เมื่อ พ.ศ.2512 ได้มีเจ้าหน้าที่สหพันธ์องค์การผู้บริโภคระหว่างประเทศ ได้เข้ามาชักชวนองค์การเอกชนในประเทศไทยให้เข้าร่วม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากองค์การเอกชนของประเทศไทยขณะนั้นยังไม่พร้อม อย่างไรก็ตามสหพันธ์องค์การผู้บริโภคระหว่างประเทศก็มิได้ย่อท้อ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาชักชวนมาเป็นระยะ จนกระทั่งครั้งที่ 3 องค์การเอกชนของประเทศไทยได้รับการชักชวนได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการศึกษาปัญหาผู้บริโภคมีชื่อว่า กรรมการศึกษาและส่งเสริมผู้บริโภค ในปี พ.ศ.2514 และได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมาในภาคเอกชน รวมทั้งได้ประสานงานกับภาครัฐบาล จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 และได้สลายไปพร้อมกับการเมือง
จนกระทั่งปี พ.ศ.2522 ในสมัย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของ การคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่งโดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายสมภพ โหตะกิตย์ เป็นประธานกรรมการ การปฏิบัติงานโดยอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรี และศึกษาหามาตราการถาวรในการ คุ้มครองผู้บริโภค ทั้งในหลักทาง สาระบัญญัติ และการจัดองค์การของรัฐเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้พิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง บริโภค และรัฐบาลได้เสนอต่อรัฐสภา มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้เป็นกฎหมายได้ รัฐบาลจึงได้นำร่างขึ้นบังคมทูล ซึ่งได้มี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ทรงลงพระปรมาภิไธย ได้ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2522 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่มที่ 96 ตอนที่ 72 วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 มีผลการใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2522 เป็นต้นมา
พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค
พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค เป็นกฎหมายด้านสังคมที่กำหนดเพื่อป้องกันผู้บริโภคจากพฤติกรรมที่ฉ้อฉล เกี่ยวพันกับธุรกิจโดยทั่วไป เนื่องจากปัจจุบันนี้ การเสนอขายสินค้าและบริการต่างๆ ต่อประชาชนนับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจการค้าและผู้ที่ประกอบธุรกิจโฆษณา ได้นำวิชาการในทางการตลาดและทางการโฆษณามาใช้ในการส่งเสริมการขายสินค้าและบริการ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคไม่อยู่ในฐานะที่ทราบภาวะตลาด และความจริงที่เกี่ยวกับคุณภาพและราคาของสินค้า และบริการต่างๆ ได้อย่างถูกต้องทันท่วงที นอกจากนั้น ในบางกรณีแม้จะมีกฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค โดยการกำหนดคุณภาพและราคาของสินค้าและบริการอยู่แล้วก็ตาม แต่การที่ผู้บริโภคแต่ละรายจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ประกอบการป หรือผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ย่อมจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นการไม่คุ้มค่า และผู้บริโภคจำนวนมากไม่อยู่ในฐานะที่จะสละเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้ และในบางกรณีก็ไม่อาจระงับห รือยับยั้งการกระทำที่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคได้ทันท่วงที แบ่งออกเป็น 4 หมวด 62 มาตรา ได้แก่
หมวด 1 ว่าด้วยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีหน้าที่พิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ ดำเนินการ เกี่ยวกับสินค้าที่อาจเป็นอันตราย แจ้งข่าวสารเกี่ยวกับสินค้า และบริการที่อาจก่อความเสียหาย หรือเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค พิจารณาคำวินิจฉัย อุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง วางระเบียบ สอดส่องเจ้าหน้าที่ ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิให้มีคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ผู้ประกอบธุรกิจ สนับสนุนการศึกษาวิจัย ให้การศึกษาแก่ ผู้บริโภค เผยแพร่งานทางวิชาการ
หมวด 2 ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค แบ่งเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา กำหนดห้ามไม่ให้ทำการโฆษณาที่ใช้ข้อความเกินจริง หลวกลวง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ละเมิดสิทธิ และกำหนดให้ผู้ประกอบการที่สงสัยว่าการโฆษณาของตนจะฝ่าฝืนกฎหมาย หรือไม่สามารถขอความเห็นจากคณะกรรมการเฉพาะเรื่องโดยเสียค่าธรรมเนียมได้
ส่วนที่ 2.1 การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านฉลาก กำหนดให้สินค้าที่ผลิตในประเทศ และนำเข้ามาขายเป็นสินค้าควบคุมฉลากที่ต้องมีลักษณะที่ใช้ข้อความที่ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระของสินค้า ข้อความจำเป็นที่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่เป็นสาระตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนด
ส่วนที่ 2.2 ทวิ การคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยสัญญา ให้อำนาจคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา มีอำนาจกำหนดประเภทธุรกิจที่ควบคุมการทำสัญญาที่กำหนด ให้ใช้ข้อสัญญาที่จำเป็นที่ไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ ห้ามใช้สัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ส่วนที่ 3 การคุ้มครองผู้บริโภคโดยประการอื่น กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจให้มีการทดสอบ พิสูจน์สินค้าที่อาจเป็นอันตราย และมีคำสั่งห้ามขายสินค้าที่อาจเป็นอันตรายได้ และกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานอัยการ โดยความเห็นชอบของสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อดำเนินคดีทางแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภค
หมวด 3 ว่าด้วยการอุทธรณ์
กำหนดให้ผู้ได้รับคำสั่งคณะกรรมการเฉพาะเรื่องสามารถอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
หมวด 4 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ
กำหนดให้มีบทลงโทษทั้งจำและหรือทั้งปรับ โดยมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินหนึ่งปี
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี