วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ถือเป็นวันสำคัญของขบวนอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลก ตรงกับวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี
วันคุ้มครองโลกถือกำเนิดในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 27 ปีก่อน ในวันที่ 22 เมษายน 2513 นักอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มหนึ่งได้จัดให้มีการแสดงพลังครั้งใหญ่ เพื่อปลุกเร้าจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันยิ่งถูกมนุษย์ทำลาย ในการแสดงพลังครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่า 20 ล้านคนและปรากฏขึ้นตามเมืองใหญ่ ๆ เกือบทั้งสหรัฐ
หลังจากนั้นความห่วงใยปัญหาสภาพแวดล้อมของสหรัฐก็เพิ่มพูนขึ้น มีการออกกฎหมายควบคุมการกระทำที่สร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติ สำหรับประเทศไทยเริ่มพูดถึงวันคุ้มครองโลกครั้งแรก เมื่อปี 2533 ถือเป็นการเริ่มต้นของสังคมไทยยุคเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหลังจากสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกระทำอัตวินิบาตกรรม และเมื่ออาจารย์และนักศึกษาร่วมกัน 16 สถาบันได้จัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของป่าอนุรักษ์ และตระหนักถึงวิกฤตการทำลายสัตว์ป่าและป่าไม้ประเทศไทย ยังมีการจัดงานเพื่อหาทุนเข้ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อใช้ในการปกป้องรักษาผืนป่า ที่เป็นมรดกของโลกอีกด้วย
ความเป็นมาของวันคุ้มครองโลก
ชนวนความคิดเรื่องวันคุ้มครองโลกเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 โดยสมาชิกวุฒิสภา เกย์ลอร์ด เนลสัน (Senator Gaylord Nelson) ซึ่งต่อมาก็เป็นผู้ที่ก่อตั้งวันคุ้มครองโลกได้สำเร็จ
ก่อนที่ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเข้าไปสู่ความสนใจของประชาคมโลก พลเมืองโลกระดับรากหญ้า ได้ตระหนักถึงปัญหาความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม ที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปอย่างเด่นชัดเป็นอย่างดี ในทางกลับกันนักการเมืองระดับประเทศกลับมองไม่เห็น ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า หัวข้อเรื่องสิ่งแวดล้อมดังกล่าว จะไม่เคยได้รับการบรรจุเข้าไปในวาระการประชุมทางการเมืองระดับชาติเลย
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการกำหนดให้มีวันคุ้มครองโลกขึ้นก็มีความผันแปรเรื่อยมา จากครั้งแรกที่มีการนำเสนอตลอดระยะเวลา 7 ปีของการรณรงค์ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2512 วุฒิสมาชิกเนลสัน ได้ตัดสินใจจัดให้มีการชุมนุมประชากรระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น เพื่อแสดงความคิดเห็นในปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และได้เชิญชวนทุกๆ คนให้เข้าร่วมในการชุมนุมดังกล่าว ผลจากความห่วงใยเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ของคนในสังคมขณะนั้น ทำให้กลุ่มคนจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนั้น ซึ่งเป็นที่ปรากฏชัดว่า กิจกรรมชุมนุมดังกล่าวเป็นการนำไปสู่ความสำเร็จอันงดงามของการก่อตั้งวันคุ้มครองโลกขึ้น
ในที่สุด วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513 “วันคุ้มครองโลก” ก็ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก นิตยสาร อเมริกัน เฮริเทจ (American Heritage Magazine) ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 ได้หวนรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “เป็นเหตุการณ์ที่โดดเด่นที่สุดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตย”
เป้าหมายของวันคุ้มครองโลก
1. เพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ
2. เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป
3. เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ
4. เพื่อห้ามการซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป
5. เพื่อคงสภาพระดับประชากรไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
6. เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่างๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่นๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์
7. เพื่อสร้างสำนึกในอันที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชนและชาติ
อ้างอิง
https://www.lib.ru.ac.th/journal/apr/apr22-EarthDay.html
https://www.dhammakaya.or.th/events/490422_earthday_th.php
https://www.deqp.go.th/info/envDayDetail.jsp?id=20&languageID=th