วันที่ 28 เมษายน นับเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่ง เพราะนับถอยหลังไปในวันศุกร์ที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกสมรส กับ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาพระองค์ใหญ่ในพลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และ หม่อมหลวงบัว กิติยากร
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในครั้งนั้น นับว่าเป็นปรากฏการณ์ ครั้งแรกสำหรับพระมหากษัตริย์ไทยในยุคประชาธิปไตย ที่ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยทั่วไป
ราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบัญญัติถ้อยคำเกี่ยวกับการสมรสไว้เป็น 3 อย่าง คือ ข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์เรียกว่า "สมรส" พระองค์เจ้า หรือหม่อมเจ้าเรียกว่า "เสกสมรส" เจ้าฟ้าเรียกว่า "อภิเษกสมรส"
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน "ราชาภิเษก" ได้มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระอัครมเหสี โดยประกาศวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ความตอนหนึ่งว่า "มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า "ได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ถูกต้องตามกฎหมายและราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว"
ในปีพ.ศ.2489 เมื่อรัฐบาลในนามของประชาชนทั้งประเทศ กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น ประเทศไทยขาดพระบรมราชินีมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งขณะนั้นคือ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2492 ประชาชนชาวไทยจึงพากันตื่นเต้นยินดี ยิ่งได้ทราบว่าพระคู่หมั้นทรงมีพระสิริโฉมงดงาม มีพระปรีชาสามารถ
พระราชพิธีราชาภิเษก
และแล้วสำนักพระราชวังก็ได้ประกาศข่าวพระราชกระแสรับสั่งให้จัดเตรียมการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นเป็นลำดับแรก และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นลำดับถัดไป ซึ่งพระราชกระแสรับสั่งดังกล่าวได้มีประกาศไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 23 เล่มที่ 67 ลงวันที่ 25 เมษายน 2493 เรื่อง การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส 2493 เหตุการณ์สำคัญวันนั้น มีดังนี้
เมื่อวันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2493 อันเป็นวันประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ซึ่งกำหนดจัดให้มีขึ้นที่พระตำหนักของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม เช้าวันนั้น ตามหมายกำหนดการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ห้องรับแขกตำหนักสมเด็จพระพันวัสสา ฯ ในวังสมเด็จพระราชบิดา โอกาสนั้น หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร และหม่อมหลวงบัว กิติยากร ทรงพาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร มายังวังสระปทุม ประทับในห้องรับแขกอีกห้องหนึ่ง รอคอยการพระราชพิธี หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ อยู่ในชุดสีงาช้าง ผ้านุ่งเป็นผ้ายกทอง สวมสายสะพายปฐมจุลจอมเกล้า สวมสร้อยคอเพชร สร้อยข้อมือเพชร ของเก่าของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตุ้มหูเพชรของเก่าฝีมือทำขึ้นใหม่ ครั้นได้เวลาพระฤกษ์ คือ เวลา 09.30 น. หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ทรงพาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ที่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดทะเบียนสมรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ลงนาม ซึ่งขณะนั้นมีชนมายุเพียง 17 ปีย่าง หม่อมเจ้านักขัตรมงคล จึงทรงลงพระนามในฐานะพระบิดา และหม่อมหลวงบัว ลงนามในฐานะพระมารดา แล้วทรงโปรดให้ราชสักขีลงนามเป็นลำดับต่อไป แล้วจึงเสด็จขึ้นประทับ ณ ห้องพระราชพิธีบนพระตำหนัก เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ต่อไป ซึ่งเวลาพระฤกษ์ในช่วงนั้นอยู่ระหว่างเวลา 10.24 - 12.10 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระพันวัสสา ฯ แล้วสมเด็จพระพันวัสสา ฯ ได้ถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรดน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์ แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามโบราณราชประเพณีแห่งการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
จากนั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเจิมพระนลาฎพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงเจิมหน้าผากหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามลำดับ เวลานั้น ทรงมีพระราชดำรัสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ด้วยว่า "เอ้า ! หันออกไปยิ้มกับผู้คนที่เขามางานซิ เขาอุตส่าห์มากันเต็ม ๆ ออกไปให้เขาเห็นหน่อย"
หลังจากที่ทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินลงมายังห้องรับแขกอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่สองแถวในห้องรับแขกของวังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
เมื่อจบคำประกาศของอาลักษณ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสายสะพายขัตติยราชอิสริยาภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด แด่สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์เนื่องในการอันเป็นมหามงคลครั้งนี้ด้วย
พระราชพิธีในตอนบ่าย วันที่ 28 เมษายน 2493 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เสด็จออก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ประทับเหนือพระราชอาสน์ พระบรมวงศานุวงศ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ได้เวลามหามงคลฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร ทรงรับฉันทานุมัติให้กล่าวถวายพระพรในนามของพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อทรงกล่าวจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบ แล้วเสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย คณะรัฐมนตรี ทูตานุทูต สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในมหาสมาคมครั้งนั้น เมื่อจบพระราชดำรัสแล้ว จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ผู้ได้รับฉันทานุมัติ ได้กล่าวถวายพระพรในนามของผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในมหาสมาคม เมื่อกล่าวจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์เสด็จขึ้น ชาวพนักงานประโคมแตร และกลองมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ พระบรมวงศานุวงศ์และพระประยูรญาติใกล้ชิด ได้ทูลเกล้าฯ ถวายของขวัญแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ซึ่งพระองค์ก็ได้พระราชทานของที่ระลึกเป็นการตอบแทน คือ หีบเงินขนาดเล็ก มีพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยคู่กัน
งานเลี้ยงพระราชทานในคืนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเป็นการภายใน ระหว่างพระญาติสนิทกับข้าราชบริพาร ไม่เกิน 20 คน นับเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่เรียบง่ายที่สุด
วันรุ่งขึ้น วันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานโดยทางรถไฟไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ เป็นเวลา 3 วัน รถไฟพระที่นั่งเคลื่อนขบวนถึงสถานีรถไฟหัวหินเมื่อเวลา 17.00 น. ณ ที่นั้นมีผู้มารอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่งต่อไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ตลอดระยะทางที่รถยนต์พระที่นั่งแล่นผ่าน มีประชาชนมารอรับเสด็จเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่ที่พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ตลอดระยะเวลา 3 วัน กองทัพเรือได้จัดเรือรบหลวงมาจอดถวายการอารักขาหน้าพระตำหนัก จำนวน 4 ลำ ได้แก่ เรือรบหลวงบางปะกง เรือรบหลวงบางแก้ว เรือรบหลวงบางระจัน และเรือรบหลวงโพธิ์สามต้น …ซึ่งนับจากวันนั้นถึงวันที่ 28 เมษายน 2545 นับเป็นเวลา 52 ปีเต็ม …และในศุภวาระโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ เสด็จอยู่เป็นคู่พระมิ่งขวัญร่มโพธิ์ทองของปวงประชาชาวไทยตลอดไปชั่วกาลนาน
ที่มา มณีรัตน์ ชาญชัยศิลป์
https://www.thaisnews.com/prdnews/marry/