์ ๑๑ รูป มีพระราชาคณะวัดระฆัง-โฆษิตารามเป็นประธานสงฆ์ และพระเปรียญ ๙ ประโยคจากวัดต่างๆ อีก ๑๐ รูปรวมเป็น ๑๑ รูป เจริญพระพุทธมนต์คาถาพืชมงคล จบ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาแรกนา เข้าไปเฝ้าฯ คุกเข่าถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำสังข์พระราชทานรดที่ศีรษะทรงเจิมแป้งกระแจะที่หน้าผาก พระราชทานใบมะตูมทัดที่ซอกหูขวาและพระราชทานธำมรงค์นพเก้าสำหรับสวมที่มือขวา ๑ วง ที่มือซ้าย ๑ วงแล้ว พระราชทานพระแสงปฏักที่จะถือใช้วันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้วลุกขึ้นถวายคำนับ กลับไปนั่งเฝ้าฯ ที่เดิมต่อจากนี้ข้าราชการสตรีในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเทพี ๔ คน ถวายความเคารพ เดินเข้าไปหมอบเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำสังข์พระราชทานรดที่ศีรษะ ทรงเจิม พระราชทานใบมะตูมทัดที่ซอกหูขวาตามลำดับ ขณะที่พระยาแรกนาและเทพีรับพระราชทานน้ำสังข์นั้น พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาจนเสร็จการพระราชทานน้ำสังข์

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมซึ่งบรรจุในถาดมีคนโทแก้วบรรจุน้ำฝนด้วย เป็นราชประเพณีที่จะต้องจัดภาชนะบรรจุน้ำฝนถวายพระสงฆ์เฉพาะงานพระราชพิธีมงคลตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริไว้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนาถวายอดิเรก แล้วออกจากพระอุโบสถ

          เมื่อพระสงฆ์ออกจากพระอุโบสถแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ รงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินกลับ

          หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินกลับแล้ว คณะพราหมณ์เชิญเทวรูปสำคัญที่ตั้งในมณฑลพิธี คือ พระพลเทพ พระโคอุศุภราช ไปเข้าเบญจาพิธีมณฑล ณ โรงพิธีพราหมณ์ที่ท้องสนามหลวงที่แท่นมลฑลพิธีนี้ พราหมณ์ได้เชิญเทวรูปสำคัญจากเทวสถานเสาชิงช้ามาตั้งเข้าพิธีคือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระอุมา พระพรหม และพระพิฆเนศวร์ พร้อมด้วยกระบุงทอง กระบุงเงิน บรรจุข้าวเปลือกที่ได้เข้าพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามรวมทั้งพืชพันธุ์ต่าง ๆ และเครื่องพิธีตามลัทธิธรรมเนียมของพราหมณ์ คณะพราหมณ์ประกอบพิธีกรรมสวดบูชาพระเวทย์ตลอดคืน วันนี้แต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

เวลาประมาณ ๖ นาฬิกา พระยาแรกนาพร้อมด้วยเทพีแต่งกายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พระยาแรกนาสวมสนับเพลาปลายขอบปักดิ้นทอง ถุงเท้าขาว รองเท้าหุ้มส้นสีดำไม่ผูกเชือกมีกรอบทำด้วยโลหะสีทองติดคล้ายโบ นุ่งผ้าเยียรบับชายพกพับจีบ ไม่จีบโจง ใช้เชือกสายแถบรัดเอวสวมเสื้อเยียรบับพื้นเขียวลายทองแขนยาวแบบราชการ กระดุม ๕ เม็ด สวมสายสะพายและประดับราชอิศริยาภรณ์คาดเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทองรัดเอวนอกเสื้อ สวมเสื้อครุยผ้าโปร่งปักดิ้นทองแล้วกลัดดวงตราปักอักษรย่อ จจจ. เครื่องราช-อิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ส่วนเทพีนุ่งจีบหน้านางผ้าเยียรบับหรือผ้าไหมไทยทอยกดอกลายสีทองพื้นสีตามความเหมาะสม สวมเสื้อไหมไทยรัดรูปแขนยาวคาดเข็มขัดทำด้วยโลหะเป็นเกลียวเกี่ยวขัดสีทอง ห่มผ้าสไบปักทองแล่ง ประดับอาภรณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน สวมถุงเท้าสีเนื้อ รองเท้าหนังหุ้มส้นสีทองปลายงอน

          เสร็จแล้วพระยาแรกนาขึ้นรถยนต์หลวงออกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เทพีและข้าราชการ (แต่งเครื่องแบบเต็มยศประดับราชอิสริยาภรณ์) เชิญเครื่องยศขึ้นรถตามเป็นกระบวน เมื่อเข้าสู่พระอุโบสถแล้วพระยาแรกนาและเทพีจุดธูปเทียนถวายนมัสการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปที่ปราสาทพระเทพบิดรถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชแล้วไปขึ้นรถยนต์หลวง เป็นกระบวนออกจากจัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังท้องสนามหลวง

          เวลา ๗ นาฬิกา เจ้าพนักงานจัดตั้งริ้วกระบวนอิสริยยศตามประเพณีโบราณรับพระยาแรกนา พระยาแรกนาลงจากรถยนต์หลวงแล้วสวมลอมพอกเดินเข้าประจำที่ในกระบวนพร้อมด้วยคู่เคียง ๒ ข้าง ๆ ละ ๘ นาย ผู้เชิญเครื่องยศและเทพีจัดเป็นรูปกระบวนยาตราไปยังโรงพิธีพราหมณ์ ประโคมกลองชนะ สังข์ แตร ตลอดทาง

พระโคเสี่ยงทายมี 7 สิ่ง ถ้าพระโคกินสิ่งใดจะมีคำทำนายตามนั้น

  • ถ้าพระโคกินข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหารจะบริบูรณ์ดี
  • ถ้ากินถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ถ้ากินน้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า จะสมบูรณ์พร้อม
  • ถ้าพระโคกินเหล้าพยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวก การค้าขายกับต่างประเทศดี เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง

ผ้านุ่งเสี่ยงทายมี ๓ ผืน ขนาดกว้าง ๔ คืบ ๕ คืบ ๖ คืบ มีคำพยากรณ์ ดังนี้

  • ผ้า ๔ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
  • ผ้า ๕ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลสมบูรณ์และผลาหาร สังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์
  • ผ้า ๖ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่ในที่ดอนอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

ความเป็นมาของวันพืชมงคล

          พระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในสมัยโบราณคงจะเป็นพิธีที่มีความมุ่งหมายเพื่อบำรุงขวัญและเตือนให้เริ่มเพาะปลูกพืชผลโดยเฉพาะคือการทำนา ซึ่งเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งของการดำรงชีวิต ผู้ปกครองหรือผู้เป็นประมุขของประเทศเมื่อถึงฤดูกาลที่ควรจะเริ่มลงมือเพาะปลูกพืชผลจึงต้องประกอบกรณียกิจเป็นผู้นำโดยลงมือไถ หว่าน พืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นตัวอย่างเพื่อเตือนว่าถึงเวลาประกอบการเพาะปลูกตามฤดูกาล

          ต่อมากาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป ได้มีการพิธีเรียกว่า จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิส่งเสริมการให้มีอำนาจและความสวัสดีต่าง ๆ เป็นผู้แนะนำประกอบพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์ของพราหมณ์ในพิธีนี้พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศ อาจจะทรงมีพระราชภารกิจอื่น จึงโปรดแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดให้ทำแทนพระองค์ เรียกว่า พระยาแรกนา ทำหน้าที่ไถ หว่านธัญญพืช พระมหาสีหรือชายาที่เคยร่วมการไถ หว่าน ก็เปลี่ยนเป็นจัดให้นางใน คือท้าวนางในราชสำนักออกไปทำหน้าที่หาบกระบุงพันธุ์พืชช่วยพระยาแรกนาไถ หว่าน เรียกว่า เทพี

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมีมานานนับพัน ๆ ปี และมีเกือบทุกชาติ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบต่อมาในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ทำในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นพิธีพราหมณ์ตามแบบในสมัยอยุธยา ไม่มีพิธีสงฆ์ประกอบ

          ครั้งถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริโปรดให้มีพิธีสงฆ์ทางพระพุทธศาสนาร่วมประกอบในพิธีด้วยเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำเข้ามาตั้งในมณฑลพิธี แล้วจึงนำไปไถหว่านในการแรกนาขวัญ เรียกพระราชพิธีในตอนนี้ว่า พืชมงคล เมื่อรวม ๒ พิธีแล้ว เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นราชประเพณีสืบมาโดยจัดเป็นงาน ๒ วัน วันแรกเป็นพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้นเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกร จึงเป็นวันที่มีความสำคัญ โบราณจารย์จึงได้วางหลักเกณฑ์ให้ประกอบพิธีในวันดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้นแรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน ๖ โดยมีประเพณีต้องหาฤกษ์ตามตำราทางจันทรคติ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงไม่ได้กำหนดวันเวลาไว้ตายตัวตามปรกติแล้วจะตกอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม การที่ต้องกำหนดให้อยู่ในเดือน ๖ ก็เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝนเป็นระยะเวลาเหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนาอันเป็นอาชีพหลักสำคัญของชาวไทยมาแต่โบราณ เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี และได้ลงกำหนดไว้ว่า วันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ ๑ วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณีตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้วได้เว้นว่างไป ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๓ ทางรัฐบาลสั่งให้กำหนดมีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พืชมงคล ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมา

          พระราชพิธีพืชมงคลเป็นส่วนประกอบเพื่อสิริมงคลแก่พันธุ์พืชสำหรับนำไปใช้ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กำหนดงานก่อนวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ๑ วันมีอ่านประกาศถึงความสำคัญที่จะเริ่มพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในประกาศนั้นอ้างหลักธรรมทางพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลคราวเกิดฝนแล้ง ด้วยพุทธานุภาพทรงบันดาลให้ฝนตก ทำนา ทำไร่ หว่านพืชผลได้ตามปรกติ และกล่าวถึงตำนานการสร้างพระคันธาราษฎร์อันเกี่ยวด้วยพุทธานุภาพที่ทรงบันดาลให้มีฝนตกจึงได้สร้างขึ้น ณ เมืองคันธาราษฎร์ครั้งอดีตกาล แล้วประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกองค์ปฐมกษัตริย์ ที่ได้ทรงสร้างพระพุทธคันธาราษฎร์ขึ้นไว้เพื่อประกอบการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตามตำนานที่มีมาแต่โบราณกาล ซึ่งเป็นราชประเพณีที่ พระมหากษัตริย์ทรงอนุวัติจัดงานพระราชพิธีนี้สืบมา สุดท้ายประกาศถวายพระพรชัยมงคล และขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาเทพยดาทั้งปวง ประสิทธิประสาทให้พืชพันธุ์ธัญญาหารในราชอาณาจักรอุดมสมบูรณ์งอกงามเจริญดี ตลอดจนขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จบประกาศแล้ว พระสงฆ์ ๑๑ รูปเจริญพระพุทธมนต์เป็นคาถาพิเศษสำหรับพืชมงคลโดยเฉพาะเพื่อเสกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่ได้นำมาตั้งเข้าพิธีมณฑล มีข้าวเปลือกพันธุ์ต่าง ๆ ถั่วทุกชนิด ข้าวโพด งา ฟัก แฟง แตงกวา เผือก มัน ฝ้าย เป็นต้น

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เลขาธิการพระราชวังพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่เดิมจัดเป็นงาน ๒ วันแล้วได้ระงับไปคงได้แต่พิธีพืชมงคลจัดเป็นงานประจำทุกปี สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ทางรัฐบาลเห็นควรจัดให้มีการแรกนาขวัญขึ้นอย่างเดิมเพื่อรักษาบูรพประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรไว้สืบต่อไป สำนักพระราชวังและกระทรวงเกษตรจึงได้กำหนดงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตามราชประเพณีเดิมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ จนถึงปัจจุบันนี้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการพระราชพิธีทุกปี ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพระราชพิธีเพื่อความเหมาะสมตามยุคสมัยด้วยพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแต่เดิมมาทำที่ทุ่งพญาไท เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวงซึ่งเคยเป็นที่ประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓

          ส่วนผู้ที่จะเป็นพระยาแรกนาในสมัยก่อนเคยโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เป็นพระยาแรกนา และผู้ที่เป็นเทพีหาบกระบุงทอง กระบุงเงิน บรรจุข้าวเปลือกหว่านนั้นโปรดเกล้าฯ ให้จัดท้าวนางฝ่ายใน เมื่อเวลาได้เปลี่ยนแปลงหน้าที่ตำแหน่งไปแล้วเช่นนี้ เมื่อเริ่มฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่ พระยาแรกนาจึงได้แก่ อธิบดีกรมการข้าวกระทรวงเกษตรเทพีได้คัดเลือกจากข้าราชการสตรีผู้มีเกียรติในกระทรวงเกษตร ในปีต่อมาจนถึงปัจจุบันผู้เป็นพระยาแรกนาได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดับ ๓

วันพืชมงคล, วันพืชมงคล หมายถึง, วันพืชมงคล คือ, วันพืชมงคล ความหมาย, วันพืชมงคล คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu