ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity), การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) หมายถึง, การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) คือ, การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) ความหมาย, การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity)

          นับเป็นความน่าพิศวงอันหนึ่งของโลกเราที่มีสรรพสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิด  โดยใช้เวลาวิวัฒนาการมานานนับหลายร้อยล้านปี  ความหลากหลายของสรรพสิ่งมีชีวิต หรือที่เรียกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) นี้  เป็นทรัพยากรที่มิอาจประเมินค่าได้ตลอดระยะเวลาที่สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ  ถือกำเนิดและมีวิวัฒนาการมาราว 600 ล้านปี  ความหลากหลายทางชีวภาพอันได้แก่  สรรพสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้  เพิ่มขึ้นตลอดมา  มนุษย์รู้จักใช้ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติเหล่านี้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น  เมื่อเทียบกับปริมาณสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ทั้งมวล  การใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตในบางธุรกิจในบางประเทศ  เช่น  เป็นยารักษาโรคนั้น  มีมูลค่าแต่ละปีหลายแสนล้านบาท  แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สิ่งมีชีวิตในโลกกำลังถูกคุกคาม และจะสูญพันธุ์ไป  เชื่อว่าจะมีสิ่งมีชีวิตกว่าครึ่งหนึ่งกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักด้วยซ้ำไป
รูปป่าไม้

ความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร

         คนมักเข้าใจว่าความหลากหลายทางชีวภาพก็คือการมีสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ ชนิด  ชนิดในที่นี้ก็คือสปีชีส์ (species)  ความจริงแล้วความหลากหลายทางชีวภาพนั้นมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง คือ

                      # ความหลากหลายในเรื่องชนิด (Species Diversity)
                      # ความหลากหลายของพันธุกรรม (Genetic Diversity)
                      # ความหลากหลายของระบบนิเวศ (Ecosystem Diversity)

         ความหลากหลายในเรื่องชนิดของสิ่งมีชีวิตนั้นหมายถึงความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิต (Species)  ที่มีอยู่ในพื้นที่หนึ่งซึ่งมีความหมายอยู่ 2 แง่ คือ

                      # ความมากชนิด (Species richness)
                      # ความสม่ำเสมอของชนิด (species evenness)

        ความมากชนิดก็คือ  จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตต่อหน่วยเนื้อที่  ส่วนความสม่ำเสมอของชนิดหมายถึงสัดส่วนของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในที่นั้น

       ในพื้นที่หนึ่ง ๆ จะมีความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิต (species diversity) มากที่สุดก็ต่อเมื่อมีจำนวนสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิดและแต่ละชนิดมีสัดส่วนเท่า ๆ กัน  ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิตนั้นแตกต่างไปตามพื้นที่  ในเมืองหนาว  เช่น  ไซบีเรีย หรือแคนาดา  ในเนื้อที่ 1 เฮกเตอร์ (100 x 100 ม.)  มีต้นไม้เพียง 1 ถึง 5 ชนิดเท่านั้น  ส่วนในป่าเต็งรังของไทย  มีต้นไม้ 31 ชนิด  ป่าดิบแล้ง 54 ชนิด และในป่าดิบชื้นมีอยู่นับร้อยชนิด  ความสม่ำเสมอของชนิดสิ่งมีชีวิต (species evenness) นั้นอาจเข้าใจได้ยากแต่พอที่จะยกตัวอย่างได้  เช่น  มีป่าอยู่ 2 แห่ง  แต่ละแห่งมีต้นไม้จำนวน 100 ต้น และมีอยู่ 10 ชนิดเท่ากัน  แต่ป่าแห่งแรกมีต้นไม้ชนิดละ 10 ต้น  เท่ากันหมด  ส่วนป่าแห่งที่ 2  มีต้นไม้ชนิดหนึ่งมากถึง 82 ต้น อีก 9 ชนิดที่เหลือ  มีอยู่อย่างละ 2 ต้น  ถึงแม้ว่าทั้งสองจะมีจำนวนต้นไม้เท่ากันและมีจำนวนชนิดต้นไม้เท่ากันด้วย  แต่ป่าแห่งแรกเมื่อเข้าไปดูแล้วจะมีความรู้สึกว่าหลากหลายกว่าป่าแห่งที่สอง



ความหลากหลายของพันธุกรรม

        หมายถึงความหลากหลายของยีนส์ (genes)  ที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด  สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันอาจมียีนส์แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์  เช่น  ข้าวมีสายพันธุ์นับพันชนิด   มันฝรั่ง  หรือพืชอาหารชนิดอื่น  เช่น  ข้าวโพด  มัน  พริก  ก็มีมากมายหลายสายพันธุ์  ความหลากหลายของพันธุกรรมมีน้อยในพืชเกษตรลูกผสม  เช่น  ข้าวโพดที่ได้คัดพันธุ์เพื่อต้องการลักษณะพิเศษบางอย่าง  ฐานพันธุกรรมของพืชเกษตรที่ได้คัดพันธุ์เหล่านี้จะแคบ  ซึ่งไม่เหมือนกับพืชป่าที่ปรับปรุงตัวเองเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติในที่ต่าง ๆ กัน  ความหลากหลายของยีนส์จึงมีมากในที่ป่า  ความหลากหลายของยีนส์นั้นมีคุณค่ามหาศาล  นักผสมพันธุ์พืชได้ใช้ข้าวป่าสายพันธุ์ป่ามาปรับปรุงบำรุงพันธุ์  เช่น  ได้ใช้ข้าวป่าในอินเดียมาปรับปรุงพันธุ์เพื่อต้านทานศัตรูพืช  เช่น  เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล  เป็นต้น  ข้าวโพดป่าก็เช่นกันได้ใช้ปรับปรุงพันธุ์เพื่อต้านทานโรคซึ่งก็ช่วยเพิ่มผลผลิต  สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด  แต่ละตัวก็มียีนส์แตกต่างกันไป

         สิ่งมีชีวิตใดก็ตามที่ถูกทำลาย  ทำให้มีจำนวนลดน้อยลง  ความหลากหลายทางพันธุกรรมก็สูญหายไป  เป็นการสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่ง  ความหลากหลายของระบบนิเวศนั้นมีอยู่ 3 ประเด็น คือ

                      #   ถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ
                      #   การทดแทน
                      #   ภูมิประเทศ


         ความหลากหลายของถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ (Habitat Diversity) ตัวอย่าง  เช่น  ในผืนป่าทางภาคตะวันตกของไทยที่มีลำน้ำใหญ่ไหลผ่านจะพบถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติมากมายคือตัวลำน้ำ  หาดทราย  ห้วยเล็กห้วยน้อยอันเป็นลำน้ำสาขา  พรุซึ่งมีน้ำขัง  ฝั่งน้ำ  หน้าผา  ถ้ำ  ป่าบนที่ดอนซึ่งก็มีหลายประเภท  แต่ละถิ่นกำเนิดก็มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่แตกต่างกันไป  เช่น  ลำน้ำ  พบควาย  ป่าหาดทรายมีนกยูงไทย  หน้าผามีเลียงผา  ถ้ำมีค้างคาว  เป็นต้น  เมื่อแม่น้ำใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่  ภายหลังการสร้างเขื่อนความหลากหลายของถิ่นกำเนิดก็ลดน้อยลง  โดยทั่วไปแล้วที่ใดที่มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลากหลาย  ที่นั้นจะมีชนิดสิ่งมีชีวิตหลากหลายตามไปด้วย  สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาศัยถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลายรูปแบบ  เช่น  กระทิง  วัวแดง  บางครั้งก็หากินในทุ่งหญ้า  บางครั้งก็หากินในป่าโปร่ง  บางครั้งก็หากินในป่าดิบ  มีการโยกย้ายแหล่งหากินไปตามฤดูกาล  ตัวอ่อนแมลงที่อาศัยในน้ำอันเป็นอาหารสำคัญของปลา  บางตอนของวงจรชีวิตของแมลงเหล่านี้ก็อาศัยอยู่บนบก  ปลาบางชนิดตามลำน้ำก็อาศัยผลไม้ป่าเป็นอาหาร  การทำลายป่าเป็นการทำลายแหล่งอาหารของสัตว์น้ำได้เช่นกัน  การรักษาความหลากหลายของถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ  โดยเฉพาะในที่หนึ่ง ๆ  ให้มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลายประเภทอยู่ใกล้กันจะทำให้สิ่งมีชีวิตมีมากชนิดเพิ่มขึ้นด้วย
รูปเห็ดกระโปรงนางฟ้า



ความหลากหลายของการทดแทน (Successional Diversity)

        ในป่านั้นมีการทดแทนของสัมคมพืช  กล่าวคือเมื่อป่าถูกทำลายจะโดยวิธีใดก็ตาม  เช่น  ถูกแผ้วถาง  พายุพัดไม้ป่าหักโค่น  เกิดไฟป่า  น้ำท่วม หรือแผ่นดินถล่ม  เกิดเป็นที่โล่งต่อมาจะมีพืชเบิกนำ  เช่น  มีหญ้าคา  สาบเสือ  กล้วยป่า และเถาวัลย์  เกิดขึ้นในที่โล่งนี้  เมื่อกาลเวลาผ่านไป  ก็มีต้นไม้เนื้ออ่อนโตเร็วเกิดขึ้น  เช่น  กระทุ่มน้ำ  ปอหูช้าง  ปอตองแตบ  นนทรี  เลี่ยน  เกิดขี้น และหากปล่อยไว้โดยไม่มีการรบกวนป่าดั้งเดิมก็จะกลับมาอีกครั้งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า  การทดแทนทางนิเวศวิทยา (Ecological Succession)  สิ่งมีชีวิตบางชนิดปรับตัวให้เข้ากับยุคต้น ๆ ของการทดแทน  บางชนิดก็ปรับตัวให้เข้ากับยุคสุดท้าย  ซึ่งเป็นป่าบริสุทธิ์ (virgin forest)  ในทางภาคเหนือป่าดิบเขาเมื่อเกิดที่โล่ง  เช่น  ดินพัง หรือตามทางชักลากไม้  จะพบลูกไม้สนสามใบเกิดขึ้นมากมายตามพื้นดิน  ในป่าทึบจะไม่พบลูกไม้สนเหล่านี้  ต้นกำลังเสือโคร่งก็เช่นเดียวกันคือชอบขึ้นตามที่โล่ง  ในบริเวณป่าดิบเขาที่ไม่ถูกรบกวนจะไม่พบต้นไม้เหล่านี้  ในป่าดิบทางภาคใต้ในยุคต้นของการทดแทนจะพบต้นปอหูช้าง  ปอตองแตบ  กระทุ่มน้ำ  ส้าน  ลำพูป่า  เป็นต้น  ป่านั้นเป็นสังคมพืชที่มีการเปลี่ยนแปลง  มีการทดแทน  กระบวนการทดแทนก่อให้เกิดความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต  นกปรอดหัวโขนมักพบตามป่าละเมาะ และทุ่งหญ้า  ชอบทำรังตามไม้พุ่ม หรือต้นไม้ที่ไม่สูงใหญ่  ส่วนนกเงือกอยู่ตามป่าทึบหรือป่าบริสุทธิ์ดั้งเดิม

         กระบวนการทดแทนตามธรรมชาติช่วยรักษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และบางทีก็เป็นประโยชน์กับชาวบ้านและเกษตรกร  ตัวห้ำที่กินแมลงศัตรูพืชก็มักพบตามทุ่งหญ้าริมป่า  พืชกินได้หลายชนิดพบตามป่ารุ่นสอง (secondary forest) หรือที่เรียกว่าป่าใส่ (ภาคใต้) หรือป่าเหล่า (อีสาน)  นอกจากนี้ชาวบ้านป่าเหล่านี้  ยังเก็บหาฟืน  ผลไม้  สมุนไพร และอาหารหลายชนิดจากป่ารุ่นสองเหล่านี้  นับเป็นป่าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ  ชาวบ้านป่าเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องไปปลูกสร้างสวนป่าขึ้นใหม่เสมอไป

         ความหลากหลายของภูมิประเทศ (Lands scape Diversity)  ในท้องที่บางแห่งมีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติมากมาย  เช่น  ลำน้ำ  บึง  หาดทราย  ถ้ำ  หน้าผา  ภูเขา  หุบเขา  ลานหิน และมีสังคมพืช  ในหลาย ๆ ยุดของการทดแทน  มีทุ่งหญ้าป่าโปร่งและป่าทึบ  ที่เช่นนี้จะมีสรรพสิ่งมีชีวิตมากมายผิดกับในเมืองหนาวที่มีต้นไม้ชนิดเดียวขึ้นอยู่บนเนื้อที่หลายร้อยไร่มองไปก็เจอแต่ต้นไม้สนเพียงชนิดเดียว



ประเทศไทย - แหล่งหนึ่งของโลกที่มีทรัพยากรชีวภาพหลากหลาย

         ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน  ตั้งอยู่บนคาบสมุทร  ภูเขาทางภาคเหนือเป็นเทือกเขาที่ติดต่อกับเทือกเขาหิมาลัย และมีทิวเขาทอดตัวลงทางใต้  เช่น  เทือกเขาธงชัย  เทือกเขาตะนาวศรี  ซึ่งกั้นชายแดนไทย-พม่า  นอกจากนี้ยังมีเทือกเขาภูเก็ต  เทือกเขานครศรีธรรมราชทอดตัวลงทางใต้ลงไปถึงชายแดนจรดเทือกเขาสันกาลาคีรี  ส่วนทางภาคกลางต่อภาคอีสานก็มีเทือกเขาเพชรบูรณ์เทือกเขาดงพญาเย็น และเทือกเขาพนมดงรัก  ซึ่งกั้นชายแดนไทยกัมพูชา
รูปบ้านในป่า

    ประเทศไทยเป็นที่รวมของพรรณพืช 3 เขต คือ
            (1)  Indo-Burma
            (2)  Annmetic
            (3)  Melesia

     ประเทศไทยเป็นที่รวมของพันธุ์สัตว์ 3 เขต คือ
            (1)  Sino-Himalayan
            (2)  Indo-Chinese
            (3)  Sundaic
            ประเทศไทยเป็นรอยต่อระหว่างป่าดงดิบชื้นกับป่าผลัดใบเขตร้อนของโลก

         ในประเทศไทยสังคมพืชนั้นหลากหลาย  อยู่ชิดติดต่อกันคล้ายโมเสค (Mosaic Vegetation)  บ่อยครั้งที่พบว่าริมห้วยเป็นป่าดิบมีหวาย  สูงขึ้นไปเพียงเล็กน้อยเป็นป่าเบญจพรรณผลัดใบ และห่างออกไปไม่มากเป็นป่าเต็งรัง  สูงขึ้นไปอีกนิดเป็นป่าดิบเขา  สังคมพืชต่าง ๆ นี้อยู่ใกล้ชิดติดต่อกันจำนวนสิ่งมีชีวิตก็หลากหลายตามไปด้วย หรือบนภูเขาหินปูนแถบกาญจนบุรีบนด้านลาดทิศใต้เป็นป่าไผ่  ส่วนด้านลาดทิศเหนือเป็นป่าผลัดใบ  มีไม้ตะแบกและไผ่รวมกัน  แต่ตามริมห้วยและสันเขา  เป็นป่าดงดิบ
 



ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ

         สิ่งมีชีวิตใช้เวลานานในการกำเนิดและวิวัฒนาการ  ที่ใดมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายที่นั้นย่อมมีกระบวนการทางนิเวศวิทยาที่สลับซับซ้อน และมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตสูง  สิ่งมีชีวิตบางชนิดเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แพร่พันธุ์กว้างไกลไปทั่วโลก  แต่มีมากมายหลายชนิดที่อยู่เฉพาะที่เฉพาะแห่งเท่านั้น  ดังนั้น  มุมต่าง ๆ ของโลกย่อมมีกลุ่มสิ่งมีชีวิตแตกต่างกันไป  เช่น  ป่าไม้สักพบเฉพาะในอินเดีย  พม่า  ไทย และลาวเท่านั้น  เราเสียดายหากสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไป  เพราะสิ่งมีชีวิตนั้นไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีกแล้ว หรือไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ และไม่มีโอกาสวิวัฒนาการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอีกต่อไป  ยิ่งในปัจจุบันเราสามารถถ่ายทอดยีนส์จากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปสู่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง  ทำให้สูญเสียแหล่งยีนส์ที่มีลักษณะพิเศษ และมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมนุษยชาติ

         ความจริงแล้วการสูญพันธุ์นั้นเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ  สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในที่สุดก็จบลงด้วยการสูญพันธุ์เหมือนกันหมด  แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ก็คือเรื่องอัตราเร็วของการสูญพันธุ์  กล่าวคือภายใต้สภาพการณ์ตามธรรมชาติตลอดชั่วระยะเวลาที่โลกเราได้วิวัฒนาการมานั้นอัตราการสูญพันธุ์จะมีน้อยกว่าอัตราวิวัฒนาการเกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่  ฉะนั้น  ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิตจึงมีเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา  ในอดีตหลายล้านปีมาแล้วอาจมีบางช่วงที่มีการสูญพันธุ์ขนานใหญ่เกิดขึ้นในโลกนี้  แต่ก็มีบางช่วงที่มีสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้นมากมายเช่นเดียวกัน  สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือภายหลังที่มนุษย์เราได้เจริญขึ้น  เข้าสู่ยุคแห่งอุตสาหกรรม  มีการทำลายถิ่นกำเนิดธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตหลายอย่างโดยกิจกรรมที่เรียกว่าการพัฒนาอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมีมากกว่า 1,000 เท่าของที่ควรจะเป็นในธรรมชาติ  ขณะนี้สรรพสิ่งมีชีวิตของโลกได้ถูกทำลายสูญพันธุ์จนเหลือต่ำสุดในรอบ 65 ล้านปีที่ผ่านมา และอีก 20 ปีข้างหน้าจะสูญพันธุ์ไปถึง 1 ใน 4 ของที่เคยมีในปี พ.ศ. 2525  การทำลายป่าเป็นเหตุที่สำคัญของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเพราะป่าไม้เป็นที่รวมของสรรพสิ่งมีชีวิตมากมายและถ้าหากสิ่งมีชีวิตในโลกเรามีถึง 10 ล้านชนิดอัตราการทำลายป่าขณะนี้ทำให้สิ่งมีชีวิตในโลกสูญพันธุ์ไปวันละ 50-150 ชนิด  ซึ่งสูงกว่ายุคใด ๆ ที่ผ่านมา

         สิ่งที่มนุษย์เราได้รับจากระบบนิเวศวิทยาที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นมีอยู่มากมาย  ที่เห็นได้ชัดก็คือประโยชน์ทางตรง  วัสดุธรรมชาติมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม  สามในสี่ของประชากรในโลกนั้นใช้พืชสมุนไพรจากป่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา  ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วมีอุตสาหกรรมผลิตยาที่สกัดจากวัสดุธรรมชาติมูลค่านับแสนล้านบาท  หนึ่งในสี่ของยาที่ใช้กันในสหรัฐในขณะนี้มีตัวยาที่สกัดจากพืช  ยาที่สำคัญใช้กันมากในโลกนั้นพบครั้งแรกในพืช  เช่น  ควินิน  แอสไพริน (จากเปลือกของต้นหลิว)  ในเมืองจีนใช้สมุนไพรกว่า 5,100 ชนิด  ส่วนในโซเวียตใช้พืชสมุนไพรมากกว่า 2,500 ชนิด  องค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้ใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น  ยาปฏิชีวนะมากกว่า 3,000 ชนิด  ก็สกัดมาจากราภายในดิน
รูปดอกไม้ป่า

       มนุษย์เรานั้นพึ่งพาอาศัยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นไม่ว่าจะเป็นพืช  สัตว์ และจุลินทรีย์  นอกจากได้ใช้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เป็นยาดังกล่าวแล้ว  อาหารทั้งหมดและวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมก็ได้จากสิ่งมีชีวิตที่พบในธรรมชาติ หรือที่มนุษย์นำมาเพาะเลี้ยงปลาส่วนใหญ่ที่บริโภคก็ได้จากธรรมชาติป่านั้นเป็นที่รวมสรรพสิ่งมีชีวิตไว้มากมาย  พืชเกษตรหลายชนิดก็คือกำเนิดมาจากป่าไม่ว่าจะใช้เป็นอาหาร และเป็นไม้ดอกไม้ประดับก็ตาม  ตลอดเวลา 50 ปี  ที่ผ่านมาได้นำพืชป่าที่เป็นญาติของพืชเกษตรมาใช้ปรับปรุงพันธุ์  ทำให้ผลผลิตของข้าว  ฝ้าย  อ้อย  ข้าวสาลี  ข้าวบาร์เลย์  เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวทำให้ผลผลิตมะเขือเทศเพิ่ม 3 เท่า  ส่วนข้าวโพด  ข้าวฟ่าง  มันสำปะหลัง  ผลผลิตเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว  ทรัพยากรที่เป็นสิ่งมีชีวิตสามารถทำเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่สำคัญได้เช่นกัน  การท่องเที่ยวในอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านำเงินตราเข้าประเทศและทำให้เงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น



พื้นที่อนุรักษ์ (Protected Areas)

         พื้นที่อนุรักษ์  เช่น  อุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพพื้นที่อนุรักษ์ควรเป็นหน่วยทางนิเวศวิทยาที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่พอเพียง  มีหลาย ๆ  กรณีที่นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประจำถิ่นต้องการเนื้อที่ในการดำรงชีวิตที่ครอบคลุมถิ่นกำเนิดธรรมชาติหลายประเภทในการดำรงชีพซึ่งต้องการเนื้อที่มากกว่าพื้นที่อนุรักษ์ที่ได้ประกาศเสียอีก 88%  ของนกป่าในประเทศไทยปรากฎอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพียง 7.8%  เท่านั้น

         พื้นที่อนุรักษ์ยิ่งมีขนาดเล็ก  จะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของแนวขอบป่า (edge effect) มาก  อิทธิพลแนวขอบป่า (edge effect)  ก็คืออัตราส่วนระหว่างระยะทางของแนวขอบป่ากับเนื้อที่ภายใน  ตามแนวขอบป่าแสงสว่างจะส่องเข้าไปข้างในป่าได้มาก  อากาศใกล้ผิวดินตามแนวขอบป่าก็ผันแปรมาก  เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น  พืชหลายชนิดได้ปรับตัวเองให้เข้าอยู่กับสภาพภายในป่า  ตามขอบป่าอยู่ไม่ได้  การมีขอบป่ามาก ๆ  มลพิษและคนอพยพเข้าไปทำลายได้ง่าย

         พื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งมีสภาพเป็นเกาะ  อยู่ท่ามกลางป่าที่เสื่อมโทรม หรือท่ามกลางบริเวณที่ปลูกพืชไร่  การแบ่งพื้นที่อนุรักษ์ออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย  เช่น  โดยการตัดถนน หรือโดยอ่างเก็บน้ำที่เป็นแนวยาว  เกิดจากการสร้างเขื่อนจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในที่สุด  ความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลง  พื้นที่ยิ่งมีขนาดเล็ก  จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตที่พบจะมีจำนวนชนิดลดตามลงด้วย  กฎง่าย ๆ ตามทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์ของเกาะ (Theory of Island Biogeography)  บอกว่า  "ถ้าสูญเสียพื้นที่ไป 90% (มีเหลือเพียง 10%)  ในที่สุดจะทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปครึ่งหนึ่ง"  พื้นที่อนุรักษ์จึงไม่ควรต่ำกว่า 10%  ความจริงโลกเรามีพื้นที่อนุรักษ์เพียง 3.2%  เท่านั้น

        ป่าดั้งเดิมนั้นควรเป็นจุดศูนย์กลางของการอนุรักษ์แต่ป่าที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังป่าดั้งเดิมถูกทำลาย (secondary forest) นั้นก็มีความสำคัญเช่นกัน  ป่ารุ่นสองนี้บางทีเรียกว่าป่าเหล่า  ป่าใส หรือไร่ทราก  มีพันธุ์พืชและสัตว์หลายชนิดที่พบเฉพาะในป่ารุ่นสอง  แต่ไม่พบในป่าดั้งเดิม  มีการศึกษาชี้ให้เห็นว่า  ในป่ารุ่นสองนี้มีพืชอาหาร และสมุนไพรที่เป็นประโยชน์หลายชนิดเปอร์เซ็นต์  พืชที่เป็นประโยชน์ดูเหมือนจะมีมากกว่าที่พบในป่าดั้งเดิมเสียอีก  ดังนั้นจึงควรอนุรักษ์ป่ารุ่นสองไว้เช่นเดียวกัน

         การป้องกันรักษาป่าโดยวิธีจับกุมปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียวนั้นยากที่จะประสบความสำเร็จ  จำเป็นต้องใช้หลาย ๆ  วิธีร่วมกันเพื่อมุ่งลดความกดดันที่เกิดจากคนที่มีต่อป่า  โดยให้คนผลิตอาหารพอเพียงต่อปากท้อง  ดำรงชีพอยู่ได้  มีไม้ใช้สอยไม่ต้องเบียดเบียนจากป่าธรรมชาติ และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์  มีความจำเป็นที่ต้องหาวิธีการให้เขาทราบว่า  การอนุรักษ์ป่านั้นก็เป็นประโยชน์กับคนท้องถิ่น และรัฐบาลด้วย


การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity), การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) หมายถึง, การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) คือ, การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) ความหมาย, การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu